ที่มา:มติชนออนไลน์
เพื่อไทยแบ่งทีมซักฟอกรบ.4กลุ่ม "มิ่งขวัญ"จับตากระทรวงเศรษฐกิจ "เฉลิม"ตามกระทรวงสังคม ยันไม่ยื่นญัตติค้างสภา อ้างเปิดทางให้ยุบสภาได้ตลอด เตรียมแถลงประเมินผลงานรัฐบาล21ธ.ค.นี้ โวยังครองใจ"ชาวอีสาน-เหนือ"
พท.แบ่งทีมดูข้อมูลซักฟอก4กลุ่ม
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แจ้งถึงการเตรียมการยื่นญัตติและอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยสามัญที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2553 ว่า พท.แบ่งคณะทำงานติดตามการปฏิบัติงานรัฐบาล จัดเป็นกลุ่มกระทรวง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กระทรวงเศรษฐกิจ ติดตามการทำงานของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้รับผิดชอบหลัก อาทิ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2.กระทรวงสังคม ติดตามการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้รับผิดชอบหลัก อาทิ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการ พม.
3.กระทรวงเทคโนโลยี ติดตามการทำงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีผู้รับผิดชอบหลักนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง และนายคณวัฒน์ วศินสังวร อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ 4.กระทรวงความมั่นคง ติดตามการทำงานของสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม มหาดไทย การต่างประเทศ ยุติธรรม มีผู้รับผิดชอบหลัก อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุพล ฟองงาม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ท.มะ โพธิ์งาม ส.ส.กาญจนบุรี และ ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วน
ไม่ยื่นญัตติค้าง-ปิดทางไม่ให้รบ."ยุบสภา"
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พท. กล่าวว่า พรรควางกรอบประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรายบุคคล พร้อมยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง เบื้องต้นจะมีผู้ถูกอภิปรายจำนวน 6 คน รวมนายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ด้วยแน่นอน โดยหลักการจะไม่มีการยื่นญัตติค้างไว้ในสภา เพื่อปิดทางไม่ให้รัฐบาลยุบสภาได้ เมื่อรัฐบาลยืนยันในความถูกต้องในสิ่งที่ดำเนินการมาตลอด ก็เลี่ยงไม่พ้นต้องเจอการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยข้อมูลที่ใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มั่นใจในน้ำหนักของหลักฐานพอสมควร เพราะพรรควางหลักการว่าจะการอภิปรายใครต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน พูดด้วยเหตุและผล ไม่ใช่การกล่าวหา
ส่วนจะสร้างมิตรทางการเมืองโดยเลี่ยงอภิปรายรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคหรือไม่นั้นน.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ขอรับรองว่า ไม่มีเรื่องทำนองนี้อย่างแน่นอน ส่วนที่ตายคาเขียงแน่ๆ เพราะมีการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนมากและน่าผิดสังเกตว่าจะมีความไม่ชอบมาพากลคือ สำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับกรณีนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรไทยที่ถูกทางการกัมพูชาจับกุม และศาลพิพากษาจำคุกนั้น น่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะนำมาใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งนี้ ข้อมูลบางเรื่องพรรคได้มาจากการประสานงานจากคนในพรรครัฐบาล ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่เป็นเอกภาพในพรรครัฐบาล
แถลงประเมินผลรบ.รอบ1ปี21ธ.ค.
นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรค พท. คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์พรรค แถลงผลการประชุมเพื่อประเมินผลการทำงานรัฐบาลว่า พรรคจะรวบรวมข้อมูลการทำงานของรัฐบาลในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากนโยบายและมาตรการที่ประกาศต่อรัฐสภา แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อประเมินผลการทำงานโดยจัดทำเป็นบทสรุปในเชิงวิเคราะห์ เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง อย่างไรในการบริหารประเทศ ในหัวข้อเรื่อง "1 ปี แห่งความล้มเหลวรัฐบาลอภิสิทธิ์..เศรษฐกิจย่อยยับ..สังคมแตกแยก....ทุจริตคอร์รัปชั่นเฟื่องฟู" จากนั้นจะมีการแถลงประเมินผลการทำงานของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 21 ธันวาคม โดยจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ารับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็น
ซัดรบ.ทำเสียหายกว่างบฯ"เข้มแข็ง"
นายคณวัฒน์กล่าวว่า การประเมินผลงานรัฐบาล ซึ่งเป็นบทสรุปเชิงวิเคราะห์นี้จะครอบคลุม 3 ประเด็นสำคัญคือ สังคมแตกแยก จะชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล้มเหลวอย่างไรในการสร้างความสมานฉันท์และปรองดองภายในชาติ เพราะตัวนายอภิสิทธิ์เองกระโดดเข้ามาเป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเอง มิหนำซ้ำกลับอ่อนด้อยในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ สร้างความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนเศรษฐกิจย่อยยับนั้น ทีมเศรษฐกิจพรรคจะชี้ให้เห็นว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนอกจากล้มเหลวไม่กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริงยังเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นเฟื่องฟูในลักษณะการกู้มาโกงเป็นเพียงผักชีโรยหน้า สร้างหนี้สาธารณะจำนวนมากให้คนไทยทั้งชาติแบกรับ ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2553 รวมทั้งจะมีการประเมินความเสียหายจากกรณีรัฐบาลละเลยไม่แก้ไขปัญหามาบตาพุด ซึ่งมีมูลค่ามากกว่างบฯในกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละปี
นอกจากนี้จะมีการประเมินค่าความเสียหายที่เป็นตัวเลขซึ่งเกิดจากความล้มเหลวของรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมๆ กันแล้ว ความเสียหายอาจจะมากกว่างบฯโครงการไทยเข้มแข็งเสียอีก โดยขอให้รัฐบาลเตรียมคำอธิบายถึงความล้มเหลวตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเพื่อแถลงพร้อมกับการแถลงผลงานรัฐบาลในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ซึ่งพรรคจะรวบรวมข้อมูลนำไปสู่การตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
คุยคะแนนนิยมอีสาน-เหนือไม่ตก
แหล่งข่าวจาก พท.อ้างว่า ผลการสำรวจคะแนนนิยมของพรรค รายภาคเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน พบว่าภาคอีสานพรรคยังครองความนิยมสูงสุด อยู่ที่ร้อยละ 75 ภาคเหนือร้อยละ 64 ภาคกลางร้อยละ 33 และภาคใต้ร้อยละ 4 ขณะที่ กทม.พท.มีความนิยมอยู่ที่ 33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจอีก 20 เปอร์เซ็นต์
แหล่งข่าวกล่าวว่า พรรคสำรวจคะแนนนิยมเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งโดยเฉลี่ยจะใช้คำถามเดิมว่าหากมีการเลือกตั้งท่านจะเลือกพรรคการเมืองใด แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการตั้งคำถามที่มีลักษณะถามนำ ทั้งนี้ ผลสำรวจของเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นครั้งล่าสุดโดยภาพรวมลดลงจากเดือนตุลาคมเล็กน้อย แต่ตัวเลขอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งภาพรวมก็เป็นเช่นนี้มาตลอด คือบวกลบไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่น คะแนนนิยม ในภาคเหนือของเดือนพฤศจิกายนลดลงจากเดือน ตุลาคมเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น