--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ถวายฎีกา ดับทุกข์แผ่นดิน


โดย พลเมือง
17 สิงหาคม 2552

ตามหลักการต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หากเราถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เป็นกฎหมายสูงสุดในประเทศนี้

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรไว้ ตามมาตรา 1 และกำหนดรูปแบบการปกครองของประเทศนี้ดังกล่าวข้างต้นไว้ ตามมาตรา 2 และในมาตรานี้ยังกำหนดสถานะความเป็นประมุขของพระมหากษัตริย์ไว้

ซึ่งก็หมายความว่าพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นกัน นอกจากนี้ได้กำหนดให้อำนาจอธิไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจนี้ ตามมาตรา3

ฉะนั้นการจะดำเนินการใดๆภายในราชอาณาจักรนี้ จะต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นที่มารองรับ

การถวายฎีกาก็เช่นเดียวกันก็ไม่อาจฝ่าฝืนหลักการดังกล่าว

แต่การถวายฎีกาไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายปัจจุบันกำหนดรูปแบบไว้ว่าจะต้องใช้วิธีการใด หรือเรื่องใดบ้างที่จะถวายฎีกาได้หรือไม่ได้

แต่มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฯบัญญัติไว้ว่า

”เมื่อไม่มีบทบัญัญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ บังคับกรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”


ประเพณีการปกครองของไทย ที่ได้ประพฤติปฎิบัติกันมาอย่างมากมาย และมีมาอย่างช้านานที่ไม่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยอันถือเป็นนิติราชประเพณีที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน โดยมีการปรับใช้อย่างแนบเนียน จนกลายเป็นวัฒนธรรมอำนาจอย่างหนึ่งของไทยที่มีมาแต่โบราณกาล ซึ่งยึดหลักการใช้อำนาจด้วยธรรมะ ด้วยเมตตา และด้วยความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันมาโดยตลอด

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการถวายฎีกาของพสกนิกรไทย ที่ปฎิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนานแต่โบราณกาลจนถือเป็นนิติราชประเพณีมา จะใช้วิธีการใดก็ได้ จะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยวาจาก็ได้ และจะเป็นเรื่องใดก็ได้ ทำได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องส่วนรวม

ที่ผ่านมามีทั้งเรื่องวินัยข้าราชการ เรื่องโทษทางอาญา หรือเรื่องใดๆที่ประชาชนเดือดร้อนก็ขอได้หมดทุกเรื่อง ซึ่งฎีกาประเภทนี้เรียกว่า”ฎีการ้องทุกข์”

สำหรับการพระราชทานอภัยโทษนั้นมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯมาตรา 191 ซึ่งกำหนดเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และมีกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญารองรับไว้ 2 กรณีคือ การอภัยโทษเฉพาะราย และการอภัยโทษเป็นการทั่วไป และเป็นการยกเว้นโทษเท่านั้นไม่ได้ยกเว้นความผิด

-การอภัยโทษเฉพาะราย ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 บัญญัติว่า ”
ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว จะทูลเกล้าฯขอพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการยุติธรรมก็ได้ฯ”


และมาตรา 265 บัญญัติว่า”
ในกรณีการอภัยโทษเด็ดขาดโดยไม่เงื่อนไข ห้ามมิให้บังคับโทษนั้น แต่ถ้ามีการบังคับโทษไปบ้างแล้ว ให้หยุดทันทีฯลฯ”


จากบทบัญญัติทั้ง 2 มาตรานี้จะเห็นได้ว่า การอภัยโทษเฉพาะรายไม่จำเป็นต้องรับโทษก่อน เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า คดีต้องถึงที่สุดแล้ว เท่านั้น

-การอภัยโทษแบบทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 261 ทวิ ซึ่งจะกระทำในวโรกาสมหามงคลเช่นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยคณะรัฐมนตรี ถวายแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ ขอพระราชทานอภัยโทษ โดยตราเป็นพระ ราชกฤษฎีกา

-การนิรโทษกรรม เป็นการยกเว้นความผิด ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ออกเป็นกฎหมาย

จะเห็นว่าทั้งสามกรณีไม่เกี่ยวข้องกัน แล้วแต่ใครจะใช้วิธีการใด ซึ่งแต่ละวิธีมีช่องทางแตกต่างกันไปไม่เกี่ยวข้องกัน

สำหรับคนเสื้อแดงที่กำลังจะยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับคุณทักษิณฯต่อพระมหากษัตริย์นั้นก็คงเป็นขอยุติไปแล้วว่ายื่นได้หรือไม่ได้ เพราะได้มีการประสานจากสำนักพระราชวังถึงการเตรียมการรับการยื่นถวายฎีกาแล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามนิติราชประเพณีอันดีงามของไทยที่มีมาแต่โบราณกาล

และประกอบกับกฎหมายรัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักยกเว้นให้พระมหากษัตริย์(ซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งไม่ใช่บุคคลตามรัฐธรรมนูญฯ)มีพระราชอำนาจการให้อภัยโทษโดยตรงโดยไม่ผ่านรัฐสภาหรือรัฐบาลหรือศาลแล้ว เมื่อมีการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษพระมหากษัตริย์ก็ต้องรับตามกฎหมาย(by law)

ส่วนจะมีพระราชวินิจฉัยเช่นใด ถือเป็นพระราชอำนาจที่อิสระที่เด็ดขาด โดยที่ผ่านมาก็ไม่ผูกพันกับความเห็นหรือคำแนะนำของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือองคมนตรีที่กราบบังคมทูลถวายรายละเอียด และความเห็นเบื้องต้น เป็นการยึดหลักพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาของความยุติธรรม และหากมีพระราชวินิจฉัยให้พระราชทานอภัยโทษก็ไม่ใช่การคัดค้านคำพิพากษาของศาล(เช่นคุณอานันท์ฯพูด) แต่เป็นกรณีการใช้พระราชอำนาจในทางแก้ไขข้อผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมได้ทางหนึ่ง

การพระราชทานอภัยโทษจึงเป็นสายสัมพันธ์ของราษฎรที่ยึดเหนี่ยวพระมหากษัตริย์ไว้เป็นที่พึ่งสุดท้ายในการแสวงหาความยุติธรรม

ส่วนการที่รัฐมนตรีมหาดไทยที่ออกมาคัดค้านการถวายฎีกาต่างหาก ที่ได้กระทำการที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งวุฒิสมาชิกสามารถยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270 ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น