--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ระลึก 14 ตุลาฯ จาก 'จีระ' ถึง 'นวมทอง'(อีกครั้ง)

ย้อนเวลาไป 2 ปีเศษ จากการใช้กำลังทหารก่อการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ก็ได้เกิดความรู้สึกสูญเสียครั้งสำคัญมาครั้งหนึ่งแล้ว ในกรณี นายนวมทอง ไพรวัลย์ ผู้ได้รับการบันทึกไว้ใน "วีกิพีเดีย สานุกรมเสรี" ดังนี้...

นวมทอง ไพรวัลย์ (พ.ศ. 2489 - 31 ต.ค. 2549) อดีตพนักงานการไฟฟ้าบางกรวย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 25849 ได้ขับรถแท็กซี่ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นโคโรลล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กทม. ของบริษัทสหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ จำกัด พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ตรากงจักร 71116 ของคณะปฏิรูปฯ และได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมาในคืนวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล จำกัด) โดยในจดหมายลาตายระบุ เพื่อลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้"

ในคืนที่นายนวมทองแขวนคอตาย เขาตั้งใจสวมเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่เคยใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้านหน้า เป็นบทกวีของรวี โดมพระจันทร์ และ ด้านหลังเป็นบทกวีของกุหลาบ สายประดิษฐ์

"พี่นวมทอง" เสียสละชีวิตโดยเอกเทศ ไม่ผ่านการปลุกระดมชักชวนจากใครทั้งสิ้น และได้รับการเชิดชูและระลึกถึงเฉพาะเพียง "ผู้รักและหวงแหนในระบอบประชาธิปไตย" เท่านั้น แม้จนกระทั่งบัดนี้ดูจะเป็นที่รังเกียจชิงชังจากฝ่าย "อำมาตยา-อภิชนาธิปไตย" และแนวร่วม

ย้อนไปไกลกว่านั้น ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วีรชนประชาธิปไตย นายจีระ บุญมาก ได้รับการบันทึกไว้ใน "วีกิพีเดีย" อีกเช่นกันว่า

จีระ บุญมาก เป็นนักศึกษาปริญญาโทสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ฟังวิทยุรายงานข่าวว่านักเรียนนักศึกษากำลังจะก่อการจลาจล และบุกเข้ายึดวังสวนจิตรลดา ไม่เชื่อว่าข่าววิทยุจะเป็นความจริง จึงออกจากบ้านเพื่อมาดูสถานการณ์ โดยซื้อส้มมาด้วย เมื่อมาถึงบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลาประมาณ 12.00 น.ก็แจกส้มให้นักเรียนช่างกล บอกว่าทหารเขามาทำตามหน้าที่ ให้ใจเย็น อย่าทำอะไรรุนแรง จากนั้นก็ถือธงชาติเดินเข้าหาทหาร ขอร้องว่าทหารอย่าทำร้ายเด็กนักเรียนที่ไม่มีอาวุธ แล้วหยิบส้มที่เตรียมมาโยนให้ทหารกิน ทหารที่ระวังอยู่เข้าใจว่าจีระจะทำร้าย จึงยิงปืนใส่ เสียชีวิตทันที นักศึกษาที่อยู่บริเวณนั้น นำธงชาติเข้ามาเช็ดเลือดจีระ ห่มร่างด้วยธงชาติ และนำศพขึ้นไปวางบนพานรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแห่ศพข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าไปที่สี่แยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

ถ้าจะถามผมว่า ชีวิตกว่าครึ่งศตวรรษมีความทรงจำไหนที่ประทับใจลึกซึ้งที่สุด ผมบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า ก็เหตุการณ์เช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั่นแหละครับ ผมเคยให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่จาก "มูลนิธิวีรชน 14 ตุลาฯ" และได้มีโอกาสบรรยายปากเปล่าถึงเหตุการณ์วันนั้น ร่วมกับคุณโอริสสา ไอราวัณวัฒน์ หนึ่งในนักเรียนอาชีวศึกษาเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ต่อมาจัดตั้ง "แนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาชน" และอีก 3 ปีถัดมาถูกยิงเข้าที่ปากและใต้คางใน "กรณี 6 ตุลา"...

ถนนด้านหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ฝั่งสวนสัตว์ดุสิต เขาดินวนาในช่วงเช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม หลังจากมีประกาศให้สลายการชุมนุม เนื่องจากรัฐบาลจอมพลถนอม (ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีใครเรียกว่า "สามทรราชย์") และเมื่อรถกระบะไม้หลังคาผ้าใบที่ถอยหลังเข้ามาจากแยกวัดเบญจมบพิตร รับเอาไม้ท่อนเอาเหล็กฟุตจากนิสิตนักศึกษาและนักเรียนอาชีวะที่ยังไม่ได้ถูก "ผู้ใหญ่" มาแบ่งฝ่ายให้ ขับจากไปไม่ถึง 5 นาที เราที่อยู่ทางด้านนี้ ก็ได้ยินเสียงโห่ร้องพร้อมๆกับภาพเพื่อนที่อยู่ด้านแยกราชวิถีถูกแก๊สน้ำตาถอยร่นมาทางผมกับเพื่อนๆอีกจำนวนมากที่กำลังจะแยกย้ายกับกลับ ส่วนหนึ่งถูกบีบลงไปในน้ำที่รายล้อมเขตพระราชฐาน...

แล้วพวกเราทางนี้ก็กรูกันเข้าไป... เพื่อรับแก๊สน้ำตาที่ทยอยมาอีกเป็นระลอก เดชะบุญที่ "พี่" เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังคนหนึ่งมาดึงแขนผมข้ามสะพานเข้าสู่เขตพระราชฐาน ก่อนที่ผมจะลัดเลาะจากด้านเข้าดิน ไปออกประตูด้านถนนราชวิถี มิไยที่ "พี่ๆ" เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทัดทานเอาไว้ แต่ความรู้สึกของคนหนุ่มอายุ 19 ในวันนั้น ตอบกลับไปว่า "พี่...ผมอยู่ไม่ได้แล้ว"

33 ปีให้หลังผมบอกตัวเองเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ที่พาตัวเองไปเมียงๆมองๆสังเกตการณ์อยู่กลางสนามหลวง ว่า...

"หนนี้มันไม่เหมือนและไม่มีวันเหมือนหรอก... มันไม่ใช่ 14 ตุลารอบใหม่อย่างที่ใครบางคนตะแบงอยากให้เป็นจนตัวซีดตัวสั่น...".

เรียบเรียงใหม่โดย: ปรีชา จาสมุทร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น