ส.ส.อังกฤษส่งสัญญาณผลักดันให้รัฐสภาสอบเรื่องการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในประเทศไทย ระบุจะช่วยกดดันให้นำตัวผู้ทำความผิดมารับโทษหลังรู้ข้อมูลแล้วรับไม่ได้กับการทำให้ประชาชนบาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก ด้านตัวแทนสื่อ ตัวแทนองค์กรต่างประเทศ เห็นตรงกันปัญหาของไทยเกิดจากโครงสร้างและสถาบันต่างๆ ประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา หมดความอดทนหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันปกปิดตัวเลขค่าใช้จ่ายของ ศอฉ. มีมติทำเรื่องให้สำนักงบประมาณชี้แจงโดยตรง โฆษกเพื่อไทยปูดบิ๊กในรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงสุมหัวโรงแรมย่านถนนวิภาวดี ให้จับตาต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯอาจมีสถานการณ์ให้ขยายไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก
น.ส.ขวัญระวี วังอุดม ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุมกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) กล่าวถึงผลสรุปการเดินทางไปร่วมสัมมนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองในไทยต่อหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนสากล ตามคำเชิญของรัฐสภาอังกฤษ ที่ประเทศอังกฤษเมื่อเร็วๆนี้ว่า ได้รายงานเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยเฉพาะกรณีการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน หรือกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. ปีที่แล้ว ทั้งนี้ ยืนยันว่า ศปช. ไม่ใช่ผู้กุมความจริงทั้งหมด และตระหนักในข้อจำกัดบางประการ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลหรือทหารได้
ศปช. หวังข้อมูลที่ให้เป็นประโยชน์
“สิ่งที่นำเสนอของ ศปช. เป็นเพียงข้อเท็จจริงบางส่วน และหวังว่าจะเป็นเหมือนจิ๊กซอว์หวังให้สังคมช่วยกันปะติดปะต่อ ดิฉันยังพูดถึงการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การปิดสื่อ การใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการสลายชุมนุม รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมกรณีจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมและควบคุมตัว การสูญหายของผู้ชุมนุม แม้ยังยืนยันไม่ได้ว่ามีผู้ชุมนุมหายจริงหรือไม่ และด้วยสาเหตุจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ตลอดจนการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐทุกรูปแบบ”
เห็นตรงกันไทยมีปัญหาโครงสร้าง
น.ส.ขวัญระวีกล่าวอีกว่า ในเวทีสัมมนาได้ให้เวลาผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยพรรคการเมืองต่างๆของอังกฤษ เช่น Conservative นักข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์, Guadian, Sunday times องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ เช่น Big Brother Watch, Human Rights Watch ตัวแทนสถานทูตสหรัฐ ตัวแทนจากสถานทูตไทย นายเชิดเกียรติ อัตถากร ตลอดจนนักศึกษาไทยและต่างชาติในอังกฤษ รวมถึงบุคคลทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและสถาบันต่างๆ
แฉตัวแทนฝั่งสหรัฐตามอุ้มรัฐบาล
“ที่เป็นประเด็นมากที่สุดคือ การแสดงความคิดเห็นของ มร.แบรด อดัมส์ (Mr.Brad Adams) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียจากองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Watch) ของสหรัฐ ซึ่งเปิดประเด็นโดยบอกในลักษณะที่ว่า การละเมิดสิทธิและการลอยนวลมีเรื่องการเมืองและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ปัญหาที่เกิดขึ้นของสังคมไทยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานาน นอกจากนั้นกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ เม.ย.-พ.ค. 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงมีแผนเผาบ้านเผาเมืองจริง”
น้องช่างภาพอิตาลีโวยคดีไม่คืบหน้า
น.ส.ขวัญระวีกล่าวอีกว่า สำหรับน้องสาวนายฟาบิโอ โนเลนกี้ ช่างภาพชาวอิตาลี ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ได้รับเชิญให้ร่วมสัมมนาครั้งนี้ได้พูดถึงการเสียชีวิตของพี่ชายว่า จากการตรวจสอบคดีความต่างๆล่าสุดพบว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยเฉพาะไม่ทราบเกี่ยวกับรายงานใดๆของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ และยืนยันนายฟาบิโอไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใด และไม่คิดที่จะเข้าไปข้องเกี่ยว เพราะลำพังแค่การเมืองของอิตาลีเขาก็ยังไม่เข้าใจ
ส.ส.อังกฤษดันสภาสอบสลายเสื้อแดง
“เท่าที่ได้ฟังเสียงปฏิกิริยาจากหลายฝ่ายพบว่าการสัมมนาครั้งนี้ได้รับเสียงตอบรับดีมาก โดยมี ส.ส. ของอังกฤษคนหนึ่งส่งจดหมายมาว่า รู้สึกเห็นใจและจะช่วยผลักดันเรื่องเข้าสู่รัฐสภาอังกฤษ เพื่อกดดันให้นำตัวผู้กระทำผิดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากมารับผิดชอบให้ได้” น.ส.ขวัญระวีกล่าว
ส.ว. ไล่บี้เปิดเผยค่าใช้จ่าย ศอฉ.
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา เปิดเผยว่า หลังพยายามเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) หลายครั้ง แต่คนที่มาชี้แจงส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของผู้ที่คณะกรรมการเชิญไปจึงไม่สามารถให้รายละเอียดอะไรได้ ดังนั้น คณะกรรมการจึงมีมติให้ทำหนังสือสอบถามเรื่องนี้โดยตรงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับทราบตัวเลขการเบิกจ่าย
ทำเรื่องถามสำนักงบประมาณ
“คนที่มาชี้แจงส่วนมากเป็นแค่ตัวแทน มาแล้วก็ให้รายละเอียดอะไรไม่ได้ อ้างว่าไม่รู้บ้าง ไม่มีอำนาจบ้าง การทำงานที่ผ่านมาคณะกรรมการรู้แค่มีการจัดงบแยกเป็น 3 ส่วนคือ งบลับ งบปรกติที่ประทับตราลับ และงบเยียวยา รายละเอียดว่าใช้จ่ายเท่าไร อย่างไร คนที่มาชี้แจงให้ข้อมูลไม่ได้เลย คณะกรรมการจึงมีมติให้ทำเรื่องสอบถามไปที่สำนักงบประมาณ” นายจิตติพจน์กล่าว
ชี้พยายามอย่างไรก็ปิดไม่อยู่
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ศอฉ. ใช้จ่ายงบประมาณไปหลายหมื่นล้านบาทนั้น นายจิตติพจน์กล่าวว่า ยังไม่ทราบตัวเลขที่แน่ชัด แต่เท่าที่ทราบอย่างไม่เป็นทางการก็มากพอสมควร แต่สุดท้ายเรื่องนี้ต้องถูกเปิดเผยออกไป คงไม่สามารถปิดบังได้ เพราะรัฐบาลต้องรายงานเรื่องนี้ต่อฝ่ายนิติบัญยัติ แต่ไม่รู้ว่าจะรายงานได้เมื่อไรทั้งที่ ศอฉ. ถูกยุบไปนานแล้ว
ปูดมีบิ๊กสุมหัวหารือที่โรงแรม
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนี้จนตรอกและใกล้ถึงทางตันแล้ว ล่าสุดมีคนในรัฐบาลไปหารือในโรงแรมหนึ่งหนึ่งย่านถนนวิภาวดีกับบิ๊กความมั่นคง บอกว่าหากมีม็อบอย่างนี้ ยืดเยื้ออย่างนี้ เลือกตั้งครั้งหน้ารัฐบาลจะลำบาก จึงห่วงว่ารัฐบาลนี้จะดำเนินการแบบสติแตก อยากเตือนรัฐบาลว่าควรตั้งสติในการแก้ปัญหา และควรนำคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่เก่งๆหลายคนมาใช้งาน หยุดการกินมูมมามเพื่อกอบโกย ถอนทุน หรือสะสมทุนเอาไว้เลือกตั้ง
ให้จับตาต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
“การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ก.พ. นี้จะมีการต่ออายุการใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรออกไปอีกแน่นอน หลังของเดิมครบกำหนดในวันที่ 23 ก.พ. และมีแนวโน้มเป็นไปได้มากว่าต่อไปอาจนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้อีกครั้ง เพราะการคุยกันของตัวแทนรัฐบาลและบิ๊กจากฝ่ายความมั่นคงที่โรงแรมย่านถนนวิภาวดีทราบว่าอาจมีการสร้างสถานการณ์ยั่วยุขึ้นมาเพื่อยกระดับจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯไปเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว
เสื้อเหลืองติงแดงกดดันศาลไม่เหมาะ
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ แถลงว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงกำลังมุ่งเป้าไปที่อำนาจตุลาการ และกระบวนการยุติธรรมเพื่อบีบศาลให้ประกันตัวแกนนำที่ยังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่ดี ต่อไปใครไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรม คำตัดสินของศาลก็ก่อม็อบขึ้นมากดดัน
อ้างเคาะประตูให้มีปฏิวัติรัฐประหาร
“วิธีการเคลื่อนไหวของ นปช. สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความไร้ระเบียบในบ้านเมือง และอาจนำไปสู่การทำปฏิวัติรัฐประหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมแปลกใจที่คนเสื้อแดงประกาศว่าไม่เอาปฏิวัติรัฐประหาร แต่ทำไมจึงเลือกที่จะเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ เพราะเท่ากับเป็นการเปิดประตูให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้ง” นายสุริยะใสกล่าว
ผอ.ศอ.รส. ยันจำเป็นต่ออายุกฎหมาย
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบภายใน (ผอ.ศอ.รส.) กล่าวภายหลังการเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้รัฐบาลต่ออายุการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯว่า ได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นการเบื้องต้นถึงความจำเป็น และในวันที่ 21 ก.พ. นี้จะชี้แจงเหตุผลต่อไป
“ได้ขอขยายการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯออกไปอีก 15 วัน แต่จะลดพื้นที่การบังคับใช้ลง การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯยังมีความจำเป็น เพราะเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ควบคุมสถานการณ์ได้” ผบ.ตร. กล่าว
อ้างเพราะกฎหมายพิเศษจึงไม่วุ่นวาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประกาศใช้มากฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง การต่ออายุจะมีประโยชน์อะไร พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า การบังคับใช้ช่วงที่ผ่านมาได้ผลในระดับหนึ่ง เช่น การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา เดิมทีผู้ชุมนุมจะเคลื่อนการชุมนุมไปปิดล้อมรัฐสภา แต่เมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นฯคงทำให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือในการทำงาน ประกอบกับความพร้อมในการจัดวางกำลัง ความวุ่นวายในบ้านเมืองจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯจึงยังมีความจำเป็น
ไม่กระทบสิทธิประชาชนทั่วไป
เมื่อถูกถามต่อว่า จะเจรจากับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้เปิดพื้นที่การจราจรได้เมื่อไร พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า จะพยายามขอพื้นที่การจราจรคืนจากผู้ชุมนุมให้ได้ ส่วนที่มีหลายประเทศออกประกาศเตือนพลเมืองไม่ให้เดินทางมากรุงเทพฯ เพราะรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทำให้ไม่มั่นใจในสถานการณ์นั้น ยืนยันว่าการประกาศใช้กฎหมายไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน กฎหมายไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ เพราะเป้าหมายของการประกาศใช้กฎหมายคือการควบคุมผู้ชุมนุม และขอคืนพื้นที่จราจรบางส่วนเท่านั้น
ที่มา. จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น