ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ คอลัมน์ที่13
ภาย หลังรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และสั่งกำลังทหารพร้อมอาวุธสลายผู้ชุมนุมเสื้อแดง เมื่อเดือนเม.ย.และพ.ค.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก
สื่อมวลชนต่างประเทศ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ วิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามมาตรฐานสากล
นายคลอดิโอ คอร์ดอน รักษาการเลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากล ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ขอให้ยกเลิกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนเริ่มต้นกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศสมาชิก
องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International หรือ AI) เป็นองค์กรอาสาสมัครระหว่างประเทศที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ขึ้นกับรัฐบาล การเมือง หรือความเชื่อทางศาสนาใดๆ
มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน แสวงหาความยุติธรรมสำหรับผู้ที่ถูกละเมิด มีสำนักงานเลขานุการอยู่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2504 โดยนายปีเตอร์ เบเนนสัน ทนายความชาวอังกฤษ เขียนบทความเรื่อง “นักโทษที่ถูกลืม” ลงหนังสือพิมพ์ ดิ ออบเซอร์เวอร์
หลังเกิดเหตุการณ์นักศึกษาชาวโปรตุเกส 2 คน ทำความผิดด้วยการยกแก้วไวน์ฉลองอิสรภาพในร้านอาหารแห่งหนึ่งในโปรตุเกส ซึ่งขณะนั้นปกครองแบบเผด็จการ แล้วถูกจับกุม
บทความของนายปีเตอร์เผยแพร่ไปทั่วโลก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นขององค์การนิรโทษกรรมสากล ซึ่งใช้สำนักงานของนายปีเตอร์ ตั้งอยู่ศาลไมเตรอะ กรุงลอนดอน ทำเป็นสำนักงานขนาดเล็กและห้องสมุด
การประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในเดือนก.ค.ปีเดียว กัน ผู้แทน 7 ประเทศจากเบลเยียม สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐ มีมติให้จัดตั้งองค์การสิทธิมนุษยชน เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
10 ธ.ค.2504 ซึ่งตรงกับวันสิทธิมนุษยชน องค์กรจุดเทียนเล่มแรกที่โบสถ์เซนต์มาร์ติน-อิน-เดอะ-ฟิลด์ ในกรุงลอนดอน
ปี 2505 มีประชุมครั้งแรกที่ประเทศเบลเยียม และมีมติให้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ
ปีเดียวกัน AI มีส่วนร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์พิจารณาคดีเนลสัน แมนเดลา ผู้นำผิวดำของชาวพื้นเมืองแอฟริกาใต้ ที่ถูกรัฐบาลผิวขาวจับกุมคุมขังเป็นเวลา 27 ปี
ขณะนั้นแอฟริกาใต้ปกครองโดยคนขาว มีการเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง
AI ทำวิจัยครั้งแรกเกี่ยวกับนักโทษ 210 คน ใน 7 ประเทศ และเริ่มต้นทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงคดีต่างๆ อีกมากมาย
2520 องค์การนิรโทษกรรมสากลได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ สำหรับการรณรงค์ต่อต้านการทรมาน
และปี 2521 ได้รับรางวัลองค์การสหประชาชาติ สาขาสิทธิมนุษยชน และมีสมาชิกกว่า 700,000 คน จากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก
มีกลุ่มอาสาสมัครกว่า 6,000 คน ใน 70 ประเทศ
ถึงปี 2535 สมาชิกเพิ่มขึ้นทะลุหลักล้านคน
ปี 2541 ลงนามก่อตั้ง “ศาลาอาญาระหว่างประเทศ ตามธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลาอาญาระหว่างประเทศ”
ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2545
ล่าสุดเรียกร้องให้รัฐบาลซูดาน ปกป้องพลเมืองในดาร์ฟู ซึ่งตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมือง
ปี 2546 จัดตั้งองค์การนิรโทษกรรมสากล ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งขององค์การนิรโทษกรรมสากล
ล่าสุดพ.ค. ปี 2553 ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ไทย ให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น