ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ชี้ ครบ 1 ปี รัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คะแนนความพึงพอใจผลงานรัฐบาลได้ 3.87 คแนน ลดลงจาก 4.02 เมื่อตอนครบ 9 เดือน เชื่อกรณีศิวรักษ์เป็นตัวแปร แต่โดยรวมยังให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อถึงร้อยละ 59.3% สอดคล้องกับคะแนนความพอใจของพรรคประชาธิปัตย์ 4.23 เพิ่มขึ้นจาก 4.17 เมื่อตอนครบ 9 เดือน
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 1 ปี ในการทำงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ประเมินผลงาน 1 ปี รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์" ขึ้น โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 11 จังหวัดจากทุกภาคของประเทศ จำนวน 1,660 คน เป็นเพศชายร้อยละ 48.6 เพศหญิงร้อยละ 51.4 เมื่อวันที่ 11 - 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา
ผลการสำรวจพบว่า คะแนนความพึงพอใจผลงานของรัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อทำงานครบ 1 ปี ด้านเศรษฐกิจ 4.41 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 4.17 คะแนน เมื่อตอนครบ 9 เดือน ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต 3.76 คะแนน ลดลงจาก 4.39 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน ด้านการต่างประเทศ 3.75 คะแนน ลดลงตาก 4.15 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน ด้านการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมาย 3.71 คะแนน ลดลงจาก 3.72 เมื่อตอนครบ 9 เดือน ด้านความมั่นคงของประเทศ 3.73 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 3.69 เมื่อตอนครบ 9 เดือน และความพึงพอใจโดยเฉลี่ยรัฐบาลนี้ได้ 3.87 คะแนน ลดลงจาก 4.02 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน
ขณะที่ ผลงาน หรือโครงการ ของรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด 5 อันดับแรก โครงการเรียนฟรี 15 ปี ร้อยละ 17.3 โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างอาชีพ ร้อยละ 11.3 โครงการไทยเข้มแข็ง สร้างความสามัคคี ร้องเพลงชาติ ร้อยละ 11.2 โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ร้อยละ 9.9 โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ร้อยละ 9.3
ส่วนคะแนนความพึงพอใจการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้คะแนนเฉลี่ย 4.70 คะแนน ด้านความซื่อสัตย์สุจริต 5.44 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 5.37 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน ความขยันทุ่มเทในการทำงาน 5.35 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 5.07 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ 4.83 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 4.81 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการใหม่ๆ 4.62 คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 4.44 เมื่อตอนครบ 9 เดือน ความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ 3.72 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 3.71 เมื่อตอนครบ 9 เดือน และความสามารถในการบริหารจัดการตามอำนาจหน้าที่ที่มี 4.25 คะแนน ลดลงจาก 4.25 คะแนน เมื่อตอนครบ 9 เดือน คิดเป็นคะแนนเฉลี่ยทั้งหมด นายอภิสิทธิ์ ได้ 4.70 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 4.62 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน
เมื่อเปรียบเทียบความคาดหวังระหว่างตอนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับผลการทำงานในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่า ดีกว่าที่คาดหวังไว้ ร้อยละ 10.8 พอๆ กับที่คาดหวังไว้ ร้อยละ 34.6 แย่กว่าที่คาดหวังไว้ ร้อยละ 27.3 ไม่ได้คาดหวังไว้ ร้อยละ 27.3
โดยเรื่องที่น่าเห็นใจรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เรื่องการชุมนุมต่อต้านของกลุ่มคนเสื้อแดง ร้อยละ 23.2 เป็นรัฐบาลในช่วงที่ประเทศชาติวุ่นวาย การเมืองไม่นิ่ง และเป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง ร้อยละ 18.5 ประชาชนในประเทศมีความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน ร้อยละ 14.1 มีความขัดแย้งกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล ร้อยละ 10.8 คณะรัฐมนตรีบางคนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 10.7
ขณะที่เรื่องที่ต้องการให้ นายกฯ อภิสิทธิ์ ทำมากที่สุดในเวลานี้ ได้แก่ เดินหน้าทำงานต่อไป ร้อยละ 59.3 ยุบสภา ร้อยละ 24.5 ปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 6.7 (โดยรัฐมนตรีที่ควรถูกปรับออกมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ นายกษิต ภิรมย์ ร้อยละ 2.7 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ร้อยละ 1.2 นายโสภณ ซารัมย์ ร้อยละ 0.5) ลาออก ร้อยละ 5.2
อื่นๆ อาทิ ให้นายกฯ กล้าตัดสินใจให้เด็ดขาดกว่านี้ เร่งสร้างผลงานให้เด่นชัดโดยเร็ว และแก้ปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มคนเสื้อแดงให้ได้ ฯลฯ ร้อยละ 4.3
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ เรื่องความพึงพอใจต่อการทำงานของพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน โดยพรรคแกนนำรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ 4.23 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 4.17 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน ได้ 3.44 คะแนน ลดลงจาก 3.45 เมื่อตอนครบ 9 เดือน และพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาราช ได้ 3.37 คะแนน ลดลงจาก 3.65 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน
โดยวิธีการรวบรวมข้อมูล ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และคำถามปลายเปิด (Open Form) โดยสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทั่วไปทุกสาขาอาชีพที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ จากทั่วทุกภาคของประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) สำหรับกรุงเทพมหานครได้ทำการเก็บข้อมูลจากประชาชนทั้ง 50 เขต ปริมณฑล 3 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และจังหวัดตัวแทนแต่ละภาค ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ ลำพูน ขอนแก่น ร้อยเอ็ด
นครศรีธรรมราช และสงขลา จากนั้นจึงสุ่มถนนและประชากรเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ได้กลุ่ม ตัวอย่างทั้งสิ้น 1,660 คน เป็นเพศชายร้อยละ 48.6 และเพศหญิงร้อยละ 51.4
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น