--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเมืองของมวลชนหลังถวายฎีกา

การเมืองของมวลชนหลังถวายฎีกา

นักปรัชญาชายขอบ


“...การเมืองไทยได้คลี่คลายมาสู่การเมืองของมวลชนมากขึ้น ข้อนี้ใครๆ ก็เห็นได้อยู่แล้ว การดำเนินการทางการเมืองจึงเปลี่ยนไป และหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงคือความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์ การถวายฎีกาด้วยคลื่นมหาชนเช่นนี้นับเป็นครั้งแรกของความสัมพันธ์ใหม่ ที่ปรากฏให้เห็นได้ในการเมืองแบบมวลชน

...การรณรงค์ตอบโต้ว่าผิดกฎหมายก็ตาม, "ดึงฟ้าต่ำ" ก็ตาม, "หินแตก" ก็ตาม หรือแม้แต่การตั้งโต๊ะให้ถอนชื่อก็ตาม นอกจากไม่ประสบความสำเร็จที่จะยับยั้งฎีกาได้แล้ว ยังมาจากความพยายามที่จะดึงการเมืองไทยให้จำกัดอยู่บนเวทีของชนชั้นนำตามเดิม อันเป็นความพยายามที่ฝืนธรรมชาติของพัฒนาการทางการเมืองในเศรษฐกิจทุนนิยม”
(นิธิ เอียวศรีวงศ์,มติชนรายวัน, 10 /08/2552 น.6)

ข้อเขียนของนิธิข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า เหตุผลของฝ่ายคัดค้านการถวายฎีกาช่วยทักษิณที่อ้างว่าเป็นการ “กดดัน” หรือ “กระทบกระทั่ง” สถาบันนั้น เป็นเหตุผลที่เกิดจากความไม่เข้าใจการเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงมาสู่การเมืองของมวลชนมากขึ้น ที่ทำให้ “การดำเนินการทางการเมืองจึงเปลี่ยนไป และหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงคือความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์”

ขยายความต่อก็คือ ใน “ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับสถาบันพระมหากษัตริย์” คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การเมืองของมวลชนจะกระทบกระทั่งหรือกดดันสถาบันกษัตริย์ในแง่ใดแง่หนึ่ง ดังที่เราเห็นในกรณีถวายฎีกาขอนายกฯตามมาตรา 7 และฎีกาช่วยทักษิณในขณะนี้

ดังนั้น ถ้าเราตามทันพัฒนาการทางการเมืองของมวลชน ประเด็นที่เราจะต้องปกป้อง (defend) จึงไม่ใช่การห้ามไม่ให้การเมืองของมวลชนกระทบกระทั่ง หรือกดดันสถาบัน เพราะในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ย่อมไม่มีสถาบันใดๆสมควรอยู่เหนือการกระทบกระทั่งหรือการกดดันจากการเมืองของมวลชน หรือ “การเมืองภาคพลเมือง”

ในทางกลับกัน สถาบันทางสังคมการเมืองใดๆก็ต้องมีความพร้อมที่จะเผชิญกับการกดดันกระทบกระทั่งอย่างใช้ปัญญา และใช้วิธีการตอบโต้ตามครรลองของประชาธิปไตยอย่างมีจิตสำนึกที่เคารพต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

ประเด็นที่เราต้องปกป้อง จึงได้แก่ การส่งเสริมให้การเมืองภาคพลเมืองมี “ช่องทาง” ตามกฎหมาย มีวุฒิภาวะและมีพลังในการกดดันสถาบันใดๆก็ได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม การเคารพสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และสิ่งที่ดีอื่นๆตามครรลองของประชาธิปไตย และเราต้องปฏิเสธความพยายามใดๆที่จะ “ดึงการเมืองไทยให้จำกัดอยู่บนเวทีของชนชั้นนำตามเดิม”

ดังนั้น การเมืองของมวลชนหลังถวายฎีกา จึงควรเดินต่อไปดังนี้

1.ต้องแสดงให้เห็นว่า “มวลชนใช้ทักษิณ” ไม่ใช่ “ทักษิณใช้มวลชน” โดยมวลชนเสื้อแดงจะต้องชูยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของอำมาตย์ การนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาและแก้ไขจุดอ่อน การกำหนดแนวทางรัฐสวัสดิการ ต้องกดดันให้ทักษิณและพรรคการเมืองที่สนับสนุนทักษิณ (หรือพรรคการเมืองใดๆที่ต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน) สร้างนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ดังกล่าว

ทักษิณและพรรคการเมืองที่สนับสนุนทักษิณจะได้รับการสนับสนุนจากมวลชน ไม่ใช่ด้วยการสร้างฝันลมๆแล้งๆ เช่น การเปิดสถานีโทรทัศน์ 100 ช่อง การจะกลับมาเป็นนายกฯทำให้คนรากหญ้าหายจน ฯลฯ โดยไม่แสดงให้เห็นนโยบายใหม่ๆที่เป็นรูปธรรมใดๆที่สามารถตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ดังกล่าว

2.ต้องเสนอแนวทางปฏิเสธอิทธิพลทางการเมืองของ “พรรคข้าราชการ” หรืออำมาตยาธิปไตย เช่น เสนอให้มีกฎหมายห้ามทำรัฐประหาร และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ มีระบบการกระจายอำนาจจนถึงระดับชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจดูแลตนเองให้มากที่สุดทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การสาธารณสุข สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น

3.การเมืองภาคพลเมืองจะต้องสร้างพลังกำกับตรวจสอบพรรคการเมือง นักการเมืองอำมาตย์หรือชนชั้นนำต่างๆให้พ้นไปจากการช่วงชิงอำนาจรัฐในรูปแบบวัฒนธรรม “สมบัติผลัดกันชม” มาเป็นการแข่งกันสร้างนโยบาย (และทำตามนโยบาย) เพื่อตอบสนองความต้องการของการเมืองภาคพลเมือง

4.การเมืองภาคพลเมืองจะมีอายุยืนยาวหรือมีพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อย่างสร้างสรรค์ ก็ต่อเมือมีการเสร้างเครือข่าย ขยายเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ (ที่มากกว่าการชุมนุม) และจำเป็นต้องสร้างอุดมการณ์ร่วมในเรื่องรัฐสวัสดิการ พร้อมกับสร้างการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจริงจังถึงแนวทางที่เป็นไปได้ที่จะบรรลุอุดมการณ์ดังกล่าว

กล่าวโดยสรุป ทางออกของวิกฤตการเมืองคือทางเดินต่อย่างสร้างสรรค์ของการเมืองของมวลชน หรือการเมืองภาคพลเมือง ที่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน และสามารถกำกับ ถ่วงดุล ตรวจสอบ สถาบันทางการเมืองต่างๆให้ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และรัฐสวัสดิการ

โดยมวลชนจะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง พรรคการเมือง หรือฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ แต่ต้องสามารถใช้นักการเมือง พรรคการเมือง หรือฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐให้ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของมวลชน หรือของประชาชนส่วนรวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น