โดย : ยศ สันตสมบัติ
24 มิถุนายน 2475 ถูกปล้นชิงความหมายทางประวัติศาสตร์ไปเนิ่นนาน จนทุกวันนี้ ไม่ได้ยินใครเอ่ยอ้างถึงหลักหกประการของคณะราษฎร
โดยเฉพาะเจตนาในการท้าทายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งในเวลานั้น กลายเป็นระบบล้าสมัย และไร้ประสิทธิภาพในการนำพาสยามประเทศให้พัฒนาสถาพรทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ คณะราษฎรประกอบไปด้วย ข้าราชการพลเรือนและทหาร ซึ่งบางส่วนเป็นอดีตนักเรียนนอกหัวสมัยใหม่ ที่ต้องการชักนำระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขมาสู่แผ่นดินสยาม
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ส่งผลให้ชนชั้นนำแห่งสยามประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มเจ้าถูกลดบทบาทลงอย่างชัดเจน และกลุ่มขุนนางข้าราชการเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น แต่สภาวะวุ่นวายโกลาหลของสงครามโลกครั้งที่สอง ตลอดจนความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำใหม่ ระหว่างพลเรือนและทหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความล้มเหลวในการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ ทำให้อุดมการณ์ของคณะราษฎรไม่อาจเป็นจริงได้ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่งผลให้สยามประเทศไปไม่ถึงประชาธิปไตย และเป็นได้แค่ระบอบคณาธิปไตยเต็มรูปแบบ ระบบอุปถัมภ์ยังคงจำเริญแข็งแรง และผลิตซ้ำตนเองภายใต้วัฒนธรรมการเมืองแบบรัฐราชการของไทยได้อย่างแข็งขัน
ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำใหม่ นำไปสู่การช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง บริบททางการเมืองเช่นนี้ เอื้อให้เผด็จการทหารสามารถสถาปนาตนเองอย่างมั่นคงยาวนานนับเนื่องแต่ปี 2489 ไปจนถึง 2516 การยึดอำนาจขับไล่จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2500 ปิดศักราชของยุคนักเรียนนอกในแวดวงการเมืองไทย และนำไปสู่การหวนคืนของทฤษฎีมหาบุรุษอย่างเข้มแข็ง ทหารและราชสำนักค้ำจุนพึ่งพิงกันอย่างแยกไม่ออก นาฏรัฐและระบบมันดาลา บนพื้นฐานของแนวคิดเทวราชา และผู้มีบุญได้รับการสถาปนาใหม่ จนมีพลังอำนาจอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน
ความขัดแย้งในกลุ่มทหารจากปัญหาการสืบทอดอำนาจในกลุ่มจอมพลถนอม กิตติขจร และเครือญาติ ผนวกกับกระแสการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มข้น จากขบวนการนิสิตนักศึกษา นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และมีส่วนทำให้เผด็จการทหารที่เคยผูกขาดอำนาจในระบบการเมืองไทยเริ่มอ่อนกำลังลง เปิดโอกาสให้นักการเมืองอาชีพและนักธุรกิจ ตลอดจนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มีบทบาทบนเวทีการเมืองมากขึ้น จนแม้เมื่อกลุ่มทหารช่วงชิงอำนาจกลับคืนไปในปี 2519 แต่การผูกขาดอำนาจโดยกลุ่มทหารเพียงลำพังกลายเป็นประเพณีปฏิบัติที่ไม่อาจกระทำสืบต่อไปได้ การครองอำนาจติดต่อกันนานถึงแปดปีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่เศรษฐีและชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ อาศัยความได้เปรียบจากนโยบายพัฒนาประเทศแบบรวมศูนย์อำนาจที่ดูดซับทรัพยากรทั้งประเทศไปกระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์กลางมานานหลายสิบปี จนช่วงชิงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์รวยกระจุกจนกระจาย ชนบทยากจนลงและช่วยตัวเองได้น้อยลง ภาคเกษตรอยู่ในสภาวะล้มละลาย ทำให้เกษตรกรต้องปากกัดตีนถีบดิ้นรนออกไปทำงานนอกภาคเกษตร จนพัฒนาโครงสร้างของอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางชนชั้นในชนบทอย่างมากมายมหาศาล แต่จนถึงปัจจุบัน ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ก็ยังคงกีดกันไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้ "ไอ้พวกบ้านนอก" มีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมือง
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัญหาทางสังคมการเมืองก็ซับซ้อนตามผลประโยชน์ที่มีมากขึ้น แต่โครงสร้างทางการเมืองที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ทำให้ปัญหาถูกหมกเม็ดจนหมักหมมยากแก่การแก้ไข สังคมซับซ้อนขึ้น อำนาจนำจึงไม่อาจทำงานแบบเดิมได้อีกต่อไป แต่โครงสร้างทางการเมืองและชนชั้นนำกลับไม่ยอมเปิดกว้าง ไม่ยอมกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้กำหนดชะตากรรมของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น ไตรลักษณะของความขัดแย้งในสังคมไทย คือ ความขัดแย้งทางความคิด ผลประโยชน์และอำนาจ ยังคงผลิตซ้ำตัวเองภายใต้โครงสร้างของระบบการเมืองที่ล้าสมัยและกีดขวางการเปลี่ยนแปลงการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความขัดแย้งภายในกลุ่มชนชั้นนำมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น จากปัญหาการสืบทอดอำนาจในวงศ์ตระกูล บวกกับไตรลักษณะของความขัดแย้งแบบเดิม ความขัดแย้งที่เคยเกี้ยเซียะกันมาได้กลับทำไม่ได้อีกต่อไป ส่งผลให้ความขัดแย้งบานปลายและลุกลามออกไปในสู่ประชาชนหลากกลุ่มหลายสี ความล้มเหลวของระบบรัฐสภาในการทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์และไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง การขาดวัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และการไม่มีเวทีหรือพื้นที่และกลไกในการเจรจาต่อรองด้วยสันติวิธี ผนวกกับการใช้สื่อในการสร้างวาทกรรมและความชอบธรรมแต่เพียงฝ่ายเดียว ทำให้ความขัดแย้งหนักหนาสาหัสมากขึ้น
ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้น ทำให้เราอาจฟันธงได้ว่า 24 มิถุนายน 2553 นับเวลา รวม 78 ปีหลังคณะราษฎร ไทยยังคงเป็นสังคมอำนาจนิยมที่มีการปกครองแบบคณาธิปไตยเฉกเช่นในอดีต จะมีข้อแตกต่างจากเดิมเล็กน้อยตรงที่ว่า ในปัจจุบัน ชนชั้นนำ โดยเฉพาะนักการเมืองและทหาร ไม่อาจแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนในอดีต
ประชาธิปไตยยังคงเป็นเพียงฝันสวยตรงปลายรุ้งที่จะเลือนหายไปยามฟ้าเปิดหลังฝน ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงจำต้องพร่ำบอกตนเองว่า ไม่มีใครสามารถหยิบยื่นประชาธิปไตยให้เราได้ หากเราไม่สร้างขึ้นมาเอง ในทำนองเดียวกัน เราควรจะถามตัวเราเองว่า เราจะเลือกข้างและทะเลาะกันเพราะชนชั้นนำไปทำไม พวกนี้มาแล้วก็ไป ดุจมายาภาพ ประชาชนต่างหากที่เป็นผู้สร้างสรรค์สังคมอย่างแท้จริง ถึงเวลาที่พลังประชาชนจะปฏิรูปการปกครอง เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์แห่งวิถีประชาธิปไตยต่อจากคณะราษฎร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น