แหล่งข่าวระดับสูงจาก พท.แจ้งว่า ทีมเตรียมข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจของ พท.ได้ตรวจพบการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 ที่จงใจปล่อยให้สต๊อคลดต่ำลงจนเหลือ 0 ในเดือนธันวาคม ทั้งที่ปกติควรมีปาล์มสำรองในสต๊อค 200,000 ตัน ทั้งนี้ ในช่วงที่สต๊อคลดลง รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาด้วยการนำเข้าเพื่อไม่ให้มีการฉวยจังหวะขึ้นราคาปาล์มในประเทศ ซึ่งขณะนั้นภาคเอกชนได้เสนอให้นำเข้าปาล์มจำนวน 50,000 ตัน แต่ถูกปฏิเสธ
แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มฯตัดสินใจแก้ปัญหา 2 รูปแบบคือ 1.เพิ่มสัดส่วนการนำปาล์มไปผลิตไบโอดีเซล จาก 380,000 ตัน หรือร้อยละ 29 ในปี 2552 เป็น 415,000 ตัน หรือร้อยละ 32 ในปี 2553 ทำให้เหลือปาล์มเพื่อการบริโภคเพียง 890,000 ตัน หรือร้อยละ 68 และ 2.ประกาศขึ้นราคาจำหน่ายถึง 9 บาท จาก 38 บาท/ลิตร เป็น 47 บาท/ลิตร โดยอ้างว่าผลปาล์มดิบขาดตลาดเนื่องจากปัญหาอุทกภัย อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าผลิตผลปาล์มสดในปี 2553 มากกว่าปี 2552 ถึง 60,432 ตัน โดยเพิ่มจาก 8,162,703 ตัน เป็น 8,223,135 ตัน
"ความผิดปกติของเรื่องนี้อยู่ที่การกินส่วนต่างของขาใหญ่ในวงการปาล์ม แม้มีการประกาศรับซื้อปาล์มสดจากเกษตรกรที่หน้าโรงหีบในราคา 11 บาท/กิโลกรัม แต่เอาเข้าจริงเจ้าของโรงหีบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหัวคะแนนของนักการเมือง ได้กดราคาขายเหลือแค่ 6-7 บาท/กิโลกรัม จากนั้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการหีบน้ำมัน ราคาต้นทุนการผลิตควรอยู่ที่ 37.28-44 บาท แต่พอออกจากโรงหีบไปที่โรงกลั่นน้ำมันพืชกลับมีการบวกส่วนต่างอีก 12.72-24 บาท ทำให้ราคาทุนก่อนกลั่นเป็นน้ำมันพืชอยู่ที่ 50-68 บาท เมื่อบวกค่ากลั่นอีก 15 บาท เป็น 65-83 บาท ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสบริโภคน้ำมันปาล์มในราคา 47 บาทตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศไว้ เนื่องจากมีการกินส่วนต่าง 2 ช่วงคือ จากเกษตรเข้าโรงหีบ และจากโรงหีบออกไปโรงกลั่นน้ำมันพืช" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีโรงกลั่นน้ำมันประมาณ 60 แห่งทั่วประเทศ แต่มีเจ้าของจริงๆ เพียง 16 เจ้า แต่ถือหุ้นไขว้กันไปมา โดยคาดว่าจะฟันกำไรในช่วง 2 เดือนนี้ประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท
ที่มา.มติชนออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น