“ประชาวิวัฒน์” รวมไปถึง “ประชานิยม” ไม่ต่างจากวาทกรรมทาง การเมือง ที่ต้องยอมรับโดยดุษฎีว่า สังคมยังคงสับสนว่าโดยเนื้อแท้แล้ว นโยบายเหล่านี้สร้างคุณูปการให้กับประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน หรือไม่อย่างไร “โต๊ะข่าวการเมือง” จึงขอนำเสนอมุมมองเชิงวิเคราะห์ถึงแนวนโยบายดังกล่าวผ่านสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” คณบดีคณะ เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะนักวิชาการที่ค้นคว้าเกี่ยวกับ “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งถือเป็นต้นแบบแห่ง “ประชาวิวัฒน์” และ “ประชานิยม” โดยตรง
> ประชานิยม-ประชาวิวัฒน์แค่การตลาดทางการเมือง
“ประชานิยมนั้นมีความหมายหลากหลาย ส่วนประชาวิวัฒน์เป็นเพียงการตลาดทางการเมืองเพื่อทำให้เกิดชื่อเรียกที่ แตกต่างจากประชานิยม ส่วนเนื้อหาทางนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) หลายส่วนเป็นสิ่งเดียวกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ (ชินวัตร) หรือรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ส่วนการ ที่สังคมไทยหรือนโยบายพรรคการเมืองจะ ก้าวข้ามพ้นนโยบายประชานิยมสู่การเป็น รัฐสวัสดิการ ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลความเป็นจริง สังคมไทยควรเป็นระบบรัฐสวัสดิการ หรือไม่ เป็นประเด็นที่ควรจะได้ศึกษาวิจัย อย่างละเอียดต่อไป”
“การทำให้ไทยเป็นรัฐสวัสดิการ อาจเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำได้ในระยะเวลาอันสั้น เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า รัฐที่เป็นระบบ รัฐสวัสดิการจะต้องมีรายได้จากภาษีอากร ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25-30 ของจีดีพี เพื่อนำไปจัดระบบสวัสดิการพื้นฐานทั้งหมด ให้กับประชาชนทุกคน ในขณะที่ไทยมีรายได้ ภาษีอากรเพียงร้อยละ 16 ของจีดีพี ขณะที่หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง ส่วนโครงสร้างงบประมาณเป็นงบประจำสูงถึง 70% เมื่อมีค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้นอีกย่อมทำให้สัดส่วนของงบประจำเพิ่มสูง ขึ้นในโครงสร้างงบประมาณทำให้ประเทศเหลือเม็ดเงิน เพียงเล็กน้อยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ”
> ยาดำนโยบาย“ลด แลก แจก แถม”
“ประชานิยม หรือประชาวิวัฒน์ หรือ มาตรการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ หรือมาตรการเร่งรัด อะไรก็ตาม เท่าที่ศึกษา ค้นคว้า มักจะมีจุดบอดออกมาเป็นองค์ประกอบ 4 ประการดังนี้ 1.มุ่งเน้นผลประโยชน์ และชัยชนะทางการเมืองโดยใช้ฐานมวลชน เป็นเครื่องมือโดยไม่ได้ทำให้ประชาชน เข้มแข็งขึ้นหรือเป็นการเพิ่มอำนาจประชาชน 2.สร้างภาระทางการคลังจำนวนมาก ขาดความยั่งยืนทางการเงินการคลังหรือขาดความมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการ 3.ขาดความโปร่งใสในการดำเนินการ และ 4.ทำ ให้ประชาชนและระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลงด้วยวัฒนธรรมอุปถัมภ์พึ่งพิง”
“นโยบายประชานิยมสามารถนำมา ใช้ร่วมกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคได้โดย ไม่นำประเทศสู่ความหายนะ หากไม่ทำลาย กรอบนโยบายหลักของเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ นโยบายประชานิยมที่ดี จะต้องไม่ทำลายกรอบของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งประกอบด้วย กรอบเป้าหมายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กรอบเป้าหมายความมีเสถียรภาพ อันได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน เพดานหนี้สาธารณะ การกู้ยืมของ ภาคเอกชน ทั้งจากภายในและต่างประเทศ รวมไปถึงเพดานการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด”
> โมเดลกำจัดจุดอ่อนประชานิยม
“โครงการประชานิยมที่ดีต้องไม่สร้าง ความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้เสียประโยชน์ และผู้รับประโยชน์ นั่นคือควรจะเป็นลักษณะ winwin โครงการประชานิยมจะต้องไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนทรัพยากรมากเกินไป คือ ไม่ฝืนกลไกตลาด โครงการประชานิยมไม่ควรจัดให้มีผลประโยชน์แก่ผู้รับมากเกินไป จนผู้รับประโยชน์ เกิดความเกียจคร้าน หรือกล้าเสี่ยงมากเกินไป และไม่เตรียมภูมิคุ้มกันสำหรับตน เอง ดังนั้นการค้ำประกันใดๆ จึงไม่ควร ค้ำประกันแบบ 100% แต่ควรให้ผู้เอาประโยชน์จากการประกันร่วมรับผิดชอบ ฉะนั้น โครงการประชานิยมควรใช้มาตรการที่ใช้แรงจูงใจ เพื่อกระตุ้นให้มีผู้มาเข้าร่วมโครงการ ไม่ใช่เป็นการบังคับ ที่สำคัญการใช้กลไกแรงจูงใจนี้จะต้องไม่ทำลายกลไกตลาด”
“การนำนโยบายประชานิยมมาใช้ อย่างขาดจิตสำนึกและความรับผิดชอบของนักการเมืองในปัจจุบัน อาจจะนำมาซึ่ง ความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว ลดทอนความสามารถ ในการแข่งขัน สร้างภาระทางการคลังที่อาจนำมาสู่วิกฤติฐานะทางการคลังได้ โดยเฉพาะในระยะยาวการใช้นโยบายประชานิยมโดยขาดการเตรียมพร้อมและการสร้างความเข้าใจที่ดีกับประชาชนก็จะทำให้สังคมอ่อนแอลง ประชาชนที่ได้รับ ความช่วยเหลือ ก็จะขาดความกระตือรือร้นในการช่วยเหลือตนเอง มาตรการการขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องทำควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงและการสร้างวินัยทางการเงินไปพร้อมกัน ดังนั้นรัฐจึงควรหันมาพิจารณาถึงภาษีอื่นๆ ที่สามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นหลักประกันในการใช้ประชานิยมได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ส่งผลกระทบให้กับฐานะทางการคลัง ในระยะยาว”
> รัฐสวัสดิการที่สุดแห่งความยั่งยืน
“วิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซปี 2552-ปัจจุบัน โครงการประชานิยมจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้เสียประโยชน์ (ผู้เสียภาษี) กับผู้รับประโยชน์ โดยผู้เสียประโยชน์จะต่อต้านโดยลดการผลิตลง ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมลดลง ภาษีที่รัฐจัดเก็บได้จะลดลงตามไปด้วย ทำให้รัฐบาลต้องกู้ยืมมากขึ้น โครงการประชานิยมทำให้ประชาชนผู้รับประโยชน์ ทำงานน้อยลง เนื่องจากไม่ทำงานก็ไม่เป็นไร รอรับผลประโยชน์ฟรีจากรัฐได้ เป็นผลให้ผลผลิตโดยรวมของชาติลดลง”
“รัฐบาลต้องเพิ่มผลประโยชน์ตาม โครงการประชานิยมขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อคง ไว้ (หรือเพิ่ม) ฐานคะแนนเสียง ในขณะ ที่ประชาชนจะอ่อนแอลง ผลผลิตลดลง ภาษีที่จัดเก็บได้ก็ลดลง รัฐบาลจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โครงการประชานิยม ทำให้มีการ จัดสรรทรัพยากรใหม่ โดยการโอนทรัพยากรจากหน่วยผลิตที่มีประสิทธิภาพไปสู่หน่วยบริโภค การที่สังคมไทยจะก้าวข้ามพ้นประชานิยม ต้องสร้างระบบรัฐสวัสดิการเข้ามาแทนที่ หากยัง ไม่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจการคลัง ก็ต้องพัฒนาสังคมสวัสดิการขึ้นมา นอก จากนี้ ยังต้องยึดหลักเสรีนิยม เพื่อออก จากประชานิยม ต้องสร้างประชาสังคม และสำนึกพลเมืองเพื่อออกจากประชานิยม” จากปากคำของ “ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” คงไม่ต้องอรรถาธิบายเพิ่มเติม ว่า “ประชาวิวัฒน์” และ “ประชานิยม” นั่นบูรณาการประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน มากน้อยเพียงใด
ที่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น