กลายเป็นประเด็นร้อนในเวทีอาเซียนรวมไปถึงเวทีโลกเสีย แล้ว สำหรับข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่กัมปนาท แห่งเสียงระเบิดดังแรงไปถึงยมโลก ส่งผลให้ทหาร ประชาชน และทรัพย์สินบนระนาบชายขอบไทย-กัมพูชา ต้องแตกดับอย่างน่าสลด หดหู่หัวใจยิ่งนัก
สงครามข่าวสารเพื่อชิงความได้เปรียบ ประเดประดังออกจาก กระบอกเสียงของรัฐบาลกัมพูชามาอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม กลับไม่มีท่าทีในการตอบโต้ของรัฐบาลไทยเป็นการเปิดเผยสู่สาธารณชน เท่าที่ควร
จะเป็นด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ทางการทหาร หรือเป็นความ ลับๆ ล่อๆ อะไรก็แล้วแต่ มันได้ทำให้ประชาชนไทยส่วนหนึ่ง ตกอยู่ใน ภวังค์แห่งความอึดอัดกระอักกระอ่วน จากแนวทางการทูตของรัฐบาล ไปโดยอัตโนมัติ ยิ่งหากเทียบกับความช่ำชองโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการ เข้าสู่สงครามระหว่างไทยกับกัมพูชา มันล้วนมีผลในทางจิตวิทยา และทำให้คนไทยอดคิดไม่ได้ว่า..
ชั้นเชิงทางการทูตและการทหารของไทยดูห่างชั้นจากกัมพูชา ทั้งที่เป็นประเทศที่มีศักยภาพทุกด้านสูงกว่าและห่างจากเขมรแบบลิบลับ ยิ่งจับจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ทั้งฆ่ากันเองและฆ่าคนอื่น มันย่อมสะท้อน ให้เห็นประสบการณ์อันเกิดจากรากเหง้าของชนชาติเขมรที่ไม่ธรรมดา
ย้อนรอยกลับไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518 กองทัพเขมรแดง นำโดย “พอลพต” ได้กรีธาทัพเข้ายึดกรุงพนมเปญจากรัฐบาล “สมเด็จนโรดม สีหนุ” แล้วกวาดต้อนคนเขมรออกจากพนมเปญ และเปลี่ยนสังคมกระฎุมพีเป็นสังคมกสิกรรม ตามแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์
ส่งผลให้ประชาชนที่ประสบภัยสงครามต้องหนีทะลักเข้ามาขอ ความช่วยเหลือจากประเทศไทย นั่นรวมไปถึง “สมเด็จนโรดม สีหนุ” ด้วย กระทั่งทอดยอดเป็นที่มาแห่งเหตุการณ์สังหารหมู่ “Killling Field” ซึ่งว่ากันว่า การประหัตประหารกันครั้งนั้น มีการล้างเผ่าพันธุ์ ชาวกัมพูชา ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา นักคิดชนชั้นสูง ชนชั้นกระฎุมพี รวมไปถึงคนจนและทาสไปกว่า 3 ล้านชีวิต
คล้อยหลังมาอีก 4-5 ปี ในวันที่ 7 มกราคม 2523 กองทัพเวียดนาม ที่มี “ฮุนเซน” และ “เฮงสัมริน” ออกหน้า ได้ร่วมมือกันกวาดล้างกองทัพเขมรแดงของ “พอลพต” อันเป็นที่มาของเหตุกรุงพนมเปญ แตก ครั้งที่ 2 และเป็นอีกครั้งที่ฝ่ายไทยยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือภัยสงครามในกัมพูชา ซึ่งขณะนั้น กองทัพเขมรแดง ไทย จีน สหรัฐอเมริกา ร่วมกันต่อต้านกองทัพ “ฮุนเซน-เฮงสัมริน” และเวียดนาม
สุดท้ายการอพยพรอบสองครั้งใหญ่ ก็เกิดจาก “ฮุนเซน-เฮงสัมริน” และเวียดนาม ยึดกรุงพนมเปญจากกองทัพเขมรแดง และจากเหตุการณ์กรุงพนมเปญแตกทั้งสองครั้งส่งผลให้ไทยไม่ต่างจากอาศรม ที่ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวกัมพูชา อย่างไรก็ดี จากการเปลี่ยนแปลงในกัมพูชาทั้ง 2 ครั้ง จะพบว่าแนวคิดของผู้นำทั้ง 2 รุ่น แทบไม่ได้แตกต่างจากกัน
นั่นคือแนวทางลัทธิ “คอมมิวนิสต์” ที่ใช้ยุทธวิธี “รุก” และ “ยึดครอง” เพื่อต่อรอง “ผลประโยชน์” เพราะหากลองพลิกปูมไปดู รากเหง้าของ “ฮุนเชน” และ “พอลพต” จะพบว่า ทั้งคู่เป็นคอมมิวนิสต์ แบบเข้าเส้น แต่เหตุที่ต้องมาแตกหักกัน เนื่องจากยืนอยู่กันคนละแนว คิดระหว่าง “คอมมิวนิสต์แบบจีน” และ “คอมมิวนิสต์แบบเวียดนาม”
อีกนัยหนึ่ง หากมองกันตามเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ จะพบว่า ดินแดนกัมพูชาตั้งอยู่ระหว่างเขาควาย นั่นคือไทยและเวียดนาม ซึ่งใน อดีตมีการโรมรันพันตูทำสงครามระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง อันมีหลักฐานสะท้อนให้เห็นคือ ในอดีตกัมพูชา จะมีทั้งฝ่ายฝักใฝ่ไทยและ ฝักใฝ่เวียดนาม ก่อนขั้วดังกล่าวจะถูกสลายลง หลังการย่างกรายเข้า มาล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในแถบอินโดจีน
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ กลายเป็นปัญหาเรื่องเอกราชที่ถูกไล่ล่ามาโดย ตลอด และสะสมกลบทับซ้อนก่อนที่กัมพูชาจะมีเอกราชเท่าทุกวันนี้ และเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้น จึงไม่ต่างจากเบ้าหล่อหลอมบุคลิกของผู้นำ กัมพูชา ที่ถูกถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น อันเกาะกุมอยู่บนยุทธศาสตร์ “รุก” และ “ยึดครอง” เพื่อต่อรอง “ผลประโยชน์” ทั้งที่ได้กระทำเขาและถูกกระทำ
ด้วยแนวทางที่เป็นมรดกบาปตกทอดมากระทั่งปัจจุบัน ดูไปไม่ต่างจากการประยุกต์ในทางยุทธวิธีมาปรับใช้กับเหตุพิพาทชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่รัฐบาลไทยไม่ควรมองข้ามเงื่อนไขดังกล่าวเป็นอันขาด
ยิ่งกรณีที่ “ฮุนเซน” เล่นตีสองหน้า ใช้แนวปะทะที่ไม่ติดอาวุธ หนัก ตรึงกำลังในพื้นที่ที่ใช้ระวางแผนที่ 1 ต่อ 200,000 และแสร้งทำ เป็นเจรจาหยุดยิง แต่ในแนวหลังกลับให้กองทัพของลูกชายระดมยิงอาวุธหนักเข้าสู่หมู่บ้านคนไทยในแนวชายแดน ล่อเป้าให้กองทัพไทยตอบโต้ด้วยอาวุธหนักยิงกลับไปในตำแหน่งอันเป็นที่มาของห่ากระสุน ซึ่งกองทัพกัมพูชาซ้อนแผนเอาไว้ ด้วยการวางจุดยิงเหล่านั้นไปซุ่มไว้ในหมู่บ้านแหล่งชุมชน
กระทั่งในที่สุดปรากฏเป็นภาพความเสียหายของผู้บริสุทธิ์จาก ทั้งสองฝ่าย อีกด้าน “ฮุนเซน” ก็ตีฆ้องร้องป่าว เรียกร้องให้ยูเอ็นเข้ามาเคลียร์ปมสงคราม ที่ฝ่ายกัมพูชาได้ตรึงกำลังส่วนหน้าบนเขตขันธ์อันปรากฏตามระวางแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่เขมรฟ้องโลกมาโดยตลอดว่า “MOU 43” นั่นคือใบเสร็จชั้นดีชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายไทยเห็นด้วยกับระหว่าง แผนที่ดังกล่าว
และด้วยกลยุทธ์ “รุก” และ “ยึดครอง” เพื่อต่อรอง “ผลประโยชน์” หากรัฐบาลไทยนิ่งนอนใจและปล่อยให้เรื่องราวลุกลามบานปลาย จนกระทั่งยูเอ็นต้องยื่นมือเข้ามามีเอี่ยว
ถึงบรรทัดนี้บอกได้คำเดียว ด้วยผลประโยชน์มหาศาลในกัมพูชา ที่ชาติมหาอำนาจจ้องตาเป็นมัน มันล้วนก่อเกิดคุณูปการอันไม่เป็นคุณ...หากอธิปไตยชาติไทยต้องถูกโยนเข้าสู่โต๊ะเจรจา!!!
ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น