ไม่ว่าจะอยู่กลางน้ำ เฉียดฉิวริมรั้ว หรือบริเวณที่น้ำยังเข้ามาไม่ถึง ต่างก็ดูเหมือนว่าทุกส่วนต้องต้านทานแรงกดดันจากกระแสข่าวเรื่องน้ำๆ กับคำถามที่ว่า เราจะรับมือและผ่านพ้นวิกฤติ "น้ำหลาก ข่าว(ลือ)ท่วม" นี้ไปได้อย่างไร
..น้ำท่วมนครสวรรค์ ข่าวลือจระเข้หลุดเกือบร้อย
..คนกรุง! ตื่นน้ำท่วมแห่ 'ตุน' อาหาร - กรุงเทพธุรกิจ
..'ตื่นน้ำ' ขนทรายหมดเกลี้ยง - INN
..กระแสข่าวลือน้ำท่วมทะลักล้น ความวิตกจริตสำลักเกินจริง - ผู้จัดการ
..กรมชลฯ โต้ข่าวลือน้ำท่วมเกาะเกร็ด - INN
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา "วิกฤติอุทกภัย" ที่พัฒนาความรุนแรงและการขยายตัวเป็นวงกว้าง จน "ส่งผลกระทบ" กันถ้วนหน้า ทั้ง "คนวงใน" และ "คนวงนอก"
จนตอนนี้ ไม่ว่าน้ำจะรุกคืบเข้าพื้นที่ใดหรือไม่ก็ตาม แต่ "ความกังวล" ก็ได้เข้าเกาะกุม "จิตใจ" ผู้คนทั่วไปเอาไว้อย่างแน่นหนาแล้ว
- เมื่อ "น้ำ" กำลังมา
"ข้างหลังท่วมไปแล้วครับ" คิง - พุทธิพงศ์ วงเดือน หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงวัยรุ่นของชุมชนที่ขนมาช่วยกันสกัดน้ำบอกถึงสถานการณ์ในขณะนี้
"ข้างหลัง" ของเขาก็คือ น้ำที่ไหลมาจาก "คลองวังน้อย" เข้าสู่ "คลองเจ็ก" และ "คลองวัดอีแตก" ทำให้ตอนนี้ บริเวณด้านหลังของเทศบาล ระดับน้ำ "ขึ้นเข่า" ไปแล้ว
จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ ทำให้พอเข้าใจได้ว่า เพราะพื้นที่ของพระอินทราชาถือเป็นจุด "รับน้ำ" จาก "วังน้อย" เมื่อวังน้อยต้านไม่อยู่ ปริมาณน้ำก้อนหนึ่งก็จะหนุนเข้ามาถึงบ้าน และชุมชนของเขาด้วยเช่นกัน
"ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เห็นตลาดประตูน้ำพระอินทร์ท่วม ปี 38 ที่ว่าน้ำท่วมหนัก พระอินทร์ยังไม่ท่วมเลย" คิงเปรียบเทียบสถานการณ์
ข่าวสาร ตลอดจนข้อมูลน้ำจากจอโทรทัศน์ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยของเทศบาลจึงกลายเป็น "หัวใจ" ของงานนี้ แต่ก็ไม่วายมี "ข่าวลือ" แว่วมาให้เสียวใจเล่น
"เขาก็บอกกันมาว่าท่วมแน่ เอาไม่อยู่หรอก เดี๋ยวจะมีพายุมาอีกลูก ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะยังไง ก็ต้องขนของขึ้นข้างบนก่อนน่ะครับ เพื่อความปลอดภัย"
ข้ามฝั่งมายังพื้นที่ปลายน้ำอย่าง ชุมชนริมคลองดำเนินสะดวก จ.สมุทรสาคร
ไม่ว่าจะสวนองุ่น หรือสวนมะพร้าว ที่บ้านของ ศิริลักษณ์ พวงระย้า ใน ต.บ้านแพ้ว เธอยืนยันว่า ถูกน้ำกลบโคนต้นไปแล้ว เรียบร้อย
ริมคลองตาปลั่งข้างบ้าน ที่เป็นคลองสาขาจากคลองดำเนินฯ ด้วยการปล่อยน้ำและฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องจึงทำให้บ้านเธอ และชุมชนชาวสวนระแวกนั้น ได้รับความเดือดร้อนไม่ต่างกัน แต่ด้วยลักษณะของบ้านที่ปลูกเป็นยกพื้นสูงมีใต้ถุนบ้าน ทำให้ข้าวของที่จำเป็นต้องย้ายเพื่อเตรียมรับมือจึงมีไม่มากนัก
"พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ยกขึ้นข้างบนเตรียมรอเอาไว้แล้ว"
สิ่งที่เธอพะวงมากกว่าที่อยู่ก็คือ ที่ทำกิน ทั้งสวน ทั้งนา ที่ครอบครัวหวังจะเป็นช่องทางต่อทุนเพื่อเป็นเงินเก็บสำหรับยามฉุกเฉินต้องมาจมอยู่ใต้น้ำ
เท่าที่ทำได้ตอนนี้ คือได้แต่รอคอย และหวังว่าความเสียหายจากน้ำเหนือ จะไม่มากไปกว่านี้
เหมือนกับชุมชนประตูน้ำพระอินทร์ แหล่งข้อมูลน้ำของเธอก็คือ "ข่าวโทรทัศน์"
ในภาวะวิกฤติ การร่วมไม้ร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ถือเป็นฟันเฟืองหลักในการช่วยหมุนให้ประเทศก้าวผ่านสถานการณ์เลวร้ายมาได้นักต่อนัก
น้ำท่วมปีนี้ก็ไม่ต่างกัน สถานีโทรทัศน์หลายช่องแปรสภาพกลายเป็นหน่วยแจ้งความช่วยเหลือ และการรับบริจาค ขณะที่คนจากฟากราชการก็ร่วมมือกับฟากประชาชนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนกันคนละไม้คนละมือ
ฟากฝั่งออนไลน์ ก็มีบรรดากีคทั้งหลายก่อตั้งเครือข่ายอาสาเพื่อช่วยเป็นศูนย์รวมข่าวสาร อัพเดทสถานการณ์น้ำท่วมด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังดูเหมือนจะ "ทรงพลัง" กว่าสื่อดั้งเดิมมากมายนัก ด้วยเพราะเป็นแหล่งรวมของข่าวสารทั้งที่มีคุณภาพ ไร้คุณภาพ กระทั่งขยะข้อมูล คละเคล้าปะปนกันไป
..บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก
ภาพบริเวณหน้าหอสมุดปรีดี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กำลังถูกน้ำเซาะเหลือเพียงไม่กี่เซนติเมตรก็จะล้นแนวกำแพง สร้างความหวั่นวิตกให้กับคนที่พบเห็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตอีกฟากจากคนที่เพิ่งข้ามมาจากโรงพยาบาลศิริราชในวันเดียวกันถึง อากาศ ช่วงเวลา และลักษณะของภาพที่ดูเก่าจนไม่น่าจะเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน
กลายเป็นข้อสงสัย และถกเถียงกันมาจนถึงตอนนี้
..หรือกรณี โพสท์ภาพน้ำท่วมถนนหน้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ
ที่ระดับน้ำสูงขึ้นปริ่มฟุตบาธ กลายเป็นสถานการณ์วิกฤติที่หลายช่องต่างเอาไปเล่นเป็นข่าว ทั้งที่ความจริง ถ้าใครอยู่แถวนั้นจะทราบว่า นั่นคือเหตุการณ์ปกติที่มักเกิดขึ้นเมื่อฝนตกหนัก
การรวมเอากรณีน้ำท่วมขัง (ประจำ) กับสถานการณ์น้ำท่วมมาเป็นคนละเรื่องเดียวกันจึงกลายเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ในแง่ของการคัดกรองข่าว อีกด้วย
- ข่าว "ลือ" กำลังล้น
อัพเดทจำนวนล่าสุด เวลา 6โมงเย็นของวันที่ 13 ตุลาคม 2554 ชุมชนน้ำขึ้นฯ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่เฉียดๆ 13,500 คนขาดอยู่แค่ครึ่งร้อย
ขณะที่ความตั้งใจเดิม ตั้งเพจนี้ขึ้นเพื่ออัพเดทสถานการณ์น้ำ ที่ไหนท่วมแล้ว ที่ไหนยังแห้งอยู่ ประตูน้ำ คันกั้นน้ำที่ไหนเป็นอย่างไร แข็งแรงดีหรือไม่ แต่เมื่อจำนวนสมาชิกของเพจน้ำขึ้นฯ มากจนแอดมิน (ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม) ซึ่งประจำการบนเพจแค่เพียงคนเดียว เริ่มรับมือกับข้อมูลล้นหลามและสมาชิกเรือนแสนไม่ไหว
สถานการณ์ของเพจน้ำขึ้นฯ จึงเข้าสู่ภาวะ "ท่วมท้นไปด้วยข้อมูล" ซึ่งมีคุณภาพอยู่ไม่มาก แถมยังถูกเบียดให้ตกไปด้วยการโพสท์ถามไถ่สถานการณ์ฝนตก น้ำท่วม น้ำขัง กระทั่งฟ้าคำราม
ความพยายามที่จะจัดระบบระเบียบ สร้างกติกาการใช้งานเพจจึงเริ่มต้นขึ้น วันต่อมาเริ่มเปิดห้องสนทนา สำหรับการพูดคุยซักถาม ที่ไม่ใช่การอัพเดทสถานการณ์ พร้อมชักชวนให้สมาชิกโพสท์รูปประกอบการรายงานสถานการณ์ เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือ พร้อมกำกับด้วยเวลาและสถานที่ของรูปที่ถ่ายให้ละเอียด หรือใครที่มีข้อมูล หรืออยู่ในพื้นที่ ขอให้ช่วยเข้ามายืนยันสถานการณ์ด้วยตัวเองอีกต่อหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังสร้างกติกาการโพสต์ โดยคัดกรองความน่าเชื่อถือ ด้วยสัญลักษณ์ "# I" เพื่อหมายถึงการรายงานสถานการณ์ที่พบเจอด้วย "ตัวเอง" แต่ถ้าเป็นข่าวที่ได้ยินต่อมาอีกทีหนึ่ง ไม่ว่าจะเพื่อนบอก หรือ ฟังมาจากช่องทางข่าวสารใดก็ตาม ให้ใช้สัญลักษณ์ "#N" ก่อนจะตามด้วยเวลาและข้อความ
ที่สำคัญคือถ้ามี "ภาพจริง" ประกอบการรายงานได้จะยิ่งดี เพราะมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน แอดมินมือใหม่แต่ใจเต็มร้อย ซึ่งภายหลังมีผู้ช่วยแอดมินเข้ามาช่วยอีกหนึ่งแรง ก็ได้แยกการพูดคุย ถามไถ่ อัพเดทข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับน้ำท่วมโดยตรง ออกไปไว้ในกระดานข้อความ แยกเรื่องฝนออกจากน้ำ
5 วันต่อมา การจัดการข้อมูลของ "น้ำขึ้น ให้รีบบอก" จึงเข้าสู่การใช้งานได้อย่างมีระบบ
แต่สำหรับเวบมาสเตอร์มืออาชีพอย่าง ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเวบไซต์สนุกดอทคอม และในฐานะผู้จัดการศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ThaiFlood.com ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2553 รับมือกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีกลายต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ รวมเวลา 1 ขวบปีพอดิบพอดี เล่าถึงวิธีการจัดการ "ข้อมูล" ล้นหลามของพลเมืองดีที่อาสารายงานสถานการณ์น้ำ ที่จากแรกเริ่มทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข้อมูล เบอร์โทรติดต่อด่วนสำหรับแจ้งเหตุ ซึ่งทำไปทำมา เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลไม่ไหว กระทั่งเกิดเป็นคอลเซ็นเตอร์อาสา นำทัพโดย "ผู้พิการ" ที่มาช่วยรับโทรศัพท์กันมือระวิงในปีก่อน
สำหรับปีนี้ ปรเมศวร์ บอกว่า ข้อมูลที่ต้องจัดการมีมากขึ้น มีทั้งการใส่แผนที่ศูนย์อพยพ, ศูนย์ที่พักพิง, จุดทำอาหาร และ จุดจอดรถ ซึ่งต้องได้รับการอัพเดทอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ที่เห็นได้ชัด คือ ปริมาณ "ข้อมูล" ที่ทะลักมากับน้ำหลากปีนี้ดูเหมือนจะมากกว่าปีกลายชนิดเทียบกันไม่ติด
"ถ้าอยู่ดีๆ ในโรงหนังมีคนตะโกนขึ้นมาลอยๆ ว่าไฟไหม้ แน่นอนว่าความโกลาหลเกิดขึ้นแน่ กับสถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้ก็เหมือนกัน ช่องทางการกระจายข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ ถึงแม้จะรวดเร็ว แต่ก็ต้องคัดกรองระดับหนึ่ง อย่างทวิตเตอร์ หรือ เฟซบุ๊ค ถึงเราจะคัดกรองได้ยาก แต่แย้งได้ อะไรที่ไม่ชัวร์ ก็ต้องเช็ค หรือบอกกล่าว ชี้แจงไป" ปรเมศวร์บอก
ขณะเดียวกัน เวบแอดมินก็จะพยายามคัดเอาข้อมูลที่เชื่อถือได้จากนักข่าวอาสาที่รายงานผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค เข้าไปใส่ที่เวบ thaiflood.com อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้คนทั่วไปได้รับทราบด้วย แต่เจ้าตัวก็เอ่ยอย่างหนักใจด้วยว่า ถ้าจะให้ประเมินผลงานการอัพเดทข้อมูล ต้องถือว่ายัง "สอบไม่ผ่าน" ในโจทย์เรื่องความไว เพราะข้อจำกัดเรื่องกำลังคน นอกจากนี้ thaiflood ยังเป็นกลุ่มไม่แสวงหากำไร ขณะที่ทุนการจัดการเป็นทุนส่วนตัวล้วนๆ
เจ้าตัวจึงไม่พ้นการพ้อด้วยเสียงเหนื่อยอ่อนว่า
"ผมใช้พนักงานของบริษัทมาช่วย 3 คน อีก 7 คนเป็นอาสา ที่ผลัดกันเข้ามาทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนผมไม่ได้ทำเต็มตัว แต่ต้องบอกว่าทำเกินตัวแล้วครับทุกวันนี้"
ข่าวน้ำตามที่ไหน
- ศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ twitter @thaiflood, tag twitter #thaiflood และ Facebook Page ทาง facebook.com/thaiflood รายงานสถานการณ์ รับเรื่องขอความช่วยเหลือจากผู้ประสบอุทกภัย แสดงเป็นสีระดับเตือนภัย รวมเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานต่างๆ เลขที่บัญชีบริจาคทรัพย์สิ่งของช่วยเหลือ
- Google Crisis Response ข้อมูลแผนที่และให้ความช่วยเหลือต่างๆเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ โดยอ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ ThaiFlood.com
- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ http://www.ndwc.go.th เว็บไซต์รวมข่าวสารภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
- กรมชลประทาน www.rid.go.th เว็บไซต์อีกแห่งที่สามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างเป็นทางการ
- สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) Flood.gistda.or.th แสดงข้อมูลแผนที่รายงานคาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วม
- น้ำขึ้นให้รีบบอก (http://www.facebook.com/room2680) รายงานสถานการณ์น้ำท่วม และแจ้งขอความช่วยเหลือ โดยชาวเฟซบุ๊คช่วยกันรายงานจากสถานที่จริง
- Twitter และ facebook ของ ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (@bkk_best , facebook.com/bkk.best และ http://dds.bangkok.go.th/m) ใช้ติดตามสถานการณ์ โดยจะมีทั้งประกาศฉุกเฉินของทางกรุงเทพมหานคร รายงานสภาพระดับน้ำตามคลองต่างๆ สภาพอากาศทั่วกรุงเทพ
- กรมอุตุนิยมวิทยา ที่ www.tmd.go.th จะคอยรายงานสภาพอากาศ และประกาศเตือนภัยไปยังจังหวัดต่างๆ
ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น