--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เตือนอย่าใช้ความรุนแรงล้างรัฐประหาร 19ก.ย.49 หวั่นบีบทหารปฏิวัติ !!?

อาจารย์ใหญ่นิติศาสตร์หวั่นปัญหาความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จะขยายวงกว้างและจุดชนวนให้ทหารออกมาทำรัฐประหารอีก ฟันธงรัฐบาลไม่กล้ารับลูก เพราะอาจทำให้ถูกยึดอำนาจได้ แนะ “ยิ่งลักษณ์” ถ้ารัฐบาลไปไม่ไหวให้ลาออกหรือยุบสภา เชื่อจะช่วยป้องกันรัฐประหารได้ดีที่สุด ด้านกรรมการ คอป. ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านอย่ายกข้อเสนอคณะนิติราษฎร์มาเป็นชนวนก่อเหตุรุนแรง ระบุการจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามควรเป็นไปตามกรอบประชาธิปไตย หวั่นถ้ามีความรุนแรงอีกความพยายามสร้างความปรองดองของ คอป. จะล้มเหลว รองโฆษกเพื่อไทยจี้คณะบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วางตัวเป็นกลางทางการเมืองเพื่อไม่ให้ลูกศิษย์ขัดแย้งกันเอง

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีต ส.ว. จังหวัดตาก กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของบุคคลหลายฝ่ายในสังคมไทยเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎรที่ต้องการให้มีการลบล้างผลพวงจากการทำรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 ว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือถ้าในที่สุดแล้วความขัดแย้งทางความคิดหากกดดันกันต่อไปมากๆเข้าจนถึง ณ จุดหนึ่งทางฝ่ายทหารอาจจะคิดว่าเขาไม่มีทางเลือก เพราะถ้าถึงขั้นจะเอาเขาไปเข้าคุกเขาอาจคิดทำรัฐประหารอีกครั้งได้ และถ้าทหารจะคิดทำอีกคงต้องหาเงื่อนไขใหม่ๆอีกหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 รวมทั้งต้องดูว่าฝ่ายที่จะต่อสู้กับรัฐประหารจะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น

บีบมากถึงจุดหนึ่งอาจปฏิวัติอีก

“ที่บอกว่าหากเกิดการปะทะทางความคิดเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์กันมากๆเมื่อถึงจุดๆหนึ่งอาจทำให้ทหารออกมายึดอำนาจอีกนั้น ขอย้ำว่ามีทั้งความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินหน้าไปถึงขนาดที่ว่าจะต้องเอามาลงโทษในขณะที่ดุลของอำนาจน้ำหนักยังอยู่ที่ฝ่ายเขา เขามีกองทัพ มีกำลังอาวุธและกำลังคนอยู่ในมือ เชื่อว่าเขาคงยอมตรงนั้นไม่ได้” นายพนัสกล่าวและว่า ในส่วนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงไม่กล้ารับลูกข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ โดยเฉพาะการเอาพวกที่ทำรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 มาพิจารณาลงโทษ

แนะนายกฯไปไม่ไหวลาออก-ยุบสภา

นายพนัสกล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ยังไม่มีเงื่อนไขอะไรที่จะนำไปสู่การทำรัฐประหารได้ อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาขึ้นมามากๆ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปไม่ไหวในการแก้ปัญหาประเทศก็ควรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วให้คนอื่นขึ้นมาทำหน้าที่แทน หรือควรยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ให้ประชาชนตัดสิน และใช้ครรลองของประชาธิปไตยแบบนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายคนไทยจะคุ้นชินกับวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย แนวทางนี้จะหลีกเลี่ยงการถูกยึดอำนาจจากทหารได้ และเป็นวิธีที่จะป้องกันไม่ให้มีการยึดอำนาจได้ดีที่สุดด้วย

กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา

นายสมชาย หอมลออ กรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายคนหนึ่งขอแสดงความชื่นชมคณะนิติราษฎร์ที่ได้พัฒนาแนวคิดทางกฎหมายในระบบ หรือกระบวนการทางกฎหมายของไทยที่มีความแตกต่างออกไป ซึ่งความจริงสิ่งเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นนานแล้ว เพราะของเรามีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับระบบหรือกระบวนการยุติธรรมและแนวคิดทางกฎหมาย เช่น แนวคิดทางกฎหมายที่ว่ากฎหมายคือคำสั่งขององค์อธิปัตย์ แม้จะเป็นองค์อธิปัตย์ที่เกิดโดยชอบหรือไม่ชอบธรรมก็แล้วแต่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

ข้อเสนอนิติราษฎร์ป้องกันปฏิวัติได้

“กระบวนการยุติธรรมของไทยในอดีตตั้งแต่ปี 2500 ยอมรับอำนาจของรัฐประหาร จุดนี้ขัดแย้งกับแนวคิดในระบอบประชาธิปไตยมาก และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ประเด็นของคณะนิติราษฎร์ที่เสนอให้มีการทบทวนและยกเลิกบางมาตราที่ยกเว้นความผิดของคณะรัฐประหารตามรัฐธรรมนูญปี 2549 ผมเห็นด้วยในหลักการ แม้ในทางปฏิบัติอาจมีความยากลำบากในการจะนำเอาผู้ก่อการรัฐประหารมาดำเนินคดี เพราะระบบกฎหมายอาจยังไม่เปิดกว้างถึงขนาดนั้น แต่การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อให้สังคมได้ถกเถียงกัน และถ้าสามารถหาข้อยุติได้จะเป็นหลักการที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารในอนาคตได้”

ต้องล้างหลักการนิรโทษกรรม

นายสมชายสนับสนุนหลักการที่เสนอให้มีการยกเลิกการนิรโทษกรรมตัวเองของคณะรัฐประหาร เพราะการนิรโทษกรรมตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว ซึ่งในหลายประเทศก็ทำกัน ในทางกฎหมายแม้ว่าจะมีหลักกฎหมายที่ไม่ให้เป็นความผิดย้อนหลัง หรือเมื่อมีกฎหมายทำให้พ้นโทษไปแล้วและจะไม่มีการพิจารณาคดีหรือลงโทษซ้ำสองอยู่ก็ตาม แต่ในหลายประเทศที่พูดถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ยกเว้นหลักการนี้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ความผิดในฐานการยึดอำนาจยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ แต่ถ้าเป็นความผิดร้ายแรงทางอาชญากรรมสงคราม ความผิดต่อมนุษย์ชาติหรือการล้างเผ่าพันธุ์ เป็นความผิดที่ไม่สามารถจะนิรโทษกรรมได้ไม่ว่ารัฐใดก็แล้วแต่

เปลี่ยนแปลงตามระบบจะไม่รุนแรง

“การดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอเหล่านี้เป็นการถกเถียงและผ่านขั้นตอนทางประชาธิปไตย ถ้าทุกฝ่ายยึดตามขั้นตอนนี้จะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกในแง่ของความรุนแรง แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านแนวคิดของคณะนิติราษฎร์ไม่ยอมรับกระบวนการประชาธิปไตยก็อาจก่อให้เกิดความรุนแรงได้ ผมคิดว่าการดำเนินการต่างๆจะต้องยอมรับก่อนว่าต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการประชาธิปไตยที่เห็นพ้องต้องกัน จะทำอะไรก็ตามทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านอย่าเอาเรื่องนี้ไปเป็นเหตุในการก่อความรุนแรง ไม่เช่นนั้นรายงานของ คอป. ที่กำลังทำเรื่องการสร้างความปรองดองอาจจะล้มเหลวได้”

จี้อธิการบดี มธ. วางตัวเป็นกลาง

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอไว้อาลัยให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ทุกคนที่เสียชีวิตจากการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งขอเรียกร้องให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วางตัวเป็นกลาง เพราะอดีตที่ผ่านมานั้นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำให้นักศึกษาแตกแยกเป็นเหล่า เป็นกลุ่มก้อน จนนักศึกษามหาวิทยาลัยเดียวกันบางครั้งยังไม่คุยกัน เนื่องจากสวมเสื้อคนละสี

ที่มา:หนังสือพมพ์โลกวันนี้

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น