--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สึนามิเสรีภาพจากตูนิเซียถึงอียิปต์

โดย เกษียร เตชะพีระ

หลายปีดีดักมาแล้วที่องค์กรเอกชน Freedom House ของอเมริกาประเมินวัดความเป็นเสรีประชาธิปไตยของกลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือว่ามีประเทศที่เสรีหรือนัยหนึ่งประชาธิปไตยเต็มใบเพียงหนึ่งเดียว นั่นคืออิสราเอล! (ดูแผนที่เสรีภาพของภูมิภาคนี้ข้างบน จุดเขียวเล็กกระจิริดตรงรอยต่อแอฟริกาเหนือกับตะวันออกกลางคืออิสราเอล)

ดังในรายงานการประเมินขั้นต้นประจำปี ค.ศ.2011 ซึ่ง Freedom House เผยแพร่ออกมาล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ (FREEDOM IN THE WORLD 2011 : THE AUTHORITARIAN CHALLENGE TO DEMOCRACY ที่ www.freedomhouse.org/images/File/fiw/FI%202011%20 Booklet_1_11_11.pdf) ก็ปรากฏว่านอกจากอิสราเอลแล้ว ในบรรดา 17 ประเทศที่เหลือของภูมิภาคดังกล่าว มีที่กึ่งเสรีหรือนัยหนึ่งประชาธิปไตยครึ่งใบ 3 ประเทศ, ส่วนอีก 14 ประเทศล้วนเข้าข่ายไม่เสรีหรือเผด็จการ

ในกลุ่มหลังนี้รวมทั้งตูนิเซีย, จอร์แดน, เยเมน, และอียิปต์ ซึ่งเกิดกรณีมวลชนชุมนุมประท้วงหรือลุกขึ้นสู้โค่นรัฐบาลในรอบเดือนที่ผ่านมา

ขณะที่การประเมินอิสราเอลของ Freedom House อาจเป็นที่กังขาว่าเจืออคติและผลประโยชน์อเมริกันจนมองข้ามการที่อิสราเอลกดขี่ยึดครองปาเลสไตน์, แต่กระนั้นการประเมินประเทศอื่นที่เหลือก็มีเหตุผลข้อเท็จจริงรองรับพอควรกล่าวคือ :-

14 ประเทศดังกล่าว ล้วนปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมที่ไม่ยอมพร้อมรับผิดต่อประชาชน นอกจากนี้ ยังเผด็จอำนาจกันมายาวนานเป็นประวัติการณ์ ทั้งๆ ที่กระแสคลื่นประชาธิปไตยอันใหญ่โตได้ซัดสาดเผด็จการที่อื่นๆ ในโลกล้มครืนลงเป็นแถบๆ ไม่ว่าในยุโรปตะวันออก, แอฟริกา, ละตินอเมริกา, และเอเชีย

ทว่า ที่ผ่านมากระแสคลื่นดังกล่าวก็หาได้สร้างความสะทกสะท้านสะดุ้งสะเทือนแก่ปราการเผด็จการในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือแต่อย่างใดไม่ จนโจษขานกันว่าชะรอยกลุ่มประเทศอาหรับเหล่านี้จะเป็นข้อยกเว้นของกระแสคลื่นประชาธิปไตยเสียล่ะกระมัง? ไม่ว่า.....

1) อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ผู้ขึ้นมามีอำนาจในเยเมนตั้งแต่ปี ค.ศ.1978

2) ฮอสนี มูบารัค ผู้เป็นประธานาธิบดีอียิปต์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1981

3) ซีเน่ เอล อบิดีน เบน อาลี ผู้เข้ายึดอำนาจในตูนิเซียมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1987

4) กษัตริย์อับดุลลาห์ที่สองแห่งจอร์แดน ผู้ทรงสืบพระราชอำนาจจากกษัตริย์ฮุสเซ็นผู้เป็นพระราชบิดามาตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 โดยที่พระราชบิดาเองก็ได้ทรงรัฐมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1952

5) บาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีซีเรียแทนฮาเฟซ อัล-อัสซาดผู้เป็นพ่อในปี ค.ศ.2000 โดยที่ตัวพ่อเข้ายึดอำนาจมาได้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1970

6) กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่หกแห่งโมร็อกโก ผู้ขึ้นครองราชย์แทนกษัตริย์ฮัสซันที่สองผู้เป็นพระราชบิดาตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 โดยที่พระราชบิดาเองก็ได้ทรงรัฐมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1961

7) พันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้ยึดอำนาจขึ้นเป็นผู้นำลิเบียมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 และกำลังเตรียมซาอิฟ อัล-อิสลาม มูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟี ผู้เป็นลูกชายให้สืบทอดอำนาจต่อจากตน เป็นต้น

แม้สภาพเงื่อนไขในประเทศเหล่านี้จะแตกต่างกันไปบ้าง ทว่า ก็ล้วนละเมิดสิทธิทางการเมืองและการแสดงออกของบุคคลพลเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ตำรวจลับที่เรียกกันว่า "มูคาบารัต" มีอำนาจล้นฟ้าและบ่อยครั้งที่ผู้ถูกจับกุมไปมักโดนทำทารุณ, ทรมานหรือกระทั่งฆ่าทิ้งไม่ว่าในอียิปต์หรือที่อื่น โทรเลขลับของเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงไคโร ซึ่งวิกิลีกส์เผยแพร่ออกมาช่วยยืนยันเรื่องนี้ แต่กระนั้นมันก็ไม่ได้ทำให้บรรดาผู้นำอเมริกันและตะวันตกตะขิดตะขวงใจที่จะปลาบปลื้มชื่นชมมูบารัคในฐานะพันธมิตรที่ไว้ใจได้ของตนแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่กลับประณามพฤติกรรมทำนองเดียวกันในอิหร่านอย่างสาดเสียเทเสียตามหลัก (สอง)มาตรฐานสากล

การบิดเบือนฉวยใช้อำนาจโดยพลการที่ปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวันในประเทศเผด็จการเหล่านี้ทำให้ประชาชนพลเมืองตกเป็นเบี้ยล่างขึ้นต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองฝ่ายความมั่นคงที่สามารถชี้เป็นชี้ตายพวกเขาได้ ความรู้สึกถูกหยามหมิ่นสิ้นไร้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้เพาะเลี้ยงสั่งสมจิตวิญญาณกบฏให้ระอุคุกรุ่นในอกพวกเขารอวันปะทุระเบิดออกมาทุกหนแห่ง

ระบอบเผด็จการอาหรับดังกล่าวไม่เพียงผูกขาดอำนาจการเมือง หากยังกินรวบเศรษฐกิจ ทำตัวเป็นนักล่าสมบัติทรัพย์สินของชาติด้วยดังกรณีตูนิเซีย รัฐเหล่านี้เดิมทีเกิดขึ้นเมื่อประเทศได้เอกราชจากเจ้าอาณานิคมตะวันตก และก็ได้ให้คำมั่นสัญญากับพลเมืองของตนว่าจะปกป้องดูแล จัดสวัสดิการสังคมขั้นต่ำให้ยามป่วยไข้ตกยาก เปิดช่องให้เข้าถึงการศึกษา ฯลฯ แต่แล้วก็กลับเสื่อมคลายสลายลงด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและกระแสโลกาภิวัตน์ แม้แต่การเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งเคยเป็นช่องทางให้จบแล้วได้เข้ารับราชการในอียิปต์มานมนาน ก็กลับปิดแคบลงไม่อาจรองรับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อีกต่อไป ทำให้พวกเขาขุ่นแค้นขัดเคืองที่เห็นพวก "เศรษฐีใหม่" เส้นใหญ่วางก้ามอวดรวย

สมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ภาวะราคาน้ำมันบูมเปิดช่องให้ชาวอาหรับมากหลายดิ้นรนหาทางออกโดยอพยพเข้าไปทำงานในย่านอ่าวเปอร์เซีย แต่มาบัดนี้ย่านดังกล่าวเองก็ไม่อาจดูดซับกระแสคลื่นคนตกงานที่บ่าล้นขึ้นทุกทีได้อีกต่อไป ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โฆษณาป่าวร้องโดยบางประเทศเผด็จการอาหรับซึ่งหันไปเดินนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เช่น อียิปต์, ตูนิเซีย, จอร์แดน และได้รับคำยกย่องชมเชยจากรายงานขององค์กรโลกบาลทางการเงินอย่างไอเอ็มเอฟบ่อยครั้งนั้น เอาเข้าจริงก็อำพรางความยากจนและเหลื่อมล้ำที่ร้ายแรงขึ้นทุกทีไว้ หลายปีมาแล้วที่การเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ว่าการนัดหยุดงานของกรรมกร, การต่อสู้ของเกษตรกร, การประท้วงของชาวสลัมชายขอบมหานครใหญ่ ฯลฯ ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในอียิปต์, ตูนิเซีย, จอร์แดน, หรือเยเมน (ดังมีรายงานว่ากรรมกรอียิปต์ 2 ล้านคน ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวยึดโรงงานกว่า 2,600 ครั้งจากปี ค.ศ.1998-2008 นับเป็นขบวนการทางสังคมใหญ่ที่สุดในอียิปต์หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นต้นมา ทว่า กลับไม่ค่อยปรากฏข่าวในสื่อโลก)

แต่ก็ยังไม่เคยมีครั้งใดที่การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะถึงกับเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองอย่างเปิดเผยขนานใหญ่ปานนี้

แต่แล้วการเผาตัวตายของโมฮัมเหม็ด บูอัซซีซี่ บัณฑิตหนุ่มด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวตูนิเซียที่ไร้งานทำจนต้องมาตั้งแผงขายผลไม้เลี้ยงชีพเมื่อ 18 ธ.ค. ศกก่อน เพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่ที่มาจับกุมยึดแผงของเขาเพราะไม่มีเงินจ่ายสินบน และเพื่อประชดชีวิตบัดซบใต้ระบอบเบน อาลี ก็กลายเป็นประกายไฟร้อนลวกใจที่ลุกพรึ่บไหม้ลามผืนทรายอันแห้งผากภายใต้เผด็จการทั่วตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือทุกวันนี้

มีแง่มุมสำคัญด้านการเมืองต่างประเทศของเรื่องนี้ที่ควรพิเคราะห์เชื่อมโยงกับอิสราเอลและอเมริกาด้วย น่าสังเกตว่าข้ออ้างที่บรรดาเผด็จการอาหรับในตะวันออกกลางเคยใช้มาค้ำยันระบอบกินเมืองของตนคือ "ต้องสามัคคีกันไว้เพื่อต่อต้านอิสราเอลผู้เป็นศัตรู" ทว่า มันชักเสื่อมมนต์ขลังฟังไม่ขึ้นเสียแล้ว เพราะเอาเข้าจริงเผด็จการอียิปต์กับจอร์แดนนั่นแหละที่ไปเซ็นสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล อีกทั้งโลกอาหรับโดยรวมก็ดูเหมือนป้อแป้ไร้น้ำยาจะขัดขวางการที่อิสราเอลปิดล้อมบดขยี้ชาวปาเลสไตน์อย่างช้าๆ และเลือดเย็น

เหล่านี้สะท้อนออกในมุมกลับผ่านทรรศนะที่หวาดระแวงประชาธิปไตยในโลกอาหรับจากจุดยืนผลประโยชน์ของอเมริกากับอิสราเอลอย่างตรงไปตรงมาของนักเขียนหัวอนุรักษนิยมใหม่ชาวอเมริกันอย่างโรเบิร์ต ดี. แคปแลน ในบทวิเคราะห์อื้อฉาวเรื่อง "One Small Revolution" ลงหนังสือพิมพ์ The New York Times เมื่อ 22 ม.ค.ศกนี้ว่า :

"ผู้ที่สร้างสันติภาพกับอิสราเอลไม่ใช่นักประชาธิปไตย แต่เป็นจอมอัตตาธิปัตย์อย่างอันวาร์ ซาดัต แห่งอียิปต์ และกษัตริย์ฮุสเซ็นแห่งจอร์แดนต่างหาก จอมอัตตาธิปัตย์ผู้กุมอำนาจมั่นคงสามารถอ่อนข้อรอมชอมได้ง่ายกว่าผู้นำจากการเลือกตั้งที่อ่อนแอ.....

"เอาเข้าจริง เรา (คืออเมริกา - ผู้แปล) อยากให้ผู้นำที่ค่อนข้างรู้แจ้งอย่างกษัตริย์อับดุลลาห์ในจอร์แดนถูกบ่อนทำลายโดยการชุมนุมแสดงพลังอย่างกว้างขวางบนท้องถนนจริงๆ หรือ? เราควรคิดให้รอบคอบว่าอะไรคือสิ่งที่เราปรารถนาในตะวันออกกลางกันแน่"

ที่มา.มติชนออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น