--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อาเซียน


ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554
โดย สุรนันทน์ เวชชาชีวะ

ความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ทำให้โลก “โฟกัส” มาที่ภูมิภาคนี้อีกครั้งในบริบทของความร่วมมือ “อาเซียน” ที่หลายชาติมองว่าจะเป็นแกนในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในยุคทองของเอเชียแปซิฟิกที่มี จีนและอินเดีย เป็น “หัวรถจักร” นำไปก่อนแล้ว

อย่างในบทความของ Banyan ในนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ ภายใต้หัวข้อ “Loose stalks posing as a sheaf” หรือต้นข้าวที่แยกกันแต่ทำเหมือนเป็นฟ้อนข้าวหรืออยู่ในมัดเดียวกัน อันเป็นการเปรียบเทียบประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ที่มาอยู่ร่วมกันอย่างหลวมๆ แต่ยามวิกฤตไม่สามารถแก้ปัญหาได้

เช่นในกรณีของไทยและกัมพูชานั้น เกิดขึ้นทั้งๆที่อาเซียนมีวัตถุประสงค์ที่จะ “รักษาและขยายสันติภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งในคุณค่าของสันติภาพในภูมิภาค” จึงน่า “ผิดหวัง” ที่ทั้งสองประเทศจะมายิงกันบริเวณเขตแดนที่ปราสาทพระวิหาร

ที่เป็นข้อสังเกตของบทความดังกล่าว คือ เมื่อมีเหตุการณ์ปะทะกัน ฝ่ายไทยต้องการที่จะใช้กลไก “ทวิภาคี” ในขณะที่กัมพูชาวิ่งไปใช้กลไกของสหประชาชาติ แต่ไม่มีใครของให้อาเซียนช่วยแต่ประการใด ทั้งๆที่ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย และ นายมาร์ตี้ นาทาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในฐานะที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนในปัจจุบัน ได้เดินทางระหว่างกรุงเทพและพนมเปญ เพื่อให้มีการเจรจากัน

ซึ่งอาเซียนก็ยอมให้แต่ละคนไปตามทางของตน ไม่สามารถเข้ายุ่งเกี่ยวได้เพราะหลักการที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงประเทศสมาชิก โดยนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งประเทศสิงคโปร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทั้งสองประเทศได้ละเมิดข้อตกลงอาเซียน แต่อาเซียนไม่สามารถบังคับใช้กติกาที่ตกลงกันไว้ การไล่ออกจากการเป็นสมาชิกนั้นเป็นไปไม่ได้ ทั้งไม่มีบทลงโทษอื่นกำหนดไว้แต่อย่างใด

ในบทความยังวิพากษ์อย่างติดตลกด้วยว่า “อาเซียน” นั้นเก่งในการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ประนีประนอมมากกว่าจะท้าทาย และจะอ้างถึงหลักการในอธิปไตยของแต่ละประเทศทั้งๆที่การเขามายุ่งเกี่ยวของผู้ที่ทำตัวเป็นตัวกลางนั้นมีความตั้งใจที่ดี ส่วนคนที่จะมาประชุมร่วมกันในอาเซียนนั้นขอให้มีคุณสมบัติเพียง พูดภาษาอังกฤษได้ ชอบเล่นกอล์ฟ ร้องคาราโอเกะ และกินทุเรียน

หากมองไปที่สมาชิกทั้ง 10 ประเทศแล้ว มีความแตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็น บรูไน ซึ่งเป็นรัฐอิสลามปกครองโดยสุลต่าน สิงคโปร์ ที่เป็นเกาะที่ทั้งเมืองเป็นประเทศที่ร่ำรวย ประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์ 2 ประเทศ คือ ลาว และ เวียดนาม พม่า ซึ่งปกครองโดยรัฐทหารที่เพิ่งมีการ “เลือกตั้ง” พร้อมทั้ง กัมพูชา และ ประเทศ 5 ประเทศที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม ซึ่งรวมตัวกันในยุค “สงครามเย็น”

วันนี้ทั้งหมดตกลงกันว่าจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจในปี 2015 ซึ่งการเป็นเขตการค้าเสรีมีความท้าทายมาก เพราะความแตกต่างดังกล่าว และการที่อาเซียนไม่มีองค์กรตรงกลางที่เข้มแข็งที่จะบริหารจัดการความขัดแย้งหรือผลักดันความร่วมมืออย่างจริงจัง

บทความของ Banyan วิเคราะห์ได้ตรงเป้าและเป็นเรื่องที่รู้กัน และวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องในหมู่สมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะนักวิชาการและนักการทูตที่อยากเห็นอาเซียนพัฒนาด้วยความเข้มแข็งและเติบใหญ่มีอำนาจต่อรองอย่างสหภาพยุโรป

ซึ่งอาเซียนคงต้องใช้เวลามากกว่า สหภาพยุโรป และที่ผ่านมาสหภาพยุโรปก็ใช่ว่าจะรวมกันง่ายๆ แม้ทุกวันนี้ยังประสบปัญหาพอควร แต่อย่างน้อยทุกประเทศเห็นประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันและความพยายามที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเป็นหนึ่งเดียว

ที่น่าเสียดายคือบทบาทของไทย ซึ่งถือว่าเป็น “ตัวหลัก” ในการประสานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก เพราะเป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิดอาเซียนขึ้นมา และระดับการพัฒนาประเทศ ความมั่นคงทางการเมืองในอดีต และ “เครดิต” กับประเทศมหาอำนาจต่างๆได้ “สะสม” ไว้มากพอควร แต่มาวันนี้ไทยกลับเป็นคู่กรณีเสียเอง ทั้งเครดิตระหว่างประเทศก็ร่อยหรอ ความมั่นคงภายในทางการเมืองตกต่ำ

บทบาทการนำในอาเซียนจึงถูกช่วงชิง ดังจะเห็นความพยายามของเวียดนามและอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนต่อจากไทย ซึ่งสมัยที่ไทยเป็นนั้นล้มเหลวในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนอับอายไปทั่วโลก ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย รวมทั้งผู้ที่รับผิดชอบที่น่าจะถึงเวลาปรับเปลี่ยนได้แล้ว!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น