ปี 2547 สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพบคนไทยควักเงินจ่ายเป็นค่าบุหรี่สูงปีละ 5.7 หมื่นล้านบาท ผ่านมา 6 ปี ตัวเลขนี้น่าจะขยับทะลุเกินกว่า 6 หมื่นล้านบาท เมืองไทย...กลายเป็นตลาดมุ่งหวังที่บริษัทนำเข้าบุหรี่ต่างชาติต้องการจะเข้าครอบครองมากสุด ไม่เพียงจะตอบโจทย์ที่ว่า...ชาติที่เคยรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่ดีสุดเป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างเมืองไทย เพราะสามารถ “ตีเส้น” ให้บุหรี่ทุกซองต้องติดภาพน่ากลัว
น่าเกลียดจากพิษภัยของควันบุหรี่ จะมีอัตราการเติบโตของผู้สูบบุหรี่สูงที่สุดในโลก ขยายไปใน กลุ่มผู้สูบหน้าใหม่ ทั้ง กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึง กลุ่มสตรีไทย หากแต่ยังทลายกำแพงความเชื่อที่ว่า...ขนาดเมืองไทย ชาติที่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านและควบคุมการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ยังสามารถ
เจาะตลาดได้ง่ายๆ ประสาอะไรกับ ชาติเอเชียอื่นๆ ที่มีการรณรงค์ต่อต้านและควบคุมทำได้ไม่ดีเท่า สรุป! ถ้าเจาะ ตลาดเมืองไทย ได้ ตลาดเอเชียอื่นๆ ก็คงไม่ยาก เพราะมีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นแล้ว แต่ละปีมีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่สูงกว่า 5 ล้านราย เฉลี่ยตัวเลขที่ องค์การอนามัยโลก ทำไว้คือ จะมี
ผู้เสียชีวิต 1 ราย ในทุกๆ 8 วินาที จำนวนนี้...เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาสูงถึงร้อยละ 70 หากอัตราการสูบบุหรี่ยังคงสูงอยู่เช่นนี้ต่อไป ว่ากันว่า...อีก 20 ปีข้างหน้าจะต้องมีผู้สังเวยชีวิตจากการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนต่อปีทีเดียว กลับมาที่เมืองไทย ความพยายามที่ กรมสรรพสามิต ยุคของ
ดร.อารีพงศ์ ภุ่มชอุ่ม ต้องการปรับเกณฑ์จัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไทยและบุหรี่นำเข้าใหม่ โดยใช้เกณฑ์คำนวณจาก ราคาขายปลีก เสนอต่อ รมช.คลังคนใหม่ ทั้งที่ของเดิม...บุหรี่ไทยคิดฐาน ภาษีสรรพสามิต จากราคาหน้าโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ บุหรี่นอกคิดจากราคานำเข้า (C.I.F.) เรื่องนี้ถูกผิดยังไม่ชัด!
แต่กับเสียงครหายามนี้คือ เม็ดเงินนับ “พันล้าน” จากการลงขันผลักดันให้นำเกณฑ์ใหม่มาใช้โดยเร็ว เพราะจะทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่นอกต่ำกว่าบุหรี่ไทย ซึ่งต้องแบกรับภาระภาษีอื่นๆ โดยเฉพาะ “ภาษีเงินได้แทนผู้ค้าบุหรี่ทุกทอด” ปมของเรื่องก็คือ ส่วนใหญ่ของผู้นำเข้า มักจะหมกเม็ดตัวเลขต้นทุนแท้จริง
ยิ่งเมื่ออาศัยช่องว่างตลาดอาเซียนจากกรอบอาฟต้าที่เลิกจัดเก็บภาษีนำเข้าด้วยแล้ว การกดราคาขายปลีก เพื่อให้เสียภาษีสรรพสามิตต่ำๆ จึงทำได้ง่ายขึ้น เสียภาษีถูก ราคาขายปลีกบุหรี่นอกก็จะยิ่งถูก การเจาะตลาดใหม่ๆ ก็ทำได้ง่ายและกว้างขึ้น อันตรายทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ ต่อระบบการจัดเก็บภาษี ต่อภาพรวม
สังคมไทย โดยเฉพาะ ปัญหาสุขภาพของคนไทย ก็จะยิ่งสูงขึ้น เรื่องนี้...ไม่รู้ว่า คนที่ชอบ “อะไรกระชับๆ” อย่าง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะสนใจมากน้อยแค่ไหน? รู้มั๊ยว่า...อันตรายจากพิษภัยของบุหรี่นอก กำลังคืบคลานบนกองผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม!!!.
คอลัมน์.ปัญหาโลกแตกภูตะวัน
ที่มา.บางกอกทูเดย์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น