ส.ว.เตรียมค้านบันทึกกมธ.เขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา นักวิชาการ ย้ำต้องออกมติครม.ยกเลิกมติครม.สมัย"สมัคร"ให้ "นพดล" หนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนพระวิหารมรดกโลก
ที่รัฐสภา คณะกรรมการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร จัดเสวนาเรื่อง “แผ่นดินเขาพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร บทพิสูจน์ศักดิ์ศรีและอธิปไตยของไทย” โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการไม่เห็นด้วยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอรัฐสภาให้ลงมติเห็นชอบบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในวันที่ 28 สิงหาคม
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงชั่วคราวที่ให้ทหารของไทยและกัมพูชาถอนกำลังออกมาจากวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา เพราะดูเผินๆเหมือนเป็นข้อเสนอที่ดี แต่ความจริงไม่ใช่ เนื่องจากทหารของกัมพูชายังวางกำลังไว้ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งไทยไม่มี เท่ากับไทยกำลังเสียเปรียบ นอกจากนี้ยังทราบมาว่า เบื้องต้นมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่า จะขอพบกันคนละครึ่งทางในเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยแบ่งคนละครึ่ง 2.3 ตารางกิโลเมตร ในฐานะคนไทยไม่เห็นด้วยเด็ดขาดเพราะพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนแต่เป็นพื้นที่ของประเทศไทย
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา แกนนำ 40 ส.ว. กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไปยอมรับเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร จะทำให้ไทยเหลือความเป็นเจ้าของเพียง 50 % ทั้งที่เป็นของไทยทั้งหมด ถ้าประสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนโดยสมบูรณ์และไทยยอมให้คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (International Coordinating Com mittee หรือ ICC) เข้ามาจัดการ ก็จะมีปัญหาตามมาอีกมากทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า ชาวบ้านที่อยู่ในแถวนั้นต้องการหรือไม่
“ผมไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 28 สิงหาคมนี้ ผมจะคัดค้านแน่นอน และจะถามรัฐบาลหลายประเด็นถึงสิ่งที่มีความไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการแถลงการณ์ร่วมไทยกับกัมพูชาว่าสรุปแล้วมีการยกเลิกแล้วหรือไม่ นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลเสนอเข้ามาให้รัฐสภาพิจารณาเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ เพราะส่งเข้ามาเพียงแค่บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชาเท่านั้น นอกจากนี้ ผมกลัวว่า รัฐบาลจะอ้างเรื่องความมั่นคงและให้ประชุมลับ จะทำให้สาธารณะไม่ทราบขอเท็จจริงเลย” นายคำนูณ กล่าว
ด้านนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ที่ผ่านมาศาลโลกไม่ได้ชี้ขาดเส้นเขตแดนตามที่กัมพูชาเสนอเข้ามา เพียงแต่วินิจฉัยว่า กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ อย่างไรก็ดี ไทยไม่ได้สละอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่หรือยอมรับอธิปไตยของกัมพูชา บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่เดียวที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน ต่อมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 ไทยได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนอย่างชัดเจนและกระทันหันโดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ และ กรมแผนที่ทหาร ได้พร้อมใจยอมรับนับถืออำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร โดยไทยได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชาลงนามโดยนายนภดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศของไทยและรองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการเสนอขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวโดยไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
“ขณะนี้ผมจึงขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้ ออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน และ 24 มิถุนายน ที่สนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก รวมทั้งเร่งผลักดันให้มีการยึดสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามหลักสากล” นายเทพมนตรี กล่าว
นายอิศร ปกมนตรี เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตอนนี้กระทรวงต่างประเทศไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้างไม่สนใจปัญหาที่เกิดขึ้น แต่รับฟังความเห็นประชาชนและรับทราบปัญหามาโดยตลอด ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามมติของรัฐสภาและประชาชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น