--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

เลื่อน-ไม่เลื่อนเลือกตั้ง อำนาจใคร !!?

ยังไม่ได้ข้อสรุปสำหรับประเด็นการเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน ได้มีมติส่งหนังสือไปยังรัฐบาลเพื่อให้มีการเลื่อนการเลือกออกไปก่อน พร้อมเหตุผลประกอบ 6 ข้อ ระบุว่า 1.หากเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์อาจได้ ส.ส.ไม่ครบ 2.มี 22 เขตที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว 3.สถานการณ์แนวโน้มรุนแรงมากขึ้น 4.กรรมการประจำหน่วยที่ กกต.ต้องหาจำนวนแสนคน ไม่สามารถหาได้ทัน 5.มีหนังสือจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเข้ามาถึง กกต.ระบุว่า หากจัดเลือกตั้งไป จะไม่คุ้มต่องบประมาณแผ่นดิน และ 6.เขตเลือกตั้งทั้ง 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังยืนยันหนักแน่นเหมือนเดิมว่าไม่มีอำนาจและข้อกฎหมายให้สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ เพราะรัฐบาลต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ภายหลังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์

สำหรับข้อกฎหมายในการจัดการเลือกตั้งนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจและหน้าที่จัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดที่ให้อำนาจรัฐบาลและ กกต.เลื่อนการเลือกตั้งตามข้อเสนอแนะของ กกต.ที่อ้างมาได้

โดยอ้างอิงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่ระบุว่า กรณียุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และการยุบสภาผู้แทนราษฎร จะกระทำเพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

ส่วนมาตรา 78 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ระบุไว้ว่า กรณีที่มีเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย เกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งหรือวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วก็กำหนดวันเลือกตั้งใหม่เมื่อเหตุเหล่านั้นยุติลงแล้ว ไม่ใช่เป็นการเลื่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน มาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุให้ กกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ไม่มีการระบุให้สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้

ส่วนประเด็นที่ กกต.เสนอว่ารัฐบาลสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ แต่ยังไม่ระบุว่าต้องใช้ช่องทางของกฎหมายใดที่ชัดเจน โดยก่อนหน้านี้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไปเป็นวันที่ 4 พฤษภาคม 2557 โดยอ้างอิงและเทียบเคียงรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรคท้าย ระบุว่า กรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวน ส.ส.ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายใน 180 วัน

โดยเหตุผลที่ กกต.ยกรัฐธรรมนูญมาตรานี้มาเทียบเคียง เนื่องจากมองว่าขณะนี้มีจำนวน 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หากมีการเลือกตั้งไปก็อาจได้ ส.ส.ไม่ถึงร้อยละ 95

ทั้งนี้ กกต.มีข้อเสนอแนะว่าหากท้ายที่สุด กกต.และรัฐบาลยังคงมีความเห็นขัดแย้งและเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับประเด็นการจัดการเลือกตั้ง กกต.จะเสนอเรื่องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป

ขณะที่การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องหรือความเห็นที่เสนอมายังศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจที่จะรับไว้พิจารณา ส่วนเมื่อรับเรื่องหรือความเห็นไว้พิจารณาแล้วกระบวนการพิจารณาก็จะต้องมีการกำหนดประเด็นการวินิจฉัยก่อนที่จะมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยออกมา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 กกต. มีอำนาจโดยตรงที่จะยื่นเรื่องและความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

ท้ายที่สุดแล้วหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ทั้ง 9 คน ว่าจะวินิจฉัยประเด็นตามข้อกฎหมายว่าสามารถเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปออกไปได้หรือไม่

ที่มา : นสพ.มติชน
////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น