--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สู้กับคอร์รัปชัน เรื่องเพ้อเจ้อที่ต้องเริ่มจริงจังเสียที !!?


ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
บทความนี้ เป็นบทความที่เขียนโดย คุณบรรยง พงษ์พานิช ซึ่งตีพิมพ์ในสื่อออนไลน์ “ไทยพับลิก้า” ผมเห็นว่าเป็นบทความที่น่าสนใจ จึงขอคัดลอกมาให้อ่าน

ดังนี้ครับ

ผลการสำรวจระบุว่ากว่าครึ่งของสังคมยอมรับคอร์รัปชันได้หากสร้างความเจริญให้กับประเทศ จริงหรือ ที่มีการคอร์รัปชันชนิดที่สร้างความเจริญได้ ?

นักธุรกิจกว่าร้อยละ 70 ยอมรับว่าตนจ่ายค่าคอร์รัปชัน และในจำนวนนั้น กว่าร้อยละ 80 คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็น และก็ได้ผลคุ้มค่า จริงหรือ ที่ธุรกิจไม่สามารถแข่งขันได้ ถ้าไม่จ่ายคอร์รัปชัน ?

รายได้ตามกฎหมายที่น้อยจนไม่พอกิน ทำให้ข้าราชการและนักการเมืองจำเป็นจะต้อง “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” เพื่อประทังความอยู่รอด จริงหรือ ที่ทุกคนจะคอร์รัปชันเพียงเพื่อเลี้ยงอัตภาพ และไม่เกินเลยไปสู่การกอบโกยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ?

สังคมไทยเลวร้ายลง เพราะปัญหาการคอร์รัปชันทวีมากขึ้นจนเกินระดับที่สมควร จริงหรือ ที่จะมีกลไกที่สามารถกำหนดระดับดุลยภาพและสร้างคอร์รัปชันขนาด “พอสมควร” ได้ ?

คอร์รัปชันเป็นวัฒนธรรมอันหยั่งรากลึกในสังคมไทยทุกระดับ ไม่มีทางที่ขุดถอนสำเร็จ จริงหรือ ที่การต่อสู้กับคอร์รัปชันเป็นเรื่องเพ้อไม่มีทางบรรลุเป้าหมาย สมควรที่จะเอาทรัพยากรไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่า ?

ความเชื่อข้างต้นเป็นมายาคติของสังคมไทยปัจจุบันที่ตั้งอยู่บนความเห็นแก่ได้ ความมักง่าย การเข้าข้างตนเอง และคิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์เฉพาะหน้า โดยไม่ไยดีถึงความเสียหายร้ายแรงที่จะตามมา ซึ่งในที่สุดก็จะนำมาสู่จุดจบซึ่งกระทบถึงทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ เพราะว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดอันดับหนึ่งของสังคม เป็นรากเหง้าของปัญหาทั้งมวลที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความแตกแยก ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม การกดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบ การแย่งชิงทรัพยากร ทั้งยังนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรอย่างผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งบั่นทอนศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

บทความนี้ได้แต่หวังจะเป็นก้อนหินเล็กๆ ก้อนหนึ่งที่จะมาร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมเพื่อช่วยถมทับหนองบึงความชั่วร้ายแห่งการคอร์รัปชัน ซึ่งนับวันรังแต่จะแผ่ขยายครอบคลุม และดูดกลืนทุกภาคส่วนของสังคมไทยให้ดิ่งลึกลงทุกที

1. ประเภทของคอร์รัปชัน

เราพอจะแบ่งประเภทการทุจริตคอร์รัปชันออกได้เป็น 3 ประเภท ใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

1.1 การทุจริตคอร์รัปชันในภาคเอกชน อันได้แก่ การฉ้อฉลคดโกงกันเอง ระหว่างเอกชนด้วยกัน การที่พนักงานโกงบริษัท การที่ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ฉ้อฉลเอาเปรียบผู้ถือหุ้นอื่น ซึ่งการฉ้อฉลในภาคเอกชนด้วยกันนี้ มักจะมีผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงคอยตรวจสอบรักษาผลประโยชน์ตน และมีการพัฒนากฎหมาย รวมทั้งกลไกป้องกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

1.2 การทุจริตโดยเบียดบังทรัพย์สินของรัฐโดยตรง เช่น การฉ้อฉลเงินงบประมาณแผ่นดิน การจัดการถ่ายโอนทรัพย์สินและทรัพยากรสาธารณะเป็นของตนและพรรค พวกในราคาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการฉ้อฉลของผู้ที่มีอำนาจรัฐ โดยอาศัยช่องว่างของ กฎระเบียบต่างๆ และความไม่เท่าทันของสังคม

1.3 การที่ภาคเอกชนจ่ายสินบนให้กับผู้มีอำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ตน ซึ่งการทุจริตประเภทนี้จะเกิดจากความร่วมมือสองฝ่าย คือผู้จ่าย ที่หวังจะได้ประโยชน์โดยมิชอบ และผู้รับซึ่งสามารถใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ที่ว่าได้ (บทความนี้จะมุ่งวิเคราะห์ การทุจริตประเภทนี้เป็นหลัก) ซึ่งพอจะแยกการทุจริตประเภทนี้ได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ดังนี้

1.3.1 การซื้อหาความได้เปรียบในการแข่งขัน ได้แก่การที่ภาคเอกชนจ่ายสินบนเพื่อให้ตนสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้ โดยไม่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพแท้จริง ซึ่งหลักการใหญ่ๆ ก็คือการกีดกันไม่ให้มีการแข่งขันสมบูรณ์ในวงกว้าง ตามอุดมการณ์ทุน นิยมเสรี เช่น การล็อคสเปคทุกรูปแบบ (ระบาดหนักอยู่ทุกหย่อมหญ้าในการจัดซื้อจัดจ้าง ภาครัฐ) การให้ใบอนุญาตพิเศษ การให้สัมปทาน (ซึ่งก็คือการแจกจ่าย Monopoly หรือ Oligopoly หรือการอนุญาตให้ใช้ไว้ทรัพยากรสาธารณะ) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะได้ประโยชน์ส่วนเกินที่ควรได้ เพียงพอที่จะนำไปจ่ายสินบน และยังคงมีเหลือสำหรับความมั่งคั่งส่วนตนและพรรคพวก ซึ่งทุจริตประเภทนี้ เป็นประเภทที่มีปริมาณวงเงินสูงสุด และก่อความเสียหายให้กับประเทศมากที่สุด

1.3.2 การซื้อหาความสะดวก ได้แก่ การที่ประชาชน และภาคเอกชน จำเป็นที่จะต้องใช้บริการ ภาครัฐ ซึ่งมีระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทำให้เกิดความซับซ้อน (รวมทั้งข้อบังคับที่ต้องการลดการทุจริตด้วย) และสามารถใช้อำนาจรัฐ ในการขัดขวางความสะดวกรวดเร็ว ทำให้ภาคเอกชนจำเป็นที่จะต้องให้สินบน เพื่อทำให้ภารกิจสามารถดำเนินไปได้ ทั้งๆ ที่สินบนประเภทนี้ไม่ได้เพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจใดๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ เช่นการขอใบอนุญาตต่างๆ ระเบียบพิธีการศุลกากร สรรพากร งานตำรวจ ฯลฯ ซึ่งเป็นประเภทที่มีจำนวนรายการกว้างขวางมากที่สุด แทบจะในทุกๆ ระบบราชการ

1.3.3 การซื้อหาความไม่ผิด ได้แก่ การที่ผู้กระทำความผิดกฎหมาย สามารถที่จะให้สินบนในกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ-อัยการ-ศาล) เพื่อให้ตนพ้นผิดได้ ซึ่งในปัจจุบันระบาดหนักถึงขนาดที่ในบางครั้ง ผู้ที่ไม่ได้ทำความผิดยังอาจจะต้องจ่ายสินบน เพื่อให้พ้นจากกระบวนการซึ่งนำความยุ่งยาก และอันตรายให้แก่กิจการและสวัสดิภาพส่วนบุคคล

2. กลยุทธ์การคอร์รัปชัน

ถึงแม้จะมีกฎหมายระเบียบข้อบังคับ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ข้อเท็จจริงกลับมีการทุจริตกว้างขวางขึ้น และปริมาณมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ ยังมีผลมาจากวิวัฒนาการด้านกลยุทธ์ทั้งของผู้ให้ สินบนและผู้ใช้อำนาจรัฐในการทุจริต โดยที่สังคมส่วนใหญ่ ขาดความรู้ ความเข้าใจ และแรงจูงใจ ในการป้องกันและปราบปราม ในที่นี้จะวิเคราะห์ถึงรูปแบบการทุจริต 3 ลักษณะใหญ่ ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

2.1 ได้กระจุก เสียกระจาย การทุจริตที่ไม่มีผู้รู้สึกเสียหาย ย่อมทำให้เกิดแรงจูงใจในการป้องกันปราบปรามได้น้อย ดังนั้นการทุจริตที่กระจายต้นทุนไปได้ทั่ว เช่น ทุจริตจากงบประมาณซึ่งต้นทุนจะกระจายไปแก่ประชาชนทุกคน จนไม่รู้สึกถึง ความเสียหายร้ายแรงอื่นๆ (ถ้าทุจริต 6,500 ล้านบาท ทุกคนจะรู้สึกว่าเสียหายเพียงคนละ 100 บาท ทั้งที่ความจริงมีความเสียหายร้ายแรงอื่นๆ ที่ซ่อนไว้อีกมากมายที่จะกระทบกับทุกภาคส่วนในที่สุด) เรื่องทุจริตที่มักจะเป็นกรณีได้รับการต่อต้าน มักจะเกิดจากการที่มีผู้เสียหายโดยตรงเพียงกลุ่มเล็ก ตัวอย่างเช่น การปล้นชิงทรัพยากรสาธารณะในชุมชน การทุจริตในกิจการที่ประชาชนผู้ใช้บริการต้องแบกรับภาระโดยตรง หรือการทุจริตที่มีลักษณะพยายาม “กินรวบ” ทำให้ธุรกิจอื่นๆ ที่แข่งขันอยู่ (โดยอาจจะเคยสามารถมีช่องทางจ่ายสินบนได้ด้วย) ถูกกีดกันออกจากการแข่งขันโดยสิ้นเชิง

นักทุจริตที่ใช้กลยุทธ์นี้จนเชี่ยวชาญ ยังสามารถประยุกต์วิธีการ “แจกกระจุก” เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐที่จะนำมาซึ่งโอกาสในการทุจริต เช่น การที่ข้าราชการหรือนักการเมืองซื้อตำแหน่งหรือซื้อเสียง การที่ภาคเอกชนจ่ายเงินสนับสนุนนักการเมืองที่มีโอกาสสร้างช่องทางทางธุรกิจให้ตน ตลอดจนการที่นักการเมืองสามารถใช้อิทธิพลเบียดเบียนงบประมาณจากภาคส่วนอื่นมาพัฒนาท้องถิ่นตนจนเกินควร (จนท้องถิ่นอื่นเรียกร้องให้ผู้แทนของตนเอาเยี่ยงอย่าง ว่าเป็นผู้แทนในอุดมคติ)

2.2 ได้วันนี้ เสียวันหน้า การทุจริตที่ไม่ส่งผลเสียในทันที ย่อมมีโอกาสที่ถูกต่อต้าน หรือถูกตรวจสอบป้องกันปราบปรามน้อยกว่า เช่น การลงทุนขนาดใหญ่ในภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่สามารถกล่าวอ้างคาดคะเนถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และ สังคมได้โดยยากที่จะพิสูจน์ผลได้ในระยะสั้น โดยจะผลักภาระต้นทุนความเสียหายให้ แก่ผู้เสียภาษีในอนาคต (ผ่านกระบวนการหนี้สาธารณะ) ซึ่งในบางครั้งสามารถว่าจ้างผู้ เชี่ยวชาญกำมะลอ มาช่วยยืนยันข้อมูลในการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อผลักดันโครง การที่ไม่มีความคุ้มค่า ตัวอย่างเช่น การลงทุนในโครงการขนส่งสาธารณะที่มีผู้เชี่ยวชาญ คาดคะเนว่าจะมีผู้ใช้บริการวันละหลายหมื่นคน ในขณะที่เมื่อแล้วเสร็จมีผู้ใช้บริการจริงไม่กี่พันคนต่อวัน ความเสียหายและต้นทุนที่เกิดจะถูก “ตัดค่าเสื่อมราคา” ได้ในเวลานาน ทำให้สามารถกระจายความเสียหายไปในอนาคตได้ จนหลายครั้งไม่ทำให้เกิดภาระในระยะสั้นมากนัก การจัดซื้อจัดจ้างในส่วนของถาวรวัตถุที่ราคาสูงเกินจริง หรือไม่จำเป็นของหน่วยงานต่างๆ จะมีลักษณะตามนี้จำนวนมาก

2.3 ใช้นายหน้าตัวแทน ตัวกลาง ผู้ประสานงานการทุจริต จากความพยายามป้องกันปราบปรามที่เข้มงวดมากขึ้น (แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง) ทำให้เกิดระบบผู้เชี่ยวชาญที่รับหน้าที่เป็นตัวแทน ตัวกลาง หรือ ประสานงาน (“นักวิ่งเต้น” หรือ “Lobbyist”) เพื่อให้การทุจริตสามารถดำเนินการผ่านช่องว่างต่างๆ ของกฎหมายได้ ทั้งนี้หน่วยธุรกิจที่เกิดขึ้น แทบจะไม่มีส่วนเพิ่ม คุณค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ระบบ แต่ได้รับส่วนแบ่งค่าตอบแทนเป็นจำนวนมาก ทวีความรุนแรงของปัญหา “ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” (Economic Rents) ซึ่งใช้ทรัพยากรจำนวนมาก โดยไม่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใดๆ ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อจัดจ้างด้านระบบสารสนเทศ (ซึ่งเป็นทรัพย์สินไม่มีตัวตน ยากจะประเมินมูลค่าได้) ที่บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาระดับโลกหลายแห่ง ไม่ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายโดยตรงกับภาครัฐเลย ทั้งๆ ที่หน่วยงานภาครัฐทั้งหลายจัดหาสินค้าเหล่านี้จากตัวแทน ตัวกลาง ปีละหลายๆ หมื่นล้านบาท (เป็นภาคที่มีข่าวลือที่ทุกคนเชื่อว่าเปอร์เซ็นต์สูงที่สุดภาคหนึ่ง)

เผยแพร่.ในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

1 ความคิดเห็น:

  1. สังคมโลกกำลังเผชิญภัยคุกคามหลายอย่าง คอร์รัปชันเป็นภัยคุกคามตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล จนถึงประเทศ ประชาคมโลก ประวัติศาสตร์หรือข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ชี้ชัดให้เห็นถึงโทษ ภัยคุกคามนี้ที่บิดเบือนการปกครองให้ประโยชน์ตกแก่ผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่คน ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาระเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย
    http://www.positive4thailand.com/2013/07/international-community-130721.html

    ตอบลบ