โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
การที่รัฐบาลและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยืนยันว่าการคง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะคนทั่วไปไม่ได้รับความเดือดร้อนนั้น นายสุณัย ผาสุข ผู้ประสานงานองค์การด้านสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาตอบโต้ว่า เมื่อพูดถึงสิทธิมนุษยชนนั้นจะหมายถึงสิทธิในความเป็นมนุษย์ของทุกคน
แต่การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ทำให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนหมดไป เพราะขณะนี้มีการปิดเว็บไซต์ที่เห็นต่างจากรัฐบาลแล้วกว่า 2,000 เว็บไซต์ ทำให้ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว และทำให้สิทธิในการเข้าถึงความจริงเป็นไปด้วยความยากลำบาก แม้จะมีการแต่งตั้งนายคณิต ณ นคร เป็นประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุการณ์เดือนเมษายนและพฤษภาคมแล้วก็ตาม แต่คนเสื้อแดงก็จะสงสัยว่าจะหาความจริงได้อย่างไรในขณะที่ยังมีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร
องค์การด้านสิทธิมนุษยชนจึงเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหากมีความจริงใจที่จะสอบสวนหาความจริงตามแผนปรองดองเพื่อหาตัวคนทำผิดมาลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็ประกาศว่าพร้อมจะรับผิดชอบหากมีหลักฐานว่ากระทำผิด
แต่มาตรา 17 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินระบุว่า ฝ่ายรัฐไม่ต้องรับผิดทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย ซึ่งนายอภิสิทธิ์ต้องพูดในประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่าพร้อมรับผิดอย่างไร แค่ไหน ไม่ใช่ใช้สำนวนโวหารไม่พูดความจริงทั้งหมดในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเหมือนการลักไก่นิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้าแล้ว
ดังนั้น หากนายอภิสิทธิ์มีความจริงใจจะปรองดองกับทุกฝ่ายจริงก็ต้องประกาศงดเว้นใช้มาตรา 17 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะเดียวกันก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน
การนำเรื่องนิรโทษกรรมมาพูดขณะนี้จึงไม่สำคัญเท่ากับการที่รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะหากบ้านเมืองมีความยุติธรรมและไม่ 2 มาตรฐาน ไม่ว่าประชาชนคนใดก็พร้อมจะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ใช่การใช้อำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ไม่ต่างกับกฎหมายเผด็จการมากล่าวหาหรือใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือล้มล้างสถาบัน โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามปรกติอย่างขณะนี้
โดยเฉพาะการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกล่าวหาและจับกุมประชาชนไปคุมขังแล้วกว่า 400 คน โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งรัฐบาลต้องตอบสาธารณชนและประชาคมโลกให้ได้เช่นกันว่า การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษขณะนี้นั้นมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงที่ต้องระงับยับยั้งทันที เพราะมิฉะนั้นรัฐบาลก็หนีไม่พ้นที่จะถูกกล่าวหาว่าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองข่มขู่และกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่เพื่อความมั่นคงของบ้านเมือง
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น