--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กูรูใหญ่ ดร.โกร่ง แห่งคนเดินตรอกเขียนเรื่อง.อนิจจาอเมริกาและยุโรป !!?

ดร. วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตร.ม.ว.คลัง คอลัมนิสต์ คนเดินตรอกใน"ประชาชาติธุรกิจ"เขียนบทความเรื่อง" อนิจจาอเมริกาและยุโรป" ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้วเรื่อยมาถึงสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นไทยปรับฐานดัชนีลงมาเรื่อย ๆ ลงจาก 1,100 จุด ลงมาเหลือ 850 จุดแล้ว เล่นเอานักลงทุนในตลาดหุ้นหายใจกันไม่ทั่วท้อง

ยิ่งดูจากรายงานว่าผู้ที่ขายนำรายใหญ่เป็นนักลงทุนต่างประเทศ เป็นผู้ขายนำก่อน ที่แรกนักลงทุนรายย่อยก็รับซื้อไว้ แต่พอดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำกว่า 900 จุด รายย่อยก็เลยเทขายบ้าง เล่นเอาขาดทุนกันย่อยยับ

สาเหตุที่ตลาดหุ้นบ้านเราลงเอา ๆ ในตอนที่เขียนบทความนี้อยู่ ก็เพราะตลาดหุ้นทั่วโลก นำโดยตลาดหุ้น อเมริกาและยุโรป ราคาตกปรับฐานกันถ้วนทั่ว ตลาดเอเชียก็เลยตกตาม

เหตุผลเที่ยวนี้ก็คือ รายงานภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาดูจะแย่กว่าที่คิดก็เลยคิดว่าเศรษฐกิจของอเมริกาคง จะซบเซาต่อไปอีกนาน แม้ว่ารัฐบาล อเมริกาจะประกาศว่าจะมีการใช้เงิน เพื่อพยุงฐานะทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกกันว่า คิวอีสาม แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะทำอย่างไร จะไปตามแนวทางของเศรษฐศาสตร์การเงิน หรือจะลงทุนในภาคเศรษฐกิจแท้จริง เช่น สร้างถนนหนทาง รถใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง เขื่อนชลประทาน สนามบิน สร้างบ้านเพื่อคนจน เพื่อสร้างงานให้คนมีรายได้จับจ่ายใช้สอยตามแนวเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ ซึ่งคนอเมริกันไม่ค่อยชอบให้รัฐบาลเข้ามายุ่งกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก

รัฐบาลอเมริกันก็เลยลังเลไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้ง ๆ ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ระดับ รางวัลโนเบลอยู่มากมาย ข้อจำกัดของสังคมอเมริกันก็คือ อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของคนอเมริกัน สังคมอเมริกันเป็นสังคมทุนนิยมเสรีสุดกู่ ปกครองโดยมีนายทุนใหญ่ ๆ เชื้อสายยิวอยู่เบื้องหลัง

สื่อมวลชนของอเมริกาไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ทั้งโทรทัศน์ฟรี หรือเสียเงิน ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของนายทุน ซึ่งรายใหญ่ ๆ ก็เป็นยิว

เป็นธรรมดาที่ชนชั้นนายทุนย่อมไม่ชอบให้รัฐบาลมีบทบาททางเศรษฐกิจมากเกินไป ไม่ชอบอัตราภาษีสูง แต่ชอบให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณมาก ๆ ให้ดูแลทางด้านการเงินอย่างเดียว

เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา การอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบแทนที่จะนำไปลงทุน จริง ๆ เพื่อสร้างงาน ลดการว่างงาน ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ก็เอาไปช่วยบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีปัญหา เอาไปช่วยธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของคนอเมริกันเชื้อสายยิว ผลจึงออกมาไม่เป็นเรื่องเป็นราวเสียเงินเสียเวลา ไอเอ็มเอฟก็ไม่เห็นว่าอะไร ถ้าเป็นประเทศเราคงถูกอเมริกาและไอเอ็มเอฟเล่นงานจนแย่ การวางนโยบายมหภาคของอเมริกาจึงแย่ ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาที่ตนสั่งสอน วิชาเศรษฐศาสตร์เราก็เรียนมาจากครูอเมริกัน แต่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายมหภาคอเมริกันมาตลอด

คนอเมริกันเอาอุดมการณ์นำนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อส่วนรวม คนจนในอเมริกานั้นน่าสงสาร เมื่อตกงานก็ไม่มีทางไป ไม่เหมือนบ้านเรา หากตกงานก็กลับบ้านไปช่วยกันทำงานในท้องไร่ท้องนาในสวน มีอาหาร มีเครื่องนุ่งห่ม มีบ้านอยู่ ส่วนคนอเมริกันตกงานจะไม่มีทางไป ห้องพักไม่จ่ายค่าเช่าก็ถูกไล่ออก บ้านผ่อนส่งไม่มีเงินผ่อน ธนาคารก็ ยึดคืนขายทอดตลาด ไม่มีที่อยู่ หน้าหนาวถ้าไม่มีบ้านหรือพักอยู่ไม่มีเครื่องทำความร้อน ก็มีหวังหนาวตาย

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ โจรผู้ร้าย ในอเมริกาจึงชุกชุม ผู้คนหน้าตาถมึงทึง ไม่น่าอยู่ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ ยกเว้นเมืองเล็ก ๆ ในชนบท แถบตอนกลางของประเทศที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ผู้คนฐานะดี เกษตรกรมีคนน้อยแต่มีพื้นที่มากและรัฐบาลใช้ภาษีอากรของคนส่วนใหญ่กว่า 95 เปอร์เซ็นต์มาอุดหนุน โดยนโยบายรับจำนำสินค้าโภคภัณฑ์ ผ่านบรรษัทเครดิตสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity Credit Corporation หรือที่รู้จักกันในนาม CCC ที่ไทยเราพยายามเอาอย่าง ทั้ง ๆ ที่เงื่อนไขไม่เหมือนกัน แต่สังคมอเมริกันก็รับได้ เพราะอุดมการณ์ที่ทุกคนมีเสรีภาพที่ จะจน นั่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ ถ้าฉลาดและขยันจะร่ำรวย หรืออดอยากหนาวตาย ถ้าโง่เกียจคร้านแล้วยากจน ไม่มีใครช่วยได้ รัฐบาลช่วยได้น้อยมาก

ปัญหาเศรษฐกิจของอเมริกาไม่สามารถทำนโยบายที่ถูกต้องมาใช้ได้ ก็เพราะโครงสร้างทางการเมืองและความเชื่อในเรื่องภาพทางเศรษฐกิจของคนอเมริกัน ไมใช่คนอเมริกันไม่รู้วิชาเศรษฐศาสตร์

ที่มา: มติชนออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น