--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นิติราษฎร์พร้อมนั่งส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญผลักดันล้างรัฐประหาร !!?

นักวิชาการในคณะนิติราษฎร์ประกาศพร้อมร่วมเป็น ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบุไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ เพราะเป็นการทำงานทางนิติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่จะไม่ขอเข้าร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือพรรคการเมืองโดยตรง ยันพร้อมดีเบตกับผู้ที่คัดค้านข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 ทุกเวที “วรเจตน์” ย้ำรัฐธรรมนูญใหม่มีสิทธิประกาศโมฆะสิ่งที่เกิดขึ้นทางกฎหมายได้ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ข้อเสนอจะเป็นจริงได้หากรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพ โดยต้องเริ่มต้นจากแก้มาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. แต่รัฐบาลคงคิดหนักเพราะมีแรงเสียดทานมาก โดยเฉพาะจากกองทัพที่ไม่เห็นด้วย

นายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในแกนนำคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ยืนยันว่า ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้มีตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆที่รัฐบาลจะตั้งขึ้น โดยเฉพาะการเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

“ถ้าเป็นเรื่องการเมืองแท้ๆพวกเราไม่เข้าไปยุ่ง แต่หากเป็นการเข้าไปทำงานทางด้านนิติศาสตร์ เช่น การยกร่างรัฐธรรมนูญ เราไม่ได้ปิดกั้นว่าสมาชิกจะไปหรือไม่” นายธีระกล่าวพร้อมย้ำว่า งานที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง พรรคการเมือง แต่เป็นงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเราพร้อมเข้าไปทำ แต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสมาชิกแต่ละคน เรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญเรามีข้อเสนออยู่แล้ว หากมีคนเชิญไปทำงานนี้ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ

นิติราษฎร์พร้อมดีเบตทุกเวที

นายธีระกล่าวอีกว่า หากมีการจัดเวทีดีเบตข้อเสนอลบล้างผลพวงจากการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 และข้อเสนออื่นๆของคณะนิติราษฎร์ โดยมีหลายฝ่ายเข้าร่วม ทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาสังคม พวกเราพร้อมไปร่วมเวที

รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์หากจะทำจริงต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่าจะยกเลิกอะไรบ้าง มีอะไรที่ต้องคงไว้ หากยกเลิกหมดคงยากที่จะทำให้สถานการณ์ราบเรียบ

รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพจึงทำได้

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เบื้องต้นรัฐบาลต้องเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ก่อนเพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร. จากนั้น ส.ส.ร. จะเป็นคนบอกเองว่าจะยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และคำสั่งของคณะรัฐประหารอย่างไร

ต้องสร้างกระแสไม่เอารัฐประหาร

“รัฐบาลต้องรับลูกและเป็นเจ้าภาพจัดการเรื่องนี้ แต่คิดว่าคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจะมีแรงเสียดทานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะแรงเสียดทานจากกองทัพที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้แน่นอน” รศ.สิริพรรณกล่าวและว่า หากสังคมนำข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์มาถกเถียงในวงกว้างเพื่อให้เกิดกระแสว่าสังคมนี้ไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารก็คงพอจะช่วยป้องกันรัฐประหารได้ระดับหนึ่ง

ข้อเสนอนิติราษฎร์ขาดรายละเอียด

รศ.สิริพรรณระบุว่า ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้า มีการสร้างแนวคิดและมาตรฐานใหม่ในการปกป้องประชาธิปไตยของไทย ซึ่งเกิดจากการตกผลึกทางความคิดที่ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายและมีความเป็นไปได้สูง แต่จุดอ่อนของข้อเสนอเหล่านี้อยู่ที่การไม่ระบุรายละเอียดจนอาจทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยในหลายประเด็นได้ เช่น คดีความที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถ้ายกเลิกองค์กรต่างๆที่เกิดหลังรัฐประหาร และคำสั่งของรัฐประหาร ก็จะมีคำถามว่าคดีความต่างๆเหล่านี้ควรจะไปอยู่ในช่องไหน อย่างไร ซึ่งคณะนิติราษฎร์ไม่ได้พูดชัดเจน

แก้รัฐธรรมนูญเป็นโจทย์ใหญ่รัฐบาล

รศ.สิริพรรณกล่าวอีกว่า ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คิดว่าคณะนิติราษฎร์น่าจะต้องการให้รัฐธรรมนูญมีรากฐานมาจากประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2475 และ 2489 มีจุดเด่นที่ระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรไทย ขณะที่รัฐธรรมฉบับปี 2540 มีจุดเด่นที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนมากกว่าฉบับอื่นๆ ดังนั้น จึงถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล

ส่วนจะต้องลงโทษผู้ก่อการรัฐประหารหรือไม่นั้นต้องให้ประชาชนช่วยกันหาข้อยุติ เพราะถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับสังคมไทย แต่หากทำได้จริงควรมีการระบุความผิดกับผู้ก่อการรัฐประหารให้ชัดเจน เพื่อเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการปกป้องประชาธิปไตย

“วรเจตน์” ยันเขียน รธน. ลบล้างได้

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ กล่าวย้ำว่า ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกำหนดรัฐธรรมนูญที่จะถูกเขียนขึ้นใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นใหม่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ โดยประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะเอาหรือไม่ และอำนาจจะกลับมาที่เจ้าของอำนาจจริงๆว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาประชาชนเห็นว่าอย่างไร และควรถูกลบล้างมากน้อยแค่ไหน

“ตรงนี้จะทำในชั้นของรัฐธรรมนูญที่จะยกร่างขึ้นมาใหม่ จึงมีสิทธิที่จะย้อนกลับไปประกาศความเป็นโมฆะของสิ่งที่เกิดขึ้นในทางกฎหมายได้”

“กี้-ดารณี” มอบตัวเดือน ต.ค.

ด้านความคืบหน้าการเข้ามอบตัวของนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และนางดารณี กฤตบุญญาลัย 2 แกนนำคนเสื้อแดงที่ยังหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศนั้น นายคารม พลทะกลาง ทนายความแนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ยืนยันว่า นางดารณีจะกลับไทยวันที่ 2 ต.ค. นี้ และจะเข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ส่วนกรณีของนายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำ นปช. อีกคนหนึ่งยังไม่ได้รับการติดต่อว่าจะกลับมาเมื่อไร

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ทนายความนายอริสมันต์ติดต่อมาว่าลูกความจะเข้ามอบตัวเดือน ต.ค. นี้ แต่ยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน หากมามอบตัวก็จะส่งตัวให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษทันที เพราะสำนวนคดีถูกส่งฟ้องศาลไปหมดแล้ว

ที่มา:หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น