ครั้งที่น้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 ซึ่งเริ่มต้นที่ภาคอีสานและตาม มาด้วยภาคใต้ โดยเฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลายฝ่ายระบุว่าเป็นอุทกภัยที่หนักที่สุดในรอบหลายสิบปี เนื่อง จากฝนตกหนักในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน สถานการณ์ครั้งนั้นคลี่คลาย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า พื้นที่ประสบอุทกภัยในปี 2553 ในภาคอีสานมีทั้งสิ้น 39 จังหวัด 425 อำเภอ 3,098 ตำบล 26,226 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2 ล้านครัวเรือน 7 ล้านคน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหายกว่า 7.7 ล้านไร่ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 180 ราย
ส่วนภาคใต้มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น 12 จังหวัด 133 อำเภอ 874 ตำบล 6,197 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 600,000 ครัวเรือน เกือบ 2 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 80 คน
“อภิสิทธิ์” ใช้เงินกว่า 40,000 ล้าน
ปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีมติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมออกมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 42 นัด และปี 2554 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ประชุม ครม. ทั้งสิ้น 24 ครั้ง ใช้งบกลางฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปกว่า 40,000 ล้านบาท โดยใช้งบกลางของปี 2554 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั้งสิ้นประมาณ 28,000 ล้านบาท แยกเป็นช่วยเหลือภาคการเกษตรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 20,000 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท จำนวน 8,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน ไม่รวมงบที่ส่วนราชการอื่นๆให้ความช่วยเหลือ และการเบิกจ่ายเงินทดรองจากกรมบัญชีกลางงบประมาณปี 2554 รวม 16,128 ล้านบาท
ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมรัฐบาลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแก้ปัญหาช้า ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ยังทำงานลักษณะต่างคนต่างทำ แม้แต่นายอภิสิทธิ์ยังถูกนำมา เปรียบเทียบกับนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าว ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่กลายเป็นขวัญใจผู้เดือด ร้อนจากน้ำท่วม และน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า
ขณะที่นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงในปี 2553 ว่าเกิดจากภาครัฐไม่มีนโยบายการเตือนภัยธรรมชาติที่ชัดเจน ทำให้หน่วยงานต่างๆไม่สนใจ หรือขาดการประสานงานกัน ทั้งที่มีข้อมูลทำนายล่วงหน้านับเดือนแต่กลับไม่นำไปใช้
“การเตือนภัยธรรมชาติหลักๆต้องมี 3 อย่างด้วยกันคือ ข้อมูลผู้ที่นำข้อมูลนี้ไปใช้ในการปฏิบัติและการเตือนภัย แต่ปัญหาคือต่างคนต่างทำ สุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา กรมอุตุนิยม วิทยาเตือนภัยมาแล้ว 20 กว่าฉบับ มีการบอกถึงขั้นฝนจะตกหนักตรงนั้นตรงนี้ ปริมาณแบบนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ถ้าคนที่ได้รับการเตือนถือไปปฏิบัติตาม เอาไปบอกผู้บริหารท้องถิ่นให้มีคำสั่งอพยพ หรือหาทางป้องกัน หากระสอบทราย ขุดลอกหนองบึงให้ทางน้ำไหลได้คล่อง รวมทั้งเตือนประชาชนให้ยกของไว้ล่วงหน้า หรือเตรียมอาหารกักตุนไว้ ความเสียหายก็จะน้อยลง”
ปี 54 น้ำท่วมรุนแรงในรอบ 100 ปี
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาอุทกภัยในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องกันว่ารุนแรงกว่าปี 2553 และถือเป็น วิกฤตน้ำท่วมที่หนักที่สุดในรอบ 50-100 ปี จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (วันที่ 11 ตุลาคม 2554) ระบุว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางรวม 60 จังหวัด 592 อําเภอ 4,246 ตําบล ประชาชนเดือดร้อนกว่า 2.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชาชนกว่า 8.2 ล้านคน และเสียชีวิต 269 ราย
การแก้ปัญหาระยะแรกรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ถูกโจมตีว่าล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพเช่นกัน แม้ทุกฝ่ายจะยอมรับว่าน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงและมาเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน โดยเฉพาะปริมาณน้ำทุกเขื่อนล้นจนต้องระบายออก แต่กว่ารัฐบาลจะตั้งตัวติดโดยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่า การกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ถูกมองว่า “ช้าไป” หลังจากเกิดอุทกภัยมาแล้วถึง 1 เดือนเต็มๆ
“บางระกำ” ดีแต่โม้?
ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องประเมินภาวะน้ำ ทั้งปริมาณฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง และปริมาณน้ำในเขื่อนผิดพลาด ระยะแรกเหมือนรัฐบาลวิ่งตามปัญหาไม่ทันแล้ว ระยะหลังยังถูกปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลถล่มในทุกจังหวัด โดยเฉพาะความประมาทของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ เขื่อนและคันกั้นน้ำหลายแห่งจึงพังทลาย จนหลายจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ที่ต้องทำทุกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วม แม้แต่การทำพิธีไล่น้ำหรือไล่เรือ
แต่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ผิดพลาดชัดเจนคือการมองปัญหาไม่ทะลุและหวังผลทางการเมืองมากเกินไป นั่นคือ “บางระกำโมเดล” บางระกำคือ 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลกที่เป็นแหล่งรับน้ำจากแม่น้ำน่าน ยม และปิงบางส่วน ซึ่งทุกปีน้ำต้องท่วมอยู่แล้ว รัฐบาลจึงชูแผนต้นแบบที่จะแก้ปัญหาอย่างถาวร ทำให้กองทัพ สื่อมวลชน และหน่วยงานต่างๆกรูกันไปที่บางระกำ ทั้งที่ขณะนั้นน้ำยังท่วมหนัก แม้แต่ภาคประชาชนก็เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่น้ำก็ยังท่วมเหมือนเดิม เพราะรัฐบาลเองไม่มีแผนดำเนินการที่ชัดเจน และไม่ใช่การแก้ปัญหาได้ทันที แต่ต้องศึกษาก่อน
“บางระกำโมเดล” จึงทำให้รัฐบาลถูกตอกย้ำ จากฝ่ายค้านทันทีว่า “ดีแต่โม้” ทั้งยังเกิดวิวาทะระหว่างภาคประชาชนกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่อีกด้วย เพราะกระทรวง ทบวง กรม ต่างเสนอนโยบาย และแผนงานแก้ปัญหาแบบรายวัน ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต่างคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากมาย และความเดือดร้อนจะได้รับการแก้ไข ทั้งที่ทั้งหมดเป็นแผนระยะยาว แต่รัฐบาลกลับพูดโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบ
ข้าราชการล้าหลัง
ที่สำคัญ 2 เดือนที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า การทำงานของข้าราชการยังทำแบบของใครของมัน ไม่มีการประสานกันเหมือนที่ผ่านมาทุกครั้ง ทุกอย่างต้องรอ “เจ้านายสั่ง” จึงเป็นที่มาของการตั้ง ศปภ. ที่ต้องการระดมการแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้น ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม ซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้มีหน่วยงานและงบประมาณชัดเจน เพราะปัญหาอุทกภัยเป็นปัญหาซ้ำซากและซับซ้อนที่เกิดขึ้นทุกปี และแต่ละปีต้องเสียเงินงบประมาณนับหมื่นล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ข้าราชการเป็นแกนนำในการแก้ปัญหา
ส่วนรัฐบาลทำได้เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวหลังจากการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับข้าราชการทุกฝ่ายเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเน้นนโยบายเชิงปฏิบัติการให้เห็นผลทันที 9 มาตรการ ซึ่งเป็นแค่นโยบายกว้างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งระบายน้ำที่ท่วมออกทะเลให้หมดโดยเร็วที่สุด การบริหารทางเทคนิคอย่างมีประสิทธิภาพ การให้กองทัพเข้ามาช่วยเหลือประชาชน การให้ข้อมูลข่าวสารตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง การรักษาเขตตัวเมืองให้แข็งแรง ให้กรมชลประทานขุดลอกคันกั้นน้ำ และให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ โดยให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีชุมชนทุกภาคส่วนและตัวแทนส่วนราชการระดับท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลในทางปฏิบัติทันที
“มือใหม่” แก้วิกฤตไม่ได้
แม้อุทกภัยน้ำท่วมครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสและสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางกว่าค่อนประเทศ เพราะไม่ใช่แค่พื้นที่การเกษตร แต่ยังถล่มนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 แห่ง ทำให้เสียหายนับแสนล้านบาท นอกจากนี้ยังทำให้คนว่างงานอีกนับแสน ซึ่งกว่าอุตสาหกรรมต่างๆจะกลับมาดำเนินการได้เหมือนเดิมต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 3-4 เดือนหลังน้ำลด ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้จึงลดลงอย่างแน่นอน
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่เข้ามาทำงานได้ไม่ทันครบ 2 เดือน ถือเป็นความโชคร้ายอย่างมากที่ต้องแบกภาระอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี แต่จะอ้างว่าเป็น “มือใหม่” ไม่ได้ เพราะประชาชนหลายล้านคนต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการตามนโยบาย 2P2R ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการให้ทำงานแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจนในแต่ละขั้นตอน และทำงานแบบบูรณาการรวม เพื่อให้มีความคล่องตัวและรวดเร็ว โดย P แรกคือ Preparation การเตรียมการ P สอง Prevention การป้องกันล่วงหน้า R แรก Response การเผชิญเหตุ และ R สุดท้าย Recovery การฟื้นฟู ยังเป็นแค่วาทกรรมที่ดูสวยหรูและถูกโจมตีว่า “ดีแต่โม้” รัฐบาลยังทำได้แค่วิ่งไล่ตามปัญหา เช่นเดียวกับข้าราชการในแต่ละพื้นที่ก็ทำได้แต่ตั้งรับ อีกทั้งบางพื้นที่ยังประมาทและประเมินสถานการณ์ผิดพลาดอย่างมากอีกด้วย
ในข้อเท็จจริงสถานการณ์น้ำท่วมเกือบทุกพื้นที่ขณะนี้เป็นการแก้ปัญหาแบบ “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือประชาชนที่ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะพื้นที่น้ำท่วมรุนแรงและกว้างมาก แม้แต่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่มีความพร้อมทั้งเงินและคนยังไม่สามารถรับมือได้
น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงต้องยอมรับความจริงว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ทำได้ดีที่สุดคือทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด และเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ให้มากที่สุด ไม่ใช่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลปกป้องเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เพราะประชาชนทุกคนมีความเดือดร้อนและทนทุกข์แสนสาหัส ไม่ใช่แค่บ้านเรือนและทรัพย์ สินเสียหาย แม้แต่ที่นอนยังแทบไม่มี บางคนไม่มีอะไรจะกิน เพราะการช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง
ไร้บูรณาการ
แม้แต่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งประชุมทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยเพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมยังเห็นว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานให้ทำงานร่วมกัน และต้องบอกถึงสถานการณ์น้ำท่วมให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลความจริง ไม่กั๊กข้อมูล แม้จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดก็ตาม เพื่อเป็นการแนะนำหรือเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้เตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงที รวมถึงในพื้นที่กรุงเทพฯด้วย
นายนพดลยังตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดการแก้ปัญหาไม่เป็นระบบ และปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการอย่างเต็มที่ รวมถึงช่วงแรกไม่ได้รับความร่วมมือจากกองทัพและกรุงเทพฯเท่าที่ควร การทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีวันนี้ต้องยอมรับว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร
ส่วน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องสั่งให้รัฐมนตรีไปนอนกับชาวบ้าน เพราะได้แค่ภาพบนเรือ ตกน้ำตกท่ากันแล้วก็รีบกลับ ไม่เห็นมีอะไรเป็นเนื้องานได้ โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีไม่ต้องวิ่งตามปัญหาและตระเวนไปดูน้ำท่วมให้มากนัก เพราะ สถานการณ์อุทกภัยทุกหน่วยงานทำงานอยู่แล้ว เพียงแต่ให้งบประมาณแล้วปล่อยให้เขาจัดการเอง อย่าคิดว่ารัฐบาลนี้จะต้องทำดีกว่ารัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลต้องตั้งหลักให้ได้ว่าจะแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างไร ทุกโครงการศึกษาไว้หมด ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว ไม่จำเป็นต้องมีโมเดลอะไรใหม่ๆขึ้นมาอีก ควรทุ่มเทกับการแก้ไขปัญหาในอนาคตจะเป็นประโยชน์มากกว่า และมอง หามาตรการแนวทางแก้ไขที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรง ทั้งภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจของประเทศที่เสียหายไปกับอุทกภัยปีละหลายแสนล้านบาท โดยเฉพาะปีนี้ประชาชนได้รับความทุกข์มาก แม้แต่กรุงเทพฯก็อาจจะป้องกันไม่อยู่
คนไม่รู้เรื่องมาบริหารน้ำ
ด้านนักวิชาการ นายทวีวงศ์ ศรีบุรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย เห็นว่า การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาทุกรัฐบาลล้มเหลว เพราะพูดกันเฉพาะเรื่องทฤษฎี แต่พอเอาเข้าจริงกลับนำไปปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน ทั้งที่นักวิชาการศึกษาพื้นที่มากมาย และเสนอมาตรการกันมานานแล้ว แต่ไม่มีการนำเอามาใช้ให้เกิดผลขึ้นจริง
ไม่ว่าจะเป็น 2P2R หรือบางระกำโมเดลก็ไม่ได้นำเอามาใช้ประโยชน์จริงๆ ทุกรัฐบาลต่างแก้ไขปัญหาน้ำล้มเหลว การศึกษาเรื่องน้ำเกิดขึ้นมานานกว่า 50-60 ปี มีแผนปฏิบัติเสนอกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่เวลาทำงานจริงกรมโยธาธิการก็แยกไปทำเฉพาะเรื่องชุมชน สร้างกำแพงกั้นน้ำในแต่ละเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนการศึกษาไม่ได้ดำเนินการตามแผน ทั้งยังรื้อเอาแผนปฏิบัติการเก่าๆขึ้นมาดูแล แล้วจะสามารถที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างไรในการประสานงานของแต่ละหน่วยงาน
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่ตั้งขึ้นยังไม่ได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาใดๆเลย เนื่องจากส่วนหนึ่ง พ.ร.บ.น้ำยังไม่เกิด ทำให้บทบาทความรับผิดชอบยังไม่มีความ ชัดเจน กฎหมายฉบับนี้ยังค้างอยู่ ในสมัยที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีการเสนอกฎหมายฉบับนี้ หากไม่จัดตั้งกระทรวงน้ำก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะรัฐบาลมักเอาคนที่ไม่รู้เรื่องน้ำมาบริหาร ดังนั้น ปัญหาขณะนี้นอกจากฝนฟ้าอากาศที่ผิดปรกติแล้ว สิ่งที่ทำให้น้ำท่วมคือการจัดการน้ำไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ต้องให้ความสำคัญ
“ที่ผ่านมากฎหมายไม่เดินหน้า แต่ถ้ามองในเชิงอำนาจเดิมมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำ 13 กระทรวง และ 30 กรม โครงสร้างใหญ่มาก ไม่สามารถ สั่งใครและกำกับใครได้ เวลาน้ำแล้งการไฟฟ้าฯจะปล่อยน้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็สั่งไม่ได้ เลยมองว่าถ้ามีอำนาจรวมที่หนึ่งที่ใดในการจัดการก็จะดีขึ้น”
น้ำท่วมกับน้ำเน่าการเมือง
ปัญหาน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้งจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้นำประเทศอย่างยิ่งด้วย เพราะปัญหาน้ำไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจและอุทกภัยที่ต้องไล่ตามแก้ปัญหาซ้ำซาก แต่ยังเป็นปัญหาการเมืองที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเสถียรภาพของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงต้องทำ “วิกฤต” ให้เป็น “โอกาส” สร้างผลงานให้กับตัวเองและรัฐบาล แม้ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงก็ตาม
ความล้มเหลวไม่ใช่เพราะระบบราชการและข้าราชการที่ยังล้าหลัง ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม หรือผักชีโรยหน้าเท่านั้น แต่อีกส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าวันนี้มีแต่นักการเมือง “หางกะทิ” เพราะพวก “หัวกะทิ” ถูกดองไว้หมด และว่ายแหวกอยู่ในบ่อการเมือง “น้ำเน่า” ภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย หาใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องใช้โอกาสนี้ประกาศการแก้ปัญหาน้ำเป็น “วาระแห่งชาติ” อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูว่า “บูรณาการ” แต่ต้องโละระบบข้าราชการที่ล้าหลัง และเอานักการเมืองระดับ “หัวกะทิ” มารับผิดชอบ ไม่ใช่ทำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่จะแก้กฎหมายกลาโหมฉบับเดียวก็ยังผวากันไปทั้งรัฐบาล หลังประชาชนต้องผจญน้ำท่วมก็คงจะต้องผจญกับน้ำเน่าต่อไปอย่างแน่นอน
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น วันนี้ประชาชนตาดำๆก็อย่าหวังพึ่งใครทั้งสิ้น ช่วยตัวเองได้ให้ช่วยก่อน ถ้ามีเหลือก็ช่วยคนอื่น แบ่งปันบรรเทาทุกข์กันไป
“อัตตาหิ อัตตโน นาโถ”
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน...นั้นแล
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
/////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น