คมชัดลึก : ลงทะเบียนหนี้นอกระบบวันแรกหงอย เผย เจ้าหนี้ไม่ร่วมมือ-ขู่ลูกหนี้ห้ามให้ข้อมูล หวั่นเจ้าหน้าที่ตามจับ-รายได้หด อีสานหัวหมอทำสัญญากู้ยืมปลอมตบตารัฐ หอการค้าฯ ชี้แก้ไม่ตรงจุดอีกไม่นานไปกู้ใหม่ ตร.ตรังรวบรีดดอกร้อย 30 ส่วนที่ชัยภูมิ แม่ค้าผวาแก๊งต่างด้าวทวงหนี้โหด
(1ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ โครงการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบของรัฐบาลวันแรกโดย 2 ธนาคารของรัฐ คือ ธนาคารออมสินกว่า 600 สาขา และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กว่า 900 สาขาทั่วประเทศค่อนข้างเงียบเหงา โดยการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบที่ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ (นางเลิ้ง) ธ.ก.ส.เตรียมเจ้าหน้าที่รับลงทะเบียนไว้ 30 คน แยกจากเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ทำธุรกรรมปกติ แต่พบว่าในเวลา 11.25 น. มีประชาชนที่มาลงทะเบียนที่สำนักงานใหญ่เพียง 5 รายเท่านั้น โดยมูลหนี้ผู้ลงทะเบียนรายแรกอยู่ที่ 6 หมื่นบาท รวมดอกเบี้ยอีก 1.8 หมื่นบาท ขณะที่มูลหนี้รายอื่นๆ โดยเฉลี่ยอยู่ที่หลักหมื่นบาทเช่นกัน
ส่วนจำนวนผู้มาลงทะเบียนรวมทั่วประเทศจากจำนวนสาขาทั้งหมด 948 สาขา มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 326 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 33.9 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรลงทะเบียน 143 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 17.1 ล้านบาท ข้าราชการ 9 ราย มูลหนี้ 1.1 ล้านบาท พนักงานรัฐวิสาหกิจ 2 ราย มูลหนี้ 1.5 แสนราย ลูกจ้าง 32 ราย มูลหนี้ 2.9 ล้านบาท ค้าขาย 58 ราย มูลหนี้ 5.6 ล้านบาท รับจ้าง 64 ราย มูลหนี้ 5 ล้านบาท และไม่มีอาชีพ 18 ราย มูลหนี้ 1.8 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากสุดช่วงครึ่งวันแรกคือ นครราชสีมา สงขลา และอุดรธานี
รายงานข่าวจาก ธ.ก.ส. แจ้งว่า การลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบในวันแรกไม่คึกคักแต่ไม่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากรัฐบาลให้เวลาลูกหนี้ถึง 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-30 ธันวาคมนี้ ทุกวันจันทร์-เสาร์ ในเวลา 08.30-16.30 น. ดังนั้นขณะนี้ลูกหนี้อาจอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารหลักฐานที่ต้องนำมาแสดง ซึ่งประกอบด้วยบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และเอกสารการเป็นหนี้ เช่น สัญญาเงินกู้ หลักฐานการจำนองและขายฝาก สำหรับบางคนที่ลืมสำเนาทะเบียนบ้านธ.ก.ส.อนุโลมให้นำมาแนบวันหลังได้ ส่วนเอกสารการเป็นหนี้ถ้าไม่มีสามารถแจ้งได้ที่ธนาคารว่ากู้มาจากใคร จำนวนหนี้เท่าไหร่
เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ระบุว่า ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้นมีสาขาทั้งสิ้น 13 สาขา โดยส่วนใหญ่ยังมีผู้มาลงทะเบียนน้อยเช่นกัน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นวันแรกทำให้ลูกหนี้ยังรอดูลาดเลาก่อน และอีกอย่างเป็นวันหวยออก ทำให้กลุ่มหนึ่งอาจจะรอลุ้นหวยก่อน แต่ก็มีบางคนที่มาขอเอกสารไปให้คนในครอบครัวกรอกที่บ้านและจะนำมายื่นที่สาขาใกล้บ้านในภายหลัง
“เป็นไปไมได้ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ทราบข้อมูลเพราะก่อนหน้านี้มีการออกข่าวไปเยอะมาก ส่วนใหญ่ที่มาลงทะเบียนก็เตรียมเอกสารมาครบถ้วนถูกต้อง แต่มีบางรายที่ธนาคารอนุโลมให้ลงทะเบียนได้แม้ไม่มีเอกสารการกู้ยืมเงินนอกระบบ โดยมองว่าปิดรับลงทะเบียนรวม 2 แบงก์ก็น่าจะหลายแสนรายอยู่ แต่อาจไม่ถึง 1 ล้านราย” เจ้าหน้าที่ระบุ
จากการสอบถามผู้มาลงทะเบียนรายหนึ่งที่สำนักงานใหญ่นางเลิ้ง ระบุว่า ตนเป็นคนหนองบัว จ.นครสวรรค์แต่มาอยู่กับสามีที่กรุงเทพฯ จึงมาลงทะเบียนในครั้งนี้ด้วยเพราะทราบข่าวจากสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้
“ทราบว่าไม่ต้องลงทะเบียนสาขาที่ภูมิลำเนาอยู่ เลยมาลงทะเบียนที่สาขานางเลิ้ง ก่อนหน้านี้รัฐบาลประโคม ข่าวใหญ่โต ใครไม่รู้ก็แย่แล้ว ก็ดีที่รัฐบาลมีโครงการนี้จะได้ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจริงๆ” ผู้มาลงทะเบียนรายหนึ่งระบุ
ส่วนที่บรรยากาศที่ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ พหลโยธิน พบว่ายังมีผู้มาลงทะเบียนน้อยแต่ในช่วงครึ่งวันแรกอยู่ที่ประมาณ 400 กว่าราย ส่วนทั่วประเทศมีตัวเลขรวมประมาณ 3,000 ราย
นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดขึ้นทะเบียนตามโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล โดยได้เริ่มมีลูกหนี้เข้ามาลงทะเบียนตั้งแต่ช่วง 9 โมงเช้าเป็นต้นไปและทยอยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บางรายมาลงทะเบียนพร้อมทั้งน้ำตา ร้องไห้แทบตลอดเวลาที่ลงทะเบียน เนื่องจากถูกเจ้าหนี้ตามทวงหนี้ตลอดเวลาทำให้ต้องหนีหนี้มา 2 เดือนแล้ว
ขณะที่บางรายเมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว ไม่กล้าที่จะเดินออกไปทางด้านหน้าธนาคาร และขอร้องให้เจ้าหน้าที่ธนาคารเดินออกไปส่งทางประตูหลัง เนื่องจากเกรงว่าจะมีเจ้าหนี้มาตามข่มขู่ และบางรายเพิ่งถูกเจ้าหนี้ทำร้ายร่างกาย มีบาดแผลตามตัวมาขึ้นทะเบียนด้วย โดยแจ้งว่าเจ้าหนี้มาตามทวงเงินและไม่ต้องการให้มาขึ้นทะเบียนเข้าโครงการหรือบางรายยังมีเจ้าหนี้ดักอยู่ตามหน้าปากซอย เพื่อไม่ให้มาลงทะเบียน
ทั้งนี้ จำนวนลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนนั้น ไม่มากอย่างที่คิด โดยช่วงครึ่งวันแรกของการเปิดให้ลงทะเบียนนั้น ที่สำนักงานใหญ่มีผู้มาลงทะเบียนกว่า 400 ราย ขณะที่ในสาขาทั่วประเทศนั้นมีผู้มาลงทะเบียนเฉลี่ยสาขาละ 20-50 คน ขณะที่ธนาคารเตรียมพนักงานไว้คอยรองรับมากกว่านั้น ส่วนมูลหนี้ไม่มากนัก เฉลี่ยอยู่ในระดับหลักหมื่นบาทเท่านั้น ทำให้ประเมินว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มาขึ้นทะเบียนครั้งนี้ เป็นกลุ่มเดียวกับลูกค้าของธนาคารประชาชน ซึ่งยังมีเวลาอีกตลอดทั้งเดือนที่จะมาขึ้นทะเบียน เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าสำนักงานธนาคารออมสินภาค ภาค 5 และหน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นครสวรรค์ ประชาชนผู้เป็นหนี้นอกระบบหลายสาขาอาชีพ เช่น ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง พ่อค้า แม่ค้า ประมาณ 100 คน เข้าคิวรอลงทะเบียนตั้งแต่ก่อนเวลาเปิดทำการ โดย จ.นครสวรรค์ คาดการณ์ว่า จะมีประชาชนมาลงทะเบียนประมาณ 1.7 หมื่นราย
นายวิชัย พุกทอง อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 416/11 หมู่ 2 ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ หนึ่งในจำนวนผู้มาลงทะเบียน กล่าวว่า เป็นหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อเดือน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในร้านขายของชำ เป็นค่าใช้จ่ายของหลานและภรรยา ส่วนรายได้อื่นอาศัยเบี้ยยังชีพ 500 บาท แต่ก็ไม่พอค่ายารักษาโรค
“ผมจ่ายหนี้นอกระบบเดือนละ 2.1 หมื่นบาท มานานกว่า 2 ปี หนี้ก็ยังไม่หมด พอทราบข่าวโครงการนี้จึงมารอขึ้นทะเบียนตอนเช้า ถ้าได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเมื่อไร จะรีบนำไปใช้คืนเจ้าหนี้โดยเร็ว และอยากให้ลดขั้นตอนต่างๆ จะได้ปลอดหนี้ไวๆ” นายวิชัยกล่าว
น.ส.สุ (นามสมมติ) เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบรายหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนปล่อยกู้ไปประมาณ 2 แสนบาท โดยลูกหนี้ที่กู้ยืมส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนบ้านที่มีเงินเดือนประจำ บางรายกู้ยืมเพื่อนำไปจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะในการเข้าเป็นลูกจ้างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางรายกู้ยืมเพื่อนำไปหมุนจ่ายหนี้เงินกู้รายวันรายอื่น เนื่องจากว่าดอกเบี้ยถูกกว่า โดยตนคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน ส่วนวิธีการชำระหนี้จะยึดบัตรเอทีเอ็ม ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจว่าลูกหนี้จะได้ไม่เบี้ยว และตัดปัญหาการติดตามทวงหนี้
“เจ้าหนี้บางรายไม่ได้ตั้งใจปล่อยกู้ แต่เนื่องจากมีเพื่อนที่ทำงานซึ่งหมุนเงินไม่ทันและเพื่อนฝูงมาหยิบยืม ถ้ายืมเงินจำนวนมากก็ต้องมีการทำสัญญาและยึดบัตรเอทีเอ็มไว้ ขณะที่บางรายกู้เงินมาจากธนาคารในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8% ต่อปี แต่หากนำมาปล่อยกู้อย่างต่ำจะได้ดอกเบี้ยจากลูกหนี้ 10% ต่อเดือน ทำให้มีเงินไปใช้หนี้ธนาคารได้อย่างสบาย” เจ้าหนี้เงินกู้รายวันกล่าว
น.ส.สุ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีประชาชนบางราย เริ่มที่จะทำสัญญาปลอมกันขึ้นมา เพื่อขอรับเงินจากรัฐบาล โดยมีการทำสัญญาย้อนหลังภายในองค์กรของตนเอง
ส่วนโครงการที่รัฐบาลทำขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาเงินกู้นอกระบบรายละไม่เกิน 2 แสนบาทนั้น น.ส.สุ มองว่า วิธีนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ และเชื่อว่าในอีก 1-2 ปี ลูกหนี้ก็จะกลับมาเป็นหนี้นอกระบบเช่นเดิม โดยลูกหนี้บางรายอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างกะทันหัน พึ่งสถาบันการเงินก็ไม่ได้ เพราะยังเป็นหนี้ในระบบอยู่ จึงต้องหันมาพึ่งเงินกู้นอกระบบอีก อย่างไรก็ตาม หากลูกหนี้ของตนร่วมลงทะเบียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ แต่เชื่อว่าเจ้าหนี้เงินกู้รายวันอาจจะไม่เข้าร่วมโครงการนี้
เจ้าหนี้นอกระบบรายหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลว่า การซื้อหนี้ครั้งนี้จะแก้ปัญหาได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เชื่อว่าเมื่อหนี้ก้อนเดิมหมด อีกไม่นานประชาชนจำนวนไม่น้อยจะกลับเข้าสู่ระบบหนี้นอกระบบอีกครั้งตามสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มค้าขายที่ต้องใช้เงินหมุนเวียน
“เชื่อว่าหนี้นอกระบบจะยังมีอยู่ต่อไป เพราะได้เงินง่าย ไม่ยุ่งยากเหมือนไปกู้เงินจากธนาคาร อีกทั้งการขึ้นทะเบียนที่กำหนดให้ระบุรายละเอียดของตัวเจ้าหนี้ โดยเฉพาะชื่อที่อยู่และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเชื่อว่า จะมีเจ้าหนี้ยินยอมน้อยมาก เพราะเมื่อยินยอมแล้ว จะต้องเสียรายได้จากดอกเบี้ยที่คิดในอัตราสูงถึงร้อยละ 20″ เจ้าหนี้รายนี้ยืนยัน
อันที่จริงแล้วลูกหนี้ไมได้เมินลงทะเบียนหรอกนะแต่เจ้าหนี้ต่างหากที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับลูกหนี้ เพราะว่าเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยร้อยละห้าต่อปี คิดเกินตามที่กฏหมายตั้งไว้ต่างหาก กลัวโดนจับเลยไม่ไปลงทะเบียน จึงขอความเป็นธรรมด้วยนะที่นี้ ขอบคุณคับ/ค่ะ
ตอบลบขอความช่วยเหลือด่วนมาก
ตอบลบการที่เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยร้อยละห้าต่อปีนี้ผิดกฏหมายตามที่กำหนดไว้ไหม
ถ้าผิดตามที่กล่าวอยากให้หน่วยงานรัฐที่มีความซื่อสัตจริง ที่เกี่ยวข้องช่วยลงไปตรวจสอบที่ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตของจังหวัดอุดรธานีให้ด้วยคะ
เพราะลูกหนี้ทุกคนไม่เป็นอันกินอันนอนแล้วตอนนี้ อยากให้หน่วยงานรัฐของเขตจังหวัดอุดรลงไปตรวจสอบเจ้าของกิจการแห่งหนึ่งที่เปิดทำการรับซื้อมันสำปะหลังและน้ำมัน และอื่นๆ ที่หมู่บ้านท่าลี่ ตำบลบ้านหยวก อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี 41210 คนจนทั้งหลายไม่เป็นอันทำมาหากินแล้วตอนนี้ อยากให้รัฐบาลช่วยเป็นอย่างมาก ขอบคุณคะ