เพราะน้ำมามากกว่าทุกปีถึง 3 เท่า และเราไม่สามารถระบายออกไปได้เลย ขณะเดียวกันก็มีพายุสะสมมา 2-3 เดือนแล้ว จะมาให้แก้ในเดือนที่ 3 คงเป็นไปไม่ได้ และสภาพภูมิประเทศปัจจุบันก็ไม่เอื้อต่อการระบายน้ำ ซึ่งในระยะยาว ต้องวางแผนในภาพรวมให้ทิศ ทางการไหลของน้ำมีความสัมพันธ์กันกับการวางผังเมือง..
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิง ที่ต้องแบกรับมวลน้ำมหาศาลที่ถล่มประเทศไทยมากที่สุดในรอบ 50-100 ปี ยอมรับความพ่ายแพ้ แต่ไม่ได้ท้อแท้ที่จะแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนหลายล้านคนขณะนี้เดือดร้อนและทนทุกข์น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิงของการบริหารจัดการน้ำที่ไม่สามารถสู้กับน้ำได้เลยแม้แต่จุดเดียว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายข้าราชการทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับกระทรวง ทบวง กรม
ไม่เชื่อข้อมูล ศปภ.
โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการถูกโจมตีอย่างมาก ทั้งการแถลงข่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และข้อมูลที่ล่าช้า ซึ่งบางครั้งก็ไม่ตรงกับสถานการณ์ แม้แต่ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆในเว็บไซต์ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ระบบราชการ จึงไม่แปลกที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อข้อมูลของ ศปภ.
อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ขอความเห็นใจจากประชาชนและพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะขณะนี้ ศปภ. เป็นศูนย์รวมของทุกองค์กร จึงอาจทำให้มีมุมมองแตกต่างกัน ส่งผลให้ประชาชนที่รับรู้ข่าวสารเกิดความตกใจ ซึ่ง ศปภ. จะปรับปรุงและตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ เพื่อให้ประชาชนสามารถยึดถือข้อมูลของ ศปภ. อย่างเป็นทางการได้
“ยืนยันว่าข้อมูลที่ ศปภ. ได้เข้ามาไม่มีความผิดพลาด แต่บางครั้งขอความกรุณาสื่อมวลชนเวลาสัมภาษณ์คนเดียวอาจจะมีแค่มุมเดียว ไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด พอข้อมูลออกไปอาจทำให้ประชาชนตกใจ ดังนั้น เราต้องปรับปรุงการแถลงข่าวของ ศปภ. ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น สื่อมวลชนจะได้ไม่แปลงและใช้ข้อเท็จจริงนั้นในการอ้างอิงได้ วันนี้ยืนยันว่าพูดความจริง ไม่ได้ปิดบังพี่น้องประชาชน แต่ดิฉันต้องบอกว่าครั้งนี้เป็นวิกฤตใหญ่ของประเทศ ลำพังคนเดียวเราทำไม่ได้ ต้องรวมพลังจากทุกภาคส่วน และต้องเอาเกมการเมืองออกไป เราต้องแก้ไขปัญหาและสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนไทย”
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยอมรับว่ามีมุมมองแตกต่างจาก กทม. และกรมชลประทานเกี่ยวกับการระบายน้ำ จึงต้องเอาทุกหน่วยงานมารวมกัน แต่ปริมาณน้ำฝนไม่สามารถประมาณการได้จริงๆ จึงตอบได้ยากว่าปริมาณน้ำจะเข้า กทม. เท่าไร ไม่รู้ว่าพายุลูกใหม่จะเข้ามาเป็นอย่างไร วันนี้ประเทศไทยยังไม่มีกระบวนการในการประมาณการปริมาณน้ำที่แม่นยำ ซึ่งต้องนั่งคุยพร้อมกับผู้ที่มีความรู้
“ดิฉันเป็นผู้ที่มารับหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ประสานงานทุกหน่วยงาน ดังนั้น เราควรจะคุยกันพร้อมกับผู้ที่มีความรู้และให้ข้อมูลที่ถูกต้องขอความกรุณา ดิฉันอาจไม่สามารถให้ข้อมูลสื่อมวลชนได้ครบ เพราะเกรงว่าการสื่อสารในมุมที่มองจากความรู้สึกส่วนตัวหรือจากการสัมผัสจะทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจและไขว้เขว”
ป้องกัน-แก้ไข 4 ระยะ
คำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงสะท้อนชัดเจนถึงคำว่า “บูรณาการ” ซึ่งยังไม่ปรากฏในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ ศปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องเลย แต่ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ นอกจากนี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันอีก การประชุมระหว่างรัฐมนตรีกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมาจึงมีข้อสรุประยะการแก้ไขและป้องกันน้ำท่วมเป็น 4 ระยะคือ
ระยะแรก แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบเร่งด่วน โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานได้ทันทีอย่าง เต็มที่ และสั่งการให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ดูแลจังหวัดที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปทุมธานี นนทบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
ระยะที่ 2 ช่วงที่น้ำท่วมสูงและประชาชนอาจต้องอยู่กับน้ำนาน 4-6 สัปดาห์ จึงต้องปรับการทำงานของรัฐบาลและทุกกระทรวง ทบวง กรมต่างๆที่เกี่ยวข้องให้รองรับกับวิถีชีวิตของผู้ประสบภัยในบ้านที่ถูกน้ำท่วมหรือในศูนย์พักพิง ซึ่งต้องมีการจัดการให้เป็นอย่างดี
ระยะที่ 3 การฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟู 3 คณะเร่งดำเนินการฟื้นฟู และระยะที่ 4 ปรับโครงการต่างๆ โดยนำมาบูรณาการร่วมกันและป้องกัน โดยมอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เร่งรัดให้คณะกรรมการดังกล่าวมีผลงานออกมาโดยด่วน เพื่อใช้ตัดสินใจในการวางแผนการทำงาน เช่น ทำแก้มลิงหรือเขื่อน เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทย และดูแลประชาชนให้ได้
ฐานข้อมูลโคตรมั่ว
แม้แผนการแก้ไขและป้องกันน้ำท่วมทั้ง 4 ระยะจะควบคุมทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะกลาง แต่ยังเป็นแค่ภาพกว้างๆที่ยังยากจะให้ประชาชนมั่นใจในวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ เพราะรัฐบาล เองก็ยอมรับปัญหาการจัดระบบฐานข้อมูล จึงให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่รู้เรื่องประชาชนย้ายที่อยู่อาศัยไปที่ใดบ้าง ศูนย์อพยพใด จำนวนเท่าใด เพศและวัยอะไร เป็นประชาชนจังหวัดใด ประกอบอาชีพอะไร เป็นธุรกิจขนาดใด ซึ่งการช่วยเหลือและฟื้นฟูต้องมีฐานข้อมูลประชาชนแต่ละกลุ่มชัดเจน
โดยเฉพาะศูนย์อพยพต่างๆ ขณะนี้ต้องใช้คำว่า “โคตรมั่ว” เพราะไม่มีการแยกแยะหรือกำหนดผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพแล้ว ยังไม่มีแผนการอพยพและการรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจนอีก
เช่นเดียวกับข้อมูลเกี่ยวกับน้ำที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่นิคมอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนนับหมื่นล้านบาทยังตำหนิรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ จนการป้องกันทุกแห่ง ทุกพื้นที่ต้องจมอยู่ใต้บาดาล และถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อทั่วโลก พร้อมตั้งคำถามถึงความหายนะครั้งนี้เป็นความผิดพลาดของการบริหารจัดการหรือภัยจากธรรมชาติ
บทเรียนต่างประเทศรับมือวิกฤต
ภาพการอพยพประชาชนออกจาก “พื้นที่ภัยพิบัติ” ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้งในประเทศไทย แต่ภาพความตื่นตระหนก โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ถือเป็นอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์คือภาพที่สื่อทั่วโลกนำไปเผยแพร่การกักตุนสินค้า การแห่ซื้อวัสดุต่างๆ เพื่อทำแนวปราการป้องกันน้ำ จนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนไปทั่ว แม้โดยธรรมชาติของผู้ที่อยู่ในข่ายความเดือดร้อนจะต้องตื่นตระหนกก็ตาม แต่ไม่ใช่อาการแตกตื่นเหมือนกระต่ายตื่นตูม
วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้จึงยิ่งทำให้เห็นถึงการบริ-หารจัดการวิกฤตต่างๆของประเทศไทย ทั้งระดับรัฐบาลที่เป็นฝ่ายนโยบายและข้าราชการที่เป็นฝ่ายปฏิบัตินั้น “สอบตก” เพราะมีปัญหาและจุดบกพร่องมากมาย ทั้งที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งที่เกิดขึ้นทุกปี เพียงแต่ไม่หนักและรุนแรงเท่าครั้งนี้เท่านั้น
รัฐบาลที่เป็นฝ่ายนโยบายจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องแก้ปัญหาการบริหารจัดการวิกฤตให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติใดก็ตาม โดยเฉพาะระบบข้อมูลในการป้องกันและการเตือนภัย ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศที่มีปัญหาภัยพิบัติร้ายแรง เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่เกิดภัยพิบัติร้ายแรงนับไม่ถ้วน ทั้งอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ เขื่อนพัง หรือแผ่นดินไหว
อย่างการบริหารจัดการน้ำจีนจะมีศูนย์บรรเทาภัยแล้งและควบคุมอุทกภัยแห่งชาติ (State Flood Control and Drought Relief Head Quarters) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าศูนย์ในการกำกับดูแลและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ หรือฟิลิปปินส์ที่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติเป็นอันดับ 12 ของโลกก็อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทในการควบคุมอุทกภัยบนเกาะมินดาเนา โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปฏิรูปเชิงโครงการและประเด็นธรรมาภิบาลต่างๆ อาทิ การวางแผนการใช้ที่ดิน การบริหารจัดการน้ำ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
การเมืองกับกระแสน้ำ
ที่สำคัญปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ยังทำให้เห็นถึงการยึดโยงกับปัญหาการเมืองอย่างแยบยลอีกด้วย อย่างที่ “นักปรัชญาชายขอบ” นักเขียนอิสระที่เขียนบทความ “กระแสน้ำ กระแสประชาธิปไตย และกลุ่มชนชั้นนำเก่า” ว่าภาวะน้ำท่วมเกือบครึ่งประเทศและท่วมอย่างยาวนานย่อมไม่ใช่ปรากฏการณ์ ธรรมชาติล้วนๆ หากแต่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับปัญหาระบบการจัดการน้ำที่จำเป็นต้องถูกหยิบ ยกขึ้นมาทบทวนอย่างหนักไม่น้อยไปกว่าปัญหาการจัดระบบสังคมการเมือง
เพราะพื้นฐานทางความคิดในการจัดการน้ำกับการจัดระบบสังคมการเมืองของสังคมไทยนั้นอยู่บนฐานคิดเดียวกัน ซึ่งกระแสน้ำทะลัก กระแสประชาธิปไตยบ่าล้น และกลุ่มชนชั้นนำเก่าที่ยังถนัดแก้ปัญหาด้วยการแจกสิ่งของและการอบรมสั่งสอนที่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เพราะไม่ใช่อยู่ๆน้ำจะไหลบ่าท่วมทะลักโดยไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายการสร้างเขื่อน การเก็บกักน้ำ การปล่อยน้ำ การเปิด-ปิดทางน้ำ การขุดคลอง การสร้างถนน การวางระบบผังเมือง และ/หรือนโยบายการจัดการน้ำโดยรวม
เช่นเดียวกันไม่ใช่อยู่ๆนักศึกษา ประชาชน นักวิชาการจะออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือเรียกร้องอำนาจในฐานะเจ้าของประเทศ หากความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค และอำนาจในฐานะเจ้าของประเทศของพวกเขาไม่ได้ถูกฉ้อฉลโดยกลุ่มชนชั้นนำเก่าที่รวบอำนาจในการจัดการระบบสังคมการเมืองมาอย่างยาวนานด้วย “อุดมการณ์สามรัก” คือรักชาติ รักศาสนา รักพระมหากษัตริย์ จนเสมือนประเทศนี้จะเป็น “ประเทศล้นรัก” เพราะแทบทุกอย่างถูกอธิบายได้ด้วยความรัก
แม้แต่ข่าวน้ำท่วมสื่อก็สร้างกระแส “ดราม่า” จนแทบไม่ตั้งคำถามต่อสาเหตุที่แท้จริง เช่น คนไทยรักกัน คนไทยไม่ทิ้งกัน นายกฯพบผู้นำฝ่ายค้านเป็นสัญญาณความปรองดอง ฯลฯ ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านพังคูกั้นน้ำกลับถูกนำเสนอเสมือนว่าเป็นความไม่เข้าใจสถานการณ์ ความไม่เสียสละของชาวบ้านกลุ่มนั้นๆ โดยที่สื่อไม่ตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม
ที่สำคัญสื่อแทบไม่ตั้งคำถามต่อปัญหาการจัดการน้ำตั้งแต่ระดับแนวคิด นโยบายการปฏิบัติที่เป็นการผลักภาระให้คนบางกลุ่มต้องจำทนต่อสภาพน้ำท่วมแทนคนกลุ่มอื่นๆ หรือภาคธุรกิจสำคัญๆ โดยที่พวกเขาไม่มีหลักประกันความเสี่ยงและการชดเชยใดๆ
กระแสน้ำท่วมทะลักและกระแสประชาธิปไตยบ่าล้นจึงถือเป็นกระแสที่ท้าทายสังคมไทยว่าจะสามารถจัดการกับภัยธรรมชาติและจัดการระบบสังคมการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพที่ตรวจสอบได้อย่างไรบนจุดยืนที่พ้นไปจากเรื่อง “รัก-ไม่รัก” สู่จุดยืนเรื่องความเป็นธรรม เสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย
เทวดา...ช่วยด้วย
ความตื่นตระหนกพร้อมๆกับการเรียกร้องสารพัดของคนไทยจึงไม่ต่างจากภาพการเมืองที่คนไทยและสังคมไทยเองก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ได้ทำอะไรเพื่อตัวเองและส่วนรวมได้บ้าง หลายคนอยู่เฝ้าบ้าน เฝ้าทรัพย์สิน ในสถานะ “ผู้ประสบภัย” รอความช่วยเหลือ แต่อีกหลายคนออกจากบ้านยอมเป็น “ผู้อพยพ” ช่วยเหลือตนเองเพื่อลดภาระจากหน่วยงานของภาครัฐที่มิอาจดูแลทั่วถึง
โดยเฉพาะภาวะวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ที่กำลังส่งผลกระทบถึงคนกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ภาพการแย่งการซื้ออาหารเพื่อกักตุน การออกมาเรียกร้องและร้องขอของผู้ประสบภัยถูกนำมาเปรียบเทียบกับคนญี่ปุ่นครั้งถูกสึนามิถล่ม ซึ่งรุนแรงไม่น้อยไปกว่าอุทกภัยน้ำท่วมของไทย แต่คนญี่ปุ่นกลับถูกยกย่องไปทั่วโลก เพราะแม้แต่การซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เกตขณะที่ทุกคนต่างก็อยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัวยังยืนเข้าแถวกันยาวเหยียดอย่างอดทน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก ผู้หญิง หรือคนชรา แบ่งปันซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น แต่คนไทยกลับแห่กันซื้อสินค้าเพื่อกักตุนจนเกลี้ยงซูเปอร์มาร์เกต บางคน บางครอบครัวกักตุนชนิดกินใช้ทั้งปียังไม่หมด
เมื่อย้อนมามองสังคมไทยจะพบสาเหตุที่เกิดจาก “ความไม่เท่าเทียมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม” ที่แบ่งชนชั้นที่ถับถมกันมานานจนเป็นเรื่องชาชิน
คนต่างจังหวัดในชนบท ชนชั้นรากหญ้า และผืนแผ่นดินของเขาต้องถูกน้ำท่วมซ้ำซาก อยู่อย่าง “โง่-จน-เจ็บ” เป็นแอ่งรับน้ำ เป็นเขื่อนป้องกันมิให้คนเมือง “คนชั้นกลาง-คนชั้นสูง” ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครต้องจมอยู่ใต้บาดาล
ภาพข่าว “ดราม่า” มากบ้าง น้อยบ้าง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะปรากฏบนจอโทรทัศน์ น้ำใจคนไทยท่วมท้นไม่แพ้น้ำจากอุทกภัย
โซเชียลเน็ตเวิร์คหรือสังคมไซเบอร์ก็มิเว้นที่จะถูก “ท่วม” ไปด้วย “น้ำลาย” การแบ่งสี แบ่งฝ่าย ยังคงรักษาระยะไว้อย่างปรกติ ข้อมูลถูกขุดออกมาประจานกันแบบไม่ยั้ง
ต้นเหตุที่มาที่ไปของ “มวลน้ำ” ขนาดมหึมาที่ไหลบ่าท่วมบ้านเมืองและนิคมอุตสาหกรรมที่ปรากฏเป็น “ข่าวเชิงลึก” ถูกเผยแพร่ออกไป ซึ่งไม่แพ้ “มวลน้ำ” ที่ไหลบ่าท่วมไปค่อนแผ่นดิน
หลายคนอยากเห็นความเท่าเทียม จึงอยากเห็น “น้ำท่วมถ้วนหน้า” แต่นั่นคือความคิดชั่ววูบที่เกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมต้องท่วมที่เรา แต่ที่อื่นไม่ท่วม โดยเฉพาะกรุงเทพฯ
สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงที่ยังคงซ่อนลึกเอาไว้เพื่อรอการสะสางหลังน้ำลด
แม้ความสะใจ อยากเห็นกรุงเทพฯจมบาดาล เพื่อวานธรรมชาติสั่งสอนให้เห็นถึงความเท่าเทียม แต่ด้วยความจริงที่ประเทศไทยมีกรุงเทพฯเป็นศูนย์ กลางของสรรพสิ่งทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง
จึงเป็นเรื่องหายนะแน่ ถ้าภัยพิบัติท่วมท้นเมือง หลวง เพราะความช่วยเหลือต่างๆจะถูกตัดขาดทันที และนั่นคือหายนะของประเทศ มิใช่แค่กรุงเทพมหานคร
ถึงเวลาแล้วที่คนเมืองและชนบท หรือ “สองนครา” ต้องหันมาหยุดคิด เลิกดัดจริตมายอมรับความจริงที่ว่า “ระบอบอุปถัมภ์” มิอาจแก้ปัญหา “ความไม่เท่าเทียม” ได้ โดยไม่ต้องรอให้น้ำท่วมสองนคราเกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน
เพราะมีแต่ “ระบอบประชาธิปไตย” เท่านั้นที่จะสร้าง “ความเท่าเทียม” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
มีแต่ “การบริหารจัดการที่ดี” เท่านั้นที่จะรับมือกับภัยพิบัติร้ายแรงได้...ไม่ใช่ “อภินิหาร” จากเทวดาหน้าไหน!
ว่าแต่วันนี้...“บ้านคุณ...น้ำท่วม (เหมือนบ้านเรา) แล้วรึยัง?”
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++