เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง"ครบ 1 เดือน การสลายการชุมนุม" จากประชาชน 2,274 คน สรุปว่า ร้อยละ 48.28 คิดว่าสภาพความขัดแย้งยังคงเหมือนเดิม เพราะความขัดแย้งเกิดจากคนบางกลุ่มมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาไม่ได้รับการชี้แจงหรือคลี่คลายให้หมดไป ร้อยละ 39.65 คิดว่าดีขึ้น เพราะคนไทยได้บทเรียนครั้งใหญ่ ร้อยละ 12.07 คิดว่าแย่ลง เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำยังมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน
ร้อยละ 66.93 มองว่าหลังสลายการชุมนุม 19 พ.ค. บ้านเมืองยังเหมือนเดิม เพราะนักการเมืองยังเป็นไม้เบื่อไม้เมา ร้อยละ 22.81 แย่ลง เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอกกัน ร้อยละ 10.26 ดีขึ้นเพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียน ขณะที่ร้อยละ 34.48 ยังไม่แน่ใจว่าความปรองดองที่หลายฝ่ายพยายามสร้างขึ้นนั้นจะสมหวังมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 25.86 คิดว่าน่าจะสมหวัง เพราะทุกฝ่ายต้องการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น ร้อยละ 20.69 มองว่าคงไม่สมหวัง เพราะการเปลี่ยนความคิดคนเป็นเรื่องยาก ร้อยละ 15.52 มองว่าไม่สมหวังแน่นอน เพราะไม่เชื่อว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริง
เมื่อถามว่าทำอย่างไรความปรองดองจึงจะเกิดขึ้นได้ อันดับ 1 มองว่าคนในชาติต้องสมัครสมานสามัคคี รองลงมาคือนักการเมืองต้องลดทิฐิ รับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน และทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนอุปสรรคของการปรองดองนั้น ร้อยละ 57.78 มองว่าเรื่องการแตกแยกทางความคิด ร้อยละ 18.63 ความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา ปกปิดข้อเท็จจริง ร้อยละ 12.57 ความเหลื่อมล้ำในสังคมและร้อยละ 11.02 การไม่เคารพกฎหมายและกติกาของสังคม
ส่วนบุคคลที่จะช่วยให้มีความสมหวังเรื่องปรองดอง อันดับ 1 ร้อยละ 41.33 นายกฯ อันดับ 2 ร้อยละ 35.61 นักการเมือง อันดับ 3 คนไทยทุกคนร้อยละ 13.27 อันดับ 4 นายอานันท์ ปันยารชุนและน.พ.ประเวศ วะสี ร้อยละ 4.99 และอันดับ 5 สื่อมวลชน ร้อยละ 4.80
สำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่องแกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อแผนปรองดองแห่งชาติและแนวทางสู่ความสำเร็จ โดยศึกษาจากแกนนำชุมชนใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 1,065 ตัวอย่าง สรุปว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 88.8 ยอมรับค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุดต่อประเด็นแผนปรองดองในการปกป้องสถาบันและเชิดชูหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 74.6 ยอมรับค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุดในประเด็นแผนปรองดองเรื่องการทำให้เกิดสวัสดิการที่ดี มีความเท่าเทียมกันและมั่นคงในชีวิต
ร้อยละ 69.4 ยอมรับค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่อการปฏิรูปสื่อมวลชน ขณะที่ร้อยละ 65.7 ยอมรับค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุดในการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุความรุนแรง ร้อยละ 61.8 ยอมรับค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่อการแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง และร้อยละ 68.2 ยอมรับรายชื่อคณะกรรมการแผนปรองดองค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุด
ร้อยละ 52.0 เชื่อมั่นค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุดต่อความพยายามของนายกฯในการสร้างความ ปรองดอง โดยร้อยละ 24.0 เชื่อมั่นระดับปานกลางและร้อยละ 24.0 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยจนถึงไม่เชื่อมั่นเลย
ทั้งนี้ ร้อยละ 71.7 ระบุว่ารัฐบาลต้องทำแผนปรองดองให้ได้ตามที่พูดโดยเร็ว ร้อยละ 68.2 ระบุว่าคณะกรรมการแต่ละชุดต้องมาจากหลายฝ่ายและต้องปรองดองกันก่อนให้ประชาชนปรองดอง ร้อยละ 65.0 ระบุต้องมีแนวทางปฏิบัติโปร่งใส ร้อยละ 62.9 ให้อิสระคณะกรรมการทำงานเต็มที่ ร้อยละ 61.8 เน้นความปรองดองระดับท้องถิ่น หมู่บ้านและชุมชน ร้อยละ 61.1 ไม่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสารฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ร้อยละ 60.0 เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนควบคู่ไปด้วย ร้อยละ 53.6 เน้นบังคับใช้กฎหมายและร้อยละ 52.7 เน้นให้ปรองดองอย่างเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ
ส่วนจุดยืนทางการเมือง พบว่าร้อยละ 53.8 ไม่ขออยู่ฝ่ายใด ร้อยละ 31.8 สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 14.4 ไม่สนับสนุนรัฐบาล
ที่มา.ข่าวสดรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น