--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปริมาณน้ำ-ก้อนใหญ่ มาถึงกรุง 15 ต.ค.นี้ ทะเลหนุน !!?

รับสถานการณ์ได้หรือไม่50-50 นายกเข้าเฝ้าถวายรายงานด่วน สามีเผย‘ยิ่งลักษณ์’เครียดมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯถวายรายงานสถานการณ์และการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัย นายกรัฐมนตรีสั่ง ผวจ.เตรียมแผนอพยพ กำชับกระทรวงพาณิชย์คุมพ่อค้าอย่าโก่งราคาสินค้า ขณะที่แม่หนูน้อยวัย 6 เดือนที่ติดน้ำท่วมอยู่กลางเกาะกรุงเก่าอุ้มลูกขอบคุณนายกฯ หลัง “ยิ่งลักษณ์” สั่งให้ตามหาจนเจอ “ประชา” ระบุน้ำก้อนใหญ่ถึงปากน้ำโพแล้ว จ่อถล่มกรุงเก่าอีกระลอก14 ต.ค. เตือนคนกรุง 15 ต.ค. อ่วมแน่ เร่งทำ 3 แนวกั้นน้ำป้องกันเมืองกรุง เผยเปิดสุวรรณภูมิ-วัดพระธรรมกาย รองรับ กทม.เร่งระดมสร้างสะพานคนเดินเหนือน้ำเตรียม เรือ-แพไว้ใช้แล้ว จีนขนสิ่งของช่วยเหลือถึงไทยแล้วสามี “ปู” เผยนายกฯเครียดจัดจากปัญหาน้ำท่วม “พิจิตต” ใช้เครื่องบินเล็กบินเก็บภาพน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ไว้เป็นข้อมูลแก้ปัญหาระยะยาว สาธารณสุขสั่งทุกโรงพยาบาลรอบ กทม.เคลียร์เตียงรอรับผู้ป่วย ทีโอทีติดตั้งระบบสื่อสารช่วยเหลือคนน้ำท่วม

มหาอุทกภัยที่สร้างความสูญเสียเหลือคณานับทั้งทรัพย์สินและชีวิตประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 จังหวัดภาคกลาง ที่วิกฤติหนัก คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ปทุมธานี ที่มีผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่า 2 ล้านคน และนับเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดอีกครั้งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ระดมสรรพกำลังจากทุกด้านให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ในขณะที่องค์กรภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปจำนวนมากก็ได้หลั่งไหลเทน้ำใจให้ความช่วยเหลือคนไทยที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติยากลำบากสุดๆในชีวิต นำข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคไปบริจาคและประกอบอาหารสดๆแจกจ่ายผู้ประสบอุทกภัยถึงในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมนั้น

แม่ “น้องนาย” อุ้มลูกขอบคุณนายกฯ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 ต.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง น.ส.สุพรรณษา โสภาค อายุ 31 ปี มารดา “น้องนาย” ด.ช.สุกิจ เเสงโสม เด็กทารกอายุ 6 เดือน ที่ได้ติดต่อผ่านสายด่วน 1111 กด 5 ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ช่วยติดตามหาลูกชายที่ติดอยู่กลางเกาะเมือง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอบคุณที่ได้ช่วยตามหาลูกชายจนพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวกับมารดาน้องนายว่า เมื่อวานนี้ต้องการที่จะนำเสบียงอาหารไปมอบให้ แต่เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องแจ้งมาว่า ไม่สามารถที่จะลงไปได้ จึงมอบให้ตำรวจน้ำนำเสบียงอาหารและเครื่องใช้จำเป็นนำไปมอบให้แทน ต้องขอขอบคุณสายด่วน 1111 กด 5 เพราะพยายามที่จะแยกสายสำคัญๆ เช่น ชีวิต เด็ก และคนชรา จึงได้ มอบหมายให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบตามหาตัวให้จนเจอ ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มอบกระเช้าบรรจุสิ่งของจำเป็นเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดให้แก่ น.ส. สุพรรณษา ก่อนที่จะอุ้มน้องนายวัย 6 เดือน ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ พร้อมกล่าวว่า “ดีใจมาก ใครที่เป็นแม่คงดีใจมากที่ตามหาลูกจนเจอ”

นายกฯสั่ง ผวจ.เตรียมแผนอพยพ

เวลา 09.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย ว่า วันนี้ต้องดูแลเรื่องการอพยพผู้คนให้ปลอดภัย เพราะจากการขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพบว่า ยังมีประชาชนต้องการความช่วยเหลือ และติดอยู่กลางน้ำอีกมาก ขณะเดียวกันต้องเร่งกู้ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมด้วย ได้เชิญจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องเตรียมรองรับสถานการณ์ต่างๆเพื่อปรับปรุง แต่หากคิดว่าจะสู้น้ำไม่ไหวคงต้องมี แผนสำรองในการเตรียมอพยพผู้คน โดยต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยให้ได้มากที่สุด เราเป็นห่วงทุกจังหวัดจะกระจายกำลังโดยไม่ให้ซ้ำซ้อน สิ่งสำคัญคือต้องให้ความปลอดภัยกับชีวิต ส่วนเรื่องทรัพย์สินเป็นอันดับรองลงมา เพราะเราไม่สามารถทำ 2 อย่างในเวลาเดียวกันได้ ต้องนำประสบการณ์จากจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมมาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ ผวจ.เตรียมทำงาน หากโซนไหนที่คิดว่าปลอดภัยต้องกั้นไว้ก่อน ไม่ควรกั้นน้ำที่กำลังจะมาเพราะจะสู้น้ำไม่ไหว เนื่องจากวันนี้น้ำทั้งประเทศเยอะมาก แม้แต่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่กำแพงปูนสูงถึง 2 เมตร วันนี้น้ำเริ่มซึม ซึ่งรัฐบาลได้เตือนให้ขนย้ายแล้ว และเวลานี้กำลังดูแลเรื่องของพนักงาน

กำชับ พณ.คุมพ่อค้าโก่งราคาสินค้า

เมื่อถามถึงปัญหาที่ขณะนี้มีการโก่งราคาสินค้าโดยเฉพาะกระสอบทราย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จะกำชับให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแล แต่คงต้องขอร้อง และขอความร่วมมือผู้ค้าทุกราย เพราะวันนี้ประชาชนเดือดร้อนมาก ดังนั้น อยากให้ขายในปริมาณที่เพียงพอต่อต้นทุนที่ดำรงอยู่ หากปรับราคาสูงคนยิ่งจะเก็บสต๊อก ส่งผลให้ ผู้เดือดร้อนไม่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาได้ เบื้องต้นรัฐบาลพยายามจะล็อกสินค้าบางส่วนที่ขาดตลาดมาบริการเอง เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนโดยประสานตรงกับทุกหน่วยงาน ส่วนความต้องการกระสอบทราย 1.7 ล้านกระสอบนั้น เวลานี้น่าจะได้ครบแล้ว กทม.เป็นผู้รับผิดชอบ แต่บางครั้งเราตั้งทิ้งไว้นานๆบางทีก็เปื่อยยุ่ย เป็นสาเหตุหนึ่ง ในการทำให้แนวกั้นน้ำพัง ส่วนแนวกั้นน้ำ 3 จุดที่ป้องกันน้ำทะลักเข้าพื้นที่ กทม.นั้น เวลานี้จะเร่งรัดภายในวันที่ 13 ต.ค.คงจะเสร็จ ส่วนแนวกั้นน้ำฝั่งตะวันออกที่พังบางส่วน ยืนยันต้องทำให้ดีที่สุด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ เช่นเมื่อมีการนำกระสอบทรายตั้งเป็นแนวกั้นน้ำ แต่ถูกประชาชนดึงออกบวกกับความไม่แข็งแรง และกระสอบทรายเปื่อย ดังนั้น วันนี้จะใช้สรรพกำลังตรวจสอบคุณภาพให้ดีที่สุด แต่จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า พายุลูกใหม่ยังไม่พัดผ่านเข้าไทย หากไม่มีตัวนี้จากการวางแผนที่ดำเนินการมาคิดว่าน่าจะรับมือได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนด้วย และไม่ใช่เป็นการแตกของคันกั้นที่ไหวแรงเกินกว่าปริมาณ

ปล่อยคาราวาน ฮ.ส่งเสบียงทางอากาศ

จากนั้นเวลา 10.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ปล่อยขบวนคาราวานเฮลิคอปเตอร์ขนสิ่งของไปช่วยผู้ประสบภัยทางอากาศ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งเฮลิคอปเตอร์เบล 412 และ 212 รวม 10 ลำ นำสิ่งของกระจายไปช่วยผู้ประสบภัยที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีรัฐมนตรีและ ส.ส.พรรคเพื่อไทย มาร่วมพิธี รวมทั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รักษาการ ผบ.ตร. ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ช่วยลำเลียงสิ่งของขึ้นเฮลิคอปเตอร์ด้วย

ควัก 3 ล้านซื้อข้าวกระป๋องแจก

เวลา 13.30 น. นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์หอการค้า จ.ตรัง นำข้าวราดหน้ากระป๋องจำนวน 50,000 กระป๋อง มูลค่า 1,600,000 บาท มอบให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ที่ศูนย์ปฏิบัติการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ท่าอากาศยานดอนเมือง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม นายสุรินทร์กล่าวว่า การที่นำเอาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มามอบให้ เพราะว่าเหมาะกับผู้ประสบภัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องมีไฟหรือน้ำ ก็สามารถที่จะเปิดกระป๋องรับประทานได้ทันที ตนเห็นถึงความเสียสละและความรักประชาชนของ น.ส.ยิ่งลักษณ จึงนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมามอบให้เพิ่มเติมอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้าวราดหน้ากระป๋องดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยซื้อไปรับประทานตอนหาเสียง ดังนั้นหลังจากรับมอบจากนายสุรินทร์แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สั่งซื้อข้าวราดหน้ากระป๋องถึง 100,000 กระป๋องเป็นเงินกว่า 3 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย

นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับมอบเงินบริจาคจากภาคส่วนต่างๆอีกจำนวนหลายราย รวมถึงนพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทน ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยเป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาทด้วย

ขอความร่วมมือ กทม.ร่วมมือรับน้ำ

ต่อมาเวลา 14.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความร่วมมือกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ในการเตรียมแก้ไขวิกฤติน้ำท่วม กทม.ว่า เราพยายามใช้กลไกของการทำงานภาพรวมในการประสานทุกจังหวัด รวมถึงใน กทม. แต่เนื่องจากการดูแลในส่วนของ กทม.แยกจากกัน การดูแล กทม. เราต้องให้ผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในความร่วมมือที่จะเป็นความร่วมมือระหว่างกัน เราจะพยายามแลกเปลี่ยน ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือจากกทม. ให้ส่งเจ้าหน้าที่มาทำงานเพื่อรับประสานงาน ในรายละเอียดการเตรียมการคงต้องให้ทาง กทม.เป็นผู้ชี้แจงดีกว่า

สั่งเร่งขุดคลองระบายน้ำพ้น กทม.

เมื่อถามว่า กทม.ให้ความร่วมมือกับ ศปภ.มากน้อย แค่ไหน ในการแก้ไขปัญหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า เบื้องต้นเราพยายามทำงานสัมพันธ์กันอยู่ แต่จะมีการทำงานที่ต้องแบ่งงานกันรับผิดชอบ ความร่วมมือภาพรวมก็คุย กันดี เมื่อถามต่อว่า ประเมินสถานการณ์อุทกภัยใน กทม. อย่างไรบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า มี 2 ส่วนที่ กทม. จะได้รับผลกระทบคือ 1.จากรอยต่อของจังหวัดใกล้เคียง ดังนั้น จุดสำคัญจุดแรกของ กทม.คือรอยต่อที่ต้องรักษาให้ดี ปัญหาเรื่องรอยต่อโดยเฉพาะ จ.ปทุมธานี เรามี ปัญหาเรื่องการทำพนังกั้นน้ำ ซึ่งการขอความร่วมมือจากประชาชนทำได้ยาก เนื่องจากอยู่ในภาวะที่เครียดไม่สามารถทำการกั้นน้ำได้อย่างเต็มที่ 2.แนวกั้นน้ำของอีกฝั่งที่อยู่ในการดูแลของ กทม. เบื้องต้นผู้ว่าฯ กทม.รับปากว่าจะทำ แต่ส่วนใหญ่พื้นที่ของ กทม.เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงทำให้มีปัญหากับการระบายน้ำ เราจะมีการเร่งขุดคลองให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ การขุดคลองคงทำได้ยาก เพราะมีปริมาณน้ำมาก เรื่องนี้ได้มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปตรวจงานพร้อมหาพื้นที่ เพื่อเร่งรัดในการขุดคลองให้มีการระบายจาก กทม.โดยเร็ว

สั่งเร่งเตรียมศูนย์อพยพล่วงหน้า

เมื่อถามถึงการผลักดันน้ำด้านตะวันตกลง 4 คลองหลัก คือ คลองพิมลราช คลองลัดโพธิ์ คลองมหาสวัสดิ์ และคลองภาษีเจริญ ลงแม่น้ำท่าจีน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การระบายน้ำยังไม่ใช่ตรงนั้น คลองทั้ง 4 จะเป็นการไหลตามปกติ เป็นคลองที่เราเห็นว่าน่าจะระบายได้ แน่นอนอาจจะมีผลกระทบข้างเคียง เราได้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะขณะนี้น้ำมีทั่วไปหมดทั้งประเทศไทย ดังนั้น วันนี้ที่เราหารือกันเป็นการระบายในส่วนน้อยก็ต้องพัง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ แต่ปัญหาการระบายน้ำออกสู่ทะเลทำได้ยาก เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น ตนจึงสั่งการให้ ผวจ.ทุกจังหวัดเตรียมแผนสำรองไว้ คือการเร่งเตรียมสถานที่ศูนย์อพยพต่างๆ การดูแลชีวิตประชาชน ล่าสุดได้ไปดูในศูนย์ของแพทย์ฉุกเฉินที่เราจะขอความร่วมมือในการบูรณาการจากทุกโรงพยาบาลในการทำงานร่วมกับทางแพทย์กรณีที่ประชาชนประสบภาวะฉุกเฉิน จะได้ดูแลอย่างทั่วถึงและรวดเร็วแล้ว

กทม.นอกแนวกั้นท่วมแน่ แต่น้ำไม่สูง

เมื่อถามว่า วันนี้นายกฯพูดได้หรือไม่ว่า กทม.มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมสูงเหมือนจังหวัดอื่น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วันนี้มีหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือจนถึงภาคกลางมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำท่วมแล้ว ส่วน กทม.ที่อยู่นอกแนวกั้นน้ำก็มีความเสี่ยงที่จะถูกภาวะน้ำท่วม แต่อาจจะไม่มีปริมาณสูงมากนัก ส่วนพื้นที่ชั้นในวันนี้เชื่อว่ายังปลอดภัยอยู่ แต่คงต้องติดตามสถานการณ์ และดูปริมาณน้ำในทุกวันอย่างต่อเนื่อง ตนขอให้ประชาชนอยู่ด้วยความระมัดระวัง ขอความกรุณาอย่าตื่นตระหนก แต่หากมีการเตรียมตัวส่วนของทรัพย์สินและสิ่งของต่างๆที่อยู่บริเวณชั้นล่างที่คิดว่ามีความเสี่ยงที่น้ำจะเข้ามาถึง ขอความกรุณาให้ย้ายของขึ้นชั้นบน ส่วนระบบไฟฟ้าหากน้ำท่วมชั้นล่างแล้วควรจะมีการแยกระบบไฟระหว่างชั้นบนและชั้นล่าง เพื่อให้มีน้ำ ไฟ ใช้อย่างสมบูรณ์ ใน กทม.ถึงแม้จะมีน้ำเข้ามาแต่คงเป็นน้ำในปริมาณที่ไม่สูง เชื่อว่าการคมนาคมต่างๆคงดำเนินต่อไปได้

แจงไม่จำเป็นต้องงัดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องใช้กฎหมายบังคับ ตนมองว่าในส่วนของกฎหมายบังคับเพื่อให้ทำตามนั้นเรายังไม่ได้ต่อสู้กับผู้คน แต่สิ่งที่เราต่อสู้คือการต่อสู้กับภัยธรรมชาติ วันนี้ความร่วมมือที่เราได้รับเกินกว่าข้อกฎหมายที่ได้รับ เราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน วันนี้สื่อมวลชนและประชาชนจะเห็นว่าทุกคนช่วยกัน ร่วมมือกัน จึงไม่มีความสำคัญและความจำเป็นที่จะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะจะเป็นการใช้อำนาจทางทหารและทางกฎหมายมาบังคับอย่างเดียว วันนี้ศูนย์บัญชาการต่างๆเราได้สั่งงานทุกกระทรวง ทุกเหล่าทัพก็ให้ความร่วมมือ

มหาดไทยไอเดียเจ๋งทำครัวลอยน้ำ

เวลา 15.30 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) สนามบินดอนเมือง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ. เป็นประธานการประชุมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยกระทรวงมหาดไทยได้เสนอแนวคิดในการทำครัวลอยน้ำ เพื่อเข้าไปทำอาหารแจกจ่ายให้ประชาชน เนื่องจากเห็นว่าเรือสามารถลอยลำนำอาหารไปในที่ต่างๆที่มีประชาชนได้รับอุทกภัยได้อย่างทั่วถึง ขณะที่ประเทศจีนได้ให้ความช่วยเหลือส่งเรือชนิดต่างๆ จำนวน 64 ลำ ซึ่งมีเรือเล็กในการเข้าในพื้นที่น้ำท่วม เรือยาง เรือเร็ว พร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์กรองน้ำ 60 เครื่อง ถังน้ำ 120 ถัง มูลค่า 10 ล้านหยวน โดยวันนี้ เวลา 17.00 น. อุปกรณ์ต่างๆจะนำมาถึงสนามบินดอนเมือง นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ได้มอบตู้รถไฟที่ไม่ได้ใช้งานกว่า 70 ตู้ เพื่อนำไปเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะในจังหวัด พระนครศรีอยุธยา

ศปภ.เตือนน้ำถึงกรุงเทพฯ 15 ต.ค.

พล.ต.อ.ประชากล่าวหลังการประชุมว่า ขณะนี้มวลน้ำก้อนใหญ่ทางภาคเหนือได้ผ่าน จ.นครสวรรค์ มาแล้ว คาดว่าจะถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณวันที่ 14 ต.ค. โดยขณะนี้ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 8 พันล้าน ลบ.ม. รัฐบาลได้พยายามผันน้ำลงทะเลใน 2 ทิศทาง คือ ทางตะวันออกจะผันลงทางคลองระพีพัฒน์ ทางคลองแสนแสบ ลงทะเล ลงแม่น้ำบางปะกง อีกเส้นทางจะผันลงแม่น้ำท่าจีน ทางคลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ อีกส่วนจะมีการผลักดันน้ำลงที่บริเวณคลองลัดโพธิ์ โดยใช้เรือนับพันลำผลักน้ำลงทะเล สำหรับน้ำทางตะวันออกจะไปทาง จ.ฉะเชิงเทรา จ.สมุทรปราการ จึงเกิดน้ำหลากท่วมเขตสายไหม มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง ผ่านทางรังสิตลงไป ส่วนทางซีกตะวันตกน้ำจำนวนมหึมาจะไหลเอ่อไปที่ จ.ปทุมธานี นนทบุรี และเชื่อว่าคงกระทบถึง จ.นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการครั้งนี้เราจะพยายามผันน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพราะมวลน้ำขนาดใหญ่จากนครสวรรค์จะลงมาสมทบอีก ก็ต้องเรียนให้ทราบเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ โดยคาดว่าน้ำจะถึง กทม. ประมาณวันที่ 15 ต.ค.

เร่งทำ 3 แนวกั้นป้องกันเมืองกรุง

“ตอนนี้ กทม.เหมือนเป็นไข่แดง มีน้ำล้อมรอบ เราทำแนวป้องกันไว้ 3 แนว คือ 1. แนวหลัก 6 เมืองเอก รังสิต 2. คลองทวีวัฒนา ศาลายา และ 3. คลอง 1-9 รังสิต โดยพยายามทำเต็มความสามารถเพื่อรักษา กทม.ไว้ให้ได้ ทั้งนี้ ช่วงที่น่าเป็นห่วงคือช่วงวันที่ 14-17 ต.ค. เพราะน้ำเหนือคงลงมาบรรจบที่จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำทะเลก็จะหนุนขึ้นสูงสุดในช่วงนั้น และอีกช่วงคือวันที่ 28-31 ต.ค.ซึ่งก็เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดเช่นเดียวกัน และหากเกิดพายุขึ้นมาอีก ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน สำหรับน้ำที่มาจากปริมาณน้ำฝน เราไม่สามารถห้ามได้ เพราะหากปริมาณน้ำฝนมาก เขื่อนต่างๆก็จำเป็นต้องระบายออก ซึ่งตรงนี้เราเป็นห่วงอยู่ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์น้ำในวันที่ 12 ต.ค.ก็เป็นที่น่าพอใจและเป็นข่าวดีว่า น้ำในแม่น้ำทั้ง 5 สาย มีปริมาณที่ลดลง หากไม่มีฝนตกหรือพายุเข้ามา จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ เบื้องต้น ตนได้เรียนนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เราไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกมากนัก เพราะเรายัง 50-50 ว่าจะรับสถานการณ์ได้หรือไม่”

เปิดสุวรรณภูมิ–วัดธรรมกายรองรับ

“ในส่วนของ กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่สำคัญมาหารือกับ ศปภ.อยู่ตลอดเวลา และได้มีการเตรียมการรับมือไว้เหมือนกัน โดยในสถานที่ลุ่มได้มีการทำสะพานคนเดินรองรับไว้แล้วหากมีน้ำท่วม และก็ได้มีการเตรียมเรือ แพ ไว้บ้างแล้ว ส่วนสถานที่ที่จะเตรียมไว้รองรับผู้อพยพนั้นมีหลายสถานที่คือ 1. ดอนเมือง ที่ขณะนี้เริ่มมีความแออัดแล้ว ที่จอดรถที่รองรับได้ประมาณ 5,000 คันก็เริ่มเต็ม โกดังที่รองรับประชาชนก็เริ่มที่จะเต็มเหมือนกัน เราจึงได้เตรียมไว้อีกที่คือที่สนามบินสุวรรณภูมิที่สามารถรองรับรถประมาณ 5,000 คัน และรับผู้อพยพได้บางส่วน และอีกแห่งหนึ่งคือวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ที่ได้มีการประสานไว้ สามารถรองรับรถได้ประมาณ 5,000 คัน จุประชาชนได้ 20,000-30,000 คน” พล.ต.อ.ประชากล่าว

จีนขนสิ่งของช่วยเหลือถึงไทยแล้ว

ต่อมาช่วงเย็น เครื่องบิน China Southern Airline ที่บรรทุกสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มูลค่า 10 ล้านหยวนหรือ 50 ล้านบาท เดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นที่เรียบร้อย โดยเครื่องบินลำดังกล่าวได้บรรทุกสิ่งของต่างๆ อาทิ เรือยนต์ความเร็วสูง และเรืออื่นๆหลายขนาด ตั้งแต่เรือบรรทุกผู้โดยสารขนาด 8 ที่นั่ง 8-10 ที่นั่ง และขนาด 12 ที่นั่ง จำนวนทั้งสิ้นกว่า 128 ลำ พร้อมทั้งเครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่ 60 เครื่อง และถังบรรจุน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 120 ถัง ทั้งนี้ รัฐบาลจีนนับเป็นประเทศแรกที่เสนอความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยแก่รัฐบาลไทย ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2554 โดยนายเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งสารแสดงความเสียใจแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายก– รัฐมนตรี นอกจากนี้ นายกว่าน มู เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ยังได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อมอบเงินสดจากรัฐบาลจีนสำหรับบรรเทาปัญหาอุทกภัยเป็นจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 30 ล้านบาท รวมทั้งสิ่งของที่บรรทุกเครื่องบินที่จะมาถึงจำนวน 50 ล้านบาท

“ยงยุทธ” วอนชาวบ้านเร่งอพยพ

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้จัดเตรียมสถานที่อพยพไว้เรียบร้อยแล้ว มีสถานที่พัก อาหาร เครื่องดื่มไว้รองรับ ต้องขออาศัยความร่วมมือจากสื่อมวลชนและทุกฝ่าย ให้แจ้งกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยให้ออกมาจากพื้นที่จะปลอดภัยกว่า เพราะหากไม่ออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยอาจจะเกิดอันตรายได้ อย่างไรก็ตาม หากยังมีประชาชนบางส่วน อาศัยอยู่ในบ้านเรือน รัฐบาลก็จะส่งความช่วยเหลือเข้าไปให้ หากส่งทางปกติไม่ได้ก็จะส่งทางเฮลิคอปเตอร์ ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้วในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยหรือไม่ นายยงยุทธตอบว่า ได้ประกาศทุกจังหวัด เพราะหากไม่ประกาศ จะไม่สามารถใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่วนกรณีที่มีประชาชนบางส่วนไม่ยอมให้ทำคันกั้นน้ำอย่างที่ จ.ปทุมธานีนั้น เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองในจังหวัด ถ้าสามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ก็จะรับทราบและปฏิบัติตามได้

สามีเผย “ยิ่งลักษณ์” เครียดมาก

เวลา 16.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมคู่สมรสคณะรัฐมนตรีได้หารือเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อสนับสนุนและเสริมการทำงานของรัฐบาล โดยจะประสานตรงกับ ผวจ.แต่ละจังหวัดว่า ทางจังหวัดต้องการอะไรเป็นพิเศษ ทางคู่สมรสคณะรัฐมนตรีจะจัดส่งไปให้โดยตรง ส่วนใหญ่ต้องการอาหารพร้อมรับประทาน นมผง ผ้าถุง ยาทาแก้โรคเท้าเปื่อย ผ้าขาวม้า ผ้าอนามัย ผ้าอ้อม นอกจากนี้ตนยังได้ย้ำในที่ประชุมว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่าไปเอาภาพ สร้างภาพมากเกินไป ขอให้ช่วยเหลืออย่างเกิดประโยชน์จริงๆ “ช่วงนี้นายกรัฐมนตรีมีบ่นบ้างว่า ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมไม่ทั่วถึง ส่วนผมต้องคอยดูอารมณ์ของนายกฯก่อนว่าเป็นอย่างไร ถ้าวันนั้นกลับมาบ้านแล้วน้ำท่วมเยอะ ผมจะพยายามพูดคุยให้น้อยที่สุด ไม่เช่นนั้นจะโดนหางเลขไปด้วย ยอมรับว่าช่วงนี้นายกฯเครียดมาก บางครั้งโทรศัพท์เข้ามาแทบผวา เพราะส่วนใหญ่โทร.เข้ามาบอกว่าน้ำเข้า ที่นั่นที่นี่แล้ว ดังนั้น วิธีที่ช่วยได้ดีที่สุดคือรับฟังและทำให้อารมณ์เสียน้อยที่สุด”

นายกฯเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงาน

เวลา 16.10 น.วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางออกจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ไปยังโรงพยาบาลศิริราช เนื่อง จากมีหมายกำหนดการเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว เพื่อถวายรายงานสถานการณ์ และการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นายกฯ เผยในหลวงให้เร่งระบายน้ำ

ต่อมาเวลา 19.50 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า พระองค์ทรงรับสั่งว่าในเรื่องของน้ำครั้งนี้ก็มากจริงๆ และกระทบกับความเสียหายเป็นจำนวนมาก พระองค์ท่านทรงเป็นห่วงประชาชนอย่างมาก ได้นำความกราบบังคมทูล ในเรื่องที่เราได้ร่วมทำการดูแลพี่น้องประชาชน และพระองค์ท่านให้ความสำคัญในส่วนการเร่งระบายน้ำด้านตะวันออก ที่เรามีการเร่งระบายน้ำและขุดคลอง คงต้องเร่งรัดในการขุดคลองเพื่อให้เกิดการระบายน้ำให้เต็มที่ ในส่วนตะวันตกคงจะไปดูในส่วนของการหาพื้นที่หรือคลองในการระบายน้ำ ซึ่งตนจะไปสำรวจในวันที่ 13 ต.ค. เพิ่มเติม การระบายน้ำต่างๆอย่างคลองลัดโพธิ์ โดยหลักการการระบายน้ำที่ดีที่สุดคือการระบายน้ำสู่ทะเล ดังนั้นการทำงานของประตูปิดเปิดระบายน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องบริหารจัดการให้สัมพันธ์กับระดับน้ำทะเลหนุน หรือน้ำทะเลขึ้นลงต้องใช้หลักการให้เต็มที่

“พิจิตต” ใช้บินเล็กเก็บข้อมูลน้ำท่วม

ที่ ช่วงเย็น ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. ผู้อำนวยการบริหารศูนย์เตรียมความพร้อมภัยพิบัติในทวีปเอเชีย ได้นำแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมระบุพื้นที่น้ำท่วมมาชี้แจงว่า กำลังจะนำเครื่องบินเล็กไร้คนขับติดกล้องบันทึกภาพ มาบินเก็บภาพในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อจัดทำข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยแผนที่จะระบุพื้นที่ในชุมชนอย่างละเอียด เพราะขณะนี้มวลน้ำก้อนใหญ่ยังอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ยังไม่ได้ลงมา ขณะที่น้ำทะเลกำลังจะหนุน ฝนก็กำลังมา ที่คิดว่าน้ำจะหมดในเดือน พ.ย. คงไม่ใช่เพราะจะยังยืดเยื้อไปจนถึง ธ.ค. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงต้องเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปแล้วไล่น้ำเหนือลง การระบายผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาลงทะเล เป็นทางที่ดีที่สุด แต่ กทม.จะต้องทำเขื่อนกั้นน้ำสองฝั่งให้แข็งแรง จากเดิมสูง 2.50 เมตร ไม่พอต้องเสริมกระสอบทรายสูง 30 ซม.บนสันเขื่อน หากได้ 3 เมตร จะช่วยได้มาก วันที่ 15-18 ต.ค. ถ้าน้ำทะเลหนุนสูง 2.40 เมตร จะปริ่มพอดี แต่เชื่อว่าพื้นที่ชั้นใน กทม.จะได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะระบบป้องกันแข็งแรงไว้วางใจได้ แต่ก็ไม่ควรประมาทฝนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สุด

ส่ง ฮ.ทอ.บินสแกนหาคนติดเกาะ

ด้านนายวิม รุ่งวัฒนจินดา โฆษก ศปภ. กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 12 ต.ค. กองทัพอากาศได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ที่มีเทคโนโลยีสูง สามารถใช้รังสีอินฟราเรดสแกนความร้อนจากร่างกายมนุษย์ได้ จำนวน 5 ลำ ดำเนินการสแกนพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลที่ถูกน้ำท่วมในปริมาณสูง เพื่อตรวจสอบว่าในบ้านเรือนมีประชาชนอาศัยอยู่หรือไม่ และหากพบว่าไม่มีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ก็จะประสานกับทางจังหวัดเพื่อประกาศว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากผู้ประสบภัย เนื่องจากหน่วยกำลังบำรุงที่เข้าไปช่วยเหลือจะต้องเคลียร์แต่ละพื้นที่ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ที่ผู้มีอพยพหรือผู้ประสบภัยอยู่ เพราะการลำเลียงสิ่งของเข้าไปเป็นไปด้วยความยากลำบาก สำหรับประชาชนที่ไม่ยอมอพยพออกจากบ้านเนื่องจากห่วงทรัพย์สินนั้น คงต้องขอร้องหรือหามาตรการเพื่อขนย้ายออกมา

ระดม ตชด. 600 นายเฝ้าทรัพย์คนอยุธยา

ต่อมา พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. โฆษกด้านการช่วยเหลือประชาชนด้านกำลังพลตำรวจ พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ โฆษกด้านการช่วยเหลือประชาชนด้านกำลังพลทหาร ร่วมกันแถลงว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กองทัพและ สตช.ออกสำรวจผู้ประสบภัยที่ตกค้าง ในพื้นที่น้ำท่วมห่างไกลจากเขต และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ตกค้างออกมาพักอาศัย ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางจังหวัดจัดขึ้น เบื้องต้นได้มีชาวบ้านในจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 3,500 คน อพยพออกจากบ้านเรือนมายังศูนย์พักพิงแล้ว ส่วนใน จ.พระนครศรีอยุธยา ยังมีประชาชนอีกมากที่ยังไม่ยอมออกจากบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ใน ต.ลุมพลี ต.วัดตูม และ ต.ท่าช้าง อำเภอพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 10,000 คน ที่ยังไม่ยอมออกจากที่อยู่อาศัย เนื่องจากเกรงว่าทรัพย์สินจะถูกขโมย เพราะมีกลุ่มชายฉกรรจ์พายเรือลักทรัพย์ตามบ้านเรือนประชาชนในตอนกลางคืน สตช.ได้ส่งตำรวจ ตชด. 600 นาย เข้าในพื้นที่ลาดตระเวนดูแลทรัพย์สินตามบ้านเรือน ประชาชนในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลและอพยพออกมายังที่ปลอดภัย

สั่งจับกระสอบทราย–เรือขึ้นราคา

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กระทรวงฯดูแลราคาสินค้าทั้งหมด ไม่ให้ผู้ผลิต ผู้ค้าฉวยโอกาสกักตุน และปรับขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผล ซ้ำเติมความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นที่ต้องใช้ในช่วงน้ำท่วม ทั้งทราย ถุงบรรจุทราย เรือท้องแบน เครื่องยนต์ (ใช้ติดเรือ) เสื้อชูชีพ ไฟฉาย แบตเตอรี่ ซึ่งได้สั่งให้กรมการค้าภายในกำหนดราคาแนะนำสำหรับขายปลีกขึ้น หากผู้ค้ารายใดฉวยโอกาสขึ้นราคา หรือกักตุนสินค้าจะมีโทษสูงสุดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 จำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาสินค้าจำเป็นเบื้องต้นพบว่า ราคาทรายได้ปรับขึ้นจากช่วงปกติ เพราะแหล่งผลิตทรายใหญ่คือ อยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี ประสบปัญหาน้ำท่วม ต้องดูดทรายที่นครปฐม กาญจนบุรีแทน ทำให้มีต้นทุนด้านค่าขนส่งเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเกิดปัญหาขาดแคลนเพราะความต้องการใช้จำนวนมาก ทำให้ทรายปรับขึ้นราคาจากคิวละ 300-400 บาท เป็นคิวละ 450-500 บาท ซึ่งกระทรวงฯเห็นว่า ราคาทรายไม่ควรปรับเพิ่มจากนี้แล้ว ถุงบรรจุทราย ขนาด 25 กก. ราคาควรอยู่ 3 บาท/ถุง ซึ่งขณะนี้หมดแล้ว ส่วนขนาด 50 กก. ราคา 7 บาท/ถุง ยังสามารถหาซื้อได้อยู่

เตือนอย่าฉวยโอกาสขายเกินราคา

ส่วนเรือพลาสติกและเรือที่ผลิตจากไฟเบอร์ ราคาเรือเปล่า 2 ที่นั่ง 2,800-3,000 บาท/ลำ ขนาด 4 ที่นั่ง 4,000 บาท/ลำ ขนาด 10 ที่นั่ง 10,000 บาท/ลำ แหล่ง ผลิตอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เครื่องยนต์ 9 แรงม้า ราคาไม่ควรเกิน 21,000 บาท/เครื่องยนต์ ส่วนเสื้อชูชีพ รองเท้าบู๊ต พบว่าสถานการณ์ราคายังพบปกติ และมีจำหน่ายเพียงพอ ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร เครื่องกระป๋อง ทางผู้ผลิตยืนยันที่จะเพิ่มกำลังการผลิต จึงไม่ขาดแคลนแน่นอน และราคาไม่ควรปรับเพิ่มขึ้นจากช่วง ปกติ ส่วนเนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ ยืนยันว่าราคาไม่มีปัญหา ดังนั้น การฉวยโอกาสขึ้นราคา เช่น ขายปลีกไก่เพิ่มขึ้นเป็นปีกละ 20-30 บาท ถือว่าจงใจฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา

สั่งทุก รพ.รอบ กทม.เคลียร์เตียงรอรับผู้ป่วย

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมรับการ ย้ายผู้ประสบอุทกภัย โดยมีเครือข่ายทางการแพทย์นอกกระทรวงสาธารณสุข 4 เครือข่าย เข้าร่วม ว่า ได้สั่งการ ให้ทุกสถานพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯเป็นพื้นที่สูง และมีความปลอดภัยจากสถานการณ์น้ำท่วม เช่น จ.กาญจนบุรี และราชบุรี สำรองเตียงให้ว่างเพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจจะต้องเคลื่อนย้ายจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ หากเกิดน้ำท่วมขึ้น และมีความพร้อมในส่วนของอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสะดวกหากต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกนอกพื้นที่กรุงเทพฯ อยากให้ทุกเครือข่ายทางการแพทย์ เตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉินเพื่อร่วมสนับสนุนกับส่วนของ สธ.ด้วย

ผู้ประกันตนเข้า รพ.เอกชนได้ทุก รพ.

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นาย

ต้นฉบับ: http://www.thairath.co.th/today/view/208945
ที่มา: ไทยรัฐ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น