
ที่มา:มติชนออนไลน์
ตุลาการแถลงคดี มีความเห็นควรสั่งจำหน่ายคดีฟ้องเพิกถอนมติ ครม.เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหารออกจากสารบบ เพราะเหตุแห่งการบังคับคดีสิ้นสุดแล้ว นัดพิพากษา 30 ธ.ค.นี้ "นิติธร" เดินหน้าค้านแก้ ม.190
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 ธันวาคม ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง, นายณัฐ รัฐอมฤต และนายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน คดีปราสาทพระวิหาร นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 984 / 2551 , 1001 / 2551 และ 1024 / 2551 ที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ , นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย , นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กับพวกรวม 13 คนซึ่งเป็นนักวิชาการ ทนายความและนักสิทธิมนุษยชน ร่วมกันยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ และ คณะรัฐมนตรี ( ครม.) สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2551 เรื่องกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่นายนพดล รมว.ต่างประเทศ ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย –กัมพูชา พร้อมแผนที่แนบ ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกที่จะมีการเสนอแถลงการณ์ต่อองค์การยูเนสโก ระหว่างวันที่ 2-10 กรกฎาคม 2551
นายประศักดิ์ ศิริพานิช ตุลาการผู้แถลง แถลงความเห็นส่วนตัวด้วยวาจาต่อองค์คณะ โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยในการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไว้แล้วว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง กระทำในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการโดยมิชอบเนื่องจากการเห็นชอบและลงนามร่างแถลงร่วมไทย –กัมพูชา วันที่ 18 มิถุนายน 2551 ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลปกครองรับไว้พิจารณาเพื่อพิพากษา ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง พ.ศ.2542 และผู้ฟ้อง เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายมีสิทธิฟ้องคดี ตาม มาตรา 42 และ มาตรา 72 วรรคหนึ่ง การวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวจึงถือเป็นที่สุดตามกฎหมายแล้ว ที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ต่อสู้ว่าผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนคดีที่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การที่ รมว.ต่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ลงนามในร่างแถลงร่วมตามความเห็นชอบ ครม. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ไม่ได้นำเสนอตามขั้นตอน รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 190 ที่ให้เสนอสภา ข้อเท็จจริงจึงรับฟ้องได้ว่าขั้นตอนยังไม่ได้กระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายไว้เป็นสาระสำคัญ ซึ่งคำวินจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันองค์การรัฐและศาล ตาม รธน.มาตรา 216 ขณะที่เมื่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว ระงับการใช้มติ ครม. ที่เห็นชอบจนกว่าคดีจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นแล้ว ทางการไทยโดยผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกองค์การยูเนสโก ระงับการใช้ร่างแถลงการณ์ร่วม ซึ่ง ผอ.องค์การยูเนสโก ได้มีหนังสือแจ้งวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ยืนยันระงับการใช้แถลงร่วมเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้เป็นการชั่วคราว
ประกอบกับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ครม. ได้มีมติเห็นชอบ เพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่เห็นชอบการลงนามในร่างแถลงการณ์ไปแล้ว กรณีจึงรับได้ว่า มติที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมถูกยกเลิกไม่มีผลผูกพัน และไม่มีการกระทำที่กระทบสิทธิโดยรวมของประชาชนและประเทศชาติ ดังนั้นเหตุแห่งการบังคับคดีตามที่ผู้ฟ้องทั้ง 13 คน ร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงถือว่าสิ้นสุดไปแล้ว ตุลาการผู้แถลงคดี จึงเห็นสมควรให้องค์คณะพิพากษาจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
อย่างไรก็ดี องค์คณะผู้พิพากษา ชี้แจงให้คู่ความทราบว่า การแถลงความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีดังกล่าว จะไม่มีผลผูกพันต่อคำพิพากษา ซึ่งหลังเสร็จสิ้นการแถลงของตุลาการผู้แถลงคดี องค์คณะตุลาการศาลปกครอง นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 30 ธันวาคม นี้ เวลา 10.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ผู้ฟ้องได้มีนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ และคณะผู้ฟ้องซึ่งเป็นทนายความและนักวิชาการ รวม 5 คน ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีนี้ เดินทางมาฟังการแลถงคดี ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องมีอัยการ รับมอบอำนาจเดินทางมาศาลแทน อย่างไรก็ด๊ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ มี ผู้อำนวยการกองสนธิสัญญา และคณะประมาณ 4-5 คน ร่วมาฟังการแถลงคดีของตุลาการด้วย
ภายหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ตนเชื่อว่าคำพิพากษา ที่จะออกมา น่าจะมีแนวทางคล้ายกับที่ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็น แต่รายละเอียดเนื้อหาคำพิพากษาอาจจะมีการขยายความ ซึ่งต้องรอฟังในวันพรุ่งนี้ (30 ธ.ค.) ว่าจะออกมาอย่างไร ส่วนแนวทางที่ตนจะดำเนินการต่อไปคือ หากศาลพิพากษาว่า รมว.ต่างประเทศ และ ครม. กระทำการโดยมิชอบจริงตามคำฟ้อง ก็จะทำการฟ้องคดีอาญาต่อผู้ที่ดำเนินการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่พวกตนก็จะดำเนินการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ต่อไปเพราะเห็นว่าจะทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติได้รับความเสียหาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น