
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
วันที่ 10 ธันวาคมถือเป็น “วันรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ หรือรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนชาวไทย
วันที่ 10 ธันวาคมจึงมีความหมายอย่างยิ่งในแง่ของระบอบประชาธิปไตย แม้ 77 ปีที่ผ่านมาระบอบประชาธิปไตยจะง่อนแง่นและไร้เสถียรภาพไปตามสถานการณ์ทางการเมือง เพราะหากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ถือเป็นการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว ประเทศไทยมีการรัฐประหารถึง 12 ครั้ง มีการพยายามก่อกบฏ 11 ครั้ง และมีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ
แสดงให้เห็นถึงการเมืองการปกครองที่ไร้เสถียรภาพ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร โดยเฉพาะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ทั่วโลกต่างประณามประเทศไทยอย่างมาก ทั้งที่ประเทศไทยได้รับการจับตามองว่าเป็นหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่มีอนาคตในการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคเอเชีย
ปัญหาการเมืองไทยขณะนี้ส่วนหนึ่งจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลพวงจากการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคนของคณะรัฐประหาร เมื่อคนไทยและนานาชาติไม่ยอมรับการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงถือว่าไม่ชอบธรรม เพราะไม่ได้มาจากประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาสนับสนุนและเห็นดีเห็นชอบก็ตาม
หากทุกคนยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไม่ต่างอะไรกับยอมรับกฎหมายของคณะรัฐประหารต่อไปทั้งที่คณะรัฐประหารพ้นอำนาจไปแล้ว ประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารในอนาคต เพราะกองทัพและผู้กุมอำนาจนอกระบบยังเห็นดีเห็นชอบกับการแก้ปัญหาการเมืองการปกครองด้วยการรัฐประหารต่อไปไม่สิ้นสุด ขณะที่ประชาชนก็จะชินชาและยอมรับไปโดยปริยาย ทั้งที่เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
ที่สำคัญการยอมรับการรัฐประหารยังแสดงถึงความอ่อนแอของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย ไม่ต่างกับยอมให้โจรปล้นบ้านครั้งแล้วครั้งเล่า แม้แต่สิทธิความเป็นมนุษย์
10 ธันวาคมจึงเป็นการตอกย้ำว่าเป็นวันของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่วันของเผด็จการ
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น