จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
เจ้าหน้าที่เรือนจำจับแกนนำ นปช. 11 คนแยกขังตามแดนต่างๆแล้ว หลังศาลอุทธรณ์ไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งห้ามประกันตัว ระบุเป็นคดีร้ายแรงมีอัตราโทษสูงหากให้ประกันเกรงว่าจะหลบหนี รัฐบาลเล็งหาวิธีกระชับอำนาจให้อยู่ในมือต่อไป จ่อส่งทหารออกมาปฏิบัติการอีกครั้งหลังเกิดเหตุยิงอาร์พีจีใส่คลังน้ำมัน แย้มอาจงัด พ.ร.บ.ความมั่นคงฯขึ้นมาใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในบางพื้นที่ที่จะยกเลิก สั่งจับตากลุ่มข้าราชการฝักใฝ่เสื้อแดงหลังพบฝ่ายตรงข้ามรับรู้ความเคลื่อนไหวหน่วยงานรัฐตลอด “หมอพรทิพย์” ตรวจจักรยานยนต์ที่คนร้ายใช้ยิงอาร์พีจีพบเขม่าดินปืน
ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งกรณีที่ทนายความของนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน พร้อมพวกรวม 10 คน ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-3
ศาลไม่รับอุทธรณ์คำสั่งห้ามประกันตัว
ศาลมีคำสั่งว่า หลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าข้อหาร่วมกันหรือใช้ผู้อื่นให้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิตและเป็นภัยแก่ประชาชนโดยส่วนรวม หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเกรงผู้ต้องหาหลบหนี มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. กล่าวว่า ขณะนี้แกนนำ นปช. 11 คนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ถูกแยกขังกระจัดกระจายตามแดนต่างๆแล้ว ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ดังนั้น จะไปยื่นเรื่องต่อนายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้นำทั้งหมดมาขังอยู่ในแดนเดียวกัน
ครม. ถกต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินวันที่ 6 ก.ค.
นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ศอฉ. ยังมีเวลาพิจารณาอีก 5 วัน ก่อนส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 6 ก.ค.
“กำลังพิจารณาเรื่องการเพิ่มกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย เพราะได้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นหลายครั้งหลังจากที่สั่งให้ทหารกลับเข้ากรมกอง เมื่อมีเหตุต่างๆเกิดขึ้นจึงต้องมาพิจารณาเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะการใช้ที่ผ่านมาได้ผล และจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น” นายถวิลกล่าวพร้อมยอมรับว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเรื่องสิทธิเสรีภาพกับความปลอดภัย หากทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อยได้ก็ถือว่าคุ้มค่า
“สุเทพ” ไม่พูดใครยิงอาร์พีจี
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการ ศอฉ. กล่าวว่า ที่ยังเกิดเหตุร้ายอยู่เพราะว่ามีรอยรั่วในการดูแล เนื่องจากสถานที่สำคัญมีมากแต่กำลังเจ้าหน้าที่มีน้อย
“เรื่องยิงถังน้ำมันกรมพลาธิการทหารบกผมยังไม่อยากพูดว่าเป็นฝีมือของใคร เดี๋ยวจะเป็นประเด็นโต้แย้งกันอีก ความรุนแรงไม่ใช่เพิ่งจะมาเกิดแต่มีมาต่อเนื่อง” นายสุเทพกล่าว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนว่าจะต่อเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งทาง ศอฉ. กำลังพิจารณาอยู่ ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ต้องไม่ประมาท ศอฉ. ประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา
สัปดาห์หน้ารู้โฟกัสพื้นที่ไหน
“เมื่อมีความชัดเจนเรื่องพื้นที่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเราจะทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่ลงไปในจุดไหน อย่างไร” นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า ขณะนี้มีคนกลุ่มหนึ่งต้องการให้บ้านเมืองมีปัญหา ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่แก้ไขและมีหลายมาตรการที่ช่วยป้องปรามได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเครือข่ายที่สร้างความวุ่นวายก็มีทรัพยากรมากพอสมควร แต่เชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าอย่างปรกติสุข แม้จะมีอุปสรรคแต่หากหลายฝ่ายร่วมมือกันก็จะทำให้แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะเข้าตรวจสอบถังบรรจุน้ำมันภายในกรมพลาธิการทหารบก จังหวัดนนทบุรี ที่ถูกคนร้ายยิงจรวดอาร์พีจีเข้าใส่เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ
พบรถคนร้ายใช้ยิงอาร์พีจี
พ.ต.อ.กิตติ สุขสมภักดิ์ ผกก.กลุ่มงานสืบสวน พ.ต.ท.ฐิติพงศ์ สุริยะฉาย รอง ผกก. พ.ต.ท.สมชาย ขำสัจจา สว.สส.กลุ่มงานสืบสวน ภ.จว.นนทบุรี พร้อมกำลังได้ออกตรวจสอบจุดเกิดเหตุอีกครั้งอย่างละเอียด จนกระทั่งมาถึงบริเวณปากซอยทรายทอง 20 พบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าสีน้ำเงิน ทะเบียน วขก 235 กทม. จอดทิ้งอยู่ ชาวบ้านให้ข้อมูลว่ามีผู้นำมาจอดทิ้งไว้ตั้งแต่วันเกิดเหตุยิงอาร์พีจี ซึ่งเมื่อคณะของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์รับทราบจึงเดินทางมาตรวจสอบ พบบริเวณเบาะนั่งมีกระเป๋าเป้สีน้ำตาลพาดอยู่ ภายในไม่พบหลักฐานอะไร เบื้องต้นได้เก็บรอยนิ้วมือตามรถและกระเป๋าเป้ ทำให้พบคราบเขม่าดินปืนติดอยู่เป็นจำนวนมาก คาดว่าน่าจะเป็นรถที่คนร้ายใช้ก่อเหตุ
ตัวแทน “อ้อ-เอม-โอ๊ค” แจงธุรกรรม
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตัวแทนคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หรือ ณ ป้อมเพชร นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบถามข้อมูลที่ต้องการเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน
นายกิตติพร อรุณรัศม์ ทนายความนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ได้นำเอกสารบัญชีธนาคารของผู้เกี่ยวข้อง 6 บัญชีที่ถูก ศอฉ. อายัดมาชี้แจงเป็นการเบื้องต้น
“เงินของคนในครอบครัวชินวัตรถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อายัดมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2550 ถึงวันที่ 28 เม.ย. 2553 ไม่สามารถทำธุรกรรมอะไรได้ และเงินส่วนใหญ่ก็ถูกศาลสั่งยึดไปแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวจะเป็นท่อนำเลี้ยงให้คนเสื้อแดงตามข้อกล่าวหา”
“ทักษิณ” ต้องมาชี้แจงด้วยตัวเอง
นายกิตติพรกล่าวอีกว่า การชี้แจงวันนี้ชี้แจงในนามตัวแทนนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คงชี้แจงแทนไม่ได้ เพราะติดข้อหาก่อการร้ายคงต้องมาชี้แจงด้วยตัวเอง ส่วนกรณีของคุณหญิงพจมานมอบอำนาจให้นายสมพร พงษ์สุวรรณ เป็นทนายความเข้าชี้แจงแทน
ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์คำแหง โฆษกสภาทนายความ แถลงว่า ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาสามารถร้องขอความช่วยเหลือทางคดีกับสภาทนายความได้ทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งขณะนี้มีผู้ขอความช่วยเหลือ 400 รายแล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการบริเวณที่ชุมนุม เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงพบมูลค่าความเสียหายกว่า 144 ล้านบาท
ศอฉ. ยังไม่ถกใช้กำลังทหารคุมพื้นที่
ด้านการประชุม ศอฉ. ที่มีนายสุเทพเป็นประธานเมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่กองบัญชาการองทัพบก มีรายงานว่ายังไม่มีการพิจารณานำกำลังทหารออกมาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย โดยให้ตำรวจแต่ละพื้นที่รับผิดชอบไปก่อน แต่หากเกินกำลังตำรวจจึงจะพิจารณานำทหารออกมาช่วย ที่ประชุมยังรับทราบรายงานจากฝ่ายข่าวที่พบการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในหลายจังหวัด โดยมีการรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆจึงต้องเฝ้าติดตามพฤติกรรมต่อไป
สั่งฟัน “ทักษิณ” เบี้ยวแจงธุรกรรม
ส่วนกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ไม่เข้าชี้แจงการทำธุรกรรมการเงินให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปของกฎหมาย นอกจากนี้ยังรับทราบความคืบหน้าคดีความที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ 205 คดี และความคืบหน้าการติดตามคนร้ายที่ลอบยิงอาร์พีจีใส่ถังน้ำมันของกรมพลาธิการทหารบกด้วย
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลักการพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะดูว่าเมื่อยกเลิกพื้นที่ใดแล้วตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้หรือไม่ และต้องดูด้วยว่าหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้นสามารถสนธิกำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ถ้าทำได้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลัวตำรวจรับมือไม่ได้
“รัฐบาลกำลังรอการรายงานจาก ศอฉ. โดยดูจากเรื่องการชุมนุมทางการเมือง การทำธุรกรรมทางการเงิน การปลุกระดมยั่วยุ และการก่อวินาศกรรม ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพิจารณาว่าจะต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้หรือไม่ ซึ่งเรื่องการก่อวินาศกรรมถือเป็นเรื่องสำคัญที่ ศอฉ. พิจารณา รวมถึงเรื่องการปลุกระดมทางการเมืองที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง การปล่อยข่าวลือ การชุมนุมแฝงอะไรต่างๆ ส่วนเรื่องธุรกรรมทางเงินและเรื่องคดีก่อการร้ายดีเอสไอกำลังดำเนินการอยู่ หลักคิดคือในพื้นที่เปราะบางถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วต้องมั่นใจว่าคุมสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะใน กทม. และพื้นที่รอบๆ ส่วนต่างจังหวัดอย่างอุดรธานี เชียงใหม่ ต้องดูว่าตำรวจสามารถทำงานได้หรือไม่ถ้ามีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าตำรวจดูแลได้ก็สามารถยกเลิกได้” นายปณิธานกล่าว
สั่งจับตาเจ้าหน้าที่รัฐสายข่าวเสื้อแดง
ส่วนการยิงอาร์พีจีใส่คลังน้ำมันของกรมพลาธิการนั้น นายปณิธานกล่าวว่า กลุ่มที่ปฏิบัติการมีศักยภาพและดูเหมือนว่ากลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลบางอย่างที่นำมาใช้ในการปฏิบัติการเป็นอย่างดี รับรู้ความเคลื่อนไหวของภาครัฐตลอดเวลา ชัดเจนว่ากลุ่มที่ปฏิบัติการเชื่อมโยงกับการชุมนุมที่ผ่านมา และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการก่อวินาศกรรม เชี่ยวชาญเรื่องการใช้อาวุธ มีผู้ให้ความช่วยเหลือในการหลบหนี ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ
เล็งงัด พ.ร.บ.มั่นคงฯใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“ขณะนี้กำลังจับตาดูพฤติกรรมเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มที่มีศักยภาพในการก่อวินาศกรรมอยู่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีไม่มากแต่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ผ่านมา” นายปณิธานกล่าวและว่า หากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอาจเสนอให้กลับไปใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาราจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ส่วนแรกที่ให้มีการเฝ้าระวังร่วมกันของตำรวจและพลเรือน โดยให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (กอ.รมน.จังหวัด) เป็นเจ้าภาพดูแล และมีทหารเป็นผู้ช่วยพนักงาน และหากใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯส่วนที่สองที่มีการประกาศพื้นที่ความมั่นคงและมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่มีอำนาจเหมือน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่มีการคุ้มครองการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะมีแต่เสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือให้คงไว้เท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น