--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แค้น : ไม่อาจสะท้อน ไม่พอสะท้าน !!?

โดย ชญานิน เตียงพิทยากร
ที่มา:Siam Intelligence Unit

แค้น ศุภวัฒน์ หงษา

เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ครั้งที่ 4 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ เพิ่งคลี่ม่านปิดฉากไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
ผมได้ไปร่วมงานมาบ้างประปราย และไม่ได้ชมการแสดงกับงานศิลปะทั้งหมด แต่มีงานละครเวทีสองเรื่องในเทศกาลนี้ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจนำมาขยายผลต่อ ได้แก่ ‘แค้น’ (ศุภวัฒน์ หงษา) และ ‘อัสลาม… จากเจ้าหญิงเสียงเศร้าแห่งดาวดวงที่ ๔’ (ฟารีดา จิราพันธุ์)

จุดร่วมของละครทั้งคู่คือเป็นละครที่สอบผ่านในแง่มุมด้านศิลปะ ไม่มีใครบริภาษว่าละครสองเรื่องนี้ย่ำแย่เลวร้าย หากแต่จุดบอดบางประการที่ปรากฏอยู่และแทบจะซ้อนทับกัน ทำให้รู้สึกว่าควรบันทึกไว้ให้เห็นชัด เนื่องด้วยทั้งศุภวัฒน์และฟารีดาต่างเลือกหยิบจับประเด็นทางสังคมการเมืองที่ร้อนแรงมานำเสนอ และผมเห็นว่าทั้งคู่มี ‘กำแพงส่วนตัว’ แบบเดียวกัน ที่กั้นไม่ให้ละครของพวกเขาขึ้นไปสู่จุดสูงสุดได้
ในบทความตอนนี้ ขอกล่าวถึงเรื่อง แค้น ก่อน และจะกล่าวถึง อัสลาม ในบทความชิ้นต่อไป


แค้น ศุภวัฒน์ หงษา
อิ่ม (รับบทโดย สิทธยา นักปราชญ์) / ศักดิ์ (รับบทโดย วสุ วรรลยางกูร)

‘แค้น’ เล่าเรื่องชีวิตชาวสลัมยากจนในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยในเวอร์ชั่นของศุภวัฒน์นี้เป็นงานสำเร็จการศึกษาที่แสดงไปเมื่อช่วงกลางปี ก่อนจะ re-stage ในงานรำลึก 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในเทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ดัดแปลงจากบทละครเดิมของ วีระประวัติ วงศ์พัวพันธ์ ซึ่งเคยถูกสร้างเป็นละครเวทีโดย ยุทธนา มุกดาสนิท เมื่อปี 2518 – ยุครอยต่อทางการเมืองที่นักศึกษามีบทบาท ตื่นตัวทางการเมือง ตั้งคำถามกับความเป็นไปของสังคม ณ ตอนนั้น และสถานการณ์เริ่มคุกรุ่นอีกรอบ และไปปะทุเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ตรงนี้แหละปัญหา… ตรงความเป็น 2516, 2518, 2519 นี่แหละปัญหา
ผมพูดได้ไม่เต็มปากหรอกว่า ศุภวัฒน์ซื่อสัตย์กับบทละครต้นฉบับมากเพียงใด (เพราะไม่เคยอ่านบท และเกิดไม่ทันจะมีโอกาสได้ดูเวอร์ชั่นของยุทธนา) แต่จากที่ดูแล้วผมพบว่า แทบไม่พบการตีความเพิ่มเติมหรือต่อยอดจากบริบทสังคมเมื่อ 36-37 ปีก่อนมากเท่าไรนัก -อาจไม่ใช่สาระสำคัญ- แต่เมื่อทางผู้กำกับและคนเขียนบทของเวอร์ชั่นปี 2554 ได้เชื่อมโยงชิ้นงานของตนเข้ากับเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 แต่กลับไม่ได้ดัดแปลงบทละครให้สอดรับหรือต้านค้านกับบริบทสังคมร่วมสมัย ย่อมเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถาม
เรายังพบการ romanticize คนจนในลักษณะที่อีหลักอีเหลื่อพอสมควร ละครเสนอว่าที่คนจนต้องทำอะไรที่ถูกหมายรวมว่าเป็น ‘ความเลว’ (เช่น เสพยา, ปล้นจี้, ขายตัว หรือฆ่าคน) เป็นผลจากการที่ถูกคนที่อยู่ในสถานะทางสังคมเหนือกว่ากดขี่ข่มเหง ซึ่งมันแหลมคมและส่งผลรุนแรงกับผู้ชมได้ในบริบทของต้นฉบับ แต่ไม่ใช่ในปี 2554

ดูเหมือนศุภวัฒน์เองก็จะรู้ว่าการใส่ฉากคนจนถูกย่ำยีบีฑา เหยียดประนามหยามหมิ่น ใน พ.ศ. นี้เป็นอะไรที่ดูเชย ล้าสมัย และไร้พลัง (ลองนึกถึงฉากประเภทเจ้าแม่เงินกู้มาด่าคนสลัมว่า “ก็เพราะแกมันขี้เกียจถึงไม่มีเงินมาใช้หนี้ฉัน” ดูสิครับว่ามัน ‘ละครทีวี’ ขนาดไหน) ระหว่างที่เราดูละครก็ไม่พบฉากทำนองนี้ปรากฏอยู่ในเรื่องเลย ฟังดูเหมือนจะดีที่ละครลดทอนสิ่งที่ล้าสมัยและไม่จำเป็นออกไปเสีย แต่ผลสะท้อนของมันคือกลายเป็นว่า คนจนคนสลัมพวกนี้ก็ก้มหน้าด่าตัวเอง กดตัวเอง ดูถูกตัวเอง มโนไปเองว่าคนอื่นเขามองว่าตัวเองต่ำ dramatize ความยากจนของตัวเองไปเรื่อยๆ จนทุกอย่างเกิดจากการย้ำทัศนคติฝังหัวตัวเองทั้งสิ้น

ด้วยวิธีการเล่าและนำเสนอ กลายเป็นว่าชะตากรรมของตัวละครชาวสลัมทั้งหลายในเรื่องเกิดจากพวกเขาทำตัวเองทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก (อย่างที่ผู้กำกับตั้งใจ) เพราะเมื่อละครอ่อนพลังในการชูประเด็นรายรอบไป ขาดความละเอียดประณีตในทางประเด็นไป มันก็เลยเหลือสารเพียงเท่านี้ที่ส่งมาถึงคนดู เราไม่ได้เห็นอาการง่อยเปลี้ยเสียขาอันเกิดจากสถานะทางสังคมชัดเท่ากับการที่ตัวละครพูดกรอกหูตัวเอง (มีตัวละครถึง 3 ตัวที่มีหน้าที่เพียงแค่เดินเข้าฉากแล้วพูดประเด็นออกมาอย่างทื่อตรง โดยไม่ได้อยู่ในลักษณะ ‘ยั่วให้คิด’ แต่เป็น ‘พูดให้เชื่อ’) แม้กระทั่งฉากที่ตัวละครถูกประหารชีวิต แล้วโยงไปถึงการใช้ มาตรา 17 อันเป็นอำนาจประกาศิตในสังคมเผด็จการทหาร ก็ไม่ได้มีพลังพอที่จะให้เห็นโครงสร้างอำนาจรัฐที่กดทับประชาชน เนื่องด้วยสิ่งที่ตัวละครทำต่อให้ไม่ใช้มาตรานี้จัดการ ก็เข้าข่ายให้ถูกตัดสินประหารชีวิตได้อยู่ดี

พยอม แค้น ศุภวัฒน์ หงษา
พยอม (รับบทโดย เศรษฐินันท์ กนิกาจิรานันท์)

ฟังก์ชั่นของตัวละครไม่ถูกขับเน้นให้เห็นความเป็นมนุษย์มากนัก เพราะดูเหมือนผู้กำกับจะพึงใจกับลักษณะที่ตัวละครเป็นตัวแทนความคิดในจุดยืนต่างๆ มากกว่า (มีเพียงตัวละคร ‘พยอม’ เมียเก่าของพระเอกซึ่งกลายเป็นโสเภณีจีไอเท่านั้นที่ดูเป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อในละครเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงตัวหนังสือในบทละคร แต่ต้องยกประโยชน์ให้ผู้แสดงที่ตีความตัวละครได้ละเอียดน่ายกย่องด้วย) เราก็จะเห็นแม่จนๆ ที่รู้สึกต่ำต้อยในความจน พระเอกที่เพิ่งออกจากคุกและลืมตาอ้าปากไม่ได้เพราะความจน น้องสาวพระเอกที่ไม่มีอะไรทำเพราะความจนเลยต้องเป็นกะหรี่ตามเพื่อน เพื่อนพระเอกที่มีเงิน มีฐานะขึ้น เพราะขายของเถื่อน ฯลฯ

รวมถึงประเด็นเรื่อง ‘ความแค้น’ (ของชนชั้นล่าง ต่อชนชั้นที่สูงกว่า ซึ่งน่าจะเป็นแกนหลักของเรื่อง) ก็ไม่ได้ถูกเน้นให้เห็นชัดเจนมากไปกว่าบทพูดยาวๆ ใช้ศัพท์ซ้ายๆ การเมืองๆ (ประเภทว่า ‘เงินคือพระเจ้าในโลกทุนนิยม’ อะไรแบบนั้น) ไม่ได้เห็นความคับข้องเคียดแค้น น่าเห็นใจ หรือสภาวะที่ตัวละครต้องแบกรับอยู่ มากไปกว่าการบิลด์ให้ตัวเองแค้นแล้วก็ลงมือกระทำการอันโหดเหี้ยม ก่อนจะใช้ไดอะล็อกต่างๆ มาเป็นเครื่องมือเรียกร้องความน่าสงสารน่าเห็นใจ ซึ่งไม่ได้ผลเท่าที่ควร

บางที scope ของละครอาจดูกลมกล่อมลงตัวกว่านี้ในทางประเด็นตัวบทถ้าไม่พยายามพูดออกนอกเขตสลัมมากนัก และไปขับเน้นอารมณ์ให้ชัดๆ ดีกว่า เช่น เคี่ยวให้เห็นว่าอำนาจรัฐกดขี่ผู้คนอย่างไร ไม่ใช่นำเสนอเพียงบางๆ อย่างที่เป็น เพราะนอกจากตัวละครมากมายในสลัมแล้ว ละครยังพาเราไปให้เห็นทหารไทยปะทะคารมทางอุดมการณ์กับทหารคอมมิวนิสต์ลาวด้วย ซึ่งกลายเป็นว่าประเด็นเรื่องอำนาจรัฐยิ่งเบาบาง แตกกระจาย และไม่แหลมคมมากขึ้นไปอีก ผมลองคิดเล่นๆ ดูว่าทำไมไม่ให้เป็นบทสนทนาของทหารรัฐไทยกับคอมมิวนิสต์ไทยไปเลย เราอาจเห็นมุมที่รัฐกระทำต่อคนในชาติชัดเจนมากขึ้นด้วยซ้ำ และจะช่วยเสริมให้สารของเรื่องแข็งแรงขึ้น น่าคิดตามมากขึ้น (อย่างจุดประสงค์ของละครที่บอกว่าจะ ‘สะท้อนชนชั้น สะท้านอคติ’)

ผมไม่มีสิทธิ์ไปบอกผู้กำกับอยู่แล้วว่า เขาจะต้องคิดหรือเชื่อแบบเดียวกับที่ผมอยากให้เป็น การทำงานศิลปะไม่ได้หมายความว่าจะต้องแหลมคมหรือก้าวหน้า (ในความคิดของคนดู) เสมอไป แต่ข้อกังขาที่เกิดขึ้นกับตัวผมก็คือ ในสภาวะสังคมเช่นนี้ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 (หรือถ้าไกลไป ตีแคบเข้ามาเป็นหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2552 ก็ได้) ผมไม่เชื่อว่าผู้กำกับจะยังเชื่อในชุดความคิดที่ใช้อธิบายสังคมในสมัยปี 2518 และไม่คิดว่าชุดความคิดดังกล่าวจะทาบทับซ้อนสนิทกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2553

จากภาพของละครที่เสนอออกมา ผมไม่รู้สึกว่าสิ่งที่สื่อสารออกมานั้นจะต่างกับวาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’ ที่ระบาดอยู่ในสังคมไทยสักกี่มากน้อย (อีกทั้งวาทกรรมนี้ก็ถูกรื้อสร้าง ตั้งคำถาม นิยามใหม่ จากหลายฝั่งความคิดในปัจจุบัน) และเมื่อผนวกกับความเคลื่อนไหวอันฉับไวของความคิดทางสังคมการเมืองในประเทศไทยปัจจุบัน นั่นทำให้ละครเรื่องนี้ไม่มีพลังและไม่ได้ส่งผลสะท้านสะเทือนใดๆ นอกจากการเป็นเวอร์ชั่นรีเมคของละครดังเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ที่ถูกแช่แข็งอยู่เช่นนั้นในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มากกว่าที่จะเป็นบทวิพากษ์สังคมร่วมสมัยที่แหลมคม พลังของงานศิลปะทั้งการทำหน้าที่สะท้อนและสะท้านผู้ชมจึงไม่ได้ทำหน้าที่ เมื่อคำถามในละครนั้นตามหลังคำถามในโลกแห่งความเป็นจริงอยู่หลายก้าว

หากจะตอบคำถามที่ว่า “ทำไมคนจนถึงต้องทำแบบนั้น” ด้วยคำตอบแบบที่ ‘แค้น’ เสนอ ก็ไม่ใช่การอธิบายสถานการณ์ที่ทันสมัยเอาเสียเลย คำตอบทำนองว่า “เพราะคนจนถูกสถานภาพทางสังคมและอำนาจรัฐกดทับ ไม่เอื้อให้เขาลืมตาอ้าปากได้ในโครงสร้างสังคมไทยที่เป็นเช่นนี้” ได้กระจายไปทั่วสังคมไทยมานานแล้ว และคำตอบนี้ไม่ใช่ผลที่น่าพึงพอใจสำหรับคนที่ยังคงมีคำถามอยู่ ปัจจุบันคำถามที่ร่วมสมัยในประเด็นนี้คือ “การที่เราจนอยู่อย่างนี้ เป็นผลจากอะไร หรือจากใคร และใครเป็นผู้กำหนดโครงสร้างที่กดทับเราเช่นนี้” ต่างหาก

การพูดถึงเหตุการณ์ในอดีต ไม่ได้เป็นตัวบีบบังคับว่าเราจะต้องตั้งคำถามที่เป็นอดีตไปด้วย เรานำอดีตมาวิพากษ์ปัจจุบันได้ ใช้เป็นเครื่องมือในการตอบคำถามที่เป็นปัจจุบันได้ น่าสงสัยว่าที่ศุภวัฒน์ไม่ทำเช่นนี้เพราะเขาเชื่อจริงๆ ว่าเราสามารถใช้ชุดความคิดแบบ 37 ปีก่อนมาอธิบายปัจจุบันได้ หรือเพราะคำอธิบายของปี 2554 มันเป็นคำตอบที่นำมาใส่ในละครเวทีไม่ได้กันแน่?


[วิดีโอการแสดงทั้งเรื่อง, วันที่ 5 ตุลาคม 2554, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น