--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ลาทีปีวัว


อีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงดี ปีวัว ก็จะผ่านไป และ ปีเสือ จะเข้ามาแทนที่ แต่ยังไม่ทันข้ามปีเลย 4 นักการเมือง วิทยา แก้วภราดัย มานิต นพอมรบดี รมว. และ รมช.สาธารณสุข กับอีก 2 นักการเมือง และ 8 ข้าราชการ

ก็โดนเสือขย้ำเรียบร้อย จากผลสอบทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง ทำท่าจะเป็นปีเสือดุจริง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นปี

หันไปดูช่วงปีที่แล้ว ปฏิเสธยากว่าชะตากรรมบ้านเมืองยังคงส่งผลต่อชะตากรรมคนไทยโดยตรง อย่างที่ชอบพูดกันนักว่า ถ้าการเมืองไม่นิ่ง บ้านเมืองก็ไม่มีวันก้าวไปข้างหน้าได้เลย เป็นความจริงเลย

และหากไทยยังจมปลักกับวงจรอุบาทว์ ปฏิวัติร่าง รธน.ปิศาจ มาปก ครองบ้านเมือง อีกไม่กี่ปี เวียดนาม จะทะยานเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากของไทย

เห็นชัด ประมูลข้าวครั้งหลัง ๆ ไทยแพ้เวียดนามกระจุย กีฬาซีเกมส์ ที่ไทยเคยเป็นเจ้าเหรียญทองมาตลอด แม้ปีนี้จะรักษาแชมป์ไว้ได้ แต่เวียดนามก็มาหาย ใจรดต้นคอแล้ว แพ้อยู่ไม่กี่เหรียญ

นั่นแสดงว่า ขณะที่เราย่ำเท้าอยู่กับที่ คนอื่นไปไกลลิบ และอีกไม่นาน ลาว กัมพูชา พม่า ก็คงแซงหน้าไทย อย่าทำเป็นเล่นไป การเมืองที่อ่อนแอ ประชาชนแตกแยกรุนแรง มีแต่ความเสี่ยง

ใครอยากเข้ามาลงทุน

ปีหนึ่งเคยมีนายกฯ ถึง 4 คน นายสมัคร สุนทรเวช (ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว) ตกเก้าอี้ เพราะไปทำรายการอาหารโชว์ทางทีวี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตกเก้าอี้ เพราะพรรคถูกยุบซ้ำแล้วซ้ำอีก

นาย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกฯ ทั้งถูกบีบ ถูกกล่อม มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน จนยอมแปรพักตร์ไปอยู่กับทหาร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯปัจจุบัน รู้กันไปทั้งโลก เป็นรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร

เมื่อที่มาไม่สง่างาม มีหักหลัง มี งูเห่า ปฏิวัติซ่อนรูป ตามแผนบันได 4 ขั้น ของ คมช. ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิวัติ เผลอประกาศไว้เป็นหลักฐานมัดคอ การไม่ยอมรับจึงเป็นเรื่อง ปกติ

เหนืออื่นใด เมื่อ อภิสิทธิ์ มาเป็นรัฐบาล ก็ น่าผิดหวัง เพราะใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน เช่น คนเสื้อแดงชุมนุม จะงัด พ.ร.บ.ความมั่นคงมาใช้แทบทุกครั้ง คดีสงกรานต์เลือดของเสื้อแดง ก็สั่งฟ้อง และตัดสินเร็วมาก

ขณะที่คดีคนเสื้อเหลืองยึดทำเนียบฯ 2-3 เดือน ระบบคอมพ์ อย่างเดียวพังไป 40 กว่าล้าน สนามหญ้า แอร์ ค่าน้ำ ค่าไฟ อีกเป็นร้อยล้าน แต่จู่ ๆ มีการไปถอนแจ้งความดื้อ ๆ

นี่หรือ ความเป็นธรรม

คดี ยึดสนามบิน ที่เสียหายเป็นแสน ๆ ล้าน ทั้งโลกถือว่า เข้าข่ายก่อการร้ายสากล ผ่านมาเป็นปี ๆ ทุกคนยังลอยนวลสบายใจเฉิบ รวมทั้งคดีระเบิดเวลา ยุบพรรค ปชป. ก็ตั้งท่าจะรอด ตั้งแต่ไก่ไม่ทันโห่ ???

ทั้งหมดนี่ล่ะ ที่ทำให้การกำจัด มันคนเดียว ล้มเหลวมาตลอด และยังจะล้มเหลวต่อไป หาก ความเป็นธรรมไม่มี สันติสุข ก็ไม่เกิด จะมีแต่ความคัดแค้นไม่สิ้นสุด

บอกตรง ๆ ยังมองไม่เห็นทางออกเลย นอกจากชวนท่านผู้อ่านร่วมภาวนา ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัย ดลบันดาลให้คนไทยมีความเมตตาต่อกันบ้าง จะได้ไม่ต้องเกิดสงครามกลางเมืองแบบที่วิตกกัน

ขอให้ปีหน้าฟ้าใหม่ ท่านผู้อ่านทุกท่านจงสุขกาย สุขใจ คิดอ่านอะไร ขอให้ได้ตามที่หวัง มีสุขภาพแข็งแรง มีปัญญาเฉียบคมฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ทุกประการ... เทอญ.

ดาวประกายพรึก

วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

10 ข่าวเด่นกองทัพ ‘ปีฉลู’


ที่มา:บางกอกทูเดย์
ในรอบปี 2552 เหตุการณ์บ้านเมืองมีหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งของนักการเมืองที่ยังไม่ยอมปล่อยวางจากอำนาจอันหอมหวานขณะเดียวกัน “กองทัพ” ในฐานะกำลังหลักที่ปกป้องประเทศชาติในรอบปีก็ออกมาแสดงบทบาทมากกว่าทุกครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในกองทัพ “บางกอกทูเดย์” ได้จัดอันดับ ข่าวเด่นที่เกิดขึ้นในกองทัพมาส่งท้ายปี

อันดับที่ 1 ย้อนเกล็ด “ลับ ลวง พราง”
เมื่อนักข่าวสาว สายทหาร “วาสนา นาน่วม” เปิดเผยบทสัมภาษณ์ “ขิงแก่” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า พล.อ.สุรยุทธ์ พร้อมเป็นคนกลางในการเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรข่าวนี้ได้สร้างความฮือฮาอย่างมากในสังคมที่อยู่ดีๆ “บิ๊กแอ๊ด” จะอาสาเคลียร์ทุกเรื่องกับ “ทักษิณ” ซึ่งฝ่าย “ทักษิณ” ก็เสนอ3 เงื่อนไขหากมีการเจรจาทั้ง “เสนอให้รัฐบาลยุบสภา –นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้เลือกตั้งใหม่ทุกฝ่ายทุกสีต้องให้สัตยาบันร่วมกันว่าต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง และไม่ไปดำเนินการใดๆ นอกสภา”แต่ข้อเสนอทั้งหมดยังไม่ทันจะได้พูดคุยระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล “บิ๊กแอ๊ด” ก็ออกมาเบรกข่าวทั้งหมดว่า “ไม่เคยพูด”ที่จะเป็นตัวกลางเจรจากับ “ทักษิณ” แถมยังมีประเด็นใหม่เกิดตามมาคือ “นักข่าว” มั่วเอง และยังทิ้งปมให้นักข่าวสาวว่าเธอไม่ใช่คนเดิมสุดท้าย “วาสนา นาน่วม” ต้องออกมายอมเป็นกระโถนให้“บิ๊กแอ๊ด” เพราะเธอเข้าใจว่างานนี้ “บิ๊กแอ๊ด” คงโดนผู้ใหญ่อัดมาเยอะเช่นกันข่าวนี้จึงถูกจัดให้เป็นอันดับหนึ่งของข่าวสาร จากสายทหารในรอบปี

ส่วนอันดับที่ 2 ต้องยกให้ข่าวนี้ “ผู้ทรงคุณ วุฒิชน ผบ.ทบ.”
ศึกภายในรั้วแดง กำแพงเหลือง ระหว่าง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผลผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.งานนี้ เสธ.แดง สวมบทฮาร์ดคอร์ ทันทีที่ถูก ทบ.ตั้งกรรมการสอบวินัย ที่หนีราชการไปพบ “ทักษิณ” ที่กัมพูชา และเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการนำอดีตทหารพรานมาเป็น การ์ดให้กับกลุ่มเสื้อแดงที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2552เสธ.แดง ถึงขั้นลมออกหู จนฟิวขาดออกมาสับ “บิ๊กป๊อก” จนเละว่า “กูทำอะไรมึง” กลายเป็นวิวาทะก่อนที่เรื่องจะหายไปเมื่อเรื่องถูกส่งให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดย ทบ.เสนอให้ปลดเสธ.แดง ออกจากราชการขณะที่ เสธ.แดงยังสร้างสงครามประสาทออกมาโจมตี ผบ.ทบ.และยื่นเรื่องกรมพระธรรมนูญเอาผิด ผบ.ทบ.ที่ออกทีวีกดดันนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งเป็นนายกฯ ลาออกจากตำแหน่งข่าวนี้จึงมาแรงไม่แพ้ข่าวอันดับที่ 1

มาที่อันดับที่ 3 “ทหารคุมเข้มสงกรานต์เลือด”
ข่าวที่คนไทยทุกคนไม่อาจลืมได้ เพราะเหตุการณ์ “ทหารถือปืน”และ คนเสื้อแดง ออกมาเผารถเมล์กลางถนน ในวันสงกรานต์จนรัฐบาลต้องออกมาประกาศใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เพื่อควบคุมสถานการณ์เหตุการณ์ครั้้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจากกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงบุกที่ประชุมอาเซียน ที่พัทยาจนต้องยกเลิกการประชุม รวมทั้งเหตุการณ์ที่คนเสื้อแดงบุกทุบรถนายกรัฐมนตรี ในกระทรวงมหาดไทยแต่เพียง 1 วันหลังจากทหารออกมาควบคุมสถานการณ์เหตุการณ์ก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อแกนนำประกาศขอเข้ามอบตัว และ ยอมสลายการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลไม่เพียงแค่ภาพความรุนแรงที่ปรากฏออกมาจะเป็นประเด็นทางการเมือง ยังมีอาฟเตอร์ช็อคเมื่อ นายจตุพร พรหมพันธุ์แกนนำคนเสื้อแดง ออกมาแฉว่า “ทหารฆ่าประชาชน” และนำศพไปทิ้งแถว จ.ลพบุรีจนกองทัพต้องออกมาชี้แจงว่า ไม่มีใครเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ทหารออกมา และกระสุนที่ใช้เป็นกระสุนที่ใช้ในการฝึกซ้อมเรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอีกว่า ที่สุดแล้วใครที่โกหกคำโตกันแน่ระหว่าง “คนเสื้อแดง” กับ “กองทัพ”

มาที่อันดับที่ 4 “พ.ร.บ.ความมั่นคง อาวุธลับกองทัพ-รัฐบาล”
เป็น พ.ร.บ.ที่ถูกประกาศใช้มากที่สุดในรอบปี เพราะทุกครั้งที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงรัฐบาลจะเลือกใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่เขตการชุมนุมทั้งในพื้นที่เขตดุสิตและบริเวณโดยรอบ ซึ่งการประกาศใช้ทุกครั้งได้ผลเป็นอย่างดี การชุมนุมในแต่ละครั้งผ่านพ้นไปได้ด้วยดีจนทำให้รัฐบาลถูกมองว่ามี พ.ร.บ.ความมั่นคงไว้ปราบม็อบ

ส่วนอันดับที่ 5 “ซื้อใจหมื่นล้าน”
เมื่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รอง นายกฯด้านความมั่นคง นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.แทนนายกรัฐมนตรีที่ติดภารกิจ ประชุมสมัชชาสหประชาติ ณ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ไฟเขียวงบจัดซื้ออาวุธล็อตใหญ่ วงเงินหลายหมื่นล้านบาท ทั้งงบจัดซื้อจัดหาเฮลิคอปเตอร์ซีฮอร์ก ปราบเรือดำนํ้า จัดหาปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มิลลิเมตรของ ทบ. อนุมัติงบ สำหรับจัดหาอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน เป็นต้นซึ่งงานนี้ถูกมองว่าเป็นการ “ซื้อใจ” กองทัพ ที่เข้ามาคํ้ายันเก้าอี้รัฐบาลชุดนี้ให้อยู่ไปตลอดรอดฝั่งข่าวคราวที่เกิดขึ้นในรอบปี

อันดับที่ 6 “นครปัตตานีประเด็นร้อนแห่งปี”
การออกมาเปิดประเด็นแก้ปัญหาความไม่สงบของ“พ่อใหญ่จิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทยด้วยแนวคิดจัดตั้ง “นครปัตตานี” ในรูปแบบเขตปกครองพิเศษเป็นที่จับตามองจากหลายฝ่ายว่าแนวคิดหวังผลทางการเมืองหรือไม่ หรือ แค่สร้างกระแสดิสเครดิตรัฐบาลเรื่อง “พ่อใหญ่” ออกมายืนยันว่า ต้องการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในภาคใต้ เพราะมองดูแนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลแล้วยังไม่ถูกทาง อย่างที่รัฐบาลบอกมาแน่นอนว่าเรื่องนี้ “รัฐบาล” ได้ตีเจตนาของ “พ่อใหญ่จิ๋ว”ไปในทางหวังผลทางการเมือง มากกว่าจะออกมาสร้างบ้านแปลงเมืองทำให้แนวคิดนี้ยังอยู่บนหิ้ง ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง

อันดับที่ 7 “ศึกเขาพระวิหาร”
เป็นมหากาพย์ของทั้ง ไทยและกัมพูชา ที่ต้องมาเผชิญหน้ากันเพื่อรักษาอธิปไตย เมื่อเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลให้สถานการณ์แนวชายแดนไทยกัมพูชา กลับมาปะทุอีกครั้งเมื่อทหารพรานเหยียบกับระเบิด เสียชีวิต 1 นาย บนภูมะเขือ ระหว่างเดินลาดตระเวน ซึ่งไทยเชื่อว่าเป็นกับระเบิดที่กัมพูชาวางไว้ ทั้งๆ ที่มีอนุสัญญาที่เลิกวางกับระเบิดไปแล้วจากนั้นทั้ง 2 ฝ่าย ต่างเสริมกำลังตามแนวชายแดนพร้อมขนอาวุธหนัก รอคำสั่งหากมีการปะทะอีกรอบ แต่ระหว่างที่ทหารทั้ง 2 ฝ่าย ตรึงกำลังแนวชายแดนนั้น สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในฝั่งไทยเมื่อม็อบพันธมิตรฯ บุกทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารจากกัมพูชา ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียด ทำให้เกิดการปะทะกับชาวบ้าน บ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษผลปรากฏว่า ทั้งม็อบและชาวบ้าน บาดเจ็บหัวร้างข้างแตกกันไปหลายรายขณะที่ชาวกัมพูชา นั่งมองคนไทยตีกันเอง!จากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ขยายผลมาถึงการจับกุมวิศวกรชาวไทย ที่ถูกกระทรวงต่างประเทศล้วงข้อมูลตารางการบิน พ.ต.ท.ทักษิณ หลังจากที่รัฐบาลไทยลดความสัมพันธ์ทางการทูต ด้วยการส่งเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับกัมพูชาก่อนที่วิศวกรชาวไทยจะได้รับการพระราชทาน “อภัยโทษ”โดยการประสานจาก พล.อ.ชวลิต ที่ส่งหนังสือขออภัยโทษจากสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จนถูกมองว่ามีการจัดฉาก หรือไม่

อันดับที่ 8 เป็นข่าวที่สืบเนื่องมาจากข่าวอันดับที่ 7
นั้นคือ “ไทยยกเลิกเอ็มโอยูกัมพูชา”หลังรัฐบาลกัมพูชา แต่งตั้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับ สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและไทยได้ลดความสัมพันธ์ทางการทูตไปแล้วมาตรการต่อมาที่รัฐบาลหยิบมาใช้คือ การยกเลิก บันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอ่าวไทย ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน2544 บนเนื้อที่ 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตรมาตรการดังกล่าวยิ่งส่งผลให้สถานการณ์แนวชายแดนตึงเครียดมากขึ้น

อันดับที่ 9 “บิ๊กบังเล่นการเมืองไม่ ลับ ลวง พราง”
หลังซุ่มอยู่หลังฉากมาสักพัก ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพื่อมาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวของ “บิ๊กบัง”พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. และประธาน คมช.ที่เหมือนหัวเรือใหญ่ที่เตรียมนำทัพ พรรคมาตุภูมิ เข้าสู่เส้นทางการเมือง09.20 น. วันที่ 18 พ.ย. เป็นฤกษ์งามยามดีที่ พรรคมาตุภูมิลั่นกลองรบเปิดตัวแม่ทัพ อย่างเป็นทางการ โดย พล.อ.สนธิยอมรับว่าการเข้ามาร่วมงานกับพรรคการเมืองอย่างพรรคมาตุภูมิเป็นเพราะพรรคมาตุภูมิ มีนโยบายที่เป็นกลางการออกมาประกาศเล่นการเมืองของ “บิ๊กบัง” อาจไม่เกินความคาดหมาย แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายจับตาคือ อนาคตทางการเมืองของ “บิ๊กบัง” ในบทบาทหัวหน้าพรรคการเมือง จะไปได้ถึงฝั่งฝันหรือไม่ เป็นสิ่งที่สังคมกำลังจับตา

อันดับสุดท้ายอันที่ 10 “แห่ชมบินธันเดอร์เบิร์ด”
เป็นภาพของความสุขของคนไทย ที่ได้ชมการแสดงของฝูงบิน“ธันเดอร์เบิร์ด” ที่เปิดการแสดง ณ สนามบินดอนเมืองซึ่งการแสดงครั้งนี้ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นจำนวนมากที่เข้าชม จนทำให้รถติดยาวหลายสิบกิโลเมตร รวมถึงบนทางยกระดับโทลล์เวย์ที่ประชาชนหยุดรถเพื่อชมการแสดง ส่งผลให้การจราจรติดหนักเป็นประวัติการณ์ขณะที่ประชาชนที่เข้าชมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการแสดงชุดนี้ตื่นเต้นและสนุกมาก ทำให้กองทัพอากาศไทยยิ้มแก้มปริ...

การเมืองไทยปีพ.ศ.2553 / หัวโขน หัวคน

ที่มา:สยามรัฐออนไลน์

การเมืองไทยอลเวงปั่นป่วนขัดแย้งกันไม่จบสิ้นมานานหลายปี มีคนตั้งคำถามว่า ปีพ.ศ.2553 พรรคการเมืองจะมีสภาพเป็นอย่างไร จะมีพรรคไหนอยู่ พรรคไหนพัง

คำถามนี้ทำให้ต้องทบทวนเพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจน ซึ่งจับประเด็นได้ดังนี้

1.ถ้ารัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ยังมุ่งมั่นยึดกุมอำนาจไปให้นานที่สุด การเมืองไทยจะต่อสู้กันอย่างรุนแรง พรรคเพื่อไทยจะโหมรุกหนัก เพื่อให้แตกหักกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียหายมากกว่าที่ผ่านมา

2.ถ้ารัฐบาลพังด้วยเหตุที่ขัดแย้งกับพรรคร่วม และพรรคร่วมทั้งหมดสละเรือทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทย แล้วนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาใช้ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะกลายเป็นฝ่ายค้าน และหมดโอกาสที่จะหวนกลับมายิ่งใหญ่อีกต่อไป

3.ถ้าหากไม่เป็นไปตามที่ข้อ 1.และข้อ 2. โดยมีเหตุการณ์จลาจลทำให้สังคมตกอยู่ในสภาพวิกฤต จนฝ่ายทหารต้องใช้กำลังเข้ามายุติปัญหา สภาพเช่นนี้จะทำให้การเมืองไทยหวนกลับไปสู่ยุคเผด็จการ หรือกึ่งเผด็จการเหมือนในอดีต

ในช่วงที่ฝ่ายทหารเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ การเคลื่อนไหวทางการเมืองจะหยุดนิ่ง จนกว่าจะมีการกำหนดกติกาขึ้นมาใหม่ และมีการเลือกตั้ง

จากประเด็นที่ตั้งไว้ข้างต้น ทำให้มองเห็นว่าในรอบปีพ.ศ.2553 พรรคการเมืองก็คือ

ตัวกำหนดทิศทางของประเทศไทย ว่าจะดำเนินไปในลักษณะไหน

ถ้าคนในแต่ละพรรคมองเห็นตรงกันว่า จะต้องช่วยรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ โดยต่อสู้กันภายในกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญ ยึดมั่นในหลัก”การเมือง แก้ด้วยการเมือง” มีสปิริตยอมรับในเรื่องการรู้แพ้รู้ชนะ ทุกพรรคการเมืองก็จะอยู่รอดครบถ้วน และมีโอกาสทำงานการเมืองกันต่อไป

แต่ถ้านักการเมืองมองเห็นผิดเป็นชอบ ไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กัน ไม่เคารพกฎกติกา และยอมให้อำนาจนอกระบบหรือกระบวนการของกลุ่มอำนาจอิทธิพลใดๆเข้ามาแทรกแซง เพื่อทำให้ฝ่ายตนได้ประโยชน์ โดยไม่คำนึงว่าประเทศชาติจะเสียหายมากแค่ไหน

ระบอบประชาธิปไตยก็จะไปไม่รอด และนั่นหมายถึงพรรคการเมืองก็จะไม่รอดไปด้วย

การเมืองในประเทศพัฒนาแล้วถือหลักว่า นักการเมืองมีภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในการปกป้องรักษาอำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ การทำตามกฎกติกาและกฎหมาย และพร้อมที่จะต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ภาระหน้าที่นี้เป็นสิ่งที่จะพิทักษ์รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ได้

บทเรียนที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่มีค่า นักการเมืองจะต้องไม่ยอมให้กลุ่มอำนาจนอกระบบเข้ามามีอิทธิพลหรือมาบงการ เพื่อแลกกับความมั่นคงของพรรคการเมือง เพราะถ้าหากยอมอ่อนข้อให้กับกลุ่มเหล่านั้น สังคมก็จะมีแต่ความขัดแย้งแตกแยก บ้านเมืองไม่มีหลักเกณฑ์ให้ยึดถือ มีการใช้กฎหมู่หักล้างทำลายกฎหมาย รวมทั้งทำลายรัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาสูงสุดด้วย

นักการเมืองที่มีอุดมการณ์อย่างแท้จริง จะต้องต่อสู้แบบหัวชนฝา ต้องยอมถึงขั้นเอาชีวิตเข้าแลก โดยไม่ปล่อยให้อำนาจนอกระบบแทรกเข้ามาบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย ถ้ามีใครทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ หรือยึดอำนาจด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร นักการเมืองก็มีหน้าที่ต้องต่อสู้กับคนเหล่านั้น

มิใช่ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม หรือไปขอความปกป้องคุ้มครองจากกลุ่มที่ทำผิดกฎกติกา

ดังนั้นจึงขอย้ำว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะดำรงคงอยู่ได้ยาวนานแค่ไหนเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและพฤติกรรมของนักการเมืองเป็นสำคัญ

ถ้านักการเมืองสามารถพัฒนาตนเองให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจอิทธพิลที่อยู่นอกระบบ ในอนาคตประเทศไทยก็จะมีพรรคใหญ่ต่อสู้กันแค่ 2 พรรค เหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว

เบื้องลึกศึก"เสธ.แดง" "ป๊อก-ป้อม"ไม่มีทางเลือก ล้างบาง"ทหารสีแดง"


ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ดับเครื่องชน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก อะไรและทำไม "ป๊อก-ป้อม" ต้อง ล้างบาง"ทหารสีแดง" ตามไปดูปมขัดแย้งที่ร้าวลึกที่มีเงาทะมึนของอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เบื้องหลัง

...18 ธันวาคม 2552 พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เดินทางมายื่นหนังสือ พร้อมด้วยเอกสารถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้มีการสอบสวน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานความผิดกฎหมายอาญาทหาร จากกรณีข่มขู่และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เมื่อครั้งนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และการออกรายการโทรทัศน์ข่มขู่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ยุบสภา


เสธ. แดง ลั่นวาจาว่า ถ้าจะสั่งพักราชการตน จะต้องสั่งพักราชการ พล.อ.อนุพงษ์ ด้วย เนื่องจากมีฐานความผิดเดียวกัน


รายงานพิเศษ ฉบับนี้ จะเจาะ เบื้องลึกศึก"เสธ.แดง" วันที่ "ป๊อก-ป้อม"ไม่มีทางเลือก ล้างบาง"ทหารสีแดง"

... ความสนิทสนมแนบแน่นของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กับพี่ใหญ่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. นั้นเป็นที่รับทราบรับรู้กันทั่ว


แม้ว่า ฝ่ายแรกจะเป็นสวมหมวกเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนักการเมืองคนสำคัญ และฝ่ายหลังเป็นผู้นำกองทัพ ที่เคยประกาศจะไม่ยุ่งการเมือง แต่ทว่า ก็ไม่สามารถรักษาระยะห่างกับนายสุเทพได้


การต้องทำงานประสานกันใกล้ชิด รวมทั้งการเดินเกมใต้ดิน เพื่อสู้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถือเป็น "ศัตรูร่วม" ตั้งแต่ช่วยกันจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในค่ายทหาร เรื่อยมา ทำให้พวกเขายิ่งลึกซึ้ง

แต่ด้วยนายสุเทพรู้ดีว่า คนคุมอำนาจจริงๆ คือ พล.อ.อนุพงษ์ และคนที่เดินเกมต่างๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ทหารเสือราชินีตัวจริงคนนี้ เขาจึงทุ่มทุกอย่างให้


แถมซ้ำเจอกลยุทธ์เกาะติดหนึบของนายสุเทพ ที่เทียวไล้เทียวขื่อ เป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาน้องป๊อกและน้องตู่ มากินข้าวกลางวัน คุยเรื่องลับ ตกเย็นจิบไวน์ด้วยกัน


ยิ่งตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมเสี่ยง ทำงานใต้ดินและบนดินกันมาตลอด จึงยิ่งทำให้พวกเขากลายเป็นดั่งเพื่อนและพี่น้องร่วมสาบาน ที่วัยไม่ต่างกันมาก ถึงขั้นที่นายสุเทพเคยพูดกลางวงว่า "พวกเราเป็นพี่น้องกัน"

แต่ทว่า หากต้องกรีดเลือดร่วมสาบาน ก็คงเห็นเลือดสีเหลืองที่เหมือนกัน โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังมีเลือดสีน้ำเงิน แห่งความจงรักภักดีปนอยู่ด้วย


ในมิตรภาพนี้ ไม่ใช่แค่นายสุเทพ ที่กลายเป็นปากเสียงแทนทหาร คอยช่วยดูแลเรื่องงบประมาณให้ แต่บางอย่าง ฝ่ายบิ๊กทหารก็ยอมให้นายสุเทพ


ยิ่งเมื่อนายสุเทพเชิญร่วมโต๊ะมื้อเย็น โดยมีการประชุมหารือด้วย ทั้งที่ต้องควบคุมน้ำหนัก แต่ พล.อ.อนุพงษ์ ก็ต้องยอม ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องรักษาสุขภาพ ก็ยังต้องมา


นอกจากจิ้มหยิบอะไรเข้าปากพอรองท้อง เพราะกลัวอ้วน พล.อ.อนุพงษ์ ก็ต้องมีการดื่มและจิบ เพื่อเพิ่มบรรยากาศแห่งมิตรภาพ และเพื่อให้การสนทนาออกรส

แต่ต้องหลังจากการคุยเรื่องงานหนักๆ ซีเรียสๆ ทั้งเรื่องคนที่อยู่ที่ดูไบ เรื่องเขมร และเสื้อแดงเสร็จแล้ว เพื่อจะได้พักผ่อนบ้าง ด้วยการคุยเรื่องสนุกสนาน คลายเครียดกัน แต่ที่สุดเรื่องที่สนทนากันก็ไม่พ้นต้องวกกลับมาเรื่องการเมืองและทหารอยู่ดี


นอกจากเป็นคอไวน์เหมือนกันแล้ว ในบางอารมณ์ของการสนทนา เมื่อนายสุเทพชวนจิบวิสกี้ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมหันมาจิบวิสกี้ ตามประสาคอโซดาน้ำด้วยกัน แต่ไม่ได้จิบแบล็ค เลเบิ้ล เพราะระดับมหาอำนาจ ก็ต้องยกชั้นเป็น กรีน เลเบิ้ล และ บลู เลเบิ้ล


ขนาดว่า สุขภาพร่างกายไม่สู้ดีนัก และต้องกินยาบำรุง วิตามิน หลังอาหาร แต่เมื่อเข้าสู่วงสนทนาวิสกี้สัมพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จำต้องจิบ แต่ก็แค่พอเป็นพิธี เพื่อให้บรรยากาศแห่งการร่ำสุรา เป็นไปด้วยมิตรภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องกลายเป็นขุนพลแก้วเดียว (ตลอดคืน)


ความแนบแน่นกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียว ยังทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ ยอมไฟเขียวให้ ตั้ง เสธ.แก๊ก พ.ท.พงศ์ณุภา เวชชาชีวะ หลานชายของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็น ผบ.ม.พัน 11 รอ. คุมกำลังรถถังปฏิวัติ ของ พล.ม.2 รอ. ที่สระบุรี


เพราะงานนี้ เป็นรายการ "คุณ (มาร์ค) ขอมา" ผ่านทาง พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถือว่ามีความใกล้ชิดมากที่สุดในบรรดาผู้นำทหาร 3 ป. อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รอง ผบ.ทบ. ก็เป็นประธานการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายทหารระดับผู้บังคับกองพันด้วย แต่ท้ายที่สุดต้องให้ พล.อ.อนุพงษ์ ลงนาม


แม้จะมีเสียงคัดค้าน ด้วยเหตุที่ พ.ท.พงศ์ณุภา ยังเด็ก เป็นเตรียมทหารรุ่น 33 ในขณะที่ผู้บังคับกองพันทหารม้าอื่นๆ ยังเป็นรุ่นพี่ รุ่น 27-29 ห่างกันหลายรุ่นอยู่ แต่จากคำขอที่จะเป็น ผบ.ม.พัน 1 รอ. คุมกำลังหลักในกรุงเทพฯ ก็จึงต้องให้ไปเป็น ม.พัน 11 รอ. แทน จึงโยก พ.ท.ชัยยันต์ ปรีชา (ตท.26) จาก ผบ.ม.พัน 11 รอ. มาเป็น ผบ.ม.พัน 1 รอ. เพื่อหลีกทางให้หลานชายนายกฯ


เพราะด้วยสัมพันธ์เปรี้ยวกับนายอภิสิทธิ์ ที่ชอบฟังและเชื่อแกนนำสีเหลืองอย่าง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นั้น พล.อ.อนุพงษ์ แทบไม่อยากจะช่วย แต่เพราะมีนายสุเทพมาช่วยขออีกแรงหนึ่ง

ที่สำคัญ มีการหารือกันว่า จะเป็นการเริ่มต้นของการสร้างทายาท เวชชาชีวะ เพื่อคุมกำลังทหารม้าในกองทัพตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่จะเติบใหญ่คุมกำลังในวันหน้า อันเป็นการส่งสัญญาณถึงการผนึกเป็นฝ่ายเดียวกัน พวกเดียวกันตลอดไปด้วยนั่นเอง


ไม่แค่นั้น โผโยกย้าย 153 ผู้พันล่าสุด ยังมีการเด้งล้างบางทหารสายสีแดงครั้งใหญ่ในกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เคยสั่งเปลี่ยน ผู้พัน ปตอ. บางคน ไปแล้ว เพราะแค่ผู้หญิงที่สนิทสนมเป็นแกนนำเสื้อแดงแห่งเมืองนนท์


ทั้งๆ ที่ ผบ.หน่วย ไม่ได้เป็นสีแดง แต่แค่เพราะได้ชื่อว่าเป็น "เด็ก" ของ "บิ๊ก ย.ย." พล.ต.ยอดยุทธ บุญญาธิการ รอง ผบ.นปอ. ซึ่งเป็น ผบ.พล.ปตอ. คนก่อน และมีความสนิทสนมกับ บิ๊กตู่ พล.อ.พรชัย กรานเลิศ อดีต ผช.ผบ.ทบ. เพื่อน ตท.10 ที่ สนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างมาก จนเคยถูกวางตัวให้เป็น ผบ.ทบ. แต่ฝันสลายเพราะปฏิวัติ 19 กันยายน นั่นเอง


แถมความสัมพันธ์ ที่แม้จะเป็นทั้งเพื่อนตอนประถม-มัธยม ที่โรงเรียนพันธวัฒนา และเพื่อน ตท.10 ด้วยก็ตาม แต่การถูกปล้นเก้าอี้ ผบ.ทบ. ที่เขาเกือบจะได้นั่ง ก็ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.พรชัย เดินกันคนละทาง และอยู่กันคนละสี


ดังนั้น โอกาสของ พล.ต.ยอดยุทธ ที่จะขึ้นเป็น ผบ.นปอ. จึงยิ่งริบหรี่ แม้ว่าจะเป็นทหารเก่ง สุขุม หรือเป็นเพื่อน ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตาม แต่ก็ทำให้ พล.ต.อำพล ชูประทุม ผบ.พล.ปตอ. คนปัจจุบัน เพื่อน ตท.12 มีโอกาสขึ้นมาแทน เขาจึงได้จัดทัพ ผู้พันปตอ. ของเขาเองใหม่หมด ทั้งๆ ที่บางคนเป็นผู้พันมาแค่ 1-2 ปีเท่านั้น ที่ทำให้ พล.ปตอ. ระส่ำไม่น้อย


พ.ท.วุฒิศักดิ์ วิริยราชวัลลภ (ตท.31) ถูกย้ายจาก ผบ.ปตอ.พัน 2 เข้าเป็น ผช.ผอ.กองแผน นปอ. เป็นพันโทตามเดิม โดยให้ พ.ท.ธิษณ เกิดประเสริฐ (ตท.29) ขึ้นมาเป็น ผบ.ปตอ.พัน 2 แทน


พ.ท.ชาคริต คิดประเสริฐ (ตท.27) ผบ.ปตอ.พัน 3 ขยับเป็น พันเอก หัวหน้าส่วนปฏิบัติการศูนย์ป้องกันภัยทางอากาศ (ศภอ.ทบ.) พ.ท.อภิสิทธิ์ บุศยารัศมี (ตท.29) จาก ผบ.ปตอ.พัน 3 มาเป็น ผบ.ปตอ.พัน 6 เปิดทางให้ พ.ท.กานต์ รามศิริ (ตท.30) เป็น ผบ.ปตอ.พัน 3


พ.ท.สรเดช สุริยกาญจน์ (ตท.28) ผบ.ปตอ.พัน 4 ขยับเป็น รอง เสธ.ปตอ.2 สลับตำแหน่งกับ พ.ท.โกศล โกศลยุทธศาสตร์ (ตท.27) เป็น ผบ.ปตอ.พัน 4 พ.ท.นพพล พลภัทรพิจารณ์ (ตท.29) ผบ.ปตอ.พัน 5 เป็น รอง เสธ.ปตอ.1 แล้วให้ พ.ท.สุรสีห์ ศรีวณิชย์ (ตท.30) เป็น ผบ.ปตอ.พัน 5 แทน


ที่ยิ่งต้องระส่ำกันกว่านั้น ก็คือ นายสุเทพ ได้กลายเป็น "แหล่งข่าว" ชั้นดีให้ฝ่ายทหาร ในการตรวจสอบทหารสีแดง เพราะนายสุเทพมักมีข่าววงในเรื่องนายทหารคนนั้นคนนี้มากระซิบเสมอๆ ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ หูตาสว่างขึ้น โดยเฉพาะทหารแอบแดง


จึงไม่แปลกที่จะมีการจับตาและเช็กชื่อทหารที่แอบไปเยี่ยม บิ๊กตุ้ย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ข้อเท้าแตก ตั้งแต่นอนโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ จนกลับไปพักต่อที่บ้าน ใน ร.1 รอ. จนลูกน้องเก่าๆ ที่อยู่ในตำแหน่งหรือลุ้นเก้าอี้อยู่ ไม่กล้าไปเยี่ยม บ้างก็ต้องใช้แค่การโทรศัพท์ไปให้กำลังใจเท่านั้น

แต่ภารกิจสำคัญเฉพาะหน้าก็คือ การจัดการทหารสีแดงเปิดเผย อย่าง เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ.


ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ได้คิดจะเอาจริงอะไร เพราะ พล.ต.ขัตติยะ ก่อมาหลายเรื่องหลายคดี ตั้งแต่การไปจัดตั้ง "นักรบพระเจ้าตาก" ฝึกการ์ดให้กลุ่มเสื้อแดง และให้สัมภาษณ์วิจารณ์ผู้บังคับบัญชา จนตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ก็แค่ตักเตือน แล้วมอบงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและการกีฬา ที่กลายเป็นเรื่องขำๆ จน เสธ.แดง โวยว่า เอาทหารนักรบมาเต้นแอโรบิค มาแล้ว


แต่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องของ พล.ต.ขัตติยะ โดยเฉพาะเมื่อโผล่ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงที่ จ.เสียมราฐ ของกัมพูชา แถมจับไม้จับมือกับ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในยามที่สัมพันธ์สองประเทศกำลังปริแตก


ตามมาด้วยเหตุ "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" ลอบยิง เอ็ม79 ใส่เวทีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สนามหลวง โดยเฉพาะเป็นตอนที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ ขึ้นปราศรัยบนเวทีพอดี จนมาถึงการเดินทางไปดูไบ

จนถึงการปูดข่าวอดีตทหารพรานมาร่วมเป็นการ์ดให้ม็อบเสื้อแดง จน พล.อ.อนุพงษ์ ต้องบินไปถึงค่ายปักธงชัย เตือนสติไม่ให้ทหารพราน และอดีตทหารพราน เลือกสี และให้ปฏิญาณตนที่จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมมอบเงินสวัสดิการให้ 5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ผ่านมา ทหารพรานและอดีตทหารพราน ถูกละเลยมาตลอด


แต่ที่สุด พล.ต.ขัตติยะ ก็ยังพาอดีตทหารพราน สวมชุดนักรบชุดดำ เกือบ 200 คน มาร่วมม็อบเสื้อแดง 10 ธันวาคม เข้าจนได้ ที่เป็นการทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ เสียหน้าอย่างยิ่ง อีกทั้ง พล.ต.ขัตติยะ ยังให้สัมภาษณ์ในเชิงข่มขู่ พล.อ.อนุพงษ์ ว่า "ระวังจะออกจาก บก.ทบ. ไม่ได้"


รวมถึงการที่กลุ่มพันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่ เรียกร้องและกดดันให้จัดการ พล.ต.ขัตติยะ อย่างจริงจัง โดยดักคอเรื่อง หลิ่วตาข้างหนึ่ง เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ ก็ไม่ชอบกลุ่มพันธมิตรฯ และนายสนธิ อยู่แล้ว เพราะด่าและโจมตีเขามาตลอด


แถมทั้งนายสุเทพเอ่ยปากถามเรื่อง เสธ.แดง จึงทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ ต้องเร่งสรุปผลการสอบสวนคดีต่างๆ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จนทำให้ พล.ต.ขัตติยะ โวยว่า ยังไม่มีการสอบสวนเรื่องใหม่ มีแต่คดีเก่าที่เขาวิจารณ์ พล.อ.อนุพงษ์ ว่า "หน่อมแน้ม" ที่ยังสอบไม่เสร็จ แต่กลับเหมารวมเขมรและทหารพราน มั่วรวมแล้วส่งสรุปผลไปให้ รมว.กลาโหม โดยเฉพาะเสนอให้พักราชการ ก่อนที่จะฟ้องคดีอาญาทหารต่อ


ที่ยิ่งทำให้ พล.ต.ขัตติยะ โกรธ ยิ่งเมื่อเขาเองเป็น ตท.11 ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ตท.10 แต่เคยเรียนโรงเรียนกวดวิชา "อโณมา" สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารมาด้วยกัน จึงทำให้ เสธ.แดง มักจะหลุดปากเรียก พล.อ.อนุพงษ์ ว่า "ไอ้ป๊อก" เสมอ แถมขู่ซ้ำหลายครั้ง


แต่ฝ่าย พล.อ.อนุพงษ์ ไม่พอใจกับสายใยเพื่อนนี้ "ผมแทบจะไม่ได้คุยกับมันเลย ไม่เคยไปกินข้าวกันเลยด้วยซ้ำ มันจะเป็นเพื่อนผมได้ยังไง รุ่น 11 ที่เป็นเพื่อนผม ก็มีแค่ น้อย (พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผช.ผบ.ทบ.) และ ติ๋ว (พล.ต.ไตรรัตน์ ไตรรังครัตน ผบ.ศม.) เท่านั้น"


คำพูดของ พล.ต.ขัตติยะ ใครอาจจะคิดเป็นแค่คำขู่ แต่นายทหารอย่าง เสธ.แดง ไมมีใครวางใจได้ ไม่มีใครอยากไปเล่นด้วย เพราะเขาทำอะไรก็ได้จริงๆ ยิ่งเขามีลูกน้องและอาวุธในมือ


ทว่า มันก็เป็นเรื่องหน้าตา และศักดิ์ศรีของคนเป็น ผบ.ทบ. และเพื่อระเบียบวินัยทหาร พล.อ.อนุพงษ์ ไม่มีทางเลือกอื่น

ฝ่าย พล.อ.ประวิตร เอง เดิมก็ไม่คิดจะเล่นงานอะไร เสธ.แดง แต่กระแสสังคมกดดัน รวมทั้ง ทบ. ได้เสนอลงโทษมา พล.อ.ประวิตร ก็ดูจะไม่มีทางเลือกอื่นใดเช่นกัน


สัมพันธ์ลึกของนายสุเทพ กับ พล.อ.อนุพงษ์ ยังทำให้ ทบ. สะเทือน เพราะแม้แต่เรื่องเล็กๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ก็ไม่พ้น แถมทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ โกรธจัดเพราะทำให้รู้ว่าถูกลูกน้องหลอก เรื่องการรายงานเท็จจำนวนปืนที่ถูกขบวนการก่อความไม่สงบยึดไปจากการโจมตีฐานทหารที่ จ.ปัตตานี จนต้องสั่งให้ ฉก.ปัตตานี ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เนื่องจากชาวบ้านที่เป็นฐานเสียงในพื้นที่ กระซิบให้นายสุเทพรับทราบ ก่อนแจ้งให้ พล.อ.อนุพงษ์ ตรวจสอบ

แต่ทว่า การให้ ผบ.ฉก.ปัตตานี ซึ่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 มาสอบสวน กำลังพลที่เป็นของกองทัพภาคที่ 4 ก็ทำให้เกิดปัญหาวิพากษ์วิจารณ์กันทั่ว และส่งผลให้วิจารณ์ถึงต้นตอที่มาของคำสั่งของ ผบ.ทบ. อีกด้วย


สายสัมพันธ์ของนายสุเทพกับบิ๊กๆ ทหาร พบปะเจอกันเกือบทุกวันแบบนี้ จึงมีข่าวว่าหลังบ้านเริ่มเหล่ เพราะทำให้ไม่มีเวลาให้ครอบครัวเท่าที่ควร แม้พวกเธอจะเข้าใจเรื่องภารกิจที่หนักหนาสาหัสท่ามกลางการเมืองร้อนแรงแสนวุ่นวายก็ตาม แต่อย่างน้อย ก็ขอวันอาทิตย์ เป็นวันครอบครัวสักวัน


ที่สำคัญ ทั้งสามเกลอ ล้วนเป็นคน "เมียสวย" ทั้งสิ้น เพราะนายสุเทพ ก็มีภริยารวยสวยสง่าอย่าง นางศรีสกุล พร้อมพันธุ์ อันเป็นเหตุผลว่า ทำไมนายสุเทพจึงเลือกข้าง นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พี่ภริยา มาตลอด กรณีการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ และเป็นคู่แฝดการเมืองที่ไปไหนมาไหนด้วยกัน


ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ ก็มี คุณอุ๊ กุลยา เผ่าจินดา ภริยาหน้าหวานหุ่นทรมานใจชาย อดีตเจ้าของร้านเสริมสวย และมีสายวงศ์วานกับตระกูลดิษยนันท์ และกัลย์จากฤก ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีภริยาสูงชะลูดเด่นเป็นสง่า อย่าง อาจารย์น้อง รศ.นวพร จันทร์โอชา อาจารย์ภาษาอังกฤษแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แต่ดูท่าว่า ทั้งสามเกลอนี้ จะมีความเหมือนกันอีกอย่างคือ เป็นโรคเกรงใจภริยา เพราะเป็นสาว "สวยดุ" ทั้งสิ้น

คงมีแต่ พล.อ.ประวิตร เท่านั้นที่ยังเป็นหนุ่มโสด ไม่เคยแต่งงาน ด้วยเพราะกว่าจะมีเวลาหาผู้หญิงที่คู่ควร ก็เป็นแม่ทัพแล้ว ด้วยเพราะใช้ชีวิตเป็นทหารชายแดนบูรพามาตลอด จนต้องมีประโยคแก้เกี้ยวติดปากเสมอว่า "ซื้อกิน" ทั้งๆ ที่ความจริง พล.อ.ประวิตร มีสาวๆ ที่แอบหมายปองเขาอยู่หลายคน ถึงขั้นที่ในอดีต คุณหญิงอ้อ พจมาน ชินวัตร เคยจะเป็นแม่สื่อจับคู่ให้มาแล้ว แต่ พล.อ.ประวิตร ไม่ชอบ "แม่ม่าย" แต่ต้องเป็นสาวเท่านั้น ไม่ว่าจะอายุห่างกันเท่าใดก็ไม่เกี่ยง


ในช่วงเกษียณราชการ 2-3 ปีที่ผ่านมา นี่กระมัง ที่ พล.อ.ประวิตร เริ่มมีหัวใจสีชมพู เพราะตกหลุมรักสาวในวงการสื่อ แต่ก็ยังอยู่ในแวดวงทหาร จนถึงขั้นที่มีการเปิดตัวเป็นวงในกันมานานแล้ว แบบที่ใครๆ ต้องอิจฉา เพราะวัย 64 เช่นนี้ พล.อ.ประวิตร ก็คิดหนัก หากจะต้องมาเข้าพิธีวิวาห์ แถมสาวเจ้าก็สวยเก่ง เป็นที่หมายปองของหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ ที่ไม่รู้ลึก


ดังนั้น ถ้ามีข่าวว่า พล.อ.ประวิตร เดินควงสาวก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดของทหารใหญ่โสดสนิท

"ก็ผมยังไม่ได้แต่งงานนี่" บิ๊กป้อม ออกตัว แต่ทว่า เวลานี้ ควงได้แค่คนเดียวเท่านั้น เพราะ สวยดุ เช่นกัน

เรื่องสีเลือดนั้น ไม่ต้องห่วงว่าพี่น้องร่วมสาบานกลุ่มนี้จะสีอะไร เพราะมีจุดยืนเดียวกัน ส่วนหัวใจใครจะสีอะไร มีกี่ห้อง และมีห้องว่างหรือไม่ เป็นเรื่องตัวใครตัวมัน...

วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ตุลาการผู้แถลงฯศาล ปค.เห็นควรจำหน่ายคดี "พระวิหาร" ออก เพราะเหตุแห่งคดีสิ้นสุดแล้ว นัดตัดสิน 30 ธ.ค.นี้


ที่มา:มติชนออนไลน์

ตุลาการแถลงคดี มีความเห็นควรสั่งจำหน่ายคดีฟ้องเพิกถอนมติ ครม.เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหารออกจากสารบบ เพราะเหตุแห่งการบังคับคดีสิ้นสุดแล้ว นัดพิพากษา 30 ธ.ค.นี้ "นิติธร" เดินหน้าค้านแก้ ม.190

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 ธันวาคม ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง, นายณัฐ รัฐอมฤต และนายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน คดีปราสาทพระวิหาร นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 984 / 2551 , 1001 / 2551 และ 1024 / 2551 ที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ , นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย , นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กับพวกรวม 13 คนซึ่งเป็นนักวิชาการ ทนายความและนักสิทธิมนุษยชน ร่วมกันยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ และ คณะรัฐมนตรี ( ครม.) สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2551 เรื่องกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่นายนพดล รมว.ต่างประเทศ ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย –กัมพูชา พร้อมแผนที่แนบ ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกที่จะมีการเสนอแถลงการณ์ต่อองค์การยูเนสโก ระหว่างวันที่ 2-10 กรกฎาคม 2551


นายประศักดิ์ ศิริพานิช ตุลาการผู้แถลง แถลงความเห็นส่วนตัวด้วยวาจาต่อองค์คณะ โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยในการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไว้แล้วว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง กระทำในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการโดยมิชอบเนื่องจากการเห็นชอบและลงนามร่างแถลงร่วมไทย –กัมพูชา วันที่ 18 มิถุนายน 2551 ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลปกครองรับไว้พิจารณาเพื่อพิพากษา ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง พ.ศ.2542 และผู้ฟ้อง เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายมีสิทธิฟ้องคดี ตาม มาตรา 42 และ มาตรา 72 วรรคหนึ่ง การวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวจึงถือเป็นที่สุดตามกฎหมายแล้ว ที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ต่อสู้ว่าผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น


ส่วนคดีที่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การที่ รมว.ต่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ลงนามในร่างแถลงร่วมตามความเห็นชอบ ครม. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ไม่ได้นำเสนอตามขั้นตอน รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 190 ที่ให้เสนอสภา ข้อเท็จจริงจึงรับฟ้องได้ว่าขั้นตอนยังไม่ได้กระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายไว้เป็นสาระสำคัญ ซึ่งคำวินจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันองค์การรัฐและศาล ตาม รธน.มาตรา 216 ขณะที่เมื่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว ระงับการใช้มติ ครม. ที่เห็นชอบจนกว่าคดีจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นแล้ว ทางการไทยโดยผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกองค์การยูเนสโก ระงับการใช้ร่างแถลงการณ์ร่วม ซึ่ง ผอ.องค์การยูเนสโก ได้มีหนังสือแจ้งวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ยืนยันระงับการใช้แถลงร่วมเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้เป็นการชั่วคราว



ประกอบกับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ครม. ได้มีมติเห็นชอบ เพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่เห็นชอบการลงนามในร่างแถลงการณ์ไปแล้ว กรณีจึงรับได้ว่า มติที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมถูกยกเลิกไม่มีผลผูกพัน และไม่มีการกระทำที่กระทบสิทธิโดยรวมของประชาชนและประเทศชาติ ดังนั้นเหตุแห่งการบังคับคดีตามที่ผู้ฟ้องทั้ง 13 คน ร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงถือว่าสิ้นสุดไปแล้ว ตุลาการผู้แถลงคดี จึงเห็นสมควรให้องค์คณะพิพากษาจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ


อย่างไรก็ดี องค์คณะผู้พิพากษา ชี้แจงให้คู่ความทราบว่า การแถลงความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีดังกล่าว จะไม่มีผลผูกพันต่อคำพิพากษา ซึ่งหลังเสร็จสิ้นการแถลงของตุลาการผู้แถลงคดี องค์คณะตุลาการศาลปกครอง นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 30 ธันวาคม นี้ เวลา 10.00 น.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ผู้ฟ้องได้มีนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ และคณะผู้ฟ้องซึ่งเป็นทนายความและนักวิชาการ รวม 5 คน ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีนี้ เดินทางมาฟังการแลถงคดี ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องมีอัยการ รับมอบอำนาจเดินทางมาศาลแทน อย่างไรก็ด๊ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ มี ผู้อำนวยการกองสนธิสัญญา และคณะประมาณ 4-5 คน ร่วมาฟังการแถลงคดีของตุลาการด้วย


ภายหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ตนเชื่อว่าคำพิพากษา ที่จะออกมา น่าจะมีแนวทางคล้ายกับที่ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็น แต่รายละเอียดเนื้อหาคำพิพากษาอาจจะมีการขยายความ ซึ่งต้องรอฟังในวันพรุ่งนี้ (30 ธ.ค.) ว่าจะออกมาอย่างไร ส่วนแนวทางที่ตนจะดำเนินการต่อไปคือ หากศาลพิพากษาว่า รมว.ต่างประเทศ และ ครม. กระทำการโดยมิชอบจริงตามคำฟ้อง ก็จะทำการฟ้องคดีอาญาต่อผู้ที่ดำเนินการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่พวกตนก็จะดำเนินการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ต่อไปเพราะเห็นว่าจะทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติได้รับความเสียหาย

จาตุรนต์จี้สำนึก 'อภิชาต' ลาออกพ้น กกต.


ที่มา :ไทยรัฐ

อดีต กก.บห. ทรท. กระตุ้นสำนึก ประธาน กกต. ช่วยปชป.รอดยุบพรรค ไล่แสดงสปิริตลาออก จวกจุดไฟเผากกต. ทำลายกระบวนการยุติธรรมประเทศ "พงศ์เทพ" ซัดแรง ความยุติธรรมไม่มี เพราะอัปรีย์มีอำนาจ

ที่มูลนิธิ 111 ไทยรักไทย วันที่ 28 ธ.ค. มีการสัมมนาเรื่อง "การยุบพรรคการเมืองมีกี่มาตรฐาน" นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงการที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงมติยกคำร้อง กรณีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ยังไม่ได้อ่านสำนวน ว่า เป็นความบกพร่องต่อหน้าที่อย่างชัดเจนและร้ายแรง เพื่อช่วยเหลือพรรคการเมืองบางพรรค ทางออกของนายอภิชาต ขณะนี้คือ 1. ลาออกจาก กกต. 2. ถ้าไม่ลาออก เมื่อมีการยื่นถอดถอนหรือดำเนินคดีอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สิ่งที่นายอภิชาตควรทำคือ การรับสารภาพผิด เพื่อไถ่บาป

ส่วนการที่กลุ่มเสื้อแดงประกาศว่าจะไปเผา กกต. นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขอบอกว่าไม่ต้องไปเผา เพราะนายอภิชาต ได้เผากกต.ไปแล้ว ตอนนี้ไฟกำลังลุกโชน กกต.อยู่ และกำลังเผาทำลายกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยด้วย เพราะการช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์อยู่รอด เป็นการทำลายระบบยุติธรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง ขอให้กลับใจก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป อยากให้ช่วยกันอธิบายเหตุผล สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน เรื่องการยุบพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าคดีจะจบลงแบบใด หากประชาชนเข้าใจสิ่งที่อธิบาย พรรคประชาธิปัตย์ก็จะทรุดไปเอง เวลาเลือกตั้งประชาชนจะแสดงออก ช่วยลงโทษพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย กล่าวว่า มาตรฐาน กกต.มีมาตรฐานเดียว คือ มาตรฐานของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ฝากบอก กกต.ว่า วันนี้ พล.อ.สนธิ ไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแล้ว กกต.จะรับใช้อะไร ขอให้คิดชื่อเสียงที่สร้างมา ตนนึกถึงคำๆ หนึ่งว่า ประชาชนพอรับได้กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพราะอย่างน้อยกฎหมายก็บังคับใช้กับทุกคน แต่จะทนไม่ไหวกับผู้ใช้กฎหมายที่อยุติธรรม แต่เมืองไทยโดน 2 เด้ง คือ กฎหมายไม่เป็นธรรม และผู้ใช้กฎหมายอยุติธรรม ความยุติธรรมไม่มี เพราะพวกอัปรีย์มีอำนาจ อยากสะกิดให้ กกต.ทั้ง 4 คน ยกเว้นนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กรรมการ กกต. ขอให้คำนึงถึงความยุติธรรม ไม่ต้องสนใจใบสั่ง ขอให้กลับไปหาจิตวิญญาณตุลาการกลับมาใส่ตัวเอง เพราะเกราะป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดของผู้พิพากษาคือความซื่อสัตย์สุจริต.

วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

มาตรา 67 วรรคสอง (ตอนที่ 5)

ที่มา:บางกอกทูเดย์

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีความเห็นเกี่ยวกับ “มาตรา67 วรรคสอง” ไว้ในคำวินิจฉัยที่ 3/2552 หน้าที่ 13เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 ดังนี้“หากปรากฏว่า การดำเนินโครงการหรือกิจการอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพต่อบุคคลหรือชุมชน บุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสามเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการหรือกิจการนั้นจัดให้มีการศึกษาและประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

หรือการให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา67 วรรคสอง”จากความเห็นในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่3/2552 ทำให้เห็นถึงการรับรองสิทธิชุมชนที่จะฟ้องร้องได้ตามมาตรา 67 วรรคสามในคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า...บุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองอ่านแค่นี้ก็

คงตีความได้ว่า...ผู้ที่จะฟ้องต่อศาลปกครองได้นั้น มีทั้งบุคคลทั่วไปและกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเป็นชุมชนแต่ก็มีข้อสังเกตประกอบความเห็นดังกล่าวตามมาเช่นกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสามนั้นให้สิทธิแก่ชุมชนฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เท่านั้นในมาตรา 67 วรรคสาม ระบุเพียงว่า เป็นสิทธิของชุมชนที่จะฟ้องร้อง และให้ได้รับความคุ้มครอง แต่มาตรา 67 วรรคสาม มิได้มีคำ

ว่า “บุคคล” รวมอยู่ด้วยพิจารณาต่อที่คำว่า “เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการหรือกิจการนั้น” ก็ไม่สอดคล้องกับมาตรา 67 วรรคสาม ทั้งหมด เพราะมาตรา 67 วรรคสาม กำหนดให้ฟ้องได้ 5 ส่วนคือ ฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจราชการส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นของรัฐ เท่านั้น โดยให้สิทธิแก่ชุมชนในการฟ้องเพื่อให้ทั้ง 5 ส่วนนั้น ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 67ไม่มีข้อความใดในมาตรา 67 วรรค

สาม ที่ระบุให้ชุมชนมีสิทธิฟ้องร้อง “เอกชน” ไว้ด้วย จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ความเห็นในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุรวมไปถึงการฟ้องร้องเอกชนได้ด้วยนั้น จะต้องตามมาตรา 67 วรรคสามหรือไม่หรือจะแปลความหมายว่า...บุคคลหรือชุมชนสามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของเอกชนนั้นก็คงจะเกินเลยไปกว่า อำนาจของศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 223อีกทั้งคำว่า “หากปรากฏว่า” กับคำ

ว่า “ก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการ” ย่อมเกิดความหมายที่ขัดกันเองในความหมายของการใช้ภาษาหรือไม่เพราะถ้าก่อนการกระทำแล้ว จะมีการปรากฏผลจากการกระทำได้อย่างไร?ดังนั้น คำว่า “ก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”ในส่วนสุดท้ายของมาตรา 67 วรรคสอง ควรจะพิจารณาในความหมายใด ถ้าพิจารณาว่า สิทธิชุมชนเกิดขึ้นตั้งแต่การอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโครงการหรือการจะกระทำกิจกรรมใดๆผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก็จะเป็นการคาดคะเนล่วงหน้ากันเกินไป

หรือไม่?แต่ถ้าพิจารณาว่า...เมื่อโครงการหรือกิจกรรมใดๆที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ กำลังที่จะเปิดดำเนินการตามแผนการลงทุนชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ ได้รับฟังข้อมูลที่จะต้องมีตามมาตรา 303 (1) แล้ว ชุมชนเหล่านั้นเชื่ออย่างมีหลักการและเหตุผลทางวิชาการประกอบว่า...โครงการหรือกิจกรรมนั้น ถ้าเริ่มเปิดดำเนินการโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบไว้ก็อาจจะส่งผลกระทบที่รุนแรงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากร และสุขภาพ ก็ชอบที่จะใช้สิทธิดังกล่าวฟ้องร้อง

ต่อศาล เพื่อให้หน่วยราชการระงับการเปิดโครงการหรือกิจกรรมนั้นเอาไว้ก่อนได้แต่ถ้าพิจารณาว่า...สิทธิชุมชนเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่เริ่มดำเนินการตามโครงการหรือกิจกรรมใดๆ เพียงแค่มีการคาดเดาว่าจะเกิดผลกระทบ ก็สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 67 วรรคสาม ได้ปัญหาก็คงจะตามมาอย่างเหลือคณานับ! 

มารู้จักฉายารัฐบาล-นักการเมืองแห่งปีโดยคนเสื้อแดง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานีประชาชน หรือ พีเพิลชาแนล ได้จัดทำฉายาของรัฐบาลและรัฐมนตรี โดยนำมาแจกจ่ายให้สื่อมวลชน โดยได้ตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังนี้
รัฐบาล ได้ฉายาว่า รัฐบาลเทพรับประทาน

เนื่องจากว่าทุกครั้งจะอ้างเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนแต่ผลงานออกมาคือการทุจริต คำนึงถึงส่วนตัวเป็นใหญ่ หลายโครงการ เช่น โครงการไทยเข้มแข็ง รถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ตลบอบอวลด้วยผลประโยชน์ทางตัวเลขและคอมมิชชั่น ครั้งหนึ่งเคยได้ฉายาว่า รัฐบาลเทพประทาน แต่เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งก็โหยหาประโยชน์ในลักษณะมูมมาม ไม่อายฟ้าดิน จึงเปลี่ยนจากรัฐบาลเทพประทาน มาเป็น รัฐบาลเทพรับประทาน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ฉายาว่า เด็กดื้อข้างโพเดียม

เพราะ การตัดสินใจหลายเรื่องของนายอภิสิทธิ์ มักผิดพลาดเสมอ แต่จะแก้ตัวน้ำขุ่น ๆ โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากใครเพราะมีความเชื่อมั่นสูง เห็นได้จากการตั้งผบ.ตร.ที่ใช้จุดเด่นในการพูดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง

พรรคร่วมรัฐบาล ได้ฉายาว่า สวนสัตว์ซ่อนดาบ

เพราะ การเชิญพรรคร่วมทั้ง 5 พรรคตั้งรัฐบาลเหมือนเอาเสือ สิงห์ กระทิง แรด มาเกาะเกี่ยวกันหาผลประโยชน์ มือหนึ่งเจรจาเรื่องผลประโยชน์ แต่อีกมือหนึ่งก็พร้อมจวกแทงทันทีหากอีกฝ่ายเผลอ

สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีฉายาว่า สภาตกเลข

เพราะ ทุกครั้งที่จัดประชุม ต้องนับองค์ประชุมเนื่องจากส.ส.และส.ว.ไม่ค่อยเข้าประชุม แต่มาขอขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง ซึ่งสถิติในรอบ 10 เดือนของรัฐบาลปรากฏว่าสภาล่มไปแล้ว 11 ครั้ง ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐสภาไทย

นอกจากนี้ยังมีฉายานักการเมืองคนอื่น ๆ อาทิ

นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้ฉายา ชัย ชวนชื่น

เพราะทุกครั้งที่เป็นประธานบนบังลังก์จะใช้มุขตลกหากินเอาตัวรอด เพื่อเรียกบรรยากาศให้กลับมาประชุมกันได้ต่อ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ได้ฉายา มาเฟียความมั่นคง

เพราะ มีความหวาดระแวงคนเสื้อแดง อ้างสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองเพื่อฉวยโอกาสประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคง และพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งในรอบ 10 เดือนประกาศไปแล้ว 8 ครั้ง เสียงบกว่า 2 พันล้านบาท

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ฉายา ลำโพงดอกแหว่ง

เพราะดูแลสื่อของรัฐแต่มาล้ำเส้นสื่อเข้าข่ายแทรกแซง โดยใช้คำพูดให้ดูดีว่าขอความร่วมมือ

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้ฉายา กุ๊ยมีเส้น

เนื่อง จากพฤติกรรมที่ผ่านมามีแต่ทะเลาะกับคนอื่นและประเทศเพื่อนบ้านไปทั่ว ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันแต่นายอภิสิทธิ์ ยังประคบประหงมเพื่อไม่ให้เกิดรอยร้าวกับพันธมิตรฯ

วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552

“พัลลภ”ปลุกปชช.สู้ราชดำเนิน


เมื่อเวลา 19.00 น.ที่หน้าว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี สมาชิกพรรคเพื่อไทยขึ้นเวทีปราศรัยช่วยนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่าจากนี้ไปคนเสื้อแดงจะไม่โดดเดี่ยวเหมือนช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเพราะตน และอดีตจปร.กว่า 100 คนจะรวมเป็นร่วมตายขับไล่โจรที่ปล้นประชาธิปไตย และคนที่ทรยศต่อประชาชน นอกจากนี้ยังมีกองทหารพรานปักธงชัย นักรบเสื้อดำที่คอยรบทั้งในและต่างประเทศเกือบพันคน ภายใต้การนำของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิทหารบก

“ยืนยันว่าเราจะชนะอย่างแน่นอน หากพี่น้องร่วมใจกันเข้าไปเป็นล้านๆคน ผมเป็นทหารมาตลอดชีวิต จึงรู้เลยว่าทำอย่างไรที่จะทำให้พวกเราได้รับชัยชนะ แต่หากเราไม่ได้รับชัยชนะ คนที่ตายคนแรกคือผม ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเสียสละ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงอยู่อย่างสันติสุข เราจะอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ประชาชนต้องการประชาธิปไตย เราจึงจำเป็นต้องสู้ และเสียสละ กับทหาร เราไม่ต้องไปกลัว เพราะผมคุมทหารตลอดชีวิต รู้ว่าพวกมันไม่กล้ายิงประชาชน ทำได้อย่างเดียวยิงขึ้นฟ้า”พล.อ.พัลลภกล่าว และว่า ขณะนี้ทราบว่ามีตำรวจอยู่ฝ่ายเราถึง 80% ส่วนทหารอยู่กับโจรปล้นประชาธิปไตยนั้นน้อยมาก ฉะนั้น ไม่นานนับจากนี้ประเทศเราจะมีความมั่นคง ประชาชนอยู่อย่างสันติสุขภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่นานเกินรอ ไม่เกินเดือนเมษายน หากประชาชนพร้อมใจกันต่อสู้ พร้อมใจกันไปถนนราชดำเนิน

ฉายาสภาผู้แทนฯ ถ่อยเถื่อนถีบ เฉลิมดาวดับ ปี 52


ที่มา:ไทยรัฐ
สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ตั้งฉายาสภาผู้แทนราษฎร ปี 52“ถ่อย-เถื่อน-ถีบ” ส่วนวุฒิสภา เป็น “ตะแกรงก้นรั่ว” ด้าน"ชัย ชิดชอบ " ถูกยกให้เป็น “ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์” ขณะที่ "เฉลิม" กลายเป็น "ดาวดับ"


ตามธรรมเนียมปฏิบัติของทุกปี ที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ได้ร่วมกันระดมความเห็นในการตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งสองสภาคือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิก และการทำงานของ ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยในรอบปี 2552 สื่อมวลชนประจำรัฐสภา เล็งเห็นว่าผู้ที่ทำหน้าที่นี้มีความสำคัญ ต่อการเปลี่ยนผ่านการเมืองของประเทศ หลังจากเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง จึงอาศัยเทศกาลปีใหม่นี้ ตั้งฉายาให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ตามผลงานที่ปรากฏออกมา ในมุมมองของสื่อมวลชน

สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ขอยืนยันว่า ในการตั้งฉายารัฐสภาทุกครั้งได้ใช้เหตุผล ความบริสุทธิ์ใจ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้อคติ ปราศจากการแทรกแซงจากทุกฝ่าย สำหรับฉายาที่ตั้งขึ้นได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยผลการพิจารณามีดังต่อไปนี้

ฉายาสภาผู้แทนราษฎร -“ถ่อย-เถื่อน-ถีบ”

ตลอดหนึ่งปี ภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรตกต่ำอีกครั้งเพราะเต็มไปด้วยความมแตกแยกอย่างหนักระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล จนเกือบมีการใช้ความรุนแรง ทั้งการเปิดศึกหวิดวางมวยกลางสภากันหลายครั้ง หรือมีการโต้เถียง ท้าทายการนับองค์ประชุมกันดุเดือด ด่ากันด้วยด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมและบางครั้งถึงขั้นหยาบคายหลายคู่ ซึ่งพบถี่มากขึ้นแทบทุกเดือน เช่น กรณีนายสมคิด บาลไธสง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ที่ยั่วฝ่ายรัฐบาลด้วยการเดินตรวจการเสียบบัตรลงคะแนนของสมาชิกรอบห้องประชุม จนเกือบวางมวยกับนายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรี่จะเข้ามาชกและยกเท้าเตรียมถีบ จนต้องเข้าห้ามกันชุลมุนท่ามกลางถ้อยคำผรุสวาทของสองฝ่าย

หรือกรณีที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อนายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย กล่าวคำหยาบคายถึงขั้นชูนิ้วกลางให้นายรณฤทธิชัย คานเขต ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อแผ่นดิน ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนจะท้าไปดวลกันนอกห้องประชุม พฤติกรรมเหล่านี้ได้สร้างความเสื่อมทรามให้กับสภาผู้แทนราษฎรในยุคการเมืองต่อสู้กันรุนแรง และดำเนินต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วถึงปัจจุบัน กรณีที่นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย สร้างวีรกรรมกระโดดถีบทำร้ายร่างกายนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จนศาลมีคำพิพากษาเมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ให้จำคุกนายการุณ1 เดือน รอลงอาญากำหนด 2 ปี ทั้งนี้พฤติกรรม สส.ที่ก้าวร้าวมากขึ้นนอกจากไม่เป็นแบบอย่างที่ดีของสภาผู้ทรงเกียรติแล้ว ยังมีส่วนกระตุ้นให้สังคมแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง โดยไม่ใช้หลักเหตุผล

ฉายาวุฒิสภา-“ตะแกรงก้นรั่ว”

วุฒิสภาได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสภาสูง ที่คอยตรวจสอบและกลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนเข้ามาบริหารประเทศก็ตาม แต่หลังจากเกิดการสวิงสับขั้วทางการเมือง ภาพการตรวจสอบของวุฒิสภากลับไม่เข้มข้นเหมือนรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อครหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล จนทำให้สังคมผิดหวังกับบทบาทการตรวจสอบของวุฒิสภา เสมือนว่าทุกอย่างหยุดนิ่ง เสมอตัว เหมือนความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ ขณะเดียวกันภาพของวุฒิสภากลายเป็นองค์กรที่คอยตอบแทนบุญคุณกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.สรรหา หรือ ส.ว.เลือกตั้ง จนทำให้พฤติกรรมของสภาสูง ไม่แตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำให้การประชุมต้องล่มซ้ำซาก เพราะเกิดความขัดแย้งระหว่าง ส.ว.สรรหา กับส.ว.เลือกตั้ง ขณะเดียวกันยังมีการวิ่งเต้นล็อบบี้ ให้วุฒิสภาผ่านกฎหมายสำคัญของรัฐบาล

ล่าสุดนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ได้ออกหนังสือเรื่อง “ความรับผิดชอบของสมาชิกรัฐสภาและสภาฯล่มซ้ำซาก” ระบุว่า มีการวิ่งเต้นของแกนนำกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้วุฒิผ่าน ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินโดยเร็ว จนทำให้บทบาทการตรวจสอบเหมือนกับตะแกรง ในการแยกสิ่งดีไม่ดีออกจากกัน ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงไม่ต่างจากตะแกรงก้นรั่วนั่นเอง

ฉายาประธานสภาผู้แทนราษฎร(นายชัย ชิดชอบ) - “ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์”

ท่ามกลางสภาวะการเมืองสองขั้ว ทำให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องรับบทหนักในการทำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุมสภาฯ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง รุนแรง วุ่นวาย ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา แต่ด้วยชั้นเชิงที่คร่ำหวอดในสภามานาน ทำให้นายชัย ใช้บทร้อยเล่ห์ทั้งการประนีประนอม ใช้ทั้งไม้แข็งและไม้นวม กระทั่งใช้ความอาวุโสความเป็น “พ่อเฒ่า” หลอกล่อสมาชิกรุ่นลูก ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลจนหัวหมุน หลงประเด็น โดยเฉพาะการปล่อยมุขขำขันออกมากลบประเด็นจนช่วยผ่อนคลาย บรรยากาศตรึงเครียดระหว่างการประชุม และประคองไม่ให้การประชุมล่มได้หลายครั้ง การทำหน้าที่ของนายชัยด้วยชั้นเชิงที่แพรวพราวดัง “ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์” นี่เอง จึงทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลส่วนใหญ่ต่างยอมรับกับบทบาทการทำหน้าที่ของนายชัยในการทำหน้าที่ประธานการประชุม

ฉายาประธานวุฒิสภา(นายประสพสุข บุญเดช) “ประธานหลักเลื่อน”

ด้วยต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิม และส.ว.ส่วนใหญ่ให้ความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นเสาหลักของวุฒิสภา เพราะเคยเป็นถึงอดีตประธานศาลอุทธรณ์ ทุกฝ่ายจึงต่างคาดหวังว่าการทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาของนายประสพสุข บุญเดช จะสามารถเป็นเสาหลักให้กับสภาสูงได้ แต่บทบาทของประธานวุฒิสภาหลายครั้งได้สร้างความผิดหวังกับสังคม เช่น กรณีการเป็นตัวแทนของฝ่าย ส.ว.เข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน เพื่อหาทางออกปัญหาความขัดแย้งในสังคม กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อถูกทักท้วงจากสมาชิกบางส่วน ว่าไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของวุฒิสภา ทำให้นายประสพสุข ไม่กล้าตัดสินใจใช้อำนาจในฐานประมุขของสภาสูงในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และบ่อยครั้งมักจะโอนเอนไปตามแรงกดดันของสังคมหรือเกมการเมือง ทำให้เกิดภาวะเลื่อนลอย เปรียบเหมือนหลักยึดที่เลื่อนไป-มาตามแรงกดดัน จนขาดภาวะผู้นำของสภาสูง ขณะเดียวกันท่ามกลางประเทศประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ประธานวุฒิสภา กลับพาสมาชิกไปดูงานต่างประเทศ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม แทนที่จะทำเป็นตัวอย่าง กลับทำเสียเอง

ดาวเด่น “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย”

บทบาทที่ผ่านมาของนพ.ชลน่าน ต่อการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯถือว่ามีความโดดเด่น โดยเฉพาะการอภิปรายในสภาฯที่ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาฯมาเป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลัก ไม่มุ่งเน้นอภิปรายรัฐบาลด้วยการใช้วาทศิลป์เป็นสำคัญ ทำให้การประชุมไม่สามารถดำเนินการไปได้ ขณะเดียวกันแม้ว่าจะมีบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล อย่างเช่นการอภิปรายเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ซึ่งนพ.ชลน่านก็สามารถยกข้อเท็จจริงและประเด็นทางกฎหมายมาหักล้างได้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณที่ผ่านมา

ดาวดับ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย”

เคยมีวลีที่รู้กันอยู่ในวงการเมืองว่า ถ้าไปทะเลเจอฉลาม แต่มาสภาฯเจอเฉลิม ที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิม เป็นบุคคลที่หากใครเป็นรัฐบาลแล้ว ร.ต.อ.เฉลิม เป็นฝ่ายค้านจะมีการทำหน้าที่ทั้งในสภาฯและนอกสภาฯในการตรวจสอบการทำงานในสภาฯอย่างเข้มข้น ด้วยข้อมูลที่สร้างความสั่นสะเทือนให้คนที่เป็นรัฐบาลได้พอสมควร แต่ปรากฏว่า ร.ต.อ.เฉลิม ในวันนี้กลายเป็นดาวอับแสง ด้วยบทบาทการทำหน้าที่ของตนเองที่แทบจะหาสาระหลักไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายหรือการยื่นกระทู้ถามในสภาฯ กับไม่ได้แสดงความเป็นขุนศึกของฝ่ายค้านได้อย่างที่สมศักดิ์ศรี มีแต่วาทะที่เชือดเฉือนกระแนะกระแหนไปยังฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพุ่งเป้าไปที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มุ่งไปที่เนื้อหาสาระของการอภิปรายที่เคยทำได้อย่างโดดเด่นเหมือนที่ผ่านมา

เหตุการณ์เด่นแห่งปี “การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อหาทางออกกรณีวิกฤตการเมือง”

เหตุการณ์แห่งปีต้องยกให้กับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 22-23 เม.ย.2552เพื่อพิจารณาญัตติด่วนที่รัฐบาลขอคำเสนอแนะจากสมาชิกรัฐสภาเพื่อหาทางออกในการแก้ไขวิกฤตการทางการเมืองหลังเกิดเหตุการณ์ “สงกรานต์จลาจล” หลายฝ่ายคาดหวังว่า การประชุมรัฐสภานัดนี้ จะช่วยให้ความตรึงเครียดทางการเมืองลดอุณหภูมิลง แต่ปรากฎว่า เวทีรัฐสภากลับไม่เป็นที่พึ่งหวังในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะไม่ได้เป็นการประชุมอย่างสร้างสรรค์ หลายประเด็นที่หยิบมาพูด และมีการถ่ายทอดสดด้วยนั้นถูกมองว่าเป็นการบิดเบือนข้อมูลและปลุกระดมซ้ำ ทั้งกรณีรถแก๊ส , การป่วนเมืองที่มาจากกลุ่มที่มีความขัดแย้งกันอยู่ เนื้อหาการอภิปรายมุ่งเอาชนคะคานกันด้วยคำพูด กล่าวหากันโดยไม่มีหลักฐานข้อพิสูจน์ ทำให้เกิดการประท้วงวุ่นวาย เพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นไปอีก และแม้ผลสรุปของการประชุมรัฐสภาจะมีการตั้งคณะกรรมการสองชุด คือ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์การชุมนุม แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่มีผลความคืบหน้าในการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ขณะที่ความรุนแรงทางสังคมยังคงอยู่

วาทะแห่งปี “พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม”

วาทะดังกล่าวส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้หยิบมาพูดหลายครั้งเพื่อยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้กระทำทุจริตหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกพ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปีในคดีทุจริตที่ดินรัชดา ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้หยิบวาทะนี้มาพูดในสภา ระหว่างตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ต.ค. เรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยระบุว่า “ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยทำทุจริต ที่ถูกศาลตัดสินเป็นเรื่องทำสิ่งที่กฎหมายห้าม แต่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย " พร้อมทั้งท้าทายว่า หากเป็นเรื่องทุจริตจริงจะเอาปริญญาเอกนิติศาสตร์ไปคืนมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่ง วาทะดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นเด่นชัดว่า เป็นการเลี่ยงบาลี บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนเกิดความสับสนในคำพิพากษาศาลฎีกา และเป็นการสะท้อนจุดยืนและบรรทัดฐานทางการเมือง ของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่ไม่สมกับอวดอ้างสรรพคุณตัวเองว่า จบด๊อกเตอร์ด้านกฎหมาย

คู่กัดแห่งปี “นายจตุพร พรหมพันธุ์ -นายวัชระ เพชรทอง”

นักการเมืองคู่นี้เป็นศิษย์ร่วมสถาบันเดียวกัน แต่เมื่อมาอยู่ต่างพรรคต่างขั้ว ทำให้วิถีทางการต่อสู้ทางการเมืองต้องเข้าห้ำหั่นกัน ด้วยความที่รู้ไส้รู้พุงกันตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาทำให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มักมีประเด็นวิวาทะกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันมาโดยตลอด บางจังหวะเลยเถิดไปถึงการพาดพิงบุพการี ทำให้อุณหภูมิในสภาเดือดดาลอยู่หลายครั้ง จนบางครั้งหวุดหวิดที่จะวางมวยกันในสภาฯ นอกจากนั้นไม่พอ นายจตุพรและนายวัชระยังออกมาท้าทายกันที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภาเป็นประจำ จึงทำให้ศึกสายเลือดระหว่าง ส.ส.หนุ่มคู่นี้จึงถูกยกให้เป็นคู่กัดแห่งปี

คนดีศรีสภาฯ “นายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์”

ปัญหาการทำงานของสภาฯในรอบปีที่ผ่านมาเรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือ สภาล่มบ่อยครั้ง 11 เดือน 11 ครั้ง เพราะส.ส.ไม่รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ไม่เข้าประชุมสภาฯทำให้งานสภาฯเดินหน้าไปไม่ได้ แต่นายเจริญ ซึ่งมีอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ขั้วตับ กลับเข้าประชุมสภาและร่วมลงมติผ่านกฎหมาย 88 ครั้งจากการประชุมสภา การลงมติ 100 ครั้ง และในช่วงก่อนปิดสมัยการประชุม ที่เกิดเหตุการณ์สภาล่มติดกันซ้ำซาก นายเจริญยังได้เข้าร่วมประชุมด้วยทั้งที่พึ่งเข้ารับการผ่าตัดโรคมะเร็งก่อนหน้านี้ 1 วัน จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนดีศรีสภา เพื่อเป็นตัวอย่างของคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างสมศักดิ์ศรี

ฉายาผู้นำฝ่ายค้าน -ไม่มีการตั้งฉายา หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ จับมือพรรคต่างๆ พลิกขั้วมาจัดตั้งรัฐบาลได้โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติด้วยเสียงข้างมากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 15 ธ.ค. 2551 ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน อย่างไรก็ดี การที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งจัดตั้งหลังจากคดียุบพรรคพลังประชาชน ไม่ตั้งหัวหน้าพรรคจากบุคคลที่เป็นส.ส.อยู่ในสภา ทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 110 บัญญัติว่า ผู้นำฝ่ายค้านคือ ส.ส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่ส.ส.สังกัดของพรรคตนมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่ส.ส.ในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กรณีดังกล่าว สื่อมวลชนประจำรัฐสภา จึงมีมติเอกฉันท์ งดการตั้งฉายาผู้นำฝ่ายค้าน ในฉายารัฐสภาประจำปี 52

เดอะซี่รี่ส์ เขายายเที่ยง.!!!????


ที่มา:หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
โดย ลอย ลมบน

ทำท่าว่าจะกลายเป็นซีรี่ส์เรื่องยาวเสียแล้วสำหรับกรณีเข้าไปยึดครองพื้นที่ป่าสงวนบนเขายายเที่ยงของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ที่ว่าเป็นซีรี่ส์เรื่องยาวก็เพราะมันกั๊กๆกันอยู่ยังไงชอบกลสำหรับเรื่องนี้ 1.เมื่อมีคนไปฟ้องโดยตรงต่อศาล ศาลก็ไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

2.ผู้เสียหายโดยตรงอย่างกรมป่าไม้ไม่คิดที่จะขยับดำเนินการอะไร 3.ร้ายไปกว่านั้นคือตำรวจหลายโรงพักที่มีประชาชนไปแจ้งความดำเนินคดีไว้ก็ไม่ได้ทำให้คดีมีความคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งที่กรณีนี้เป็นความผิดชัดเจน เนื่องจากมีการสรุปผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ชาวบ้านที่ถือครองที่ดินอยู่ในละแวกเดียวกันหลายรายก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว

บางรายศาลตัดสินให้จำคุก 10 ปี แต่ปรานีลดให้เหลือแค่ 4 ปี

แต่สำหรับกรณีที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.สุรยุทธ์กลับไม่มีความคืบหน้าด้วยประการทั้งปวง

ได้เขียนไปแล้วครั้งหนึ่งว่ากรณีนี้ พล.อ.สุรยุทธ์มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ จะเป็นสุภาพบุรุษเก็บข้าวของเดินออกจากบ้านพักที่ไปสร้างไว้แล้วคืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้ หรือจะเลือกแนวทางเป็นจำเลยขึ้นต่อสู้คดีความในชั้นศาล

ถ้าจำความไม่ผิดน่าจะเคยได้ยิน พล.อ.สุรยุทธ์พูดในสมัยที่ยังนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีว่าหากผลการสอบสวนออกมาว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนจริงก็ยินดีจะคืนให้

วันนี้ผลสอบออกมาชัดเจนแล้วแต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคืน

กรณีของ พล.อ.สุรยุทธ์ถือว่าท้ายทายจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งจริยธรรมในตัวของ พล.อ.สุรยุทธ์เองที่เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีและนั่งเป็นองคมนตรีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่สมควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อประชาชน

ที่สำคัญคือท้าทายรัฐบาลเด็กดื้อข้างโพเดียมที่จีบปากจีบคอพูดทุกวันนี้จะไม่ยอมให้ใครละเมิดกฎหมายบ้านเมือง จะทำหน้าที่รักษากฎหมายอย่างเต็มที่

เรื่องนี้จึงเป็นการท้าทายอย่างที่สุดว่า “ดีแต่ปาก” หรือว่า “ทำได้จริง”

อยากเตือนว่ากรณีนี้ทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์และรัฐบาลต้องตัดสินใจให้ไวว่าจะดำเนินการอย่างไร หากปล่อยทิ้งเนิ่นนานไปจะไม่ดี เพราะจะเป็นการตอกย้ำความ 2 มาตรฐานในสังคมไทย

จะเป็นเงื่อนไขให้คนที่คิดว่าถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่แล้วไม่พอใจมากขึ้น การเคลื่อนไหวต่างๆก็จะพลอยเข้มข้นขึ้นตามไปด้วย

นี่ก็เห็นว่าหลังปีใหม่จะมีคนเสื้อแดงขึ้นไปเยี่ยมเที่ยวชมบ้านพักของท่านที่เขายายเที่ยง

ขอย้ำว่าทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์และรัฐบาลควรรีบตัดสินใจในเรื่องนี้ก่อนที่จะสายเกินไป

วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

มาตรา 67 วรรคสอง


ที่มา:บางกอกทูเดย์
บทความต่อไปนี้...อาจจะยาวและแบ่งได้หลายตอน แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง...กำลังจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งมาตรา 67 วรรคสอง บัญญัติว่า...“การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวน

การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อนรวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แูทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและผู้แูทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”มาตรา 67 วรรคสอง ที่นำมาเขียนแยกให้เห็นเป็นหลายส่วนข้างต้น จะช่วยให้การพิจารณาตามมาตราดังกล่าว มองเห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้นการดำเนินโครงการหรือ

กิจกรรม ตามความในมาตรา67 วรรคสอง คงแยกออกเป็น 2 ความหมาย คือการดำเนินโครงการ กับ การดำเนินกิจกรรมการดำเนินโครงการ คงหมายถึง การดำเนินการตามแผนหรือเค้าโครงที่จะกำหนดเอาไว้ เช่นโครงการก่อสร้างอาคารชุด โครงการรถไฟฟ้าโครงการเช่ารถเมล์ หรือโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิพิจารณาคำว่า “โครงการ” อย่างเดียวก็คงครอบคลุมแทบทุกอย่างที่จะทำการก่อสร้างหรือดำเนินการขึ้นทั้งในส่วนโครงการที่เป็นของราชการ รัฐ

วิสาหกิจและรวมไปถึงของเอกชนภายในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศโครงการจึงตีความหมายได้อย่างมากมาย เรียกว่า...แทบทุกอุตสาหกรรมก็อยู่ในความหมายนี้ทั้งสิ้นมิใช่เพียงเฉพาะพื้นที่ของมาบตาพุดเท่านั้นแต่จะกินความรวมไปถึงทั่วทุกพื้นที่ของไทยทั้งทางบกและทางทะเลอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การทำเหมือง การระเบิดหินการสร้างโรงงาน การทำรถไฟฟ้า การสร้างสนามบินการทำสนามกอล์ฟ การสร้างอาคารชุด การสร้างเขื่อนและการตัดถนนล้วนแต่

มีสิทธิโดนระงับได้ทั้งสิ้นถ้ามีการคัดค้านขึ้นมาอีกตัวอย่างที่อาจจะถูกคัดค้านก็เช่น “โครงการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่”ซึ่งถ้าพิจารณาตามความในมาตรา 67 วรรคสองแล้ว ชุมชนในบริเวณดังกล่าว ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐให้คุ้มครองได้ เช่นเดียวกับ 76โครงการของมาบตาพุดมาพิจารณาต่อที่คำว่า “กิจกรรม” ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่มีความหมายหรือคำจำกัดความเอาไว้แต่กิจกรรมก็คงหมายถึงกิจการหรือการงานที่ประกอบ เพียงคำว่าการงานที่ประกอบ ก็ตี

ความได้อย่างกว้างขวางเช่นกันการงานที่ประกอบจะสามารถตีความไปถึง การทำอาชีพต่างๆ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง การอุตสาหกรรมการพาณิชย์ การสื่อสารมวลชนที่ต้องมีโรงพิมพ์การเกษตรที่ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์และยาฆ่าแมลงการเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์ เป็นต้นการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ จึงอาจถูกชุมชนใช้สิทธิฟ้องร้องต่อหน่วยงานของรัฐเอาได้ทั้งนี้ เพราะได้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีตัวอย่างขึ้นมาแล้ว ในโครงการของมาบตาพุดทั้ง 76 โครงการการฟ้อง

ร้องดังกล่าว ทำให้โครงการที่มาบตาพุดต้องหยุดดำเนินกิจการอย่างถาวรหรือไม่คงต้องรอฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต่อไปแต่สิทธิชุมชนที่จะฟ้องร้องนั้น เกิดขึ้นมาแล้ว โดยไม่ต้องรอบทบัญญัติแห่งกฎหมายมารองรับและกำลังจะมีการใช้สิทธิชุมชนต่อไปอีกใน 181 โครงการ...ซึ่งฟังดูแล้วก็คงจะเป็นการใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แต่ก็ต้องพิจารณาตามมาด้วยว่า...ชุมชนที่จะใช้สิทธินั้นมีขอบเขตจำกัดแค่ไหน? 

"อภิชาต"ตั้งทีมคุมเข้มคดียุบพรรคปชป. เลขาฯกกต.ชี้พบหลักฐานใหม่เสนอเปลี่ยนมติได้


ที่มา:มติชนออนไลน์

"อภิชาต" ตั้งคณะทำงานดูคดีเงินบริจาค 258 ล้าน ยุบไม่ยุบประชาธิปัตย์ เลขาฯกกต. ย้ำเพื่อความละเอียดถี่ถ้วน ไม่ได้ซื้อเวลา ชี้หาพบหลักฐานใหม่ประธานเสนอเปลี่ยนมติได้

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดูเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)พรรคการเมือง เกี่ยวกับการพิจารณาสำนวนเงิน 258 ล้านบาทที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาอาจได้รับจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจขัดต่อพ.ร.บ.พรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างการใช้ดุลพินิจของนายอภิชาต


นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมว่า ทราบว่านายอภิชาตตั้งคณะทำงานขึ้นมา1 ชุด โดยมีผู้แทนจากด้านกิจการพรรคการเมือง และจากสำนักกฎหมายและคดี เพื่อมาดูในเรื่องข้อกฎหมายของพ.ร.บ.พรรคการเมือง เพราะขณะที่ร้องนั้นเป็นการร้องในความผิดของกฎหมายพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2541 แต่ปัจจุบันเป็นการใช้กฎหมายใหม่ปี 2550 จึงต้องดูอย่างรอบครอบ และเรื่องนี้คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนไม่ได้พิจารณามาให้ และการตั้งคณะทำงานขึ้นมาไม่ได้ยื้อเวลาอย่างที่บางฝ่ายกล่าวหา


“การทำงานของกกต.ที่ผ่านมา สำหรับเรื่องนี้ใช้เวลากว่า7เดือน ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติ เพราะทุกอย่างมีขั้นตอน ที่ทุกคนเห็นว่าช้า เนื่องจากกรณีดังกล่าวมีความซับซ้อน มีทั้งประเด็นข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวกับพ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)สอบสวนมา และในส่วนของประเด็นพ.ร.บ.พรรคการเมืองที่ต้องดำเนินการ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก1 ชุด เพื่อความรอบคอบ”


นายสุทธิพล กล่าวว่า ขณะนี้เป็นการดำเนินการตามมติเสียงข้างมากที่ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมาดำเนินการตามมาตรา 95 พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งต้องดูอีกครั้งหากมีข้อเท็จจริงใหม่ หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า มีหลักฐานใหม่แล้วมีความชัดเจนการลงมติอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งในอดีตเคยมีแต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นบ่อย เช่นเดียวกับหลายหน่วยงาน แต่ต้องดูตามเหตุผลที่สามารถต้องอธิบายได้ เชื่อว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงมติจริงๆ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องมีเหตุผลอธิบายต่อสังคมได้ ทั้งนี้ยอมรับว่าการทำงานของนายทะเบียนพรรคการเมือง และกกต. อยู่ภายใต้การกดดันของกระแสสังคม ซึ่งกกต.จะไปทำตามกระแสไม่ได้ เพราะจะเกิดผลกระทบ


เมื่อถามว่า กกต.ทำงานล่าช้าเพราะต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเรื่องการยุบพรรค เพื่อช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ อย่างที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยคาดการณ์หรือไม่ นายสุทธิพล กล่าวว่า เป็นไปไมได้ เพราะขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถ้าแก้ไขจริงต้องใช้เวลา ซึ่งการพิจารณาคดีดังกล่าวคงไม่ใช่เวลานานขนาดนั้น

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กรรมกร Where are you (ตอนจบ)



ที่มา:บางกอกทูเดย์

การปกครองแบบ “เผด็จการรัฐสภา” ได้ทำลายความมั่นคงแห่งชาติอย่างร้ายแรงเป็นต้นเหตุแห่งความทรุดโทรมวิกฤติล่มจมของชาติ และทำให้เอกราชและอธิปไตยของชาติอ่อนแอเป็นเหตุให้ต่างชาติเข้ามารุกรานยึดครองประเทศชาติ บ้านเมืองทั้งทางเศรษฐกิจ คือ สงครามรุกรานทางเศรษฐกิจระบบเศรษฐกิจ

แห่งชาติทั้งเศรษฐกิจภาคสาธารณะและเศรษฐกิจภาคเอกชนถูกรุกรานยึดครองเช่น นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจอันเป็นนโยบายรุกรานของต่างชาติและกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับที่เป็นกฎหมายทาสให้ต่างชาติรุกรานยึดครองประเทศไทยทางเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จทั่วด้านเศรษฐกิจภาคเอกชนไทย ถูกกฎหมายล้มละลายยึดกุมอำนาจบริหารและใช้อำนาจบริหารยึดกุมกิจการแผ่นดินสินทรัพย์อันเป็นการทำลายความมั่นคงแห่งชาติทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด

เศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของชาติที่สำคัญยิ่ง การรุกรานยึดครองชาติ เช่น ธนาคารไทยถูกต่างชาติรุกรานยึดครองจนหมดสิ้น และนำเอาธนาคารในฐานะเจ้าหนี้ไปยึดแผ่นดินสินทรัพย์ธุรกิจบ้านช่องของลูกหนี้ไทยทั่วทุกหย่อมหญ้าจนขณะนี้ “กรรมสิทธิ์ไทยถูกทำลายเปลี่ยนเป็นกรรมสิทธิ์ต่างชาติ” ไปเกือบหมดแล้วข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) คือการขายอำนาจอธิปไตยของชาติกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ คือ รูปธรรมของอธิปไตยต่างชาติพ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ

การตัดแบ่งแยกรัฐขายให้แก่ต่างชาติดังนั้น การหยุดงานทั่วไปเพื่อผลักดันให้ผู้ปกครองยกเลิกการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภาที่เป็นต้นเหตุของการขายชาติ และการรุกรานของต่างชาติด้วยการสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายสูงสุดคือ ยุติการทำลายความมั่นคงของชาติโดยเด็ดขาดสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตย คือ การปฏิบัติตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 2 “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี

พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ” และทำตามมาตรา 3 “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”อันเป็นการรับสนองพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 คือ สร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยและสร้างการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยใช้หลักกฎหมาย และใช้หลักการปกครองที่ถูกต้องแก้ปัญหาประเทศชาติที่วิกฤติที่สุดในโลกแล้วอันเป็นสิทธิเสรีภาพทางความคิดของมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า “เสรีภาพทางความคิดเป็นรากฐาน

ของเสรีภาพทั้งปวง” จึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องสิทธิด้านแรงงานระหว่างประเทศโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ในองค์การสหประชาชาติได้รับรองสิทธิด้านแรงงานเป็นสิทธิสากลคือ สิทธิในการหยุดงานทั่วไป หรือ การหยุดงานย่อย ประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติและเป็นภาคีของ ILO ด้วยดังนั้น ด้วยเหตุผลหลักการและความถูกต้องทั้งสิ้นดังกล่าวข้างต้นนี้ กรรมกรแรงงาน ทั้งกรรมกรรัฐวิสาหกิจและกรรมกรเอกชน รวมทั้งประชาชนทุก

หมู่เหล่าทั่วประเทศต้องร่วมกันเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างสันติอหิงสาพุทธเพื่อหยุดงานทั่วไป เพื่อผลักดันให้ยกเลิกการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา สร้างการปกครองแบบประชาธิปไตย สร้างการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย สร้างรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยเพื่อให้มีการปกครองเฉพาะกาลสร้างประชาธิปไตยเพื่อหยุดการรุกรานยึดครองของต่างชาติ หยุดการขายชาติบ้านเมือง หยุดการคอร์รัปชั่น หยุดการปล้นประชาชนขายชาติโดยเร็วที่สุด 

นิรนาม นิรกาย

“การหยุดงาน” ของลูกจ้างในสถานประกอบการเป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาที่สร้างความหนักอกหนักใจให้แก่นายจ้างทั้งทางภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นอย่างมากทั้งนี้ เพราะการหยุดงาน ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองสูญเปล่าและส่งผลกระทบต่อการผลิตและบริการเมื่อ 7-10 ปี ที่ผ่านมา อัตราการหยุดงานในสถานประกอบการของลูกจ้างสูงถึงร้อยละ 5-6 (ประมาณ 15-18 วันต่อปี/คน)แต่ในปัจจุบันนี้อัตราการหยุดงานลดลงโดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่าขณะนี้อัตราการหยุดงานอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 2-3ในขณะที่สถานประกอบการที่มีการบริหารและการควบคุมอย่างจริงจังอาจมีอัตราสูงเพียงร้อยละ 1.5-2 เท่านั้นโดยเหตุที่

การหยุดงานก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอย่างมากสถานประกอบการเป็นจำนวนไม่น้อยจึงมีการจัดทำแผนการลดอัตราการหยุดงาน แล้วนำมารวมไว้กับแผนการดำเนินธุรกิจประจำปีและจัดให้มีการควบคุมอย่างจริงจังซึ่งปรากฏว่า “ได้ผล”การลดอัตราการหยุดงานมิใช่เป็นสิ่งที่จะบรรลุความสำเร็จได้โดยง่าย จำเป็นต้องอาศัยหลักและวิธีการตลอดจนความสนใจอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการวิเคราะห์เหตุผลที่ทำให้พนักงานหยุดงานและลักษณะของ

พนักงานที่หยุดงานตลอดจนการพิจารณาปัจจัยหรือตัวแปรอื่นๆ อีกมากการดำเนินการกับผู้ที่หยุดงานมากๆ มีอยู่ 2 วิธี คือ การใช้ไม้นวม (CONSTRUCTIVE APPROACH) กับ การใช้ไม้แข็ง (COERCIVE APPROACH)การใช้ไม้นวม หมายถึงการเริ่มต้นจากการค้นหาเหตุ และใช้การให้คำปรึกษาชี้แนะเป็นกลไกในการแก้ และถ้าไม่ดีขึ้นอาจใช้มาตรการทางวินัยเข้าช่วยกระตุ้นส่วน การใช้ไม้แข็ง ซึ่งในที่นี้หมายถึง...การใช้มาตรการแกมบังคับ ซึ่งควรจะใช้กับผู้ที่สร้าง

ปัญหาจริงๆและภายหลังจากที่ได้พยายามใช้ไม้นวมแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มาตรการนี้อาจรวมถึงการโยกย้ายหรือเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยในฐานที่ไม่พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่แต่ทั้งนี้จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าลูกจ้างมีพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นว่าได้ใช้สิทธิในการลาโดยมิชอบ และมีการหยุดงานปีละมากๆ ติดต่อกันมาหลายปีพูดกันอย่างง่ายๆ ก็คือ มากครั้ง มากวัน และมากปีจึงจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม! 

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ระลึก 14 ตุลาฯ จาก 'จีระ' ถึง 'นวมทอง'(อีกครั้ง)

ย้อนเวลาไป 2 ปีเศษ จากการใช้กำลังทหารก่อการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ก็ได้เกิดความรู้สึกสูญเสียครั้งสำคัญมาครั้งหนึ่งแล้ว ในกรณี นายนวมทอง ไพรวัลย์ ผู้ได้รับการบันทึกไว้ใน "วีกิพีเดีย สานุกรมเสรี" ดังนี้...

นวมทอง ไพรวัลย์ (พ.ศ. 2489 - 31 ต.ค. 2549) อดีตพนักงานการไฟฟ้าบางกรวย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 25849 ได้ขับรถแท็กซี่ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นโคโรลล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กทม. ของบริษัทสหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ จำกัด พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ตรากงจักร 71116 ของคณะปฏิรูปฯ และได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมาในคืนวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล จำกัด) โดยในจดหมายลาตายระบุ เพื่อลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้"

ในคืนที่นายนวมทองแขวนคอตาย เขาตั้งใจสวมเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่เคยใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้านหน้า เป็นบทกวีของรวี โดมพระจันทร์ และ ด้านหลังเป็นบทกวีของกุหลาบ สายประดิษฐ์

"พี่นวมทอง" เสียสละชีวิตโดยเอกเทศ ไม่ผ่านการปลุกระดมชักชวนจากใครทั้งสิ้น และได้รับการเชิดชูและระลึกถึงเฉพาะเพียง "ผู้รักและหวงแหนในระบอบประชาธิปไตย" เท่านั้น แม้จนกระทั่งบัดนี้ดูจะเป็นที่รังเกียจชิงชังจากฝ่าย "อำมาตยา-อภิชนาธิปไตย" และแนวร่วม

ย้อนไปไกลกว่านั้น ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วีรชนประชาธิปไตย นายจีระ บุญมาก ได้รับการบันทึกไว้ใน "วีกิพีเดีย" อีกเช่นกันว่า

จีระ บุญมาก เป็นนักศึกษาปริญญาโทสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ฟังวิทยุรายงานข่าวว่านักเรียนนักศึกษากำลังจะก่อการจลาจล และบุกเข้ายึดวังสวนจิตรลดา ไม่เชื่อว่าข่าววิทยุจะเป็นความจริง จึงออกจากบ้านเพื่อมาดูสถานการณ์ โดยซื้อส้มมาด้วย เมื่อมาถึงบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลาประมาณ 12.00 น.ก็แจกส้มให้นักเรียนช่างกล บอกว่าทหารเขามาทำตามหน้าที่ ให้ใจเย็น อย่าทำอะไรรุนแรง จากนั้นก็ถือธงชาติเดินเข้าหาทหาร ขอร้องว่าทหารอย่าทำร้ายเด็กนักเรียนที่ไม่มีอาวุธ แล้วหยิบส้มที่เตรียมมาโยนให้ทหารกิน ทหารที่ระวังอยู่เข้าใจว่าจีระจะทำร้าย จึงยิงปืนใส่ เสียชีวิตทันที นักศึกษาที่อยู่บริเวณนั้น นำธงชาติเข้ามาเช็ดเลือดจีระ ห่มร่างด้วยธงชาติ และนำศพขึ้นไปวางบนพานรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแห่ศพข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าไปที่สี่แยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

ถ้าจะถามผมว่า ชีวิตกว่าครึ่งศตวรรษมีความทรงจำไหนที่ประทับใจลึกซึ้งที่สุด ผมบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า ก็เหตุการณ์เช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั่นแหละครับ ผมเคยให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่จาก "มูลนิธิวีรชน 14 ตุลาฯ" และได้มีโอกาสบรรยายปากเปล่าถึงเหตุการณ์วันนั้น ร่วมกับคุณโอริสสา ไอราวัณวัฒน์ หนึ่งในนักเรียนอาชีวศึกษาเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ต่อมาจัดตั้ง "แนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาชน" และอีก 3 ปีถัดมาถูกยิงเข้าที่ปากและใต้คางใน "กรณี 6 ตุลา"...

ถนนด้านหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ฝั่งสวนสัตว์ดุสิต เขาดินวนาในช่วงเช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม หลังจากมีประกาศให้สลายการชุมนุม เนื่องจากรัฐบาลจอมพลถนอม (ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีใครเรียกว่า "สามทรราชย์") และเมื่อรถกระบะไม้หลังคาผ้าใบที่ถอยหลังเข้ามาจากแยกวัดเบญจมบพิตร รับเอาไม้ท่อนเอาเหล็กฟุตจากนิสิตนักศึกษาและนักเรียนอาชีวะที่ยังไม่ได้ถูก "ผู้ใหญ่" มาแบ่งฝ่ายให้ ขับจากไปไม่ถึง 5 นาที เราที่อยู่ทางด้านนี้ ก็ได้ยินเสียงโห่ร้องพร้อมๆกับภาพเพื่อนที่อยู่ด้านแยกราชวิถีถูกแก๊สน้ำตาถอยร่นมาทางผมกับเพื่อนๆอีกจำนวนมากที่กำลังจะแยกย้ายกับกลับ ส่วนหนึ่งถูกบีบลงไปในน้ำที่รายล้อมเขตพระราชฐาน...

แล้วพวกเราทางนี้ก็กรูกันเข้าไป... เพื่อรับแก๊สน้ำตาที่ทยอยมาอีกเป็นระลอก เดชะบุญที่ "พี่" เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังคนหนึ่งมาดึงแขนผมข้ามสะพานเข้าสู่เขตพระราชฐาน ก่อนที่ผมจะลัดเลาะจากด้านเข้าดิน ไปออกประตูด้านถนนราชวิถี มิไยที่ "พี่ๆ" เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทัดทานเอาไว้ แต่ความรู้สึกของคนหนุ่มอายุ 19 ในวันนั้น ตอบกลับไปว่า "พี่...ผมอยู่ไม่ได้แล้ว"

33 ปีให้หลังผมบอกตัวเองเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ที่พาตัวเองไปเมียงๆมองๆสังเกตการณ์อยู่กลางสนามหลวง ว่า...

"หนนี้มันไม่เหมือนและไม่มีวันเหมือนหรอก... มันไม่ใช่ 14 ตุลารอบใหม่อย่างที่ใครบางคนตะแบงอยากให้เป็นจนตัวซีดตัวสั่น...".

เรียบเรียงใหม่โดย: ปรีชา จาสมุทร

เพื่อไทย "ซ้อมใหญ่" อภิปรายไม่ไว้วางใจ


ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ


ฝ่ายค้าน "ชิงลงมือ" อภิปรายผลงานรัฐบาลล่วงหน้า ก่อนการลงมือแถลงจริงของฝ่ายรัฐบาล 2 วัน ก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ล่วงหน้าเกือบ 3 เดือน ก่อนสภาเปิดใน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

อาจเป็นครั้งแรกของพรรคเพื่อไทยที่มีการ "แถลง" โดยปราศจาก "เสด็จพี่- พร้อมพงศ์" อยู่ในวง แต่มีตารางข้อมูล พาวเวอร์พอยต์ เอกสารประกอบเต็มรูปแบบ

ทั้งนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรค นายปานปรีย์ พหิทธานุกร นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน และน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ หัวหน้าสำนักงานปราบโกง ร่วมวงอย่างเคร่งขรึม

วาระ 1 ปีแห่งความล้มเหลวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ถูกอภิปราย ฉายตัวอย่างเสมือนจริง

หัวหน้าพรรค "นอกสภา" นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อ้างถึงรัฐธรรมนูญ 50 แล้ว "เปิดหัว" ด้วยการนำความเห็นของ "สื่อ" มาพาดหัว

"อยากนำความเห็นของสื่อที่เป็นกลางมากกว่าความเห็นของพรรคมาเสนอ ระบุว่า 1 ปีของรัฐบาลมีแต่ทรงกับทรุด"

ตามด้วยความเห็นของ "นักธุรกิจ- น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ" ที่ใช้แนวทาง "เต๋า" ในการวิเคราะห์ "สูงสุด สู่สามัญ สูงสุดของกระบวนท่าคือการไร้กระบวนท่า การบริหารแบบไม่ต้องบริหาร รัฐบาลมีความสามารถในการแจกแถมให้ แต่ไม่มีความสามารถในการสร้างรายได้"

เช่นเดียวกับรองหัวหน้าคนที่ 1 นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ใช้แนวทาง "หนังสือพิมพ์" เป็นแนววิพากษ์

"อ่านพาดหัวหนังสือพิมพ์ บอกว่ารัฐบาลได้คะแนนบีบวก แต่พวกผม ยืนยันว่าตกแน่ รัฐบาลนี้พูดเก่ง มีศิลปะในการปั้นน้ำ"

"การให้คะแนนด้านเศรษฐกิจ โดยด้านเศรษฐกิจได้คะแนนเกรด C หรือเกือบตก ด้านความมั่นคง-การเมือง รัฐบาลได้ เกรด D สำหรับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ได้เกรด F หรือสอบตก"

ตบท้ายด้วยคำเสียดสีมีหลัก 4 เรื่อง คือ รัฐบาล 1.พูดเก่งจนบางครั้งพูดเกินความจริง 2.กู้เก่ง 3.เพาะศัตรูเก่ง และ 4.หาเหาใส่หัวเก่ง

รองหัวหน้าพรรค "ข้าวนอกนา-นายปานปรีย์ พหิทธานุกร" ประเมินผลของงานได้เป็นระบบ มากกว่า 2 คนก่อน อาทิ การปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับหน้าที่โดยเฉพาะ ครม.เศรษฐกิจ และนโยบาย 99 วัน ยังทำไม่ได้จริง

เรื่องแรกคือการก่อ หนี้ของภาครัฐ ปัญหาเรื่องการสร้างรายได้ยังเป็นปัญหาใหญ่ หนี้สาธารณะมีตัวเลขเพิ่มขึ้น ตลอด 1 ปี นับจากเดือน ธ.ค. 51 จนถึง พ.ย. 52 ตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 530,597 ล้านบาท

เรื่องเงินกู้ 8 แสนล้านบาท เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ และปิดหีบงบประมาณ แต่ ณ วันที่ 11 ธ.ค. 52 เบิกจ่ายไปเพียง 21,392.96 ล้านบาท ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในจำนวนที่เบิกจ่าย มีการใช้เพิ่มทุนธนาคารของรัฐ 14,500 ล้านบาท เหลือใช้ในโครงการลงทุน 6 พันกว่าล้านบาท โดยในนั้นเอาเงินไปซ่อมแซมถนน 5 พันกว่าล้านบาท ใช้ในการก่อสร้างอย่างเดียว

ตัวเลขหนี้สาธารณะ ที่กำหนดไม่ควรเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ในปี"55 แต่คงเป็นไป ไม่ได้อย่างที่ตั้งไว้ และแม้รัฐบาลจะพูดว่า ในไตรมาส 4 จีดีพีจะเป็นบวก ก็เป็นเพราะในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วติดลบถึง 4.2 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่แปลกที่จะกลับมาเป็นบวก

"ปานปรีย์" กางตัวเลขการจัดเก็บ รายได้ของรัฐบาล ที่ระบุว่า "น่าเป็นห่วง"

คือเงินคงคลัง ที่ค่อนข้างน้อยลงมาก ในเอกสารของกระทรวงการคลัง ช่วงเดือน ต.ค. 52 เงินคงคลังปรับตัวสูงขึ้น 274,600 ล้านบาท แต่ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ในรูปตั๋วเงินถึง 245,100 ล้านบาท เงินสดคงคลังมีแค่ 29,500 ล้านบาท

นโยบายสินค้าเกษตร ที่เปลี่ยนจากการจำนำเป็นการประกัน แต่หากใช้การจำนำ เชื่อว่าเกษตรกรจะได้ประโยชน์มากกว่านี้

เรื่องหนี้นอกระบบ เป็นการพยายามทำเหมือนกับที่พรรคไทยรักไทยดำเนินการ การลงทะเบียนก็ไม่ชัดเจนว่าคนกลุ่มใดควรได้รับการช่วยเหลือ หนี้จริง หนี้ปลอมก็มั่วกันไปหมด ปัญหาเรื่องมาบตาพุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินว่าความเสียหายเกิดขึ้นกว่า 2.3 แสนล้านบาท ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม ประเมินว่าเสียหายถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลขาดการบริหารจัดการที่ดี

ประธานวิปฝ่ายค้าน นายวิทยา บุรณศิริ ที่มาร่วมวงติดปลายแถว ต่อจากเรื่อง "เศรษฐกิจ" อภิปรายเรื่อง "กฎหมาย" ด้วยแผ่นเสียงชุดเดิม

"ที่มาเข้าสู่อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีขบวนการที่เราไม่เคยคิดว่าจะมีในศตวรรษนี้ คือพวกงูเห่า ทำให้พวกที่รยศหักหลัง หรืองูเห่านี้กลับบ้านไม่ได้ จะเห็นว่ามีการยกโลงศพไปไว้บ้าน ส.ส. การเข้ามาสู่อำนาจของนายอภิสิทธิ์ จึงเป็นปัญหา สร้างไปสู่ความขัดแย้งของสังคม"

นักการเมืองหน้าใหม่-สาย กทม. "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" ตามมาผสมโรง เรื่อง "ทุจริต" ตอกย้ำจากที่อภิปรายมาแล้ว 6 เดือน

"ความล้มเหลวของรัฐบาลอภิสิทธิ์อีกประการ คือการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นโครงการชุมชนพอเพียง ที่สังคมไทยรู้ว่ารัฐบาลปล่อยให้ทุจริตอย่างไม่สมควรเกิดขึ้น เอาโครงการที่ในหลวงพระราชทานมาทำให้เกิดการทุจริตขึ้น"

"อนุดิษฐ์" ฉายตัวอย่าง หัวข้อ อภิปรายไม่ไว้วางใจล่วงหน้า อาทิ โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน แม้จะยังไม่มีการลงนามในสัญญา แต่กรอบความคิดจะเอารถเมล์ 4 พันคันมาวิ่ง และงบประมาณตั้งแต่ต้นโครงการจนจบ หากคิดในราคาเท่ากัน จะได้รถไฟฟ้า 1 สาย

โครงการต้นกล้าอาชีพ ที่เราตรวจสอบกลับพบว่ามีการยักยอกเงินจากโครงการนี้จำนวนมาก ยังมีโครงการโกงชาวนาในการแจกข้าวหอมมะลิปลอดสารพิษที่สุดท้ายเป็นข้าวปลอมปน โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์สาธารณสุข ที่เครื่องอัลตราซาวนด์ โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ที่โกงนักเรียน โครงการทุจริตจัดซื้อหัวรถจักรโครงการทุจริตเช่ารถเข็นสนามบินสุวรรณภูมิ 566 ล้านบาท

1 ปี รัฐบาลอภิสิทธิ์ เท่าที่พิจารณาความเสียหายจากงบประมาณ 1.01 แสนล้านบาท เชื่อว่ามีเงินตกอยู่ข้างทางถึง 6.3 หมื่นล้านบาท

วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แม้วขู่ไม่เจรจาเดือดแน่


ที่มา:โพสต์ทูเดย์

ทักษิณลั่นรัฐบาลไม่เจรจาบ้านเมืองอึมครึมต่อ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในรายการทอล์ก อะราวด์ เดอะเวิลด์ วานนี้ว่า ในเมื่อฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องการเจรจา ก็ไม่เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่บ้านเมืองก็คงต้องอึมครึมต่อไป


“ก็ไม่เป็นไร ในเมื่อผู้มีอำนาจบอกต้องเป็นอย่างนี้ ใช้ศาลทำสองมาตรฐานต่อไป อย่างที่เรียนทุกอย่างมันมีจุดเดือดของมัน” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว
ทั้งนี้ ตนเองค่อนข้างปรับตัวได้จากการอยู่ที่กัมพูชา เพราะคิดว่าเหมือนอยู่บ้าน เพราะนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้อยู่บ้านฟรี เฮลิคอปเตอร์ก็ให้ใช้ฟรี

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นั้นใช้เวลานาน แต่ถ้าเป็นคดีพรรคอื่นใช้เวลารวดเร็ว มีคนเล่าให้ฟังจากการคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บางคนบอกว่ามีการสั่งมาห้ามยุบเด็ดขาด

“เรื่องนี้อยู่ที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. แต่เรียนวปอ. รุ่นเดียวกับนายบัง (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคมช.) และเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน (รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์) ฟังดูก็รู้ ฟังธงได้เลยว่าจะไม่ยุบทั้งที่ความผิดประจักษ์ ดังนั้นขอแสดงความยินดีด้วย แต่แสดงความเสียใจกับสังคมไทยที่ได้สองมาตรฐาน” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว

สำหรับเอกสารลับของกระทรวงการต่างประเทศนั้น เขียนชัดว่า ตนเองเป็นภัยหลักจะต้องขจัด ตนเองถูกลอบฆ่าหลายครั้ง แต่โชคดีเส้น ลายมือผมไม่ตายโหง และไม่เหมือน นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ จากผู้ก่อการร้ายก็กลายเป็นผู้ก่อการดี

วันเดียวกัน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และน.ส.วาสนา นาน่วม พิธีกรในรายการ “ลับ ลวง พราง” ทางสถานีวิทยุ 100.5 ได้กล่าวตอบโต้กันอย่างดุเดือดกรณีมีการเสนอข่าวพล.อ. สุรยุทธ์อาสาเป็นคนกลางเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ

ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ เปิดแถลงว่า ไม่เคยอาสาที่จะเป็นคนกลางในการเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ

“ผมมองสื่อในแง่ที่ดี เป็นผู้ที่เคยไปไหนมาไหนด้วยกัน โดยเฉพาะคุณวาสนา ซึ่งเคยเป็นประธานในงานแต่งงาน ดังนั้นจึงมีความไว้วางใจ แต่ในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าจะต้องระมัดระวัง เพราะคุณวาสนาไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว” พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว

ด้านน.ส.วาสนา กล่าวยืนยันไม่ได้พูดชี้นำว่า พล.อ.สุรยุทธ์จะเป็นตัวกลางเจรจาและเข้าใจว่าท่านคงโดนตำหนิ โดนอัดเยอะ และคิดว่าตนเองเป็นต้นเหตุ ก็ขอยอมเป็น กระโถนแล้วกัน

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

จุดระเบิด


ที่มา:หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
โดย อัคนี คคนัมพร

ติดตามข่าว กกต. พิจารณาคดีที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกร้องว่ารับเงินจาก บ.ทีพีไอ โพลีน 258 ล้านบาท แล้วไม่แจ้งบัญชีรับ-จ่าย รวมทั้งได้รับเงินอุดหนุนจาก กกต. 29 ล้านแล้วนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ แล้วท่านผู้อ่านเห็นเป็นอย่างไรบ้างครับ

เห็นด้วยกับอนุกรรมการเสียงข้างมากที่ให้ยกคำร้อง

หรือเห็นด้วยกับอนุกรรมการเสียงข้างน้อยที่เห็นควรยุบพรรค

ถ้าเห็นว่าตั้งคำถามแบบนี้ยังไม่สมควรตอบเพราะความเห็นยังไม่ถึงที่สุด ผู้เขียนขอตั้งคำถามใหม่ว่า ฟังเรื่องที่ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 5 ของ กกต. ออกมาให้ความเห็นภายหลังได้รับรายงานจากอนุกรรมการแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างดีกว่า

รายละเอียดของมันมีอยู่ว่า

1.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ เห็นควรให้ยกคำร้องตามความเห็นของอนุกรรมการเสียงข้างมาก

2.นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น เห็นควรให้ยุบพรรค

3.กรรมการที่เหลืออีก 3 คนไม่มีความเห็นไปทางใดทางหนึ่ง แต่เห็นว่าประธานกรรมการ กกต. คือนายอภิชาต ควรตัดสินใจเองได้โดยลำพังเพราะกฎหมายให้อำนาจไว้แล้ว

ท่านผู้อ่านจะเห็นอย่างไรก็ตามที แต่ผู้เขียนขอบอกความเห็นของตัวเองว่า ประเทศไทยกำลังใกล้ถึงจุดแตกหักกันแล้วครับ

เรื่องเงิน 258 ล้านของทีพีไอฯ และเงิน 29 ล้านของ กกต. นี้ คนไทยได้ทราบข้อมูลกันมาเป็นอย่างดีจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้อภิปราย

จากคำอภิปรายนั้นทำให้เราทราบต่อไปว่า ก่อนที่เรื่องดังกล่าวจะถูกนำเข้าสภา ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษเขาได้ดำเนินการสืบสวน-สอบสวนของเขาไว้แล้วอย่างละเอียด

เขาได้พยานเอกสาร พยานบุคคลปากสำคัญไว้ทั้งสิ้น

นายประจวบ สังข์ขาว คือพยานปากสำคัญนั้น

ท่านผู้อ่านคงจะจำชื่อนายประจวบ สังข์ขาว ได้เพราะที่ปรากฏเป็นข่าวก็มาก ที่ถูกนำไปอภิปรายในสภาก็ไม่ใช่น้อย ที่ผู้เขียนนำมาเป็นตัวละครในบทความนี้ก็หลายหน

เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้วเห็นว่าคดีมีมูลก็ส่งเรื่องให้ กกต. ดำเนินการต่อ

แต่เป็นที่คาดหมายกันว่า กกต. จะต้องช่วยกันอุ้มพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นหวานใจของเผด็จการ เป็นพรรคที่อำมาตย์หมายมั่นปั้นมือที่จะเอาไว้ใช้งานเป็นรัฐบาลแทนพรรคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

กกต. ก็เลยไม่กล้าผลีผลาม

การพิจารณาได้เลื่อนแล้ว เลื่อนอีก จนคนรู้สึกว่าทีพรรคการเมืองอื่นฟันฉัวะ แต่ทีพรรคประชาธิปัตย์ กกต. กลับเป็นไส้เลื่อนซะงั้น

ในที่สุดก็เลื่อนต่อไปไม่ไหว ต้องออกมาประกาศผลให้คนยี้กันทั้งเมืองจนได้

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรค ถึงแก่เก็บความดีใจไม่อยู่ ต้องออกมาบอกคนทั้งโลกว่า กกต. เห็นเช่นนั้นถูกต้องแล้ว เพราะแม้เรื่องเงิน 258 ล้านจะเป็นความจริง แต่มันก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่เรื่องพรรค

เอาเถอะครับ เวลานี้ท่านเป็นหวานใจอำมาตย์ ท่านเป็นรัฐบาลกันอยู่ จะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องแคร์เหตุผล ไม่ต้องแคร์ความจริง ไม่ต้องแคร์กฎหมาย และไม่ต้องแคร์ความรู้สึกผู้คน

แต่ผู้เขียนจะขอเตือนพวกท่านไว้ว่า จอมพลถนอม จอมพลประภาส ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ยังพังครืนลงได้เพราะเรื่องการล่าสัตว์ที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเท่านั้น

เวลานี้พวกท่านได้ทำให้คนไทยเครียดกันทั้งประเทศ เครียดทั้งเศรษฐกิจ เครียดทั้งการเมือง เครียดทั้งคอร์รัปชัน และเครียดทั้งเห็นความอยุติธรรมอยู่ตำตา

ขีดขั้นความอดทนใกล้ถึงจุดระเบิดแล้วครับ

เร่งวัน เร่งคืนมันเข้าเถิด

**********************************************************************

ครบ 1 ปี ′มาร์ค′ กรุงเทพโพลล์ชี้ ผลงานแผ่วลง กรณีศิวรักษ์กระทบเต็มๆ แต่ยังเชื่อให้ทำงานต่อ 59.3%

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ


ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ชี้ ครบ 1 ปี รัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คะแนนความพึงพอใจผลงานรัฐบาลได้ 3.87 คแนน ลดลงจาก 4.02 เมื่อตอนครบ 9 เดือน เชื่อกรณีศิวรักษ์เป็นตัวแปร แต่โดยรวมยังให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อถึงร้อยละ 59.3% สอดคล้องกับคะแนนความพอใจของพรรคประชาธิปัตย์ 4.23 เพิ่มขึ้นจาก 4.17 เมื่อตอนครบ 9 เดือน

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 1 ปี ในการทำงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ประเมินผลงาน 1 ปี รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์" ขึ้น โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 11 จังหวัดจากทุกภาคของประเทศ จำนวน 1,660 คน เป็นเพศชายร้อยละ 48.6 เพศหญิงร้อยละ 51.4 เมื่อวันที่ 11 - 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา



ผลการสำรวจพบว่า คะแนนความพึงพอใจผลงานของรัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อทำงานครบ 1 ปี ด้านเศรษฐกิจ 4.41 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 4.17 คะแนน เมื่อตอนครบ 9 เดือน ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต 3.76 คะแนน ลดลงจาก 4.39 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน ด้านการต่างประเทศ 3.75 คะแนน ลดลงตาก 4.15 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน ด้านการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมาย 3.71 คะแนน ลดลงจาก 3.72 เมื่อตอนครบ 9 เดือน ด้านความมั่นคงของประเทศ 3.73 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 3.69 เมื่อตอนครบ 9 เดือน และความพึงพอใจโดยเฉลี่ยรัฐบาลนี้ได้ 3.87 คะแนน ลดลงจาก 4.02 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน



ขณะที่ ผลงาน หรือโครงการ ของรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด 5 อันดับแรก โครงการเรียนฟรี 15 ปี ร้อยละ 17.3 โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างอาชีพ ร้อยละ 11.3 โครงการไทยเข้มแข็ง สร้างความสามัคคี ร้องเพลงชาติ ร้อยละ 11.2 โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ร้อยละ 9.9 โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ร้อยละ 9.3



ส่วนคะแนนความพึงพอใจการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้คะแนนเฉลี่ย 4.70 คะแนน ด้านความซื่อสัตย์สุจริต 5.44 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 5.37 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน ความขยันทุ่มเทในการทำงาน 5.35 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 5.07 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ 4.83 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 4.81 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการใหม่ๆ 4.62 คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 4.44 เมื่อตอนครบ 9 เดือน ความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ 3.72 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 3.71 เมื่อตอนครบ 9 เดือน และความสามารถในการบริหารจัดการตามอำนาจหน้าที่ที่มี 4.25 คะแนน ลดลงจาก 4.25 คะแนน เมื่อตอนครบ 9 เดือน คิดเป็นคะแนนเฉลี่ยทั้งหมด นายอภิสิทธิ์ ได้ 4.70 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 4.62 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน



เมื่อเปรียบเทียบความคาดหวังระหว่างตอนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับผลการทำงานในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่า ดีกว่าที่คาดหวังไว้ ร้อยละ 10.8 พอๆ กับที่คาดหวังไว้ ร้อยละ 34.6 แย่กว่าที่คาดหวังไว้ ร้อยละ 27.3 ไม่ได้คาดหวังไว้ ร้อยละ 27.3



โดยเรื่องที่น่าเห็นใจรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เรื่องการชุมนุมต่อต้านของกลุ่มคนเสื้อแดง ร้อยละ 23.2 เป็นรัฐบาลในช่วงที่ประเทศชาติวุ่นวาย การเมืองไม่นิ่ง และเป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง ร้อยละ 18.5 ประชาชนในประเทศมีความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน ร้อยละ 14.1 มีความขัดแย้งกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล ร้อยละ 10.8 คณะรัฐมนตรีบางคนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 10.7



ขณะที่เรื่องที่ต้องการให้ นายกฯ อภิสิทธิ์ ทำมากที่สุดในเวลานี้ ได้แก่ เดินหน้าทำงานต่อไป ร้อยละ 59.3 ยุบสภา ร้อยละ 24.5 ปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 6.7 (โดยรัฐมนตรีที่ควรถูกปรับออกมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ นายกษิต ภิรมย์ ร้อยละ 2.7 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ร้อยละ 1.2 นายโสภณ ซารัมย์ ร้อยละ 0.5) ลาออก ร้อยละ 5.2
อื่นๆ อาทิ ให้นายกฯ กล้าตัดสินใจให้เด็ดขาดกว่านี้ เร่งสร้างผลงานให้เด่นชัดโดยเร็ว และแก้ปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มคนเสื้อแดงให้ได้ ฯลฯ ร้อยละ 4.3



นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ เรื่องความพึงพอใจต่อการทำงานของพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน โดยพรรคแกนนำรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ 4.23 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 4.17 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน ได้ 3.44 คะแนน ลดลงจาก 3.45 เมื่อตอนครบ 9 เดือน และพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาราช ได้ 3.37 คะแนน ลดลงจาก 3.65 คะแนนเมื่อตอนครบ 9 เดือน



โดยวิธีการรวบรวมข้อมูล ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และคำถามปลายเปิด (Open Form) โดยสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทั่วไปทุกสาขาอาชีพที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ จากทั่วทุกภาคของประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) สำหรับกรุงเทพมหานครได้ทำการเก็บข้อมูลจากประชาชนทั้ง 50 เขต ปริมณฑล 3 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และจังหวัดตัวแทนแต่ละภาค ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ ลำพูน ขอนแก่น ร้อยเอ็ด
นครศรีธรรมราช และสงขลา จากนั้นจึงสุ่มถนนและประชากรเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ได้กลุ่ม ตัวอย่างทั้งสิ้น 1,660 คน เป็นเพศชายร้อยละ 48.6 และเพศหญิงร้อยละ 51.4

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ปชป.ร้าวหนัก "สุขุมพันธ์" ปลดญาติ"มาร์ค" พ้นเลขา เผยที่ผ่านมามีแต่สร้างปัญหา


ที่มา:มติชนออนไลน์

"สุขุมพันธุ์"เด้งญาติ"มาร์ค"พ้นเลขาฯ เจ้าตัวบอกดีหายอึดอัด

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมว่า ได้ลงนามคำสั่งปลด นายชีวเวช เวชชาชีวะ ออกจากตำแหน่งเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม และได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งนางปิยาภรณ์ แสนโกศิก นักธุรกิจเอกชนภาคอสังหาริมทรัพย์ หลานสาว นายบัณฑิต ศิริสัมพันธ์ ทนายความของพรรคประชาธิปัตย์ ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน โดยให้มีผลในวันที่ 4 มกราคมนี้เป็นต้นไป

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าการปลดนายชีวเวช ไม่มีปัญหาส่วนตัวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่มีสถานภาพเป็นญาติกับนายชีวเวช แต่ต้องการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมในการบริหาร กทม.

"การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ว่าฯ กทม.กับเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ต้องมีความเข้าใจที่ตรงกันจึงจะสามารถร่วมงานกันได้ดี แต่ที่ผ่านมากลับมีปัญหาผมให้เวลานายชีวเวชปรับตัวและรายงานให้นายอภิสิทธิ์ทราบมาตั้งแต่ต้น และนายอภิสิทธิ์เข้าใจ อีกทั้งยังได้ฝากขอให้โอกาสนายชีวเวชทำงานให้ครบปีก่อน แล้วค่อยพิจารณาใหม่ ดังนั้นเมื่อผมปลดจึงไม่จำเป็นต้องรายงานให้ทราบ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของผมโดยตรง" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว

ด้านนายชีวเวช กล่าวว่า ทราบข่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่รับตำแหน่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไม่มอบงานให้ทำ แต่ไม่รู้สึกน้อยใจ ตรงข้ามกลับหายอึดอัดใจ เพราะที่ผ่านมาไม่ชอบที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ตำหนิรัฐบาลทุกครั้งที่ไปออกงาน

“มายาคติ - ความเชื่อ” ในสังคมไทย


ที่มา:ประชาไท “คนบ้านปาง”

ย้อนยุคไปพันปีก่อนพุทธกาล ชาวอารยัน (Aryan) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียกลาง (เชื้อชาติอินโด-ยุโรป, Indo-European) ได้อพยพเข้าสู่ตอนเหนือของอินเดีย ชาวอารยันถือว่าตัวเองมีความเจริญเหนือกว่าคนพื้นเมืองอินเดีย และเป็นผู้ชนะสงคราม แต่เพราะความกลัวว่าเผ่าพันธุ์ของตัวเองจะถูกวัฒนธรรมดั้งเดิมของอินเดียดูดกลืน จึงมีข้อห้ามไม่ให้ชาวอารยันแต่งงานกับชนพื้นเมือง และแบ่งสังคมเป็น 3 ชนชั้นคือ นักรบ, นักบวช และประชาชน แต่แล้วเมื่อกาลเวลาผ่านไป – อินเดียผู้แพ้กลับเป็นผู้ชนะสงครามวัฒนธรรม.!!!

อีกหลายร้อยปีต่อมา “พราหมณ์” ได้นำเอาคำสอนจากคัมภีร์ฤคเวท (พระเวท) มาเป็นกฎเกณฑ์ กำเนิดระบบ “วรรณะ” (Caste) กลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของสังคมอินเดีย, ด้วยคำสอนว่า มนุษย์มีสถานะทางสังคมสูง - ต่ำไม่เท่ากัน, มนุษย์จะประสบผลสำเร็จในชีวิต จะประกอบกิจการใด ๆ รวมไปถึงการบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต [โมกษะ; ภาวะที่อาตมันเข้าไปรวมกับปรมาตมัน (พรหมัน) ทำให้มนุษย์พ้นทุกข์ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป [1] มนุษย์จึงต้องปฏิบัติตน และเคร่งครัดต่อ "วรรณะ" ของตน.

คำว่า "วรรณะ"[2] ความหมายตามรากศัพท์ภาษาสันสกฤต แปลว่า สี รูป ชาติกำเนิด ลักษณะคุณสมบัติ "วรรณะ" ได้แบ่งชาวอินเดีย ออกเป็น 4 ชนชั้น คือ วรรณะพราหมณ์ ; นักบวชผู้ประกอบพิธีกรรม ครู (แต่งสีขาว), วรรณะกษัตริย์ ; ปกครองบ้านเมือง ทหาร (แต่งสีแดง), วรรณะไวศยะ/แพศย์ ; ค้าขาย เกษตรกรรม (แต่งสีเหลือง), วรรณะศูทร ; กรรมกร ทาส ผู้รับใช้วรรณะอื่น (แต่งสีดำ) – ยังมีวรรณะที่ต่ำกว่าวรรณะศูทร (พวกนอกวรรณะ) ; “วรรณะจัณฑาล” เป็นลูกที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะ เป็นชนชั้นที่ถูกรังเกลียดมากที่สุดในสังคม.

เมื่อสังคมเข้าสู่ยุคราชาธิปไตย “พราหมณ์” ได้เรียนรู้ว่า “ผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคม คือผู้มีสถานะสูงสุดในสังคม” ดังนั้นเพื่อรักษาวรรณะของตนให้อยู่เหนือวรรณะอื่น และยกศาสนาของตนให้สูงกว่าลัทธิโยคะ ศาสนาเซ็น และศาสนาพุทธซึ่งกำลังเป็นความเชื่อใหม่ในยุคนั้น, พราหมณ์จึงอ้างความเป็น “ผู้แทนของเทพ” ในการเป็นผู้มอบสภาวะความเป็นเทพให้กับ “กษัตริย์” (ซึ่งสภาวะความเป็นเทพ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสถานะของกษัตริย์ในยุคราชาธิปไตย), เกิดการเปลี่ยนแปลงคติในศาสนาพราหมณ์ (ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) เกิดมีนิกายต่าง ๆ [3] เช่น ไศวะนิกาย นับถือพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพสูงสุด เป็นเทพผู้สร้าง และผู้ทำลาย, ไวษณพนิกาย นับถือพระวิษณุ (พระนารายณ์) ว่าเป็นผู้ช่วยเหลือมนุษย์ในยามทุกข์เข็ญ ถึงขนาดจะอวตารเป็นพระอนาคตวงศ์ของพระพุทธเจ้า - ยังมีการอ้างถึง, ทั้ง 2 นิกาย ต่างบำเพ็ญตบะด้วยการทรมานร่างกายสารพัดวิธี เพื่อมุ่งมั่นให้วิญญาณของอาตมัน ไปรวมกับปรมาตมัน (ซึ่งเป็นวิธีบำเพ็ญตบะของโยคะ; อัตตกิลมถานุโยค[4]: ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาก่อนที่จะตรัสรู้).

ระบบวรรณะของอินเดียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “อารยธรรมอินเดีย” ที่ไหลบ่าเข้าสู่ดินแดนแห่งภูมิภาคนี้ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ผู้ปกครองในดินแดนซึ่งมีอารยธรรมต่ำกว่า ย่อมต้องการ “องค์ความรู้” จากอารยธรรมที่สูงกว่า ยิ่งเป็นความรู้ที่มาจากดินแดนที่มีวิทยาการสืบทอดกันมานับพัน ๆ ปี ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการสร้างอาณาจักร.

จากการแบ่งแยกชนชั้นด้วย “ระบบวรรณะ” ถูกปรับเปลี่ยนเป็นการแบ่งแยกด้วย “ระบบศักดินา”[5], จากเมือง “อโยธา” ของพระรามในประเทศอินเดีย กลายมาเป็น “กรุงศรีอยุธยา”.

อิทธิพลความเชื่อที่มาพร้อมกับ “วรรณะ” ได้นำเอากรอบความคิดใหม่ มาให้กับดินแดนนี้ พร้อมกับการสถาปนาความเป็นอวตารของ “พระศิวะ - พระวิษณุ” ให้กับชนชั้นผู้ปกครอง พร้อมทั้งลัทธิพิธีกรรม กฎหมาย[6] โหราศาสตร์ ดารา-ศาสตร์ ไสยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ นาฏศิลป์ และวรรณกรรม. จากศาสนาที่เป็นจิตวิญญาณของชุมชนถูกบิดเบือนให้เป็น “ศาสนาเพื่อชนชั้น” จากพระพุทธศาสนา (นิกายเถรวาท) ที่เคร่งครัดในพระวินัย – พระธรรมคำสอน, กลายเป็นพระพุทธศาสนา (นิกายมหายานผสมพราหมณ์ฮินดู) ที่อาศัยพิธีกรรมความเชื่อเรื่องเทพเจ้า – ภูตผี – วิญญาณ ที่คอยหลอกหลอนผู้คนตลอดมา.

ทั้งหมดเพื่อทำให้ผู้ปกครองมีความศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ, มีอำนาจอย่างชอบธรรม – มีอำนาจสูงสุดที่จะปกครอง โดยมีความเชื่อในทางศาสนามารองรับอำนาจของผู้ปกครอง, จนกลายเป็น “มายาคติ” ที่หยั่งรากลึก จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อ จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง.!!!

ความเชื่อแบบเทวนิยม ทำให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนากลายเป็นความเชื่อเรื่อง “นรก – สวรรค์ –กรรมเวร - พรหมลิขิต” เช่น คติความเชื่อใน “ไตรภูมิกถา” ; ชนชั้นในสังคมเกิดจาก “กฎแห่งกรรม” ผู้มีอำนาจ มีชีวิตที่สุขสบาย เป็นเพราะ คนเหล่านั้นได้ทำบุญกุศลมาก่อนในอดีตชาติ ส่วนผู้คนที่อดอยากยากไร้ เป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นทำความชั่ว หรือทำบุญกุศลไม่เพียงพอในอดีตชาติ ดังนั้นบุคคลที่มีสถานะสูงสุดในสังคม ก็คือ บุคคลที่เคยสร้างบุญกุศล และสร้างคุณงามความดี มากที่สุดในอดีตชาตินั่นเอง.[7]

ระบบ (วรรณะ) ศักดินา ได้ทำให้ “พระพุทธศาสนา” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเอื้ออาทร ความเป็นพี่น้อง ความเป็นสังคม “ภราดรภาพ” ของเพื่อนมนุษย์ กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ระหว่าง “เจ้านายกับข้าไพร่” (การใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรไม่มีในเกือบทุกประเทศ ถือว่าหน้าที่นี้ไม่ได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล รัฐบาลมีหน้าที่แต่รักษาประเทศ การรักษาความสุขเป็นหน้าที่ของราษฎรเอง[8]), เกิดระบอบอุปถัมภ์ แต่อุปถัมภ์เฉพาะกลุ่มคนที่ให้ประโยชน์กับชนชั้น (สมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้อพยพต่างชาติมีโอกาสสร้างฐานะความร่ำรวย ในขณะที่ข้าไพร่ คนในชาติ ถูกผูกพันด้วยระบบเกณฑ์แรงงาน คนต่างชาติได้เข้าทำการค้าแทนคนในชาติ และกลายเป็นชนกลุ่มใหม่ที่ทำธุรกิจร่วมกับชนชั้นปกครอง[9]), เกิดอุดมคติที่เป็นการทำลายอิสรภาพ – ความเสมอภาคในสังคม ยึดถือคติการเป็น “เจ้าคนนายคน”, ความเชื่อมั่นในความเป็นปัจเจกชนถูกละทิ้ง ไม่มีจินตนาการความคิดริเริ่มสร้างสรรค์, ไม่มีการปรับตัว - หวังพึ่งพิงจากรัฐบาล ไม่มีความคิดในการพึ่งพาตนเอง. ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อสร้าง “รัฐที่อยู่ภายใต้การควบคุม”.!!!

วันนี้สังคมไทยก็มี “วรรณะ” : วรรณะเหลือง; ฝ่ายพันธมิตรฯ และผู้เกลียดชังทักษิณ, วรรณะแดง; ฝ่ายทักษิณ, นปช. และผู้เรียกร้องความยุติธรรม, วรรณะน้ำเงิน; ฝ่ายนายเนวิน ภารกิจหลักคือขัดขวางสีแดง, วรรณะขาว; ต้องการให้ทุกสีหันมาพูดคุยกัน.

วันนี้ “ศึกวรรณะสีเสื้อ” จะลงเอยอย่างไร? กลับไม่สำคัญเท่ากับ - สังคมไทยจะได้อะไรจากประสบการณ์ครั้งนี้???

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย, การเปลี่ยนแปลง ยุคสมัยจากกรุงศรีอยุธยา มาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ คือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตาม “บัญญัติแห่งโลกสมมติ” แต่สิ่งที่เป็น “สมมติสัจจะ” ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ วัฒนธรรมแห่ง “ความเชื่อ” – ตราบเท่าที่สังคมไทยยังไม่สามารถเรียนรู้ และแยกแยะได้ว่า อะไรคือ “มายาคติ” - อะไรคือ “ความเป็นความจริง”.!!!