กรณีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน มีคำสั่งระงับการทำธุรกรรมทางการเงินของนักการเมืองและนักธุรกิจ 3 ครั้งกว่า 145 ราย เกิดคำถามมากมายว่า ชัวร์ หรือ มั่วนิ่ม !!!
เป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กันไม่น้อย กรณีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีคำสั่งระงับการทำธุรกรรมทางการเงินของนักการเมืองและนักธุรกิจ 3 ครั้งกว่า 145 ราย ในจำนวนนี้มีบริษัท เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตลอดจนนักธุรกิจดังหลายคน อาทิ นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เลขาธิการพรรคไทยรักไทย นายประยุทธ มหากิจศิริ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายชาญชัย รวยรุ่งเรือง หรือ เหยียน ปิน นักธุรกิจ 2 สัญชาติ ฯลฯ
ประเด็นสงสัยก็คือ คำสั่งแช่แข็งทางการเงินดังกล่าวมีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่?
เพราะมีเสียงร่ำลือถึงขนาดที่ว่า มีการทะเลาะกันในที่ประชุม ระหว่าง "บุคคลในรัฐบาล" กับ "ทหาร" ก่อนมีคำสั่งระงับการทำธุรกรรมในครั้งที่ 3
ฉะนั้น ก่อนตอบข้อสังสัย ต้องมาดูบทบาท คอนเนกชัน ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเสียก่อน
เริ่มจาก "เหยียน ปิน" หรือ นายชาญชัย เป็นเพื่อนรักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสาขาพรรคไทยรักไทยในประเทศจีน และเป็นปรึกษานายกรัฐมนตรีในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ เรืองอำนาจ
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว "เหยียน ปิน" ถูกนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ออกมาเปิดโปงผ่านรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 9" เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 ว่า มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ และเกี่ยวพันการรับเหมาก่อสร้างโรงงานยาสูบใน จ.เชียงใหม่มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าปกติ
และบอกอีกว่า "เหยียน ปิน" เป็นบุคคล 2 สัญชาติ เกิดที่มณฑลชานตุง เคยทำงานในคณะงิ้วที่ตำบลเหอหนาน ปัจจุบัน อายุ 51 ปี (ขณะนั้น) เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 30 มีทรัพย์สินรวมถึง 3,500 ล้านหยวน หรือ ประมาณ 17,500 ล้านบาท
ต่อมาพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกมายอมรับว่านายชาญชัยเป็นที่ปรึกษาจริงแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ขณะที่นายโภคิน พลกุล ออกมายอมรับด้วยว่าแต่งตั้งนายเหยียน ปิน เป็นที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของประธานรัฐสภา
หลังจากนั้นเรื่องราวและความเคลื่อนไหวของ "เหยียน ปิน" ก็เงียบหายไป แต่มีก็มีข้อมูลเชิงลึกว่าเดินทางเข้าออกประเทศไทยหลายครั้ง
ในทางธุรกิจนายชาญชัยทำธุรกิจในประเทศไทยถึง 22 บริษัท เปิดดำเนินการปัจจุบัน 9 บริษัท แบ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจให้คำปรึกษา ธุรกิจบริการท่องเที่ยวและตัวแทนขายเครื่องดื่มกระทิงแดง(ร่วมกับนายสราวุฒิ อยู่วิทยา อดีตนายทุนพรรคประชาธิปัตย์) รวมทุนจดทะเบียน 1,514 ล้านบาท
แม้ไม่มีกระแสข่าวว่านายชาญชัยสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงมาก่อน แต่ถ้าดูจากคอนเนกชั่นลึก โดยเฉพาะให้ที่พักพิงในประเทศจีนแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว การถูกขึ้นบัญชีดำก็ไม่เหนือความคาดหมาย
ถัดมา นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าของบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) และ โบนันซ่ารีสอร์ท และสนามกอลฟ์ในเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีบริษัทในเครือข่าย 20 บริษัท สินทรัพย์หลายพันล้านบาท ในจำนวนนี้ทำธุรกิจร่วมกับนายคฤกพล ยงใจยุทธ บุตรชาย บิ๊กจิ๋วมาตั้งแต่ปี 2529 ในชื่อ บริษัท เพื่อน จำกัด
นายไพวงษ์มีความใกล้ชิด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (ซึ่งถูกศอฉ.สั่งระงับการทำธุรกรรมในรอบที่ 2 ) เคยเป็นรองเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ นอกจากนักการเมืองหลายคนเป็นลูกค้าในโบนันซ่า ยังเปิดไร่โบนันซ่าให้กลุ่มคนเสื้อแดงเข้าไปจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ ขณะที่สื่อในเครือข่ายก็เปิดหน้าชกรัฐบาลประชาธิปัตย์อย่างเต็มเหนี่ยว โดยมีบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) ซึ่งในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้งานรับเหมาติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ให้หน่วยงานรัฐมากกว่า 500 ล้านบาท เป็นถุงเงินหลัก
กับ "เจ๊แดง" นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าจำกันได้ในช่วงปี 2547 ที่มีปัญหาถูกฝ่ายค้านโจมตีกรณีถือครองหุ้นหมู่บ้านหรู "ชินณิชาวิลล์" ย่านถนนแจ้งวัฒนะ กลุ่มนายไพวงษ์ได้เข้าไปรับซื้อไว้ ท่ามกลางข้อสงสัยเป็นดีลเป็นกลเกมการเมืองหรือไม่?
เมื่อ "แทงหวยผิด" ก็เลยเจ๊งไปตามระเบียบ
เสี่ยเป้า นายประยุทธ มหากิจศิริ เจ้าของธุรกิจผลิตทองแดงหมื่นล้าน มีความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งการเมืองและธุรกิจ
นอกจากเป็นเพื่อนก๊วนกอล์ฟกับ พ.ต.ท.ทักษิณ หนุ่มกึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ บุตรชาย ทำธุรกิจขายโทรศัพท์มือถือร่วมกับ โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร และได้รับเก้าอี้รองโฆษกรัฐบาลในยุคนายสมัคร สุนทรเวช อีกด้วย
นายสุริยะ จึงรุงเรืองกิจ เจ้าของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์"ซัมมิทกรุ๊ป" หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ถูกคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) เช็กบิลหลายคดี แต่ทว่ายังไม่มีคดีใดที่นายสุริยะตกเป็นจำเลยในชั้นศาล และในช่วงเคลื่อนไหวล้มของ นปช. นายสุริยะไม่ได้ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย ต่างจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลานชายที่ประกาศตัวเป็นนายทุนไพร่อย่างชัดเจน
ขณะที่ บมจ. เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถือหุ้น 29.9 % น.ส.พินทองทา ชินวัตร 28.9% นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ 4.9% คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ 2.8% แม้ทางผู้บริหารแจ้งว่าไม่เคยนำเงินสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่การที่ ศอฉ.ทำหนังสือยืนยันระงับการทำธุรกรรมทางการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าเชื่อมั่นในข้อมูลอยู่เหมือนกัน
สำหรับบุคคลอื่นๆ มีนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับม็อบแดงโดยเฉพาะ ส.ส.ภาคอีสาน อาทิ การปรากฏตัวของ นายพงศกร อรรณนพพร อดีต ส.ส.ขอนแก่น นางดวงพร อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น พร้อมๆกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในการปิดถนนหลายครั้งใน จ.ขอนแก่น ทำให้เชื่อมโยงถึงกันได้
กระนั้น ไม่มีชื่อนักการเมืองตระกูลฉายแสงอย่างนายจาตุรนต์ และนางฐิติมา โดยเฉพาะรายหลังเคลื่อนไหวดุเดือดเดือด แม้กระทั่งบางคนใน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย ทำให้เห็นถึงข้อสังเกตด้วยเหมือนกัน
ประกอบกับมีเสียงร้องเรียนว่า คำสั่ง "แช่แข็ง" เกิดขึ้นในห่วงก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปัตย์ กับ พรรคเพื่อไทย โดยฝ่ายหลังมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (ซึ่งถูกแบล็คลิสต์) เป็นแบ็คอัพ เป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงของฝ่ายตรงข้ามไปในตัว
ถ้าเป็นอย่างนั้นคงโดนเชือดกันค่อนพรรค
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากผู้ลงนามคำสั่งระงับการทำธุรกรรม ซึ่งเซ็นโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วงที่ผ่านมามีความระมัดระวังในการใช้กำลังจัดการกับกลุ่มเสื้อแดงจนถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่า "หน่อมแน้ม" หรือ "ทหารแตงโม" เป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนเตรียมทหารกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวอยู่ในรายชื่อถูกระงับการทำธุรกรรมชนิดยกโขยง
ย่อมแสดงให้เห็นว่า "บิ๊กป๊อก" ไม่อาจปฏิเสธข้อมูลจากการตรวจสอบของสำนักป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ชงขึ้นไปได้
จึงเป็นที่มาของการตัดธุรกรรม น้ำเลี้ยงของกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 145 ราย
ถึงที่สุดเป็นไปว่างานนี้คงได้แค่ "ปราม" ?
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
........................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น