--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557

วาระประเทศไทย ปี 57

 ปัญหาของประเทศไทยเกิดขึ้นเพราะมีพรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมดูแลของนักธุรกิจ นายทุน และเครือญาติ ที่มุ่งแต่จะหาช่องทางกระทำการทุจริตคอร์รัปชันรวมถึงออกกฎหมายเพื่อตักตวงผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องจนเกิดความวุ่นวายขัดแย้ง แบ่งแยกในสังคมจนทุกวันนี้ และถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน เพื่อให้หลุดพ้นจาก “หลุมดำ” และเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  อ่าน “ปฏิรูปประเทศไทย วาระที่คุณปฏิเสธไม่ได้ และสัมภาษณ์ 2 ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงมุมมองจาก 10นักคิด-นักธุรกิจ ที่อยากให้มีการปฏิรูปประเทศไทย
   
พลิกเข้าไปติดตามรายละเอียด หน้า 8, 9และ 10

ปฏิรูปประเทศไทย วาระที่คุณปฏิเสธไม่ได้

ผลจากวิกฤติการเมืองที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และยืดเยื้อข้ามปีมาถึงวันนี้   แม้ด้านหนึ่ง นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งส่งกระทบต่อเนื่องไปยังภาคส่วนอื่นๆในวงกว้างกว่าวิกฤติการเมืองที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่งของความสับสนทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น ได้จุดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปดังกระหึ่มออกมาจากทุกภาคส่วนของสังคมที่เรียกร้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพมุมกลับ แตกต่างจากก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิงที่ การปฏิรูปไปได้ไกลสุดคือรัฐบาลในช่วงเวลานั้นๆ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำการศึกษา

-เมื่อปฏิรูปผุดเป็นดอกเห็ด
   
ปลายปีที่ผ่านมา เวทีหาทางออกประเทศไทย ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด หลังนายกฯยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 กันยายน  เพื่อผ่าทางตันทางการเมือง  ในซีกรัฐบาลได้จัดตั้งเวที "ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน"  นักวิชาการต่างความเชื่อ ต่างแข่งกันเปิดเวทีถกกัน   เช่นเดียวกับตัวแทนภาคธุรกิจที่กระโดดลงมาอาสาเป็นผู้ประสาน  รวมทั้งเวทีของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยทุกเวทีต่างพูดเหมือนๆกันว่า "เราต้องปฏิรูปประเทศไทย" ท่าทีที่ไปทางเดียวกันจากเวทีทั้งหลายนั้น เหมือนสังคมให้ฉันทนามติยกเรื่องปฏิรูปขึ้นเป็น วาระประเทศไทย โดยเนื้อหาที่เรียกร้องการปฏิรูปประเทศ   มุ่งไป 2 ด้านหลัก 1. กติกา การเลือกตั้งที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. ระบุว่ากติกาปัจจุบันเอื้อให้มีการซื้อสิทธิขายเสียงและเปิดทางให้ระบอบทักษิณเข้าครอบงำประเทศ และ 2.ปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน
   
ประเด็นที่ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย ออกมาระบุว่าสถานการณ์คอร์รัปชันในไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น ปีหนึ่งไทยสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับการทุจริตไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท

-ก่อนเป็นกระแส
   
อย่างไรก็ดีก่อนหน้าที่การปฏิรูปจะถูกชูขึ้นเป็นวาระประเทศ การปฏิรูปถูกกล่าวถึงเป็นระยะมาตั้งแต่ปี 2553  หลังจลาจลเผาเมืองรัฐบาล  อภิสิทธิ์ ได้ตั้งกลไกขึ้นมา 4 ชุด เพื่อหาข้อเท็จจริงที่มาของปัญหาและทางออกจากวิกฤติการเมือง โดยคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) มี อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน กับคณะกรรมการสัมมัชชาปฏิรูป(คสป.)มี หมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส  เป็นประธาน เป็นกลไกชุดหนึ่งที่ถูกจัดตั้งขึ้น  อานันท์   เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า ปัญหารากเหง้าของสังคมไทย เกิดจากความแตกต่างเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นผลพวงจากปัญหาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เปิดพื้นที่ให้กับ คนส่วนใหญ่ในประเทศ และนำไปสู่การกระจุกตัวของ อำนาจและความมั่งคั่งในเมืองหลวงและหัวเมืองหลัก (เลือกตั้งทั้งที ควรต้องมีการปฏิรูป โดย สำนักงานปฏิรูปสังคมไทยที่เป็นธรรม วันที่ 14 พฤษภาคม 2554) และคสป.ได้เสนอกรอบการปฏิรูป 8 ด้าน (ดูตารางประกอบ)  ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจการเมืองสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยส่วนหนึ่งในชุดข้อเสนอที่ถูกกล่าวถึงอย่างจริงจังคือ  รื้อโครงสร้างอำนาจ “กระจายอำนาจ” และ "กระจายความมั่งคั่ง"
   
คปร.ได้รวบรวมผลการศึกษาแนวทางการปฏิรูปไว้ใน "แนวทางปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง"  แต่เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นกุมอำนาจรัฐหลังชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เรื่องการปฏิรูปถูกวางเป็นเรื่องแก้ปัญหาการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากกว่าเป็นพันธกิจต้องทำ  ก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับมาให้ความสนใจเรื่องปฏิรูปอีกครั้ง เมื่อการเมืองร้อนขึ้นมา

-ร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ จุดไฟปฏิรูป
   
การปฏิรูปกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2556 เมื่อกระแสการเมืองเริ่มร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการต่อต้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่เข้มข้นทั้งในและนอกสภา  ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี  หาทางออกทางการเมืองให้ตัวเอง ด้วยการได้จัดตั้งเวทีปฏิรูปโดย ยิ่งลักษณ์ได้เสนอแนวปฏิรูป 8 ประการไว้ด้วย(ดูตาราง ประกอบ)  ก่อนที่เวทีนี้จะกลายเป็นสินค้าหมดอายุ หลังการต่อต้านร่างกฎหมายอื้อฉาวฉบับนั้น  ยกระดับเป็นโค่นระบอบทักษิณ และนำการเมืองเข้าโหมดวิกฤติเช่นเดียวกับปี 2551-2553 แม้รัฐบาลตัดสินใจยุติผลักดันแล้วก็ตามที  และเมื่อมีข้อโต้แย้งว่าด้วย  ควรมีการปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง หลังนายกฯยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา (9 ธันวาคม )  นายกรัฐมนตรีได้กล่าวหนุนแนวทางปฏิรูปของหมอประเวศเป็นครั้งแรกนับแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งระหว่างการสัญจรในภาคเหนือ
   
ในห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนั้นการปฏิรูปถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง  สถาบันและบุคคลชั้นนำ พาเหรดออกมาเสนอความเห็นกันถ้วนหน้า สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย เสนอชุดความคิดขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจการเมืองและสังคมโดยจัดวางการปฏิรูปการเมืองไว้อันดับ 1 การปฏิรูประบบตรวจสอบอันเข้มแข็งจากภาคประชาชนเป็นอันดับ 2  และยังพ่วงเรื่องปฏิรูปสื่อไว้ด้วย  สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯเศรษฐกิจรัฐบาลทักษิณที่ผันตัวมาเป็นนักวิชาการ  ย้ำว่าประเทศไทยต้องปฏิรูปครั้งใหญ่และรวดเร็ว โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า "สถานะการเมืองเป็นสถานะที่จะทำให้ประเทศอ่อนแอ" สมคิดมองว่า กลไกรัฐซึ่งเป็นตัวคิดขับเคลื่อน ผลักดันและสนับสนุน  มีปัญหาเรื่องการยอมรับ   ส่วนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  ชูจัดตั้งสภาปฏิรูปเป็นทางออกจากวิกฤติการเมืองที่รุมเร้าประเทศไทยอยู่  

-เหตุที่ต้องเปลี่ยน
   
อย่างไรก็ดีกระแสปฏิรูปที่เชี่ยวกรากอยู่เวลานี้นอกจากวิกฤติการเมือง กับปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ยังเป็นผลจากปัญหาสะสมของประเทศไทยที่ยังไม่มีการสะสางอย่างจริงจังจนประเทศไทยเป็นประเทศที่มี "วาระแห่งชาติ" มากระดับโลก ตั้งแต่เรื่องความอ้วนไปจนถึงปัญหาระดับชาติอย่างโครงสร้างอำนาจ เป็นอีกสาเหตุเช่นกัน เช่นมิติ ด้านการศึกษาที่ผลสะท้อนจากการทดสอบในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าไทยกำลังจะล้าหลัง  หรือมิติทางเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายออกมาเตือนว่า ไทยแลนด์กำลังเสื่อมถอย  ตัวอย่างที่ถูกนำมาสนับสนุนข้อสังเกตดังกล่าวคือความจริงที่ว่า  ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานานนับทศวรรษแล้ว หรือก่อนหน้านี้ประเทศไทยถูกจับประกบมาเลเซีย ในฐานะคู่แข่งชิงตำแหน่งเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย  แต่วันนี้เพื่อนบ้านทางใต้ของเราได้ ขยับขึ้นไปอยู่ข้างหน้า และไทยถูกนำไปเปรียบกับ เวียดนาม ประเทศสังคมนิยมที่เศรษฐกิจกำลังร้อนแรง  พร้อมกับการหยิบยก ฟิลิปปินส์ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาอ้างอิงว่าไทยมีอาจจะเดินตามรอยสมาชิกอาเซียนที่เคยถูกจับตาว่าจะเป็นดาวเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว ก่อนกลายเป็นประเทศป่วยจากปัญหาคอร์รัปชันและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่เกาะกินประเทศมาอย่างยาวนาน
   
จากวิกฤติการเมืองที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า กับ ปัญหาสะสมในหลายมิติๆจนกลายเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง  คือแรงกดดันให้เกิดกระแส  เมืองไทยต้องเปลี่ยนแปลง   จนอาจกล่าวได้ว่า ณ  นาทีนี้  ไม่ว่าเกมการเมืองที่หมุนติ้วอยู่เวลานี้ จะพลิกออกมาหน้าไหน ปฏิรูปประเทศไทย คือวาระที่ไม่ว่าใคร ก็ไม่กล้าปฏิเสธ แน่นอน

-ร่างพิมพ์เขียวประเทศไทย

นับแต่การรัฐประหารในปี 2549 จนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังตกอยู่ภายใต้กับดักการเมือง   ล่าสุดกระแสสังคมลุกฮือขึ้นมาคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ก่อนยกระดับสู่การเป่านกหวีดต้านโกงขับไล่รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"จนต้องชิงยุบสภา โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. สวมบทแกนนำ เรียกร้อง นายกฯรักษาการที่ไม่ผูกโยงกับการเมือง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง
   
ขณะที่ 7 องค์กรเอกชนออกมาหนุนตั้งองค์กรอิสระปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง โดยออกแถลงการณ์ร่วมกันหลังจากที่ความคิดเห็นของสังคมต่างกันแบบสุดขั้ว ระหว่าง
ปฏิรูป"ก่อน"หรือ"หลัง"การเลือกตั้งท่ามกลางที่การปฏิรูปถูกชูขึ้นเป็นวาระประเทศไทยโดยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนในสังคม
   
ฟังเสียงมุมมองตัวแทนองค์กรต่างๆ ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ นักธุรกิจ นักวิชาการ นักการเมือง สถาบันการเงิน  "อยากเห็นประเทศไทยไปทางไหน"จาก 12 กูรู ที่ส่วนใหญ่สะท้อนภาพทิศทางเดียวกันว่า อยากเห็นประเทศไทยมีการปฏิรูปประเทศ หลังจากติดหล่มปัญหาจนกระทบความเชื่อมั่นด้านต่างๆ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
   
อยากเห็นปี 2557 เป็นปีแห่งการปฏิรูปประเทศไทย  เนื่องจากขณะนี้ดูเหมือนว่า สังคมเห็นตรงกันว่า ควรมีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ แต่ยังถกเถียงกันว่า ควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และควรเลือกตั้งก่อนปฏิรูป   ส่วนตัวเห็นว่า การเลือกตั้งควรต้องมีในเร็ววัน แต่ต้องไม่ทิ้งการปฏิรูป  อันที่จริง การเริ่มปฏิรูปสามารถทำก่อนเลือกตั้ง โดยรัฐบาลรักษาการออกกฎหมายตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายขึ้นมา  เพื่อให้ดำเนินการปฏิรูปต่อเนื่องหลังมีการเลือกตั้ง    
   
ผมอยากเห็นทุกฝ่ายเดินไปด้วยกัน โดยรัฐบาลควรส่งสัญญาณในการปฏิรูปบางอย่างก่อน หลังจากนั้นพรรคการเมืองควรมาร่วมกันทำสัญญาประชาคมว่าหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตาม จะต้องมุ่งมั่นปฏิรูปประเทศ ไม่ต้องทำทุกเรื่อง ควรเลือกทำเรื่องใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งเช่น การคอร์รัปชัน  การใช้อำนาจเกินขอบเขต และปัญหาความเหลื่อมล้ำ"
   
โดยควรตั้งเป้าผลักดันการปฏิรูป รวมทั้งการออกกฎหมายต่างๆ  ให้เสร็จโดยเร็ว  ทั้งนี้ควรมีการตั้งเป้าหมายว่า เรื่องที่น่าจะเห็นตรงกันทุกฝ่ายอยู่แล้ว เช่น การให้คดีคอร์รัปชันไม่มีอายุความ ควรต้องแล้วเสร็จใน 3 เดือนหลังรัฐบาลแถลงนโยบาย   เรื่องที่ต้องทำรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น มาตรการลดความเหลื่อมล้ำบางด้าน ควรต้องเสร็จใน  6 เดือน  ส่วนเรื่องยากขึ้นไปอีก ไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ปี
   
อยากเห็นทุกฝ่ายเดินไปด้วยกัน โดยรัฐส่งสัญญาณปฏิรูปบางอย่างก่อน"

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO)
   
ปี 2557 อยากเห็นประเทศไทยเดินหน้า 4 เรื่อง เรื่องแรก การต่อต้านคอร์รัปชันโดยสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทยก่อน เนื่องจากมีความสำคัญที่สุดและเป็นบ่อเกิดของปัญหา เรื่องที่ 2 เสนอให้ทำเรื่องวินัยทางการคลัง ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็แล้วแต่เข้ามาบริหารประเทศ หากมีวินัยในการใช้จ่ายเงินและดูแลภาระหนี้แล้ว ก็จะส่งผลดีให้การปฏิรูปประเทศไทยประสบความสำเร็จ
   
นอกจากนี้ด้านบทบาทเวทีกลางรับฟังความเห็นโดยตรงจากทั้ง 2 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตรง ฉะนั้นหลังจากบทบาทเป็นเวทีกลางจบสิ้นลงแล้ว สภาธุรกิจตลาดทุนก็จะอาศัยจังหวะนี้เพื่อเสนอทางออกใน 2 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นโดยผ่าน 7 องค์กรภาคตลาดทุน
   
เรื่องที่ 3 ควรอาศัยจังหวะนี้ปฏิรูป ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเสียใหม่ด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ไทยพึ่งพิงภาคส่งออกมากเกินไป ซึ่งในอดีตได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการที่ประเทศพึ่งพิงการส่งออกสูงถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกรอบประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้น ดังนั้นควรส่งเสริมภาคธุรกิจอื่นๆให้มีบทบาทเพิ่มขึ้น อาทิ สนับสนุนในส่วนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอ็สเอ็มอี)    เรื่องที่ 4 ควรกำหนดยุทธศาสตร์หรือทิศทางประเทศไทยให้ชัดเจนไปว่าจะเดินไปทางไหน โดยควรทำเป็นแผนระยะยาวด้วย
   
เสนอให้ทำเรื่องวินัยทางการคลัง ก็จะส่งผลดีให้การปฏิรูปประเทศไทย"

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)
   
วาระของประเทศไทยในปี 2557 ที่ตลท.เสนอและอยากเห็นนั้น จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับ 7 องค์กรภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยมีสมาชิก 7 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เสนอตัวจัดเวทีกลางเพื่อระดมความคิดเห็น พร้อมสนับสนุนต่อต้านคอร์รัปชัน และสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย เป็นต้น
   
เห็นด้วยที่จัดเวทีกลางระดมความคิดเห็น พร้อมหนุนต้านคอร์รัปชันและปฏิรูป"

นายชาติศิริ  โสภณพนิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
   
วิสัยทัศน์ต่อ "บริบทวาระประเทศไทย"ช่วงเวลานี้คือโอกาสสำหรับประเทศไทย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ กำลังเกิดขึ้น ทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค  การหลอมรวมในระดับภูมิภาคภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)  การพัฒนาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค  และการเติบโตของสังคมเมืองสู่จังหวัดต่างๆ ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
   
ดังนั้นวาระที่ประเทศไทยควรคำนึงถึง คือ 1. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2. การศึกษา ทั้งในด้านคุณภาพและความทั่วถึง  เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทรัพยากรบุคคลของชาติสามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานอาเซียน และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ 3.  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่และใกล้ตัว เมื่อความเป็นเมืองขยายตัวออกไป ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านพลังงาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
   
4.การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากอีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่วัยทำงานมีสัดส่วนน้อยลง จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการวางแผนทางการเงินเพื่อให้ประชากรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีในวัยหลังเกษียณ โดยไม่เป็นภาระของประเทศและลูกหลาน  5.การก้าวพ้นปัญหาวิกฤติทางการเมืองในขณะนี้ให้ได้ทั้งนี้ในส่วนของสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนในการหาทางออกให้แก่ประเทศ โดยยึดหลักการของกฎหมาย ความถูกต้องชอบธรรม ตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี และปราศจากความรุนแรง
   
วาระประเทศไทยช่วงนี้คือโอกาสของไทย เพราะการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ กำลังเกิดขึ้น"

ศาสตราพิชาน ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  ประธานกรรมการสถาบันอนาคตไทยศึกษา
   
นาทีนี้คนไทยจะต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อการปฏิรูป โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่เฉพาะการเลือกตั้ง  เพราะเรามีปัญหาสั่งสมมาตั้งแต่อดีตที่ยังมิได้แก้ไข  เราแก้ไม่ได้และไม่อาจแก้  หรือแม้แต่มุ่งมั่นที่จะแก้  เพราะสภาพการเมืองในบ้านเมืองที่มุ่งเน้นแต่การแสวงหาซึ่งอำนาจและใช้อำนาจที่ได้มานั้นเพื่อจรรโลงอำนาจ  แทนที่จะใช้อำนาจนั้นเพื่อพัฒนาบ้านเมืองอย่างที่ควรจะเป็น  จนประเทศเสื่อมถอยลงทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ท่ามกลางความรุดหน้าของชาติเพื่อนบ้านที่เคยมองดูเราด้วยความอิจฉา
   
แต่วันนี้ไทยตื่นตัวไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง   ในด้านหนึ่งอาจดูเสมือนว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงและแตกร้าว  แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเราเชื่อว่าในหัวใจของคนไทยทุกคนล้วนรักและไม่อยากทำร้ายประเทศไทย   เราคนไทยจะต้องไม่ใช้ความตื่นตัวนั้นเพื่อใช้ในการต่อสู้ฟาดฟันเพื่อเอาชนะ  
ในทางตรงข้าม   เราทุกฝ่ายต้องส่งเสริมพลังที่ไม่เคยเกิดขึ้นนี้ผลักดันร่วมกันในทางบวกเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองในบ้านเมือง อันจะนำไปสู่การปฏิรูปในด้านอื่นๆ  อย่างสันติ อย่างมีสติ อย่างใช้ปัญญา  และอย่างร่วมมือร่วมใจ  และหากเรายังละทิ้งโอกาสนี้ไป แต่ยังคงคิดถึงอำนาจและชัยชนะทางการเมือง คงยากที่จะสร้างไทยให้สมบูรณ์รุดหน้าได้อีกแล้ว
   
ฉะนั้น ณ นาทีนี้  เราคิดว่ามันไม่ใช่นาทีแห่งการเลือกตั้งเพียงเพื่อรักษาเปลือกที่ผุกร่อนของประชาธิปไตยเท่านั้น   แต่เป็นนาทีที่ทุกฝ่ายต้องละทิ้งเป้าหมายส่วนตน  และหันมาร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศเพื่อสร้างแก่นแท้แห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงให้จงได้
   
เราทุกฝ่ายต้องส่งเสริมพลังที่ไม่เคยเกิดขึ้นนี้ ให้เกิดปฏิรูปการเมือง อย่างสันติ"

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ  ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
   
ในนามตัวแทน 7 องค์กรภาคเอกชนมองว่าจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องเร่งหาทางแก้ไข จึงเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองทันทีไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ โดยการปฏิรูปไม่สามารถทำได้ภายใน 2 เดือน และการปฏิรูปบางเรื่องอาจใช้เวลานาน 5-10 ปี  แต่สามารถเริ่มจากบางส่วนได้ก่อน
   
ทั้งนี้กรอบการทำงานการปฏิรูป มีข้อเสนอ  เช่น การกำหนดกติกาเข้าสู่อำนาจรัฐที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ร่วมกัน เช่น ระบบการเลือกตั้งที่ปราศจากการซื้อเสียงและใช้อิทธิพลใดๆ และความโปร่งใสของกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ  รวมถึงการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของผู้แทนประชาชน องค์กรอิสระและสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ  รวมถึงขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ภาคเอกชน ตลอดจนในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม  ขณะที่โครงการที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน ระบบเศรษฐกิจ และวินัยการคลัง ควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยถือผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก และมีกระบวนการยุติธรรมที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
   
อย่างไรก็ตามการปฏิรูปมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องทำทันที  จึงขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้ความสุขุมรอบคอบและวิจารณญาณที่จะช่วยแก้ไขปัญหาชาติ  จึงขอเรียกร้องให้นักการเมืองและคู่ขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศ และหันมาเจรจาหาทางออกจากวิกฤติทางการเมืองร่วมกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของชาติตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และขอให้ทุกฝ่ายแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาของประเทศ โดยเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป  รวมถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการปฏิรูปตามข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อการปฏิรูป และในเวลาเดียวกันให้บริหารประเทศและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดและชะงักงัน และควรทำภารกิจข้างต้นให้เสร็จสิ้นอย่างเร็วที่สุด แต่ไม่ควรเกิน 1 ปี
   
กำหนดกติกาสู่อำนาจรัฐที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เช่น เลือกตั้งที่ปราศจากการซื้อเสียง"

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)
   
ปี 2557 อยากเห็นประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ให้ทุกฝ่ายมีความสามัคคีกันเกิดขึ้น และอาศัยศักยภาพของประเทศในด้านต่างๆ เป็นจุดดึงดูดนักลงทุน และพยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในประเทศให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจภายในประเทศเกิดความเข้มแข็ง มีการสร้างความเท่าเทียม สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพราะเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  ที่จะต้องมีการดำเนินงานในรูปแบบคลัสเตอร์มากขึ้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบอุตสาหกรรม ที่จะต้องอาศัยภาคเอกชน รัฐบาล สถาบันการศึกษา ฯ ช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งหากเศรษฐกิจดี ย่อมหมายถึงประชาชนในประเทศอยู่ดีกินดีด้วย ซึ่งวันนี้เราต้องใช้ศักยภาพของประเทศที่มีอยู่ให้เต็มที่ ในการรองรับนักลงทุนหรือการขยายงานเพื่อเปิดโอกาสออกไปสู่การแข่งขันนอกประเทศมากขึ้น
   
พร้อมสะท้อนให้เห็นว่าการที่จะปฏิรูปประเทศไทย คงไม่สามารถเริ่มจากด้านใดด้านหนึ่งได้ แต่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกันทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เพราะทุกด้านมีความเกี่ยวเนื่องกัน รวมไปถึงตัวบทกฎหมาย ระบบราชการ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะต้องมีการนำมาปรับปรุง และทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
   
อีกทั้ง การปฏิรูปประเทศไทยนั้น  มีหลายเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการทุกด้านพร้อมกัน ซึ่งอาจจะต้องมีการนำมาจัดหมวดหมู่ ในการเข้าไปแก้ไขหรือปรับปรุง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนทุกภาคส่วน ไม่ให้เกิดความรู้สึกน้อยใจว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม
   
การปฏิรูปประเทศไทย ต้องไปพร้อมกันทั้งสังคม เศรษฐกิจและการเมือง"

นายประสิทธิ์  บุญเฉย  นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย
   
อยากเห็นรัฐบาลใหม่ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เพราะเห็นแล้วว่าโครงการไปไม่รอด มีการทุจริตสูง และมีปัญหาจ่ายเงินล่าช้าทำให้ชาวนาเดือดร้อน และเป็นหนี้เป็นสิน ซึ่งเมื่อยกเลิกโครงการรับจำนำแล้วจะเปลี่ยนเป็นโครงการประกันราคา หรือประกันรายได้ เราขอให้ชาวนาได้ราคาที่ 1 หมื่นบาทต่อตันพอ ที่ความชื้นข้าว 25%  ไม่จำเป็นต้องเป็นราคา 1.5 หมื่นบาทต่อตันเหมือนปัจจุบันแต่ได้เงินล่าช้า
   
ทั้งนี้เมื่อมีการยกเลิกโครงการรับจำนำแล้วอยากเห็นทุกฝ่ายร่วมกันปฏิรูปชาวนาที่มีอยู่ 3.7 ล้านครัวเรือน รวมกว่า 20 ล้านคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง โดยทางหนึ่ง ส่วนตัวมีแนวคิดอยากให้มีการตั้งสภาการข้าวและชาวนาไทย โดยลักษณะมีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ ทั้งจากชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก บริษัทผู้ค้าปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช และปัจจัยการผลิต มาร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาร่วมกัน ในลักษณะที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน (วิน วิน) ไม่เอาเปรียบกัน และจุดศูนย์กลางในการประสานงาน
   
นอกจากนี้อยากเห็นแนวทางของรัฐบาลในการสนับสนุนด้านการศึกษาแก่ลูกหลานชาวนาเพื่อรับมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีที่จะมาถึงในปี 2558  อยากเห็นภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของบริษัทผู้ผลิต หรือค้าปัจจัยการผลิตร่วมมือกับชาวนาในการจัดตั้งร้านค้าต้นแบบเพื่อจำหน่ายปัจจัยการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาในราคาถูก โดยหนึ่งร้านมีสมาชิก 1-2 พันรายร่วมเป็นสมาชิก และซื้อสินค้า สิ้นปีมีเงินปันผลคล้ายสหกรณ์ และในอนาคตมีการกระจายร้านค้าในลักษณะนี้ไปทั่วทุกอำเภอของประเทศในลักษณะแฟรนไชส์
   
และที่อยากเห็นคือ การสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ในชนบท รวมกลุ่มกันทำโครงการเกษตรเพื่อการศึกษา เพื่อห่างไกลยาเสพติดและอบายมุขต่างๆ โดยสมาคม หรือผู้ที่เห็นความสำคัญออกค่าเช่าพื้นที่ให้ก่อนในการปลูกพืชผัก ปลอดสารพิษ และจัดหาตลาดค้าส่งให้ รวมถึงการเปิดบัญชีให้เด็ก และแบ่งเงินรายได้จากการขายให้จำนวนเท่าๆ กัน ซึ่งวิธีการนี้แทนที่หลังเลิกเรียนเด็กๆ จะไปเล่น หรือไปมั่วสุมก็จะใช้เวลาว่างให้เป็นโยชน์ และมีรายได้ไม่ต้องพึ่งพ่อแม่มากเกินไป  
   
อยากเห็นรัฐบาลใหม่เลิกโครงการรับจำนำข้าว เพราะเห็นว่าไปไม่รอด มีทุจริตสูง"

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT)
   
องค์กรของเราประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นต่างชาติ จึงไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง แต่แน่นอนว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ผมจึงอยากเห็นความมีเสถียรภาพทางการเมือง ถ้ายืดเยื้อจะเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับโอกาสการลงทุนในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากภาพข่าวถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ผมคิดว่าทุกฝ่ายจำเป็นต้องพูดคุยกัน เจรจา และประนีประนอม นั่นเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่จะปฏิรูปอย่างไรจะต้องขึ้นอยู่กับคนไทย เพราะคนไทยรู้ว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับตนเอง แต่ไม่ว่าจะเลือกตั้งแล้วค่อยปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ต้องขึ้นอยู่กับคนไทยว่าคิดว่าวิธีการใดจะดีที่สุด
   
ถ้าไม่จำกัดอยู่เพียงการปฏิรูปทางการเมือง ผมคิดว่าเวลานี้ผู้คนพูดกันมากถึงเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน สำหรับเรา JFCCT สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชันและมีส่วนร่วมในเรื่องนี้เสมอมา เราช่วยนำความรู้และประสบการณ์ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันจากต่างชาติมาแลกเปลี่ยน เพราะเชื่อว่าการคอร์รัปชันเป็นการเพิ่มต้นทุนของการลงทุนทุกประเภท และลดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
   
สำหรับประเทศไทยในปี 2557 ผมอยากเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอยากเห็นว่าเราพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หรือยัง ต้องอย่าลืมว่าปี 2558 จะเป็นปีที่เกิดเออีซี และเราต้องพร้อม ซึ่งยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ ผมคิดว่าการปฏิรูปทางการเมืองต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง แต่ในด้านเศรษฐกิจเราต้องแน่ใจว่าเรามีความพร้อมสำหรับการแข่งขัน มีความสามารถที่จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ผมไม่ได้หมายความว่าเราต้องเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก แต่อย่างน้อยเราจะวางตำแหน่งอย่างไรให้เป็นผู้นำในเออีซี นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น
   
อยากเห็นการเมืองมีเสถียรภาพถ้ายืดเยื้อน่ากังวลสำหรับโอกาสการลงทุน"

นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (สทท.)
   
สิ่งที่อยากเห็นในปี 2557 คือ เป็นปีที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างบรรยากาศให้อยู่ในลักษณะของความไม่รุนแรง อยากให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยวไทย สามารถลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ โดยปี 2557ทาง สทท. ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยไว้ที่ 29.92 ล้านคน เติบโตขึ้น 12.1% และสร้างรายได้เข้าประเทศคาดว่าจะมากถึง 1.35 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 18%
   
อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ภายในประเทศไม่เกิดความรุนแรง การประกาศเตือนนักท่องเที่ยวของทางการต่างประเทศในการเดินทางมาเที่ยวไทย ก็จะมีจำนวนลดลง จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเช่นเดิม ทั้งนี้โดยส่วนตัวนั้น เป็นห่วงตลาดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยมากกว่าต่างชาติ เนื่องจากคนไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์โดยตรง ซึ่งเป็นผลกระทบต่อความรู้สึก สืบเนื่องไปยังอารมณ์ในการเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามในปีหน้า สทท. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเดินหน้าโปรโมตกิจกรรม "หลงรักประเทศไทย" เพื่อผลักดันการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น
   
นอกจากนี้มองว่าตลอดปี 2557 จะเป็นปีทองของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาหนาตา โดยเฉพาะตลาดจีน ที่หลังจากกฎหมายการท่องเที่ยวฉบับใหม่ออกมาเพื่อคัดกรองทัวร์ที่มีราคาไม่สมเหตุสมผล ทำให้ตลาดจีนที่เคยเติบโตดีอย่างก้าวกระโดดต้องชะงักไปเกือบเท่าตัวในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่เชื่อว่าปีหน้าจะกลับมาสดใสเช่นเดิม เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มเข้าใจกับกฎหมายใหม่ อีกทั้งบริษัทนำเที่ยวก็เริ่มทำแพ็กเกจที่มีคุณภาพเสนอขายมากขึ้น ซึ่งเหตุนี้จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยมีคุณภาพมากขึ้นด้วย  แต่ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนตลอดปี 2557 ว่าจะคึกคักมากน้อยแค่ไหน
   
อยากให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ  ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย"
สัมภาษณ์คำต่อคำ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ , ประมนต์  สุธีวงศ์

 การลุกฮือของประชาชนทั่วสารทิศจากแสนเป็นล้านคน และมีแนวโน้มยกระดับการต่อสู้กับ"ระบอบทักษิณ" และขับไล่รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"หนักหน่วงและต่อเนื่อง แต่เป็นไปอย่างสันติอหิงสา เป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่ธรรมดาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา    "ฐานเศรษฐกิจ"ในฉบับต้อนรับปีมะเมีย สัมภาษณ์พิเศษ 2 ผู้ทรงคุณวุฒิ สะท้อนมุมมอง ให้แง่คิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง พร้อมชี้ทางออกปัญหาเพื่อ  "อภิวัฒน์ประเทศ" ให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างแท้จริง  ท่านแรก  ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์    คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของทฤษฎี "2 นคราประชาธิปไตย"
   
ผู้ทรงคุณวุฒิลำดับถัดมา"ประมนต์  สุธีวงศ์" ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ถือเป็นหนึ่งในองค์กรแรกๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยออกแถลงการณ์ต่อต้านกฎหมายล้างผิดคดีโกงเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2556 ที่รัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
 
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
   
ศ. ดร.เอนก เจ้าของทฤษฎี "2 นคราประชาธิปไตย"  เปิดมุมมองต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า เราควรจะเอาความเคลื่อนไหวของประชาชนแต่ละครั้ง นำมาเป็นบทเรียนเป็นแง่คิดให้เราได้เรียนรู้ว่า ประชาชนที่มาประชุมเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านเขาต้องการอะไรบ้าง และประชาชนที่มาชุมนุมเป็นประชาชนที่กระตือรือร้นเป็นพิเศษ เราต้องเรียนรู้จากทุกๆการชุมนุมของสีแดง และราชดำเนิน  อย่าเอาการชุมนุมไปผูกติดกับคำถามเดิมปัญหาเดิมอยู่ตลอด ให้มีโจทย์ใหม่ คำตอบใหม่อยู่เสมอ เช่น ไม่ควรมองแต่เพียงว่าม็อบจะเอาชนะรัฐบาลได้อย่างไร  รัฐบาลจะจัดการม็อบได้อย่างไร
   
หากมองในแง่พัฒนาการทางการเมืองมันก็ดี  ได้เรียนรู้จากขบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาว่า ไม่ควรเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจ ได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ไม่มีการนองเลือดไม่มีการใช้ความรุนแรง  ฟันฝ่ากับจุดเปลี่ยนจุดผกผันหลายๆอย่างมาได้ เช่น เหตุการณ์ปะทะกันที่รามคำแหง ไม่ได้ทำให้ลุกลามใหญ่โต ต้องชมทั้งทางสีแดงและราชดำเนินว่าเขากอบกู้สันติวิธีกลับมาได้  หรือช่วงที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่กัน 2-3 วัน ก่อนที่ไม่มีแก๊สน้ำตา ไม่ได้มีการเผาหรือทำร้ายคำหรือข้าวของ หรือเข้าสู่สถานที่ราชการก็ไม่ยึดนาน ชี้ให้เห็นและเรียนรู้วัฒนธรรมการเมืองใหม่ที่คลี่คลายไปเรื่อยๆ รัฐบาลก็เลือกที่จะไม่ปะทะ เลือกใช้สันติวิธีให้มากที่สุด สีแดงก็ไม่เคลื่อนมาปะทะ มันก็ดีขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย การชุมนุมที่รักษาสันติวิธีได้มันก็จะเป็นประวัติศาสตร์

-ข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ
   
ผมหาคำที่จะมาใช้แทน "ปฏิรูป" ไม่ได้ มันต้องใช้คำ "อภิวัฒน์" คำที่ไม่ใช่รัฐ หรือส่วนกลางอย่างเดียว ไม่ใช่นักการเมืองที่ควบคุมรัฐบาล มันอาจจะต้องเป็นประชาชน สังคม ท้องถิ่น  การอภิวัฒน์ต้องทำด้านวัฒนธรรมให้มากที่สุด  รวมทั้งการแสวงหากรอบคิดใหม่ๆที่จะทำให้เราออกจากกรอบเดิมด้วย สำคัญมาก ที่เลี่ยงใช้คำว่า"ปฏิรูป"เพราะไม่อยากเห็นอะไรที่มันเป็นช่องเป็นซอง มันอาจจะมีอะไรที่มันอาจจะกระจัดกระจายแยกกันเป็นคนละพวง จะไปคิดให้เป็น Total change เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอาจไม่ใช่
   
สิ่งที่ผมอยากเห็นคำว่า"อภิวัฒน์" ไม่ใช่"ปฏิรูป"ให้คนชั้นล่างหรือคนชั้นกลางมีอะไรที่มากกว่าการหย่อนบัตร ให้เขาเอาความอยากความต้องการของเขามาแบบนโต๊ะ แล้วทำอย่างไรจะให้นักการเมืองฟังตรงนั้น คนชั้นกลาง คนชั้นสูง มารับฟังสิ่งเหล่านั้น แล้วก็ผลักดันให้คนชั้นล่าง หรือชนชั้นกลางระดับล่างมีความสำคัญมากขึ้น  เกษตรกรมี 60-70% แต่ไม่มีส.ส.เข้ามาอยู่ในสภาเลย ต้องมีวิธีการสรรหา วิธีการเลือกตั้งผู้แทนที่มาจากอาชีพเกษตรกรให้มากขึ้น ที่มาจากเกษตรกรทุกภาคตามสัดส่วนประชากร  หรือทำอย่างไรให้มีสภาคนต่างจังหวัด สภาคนกลาง ให้มีบทบาทมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพิ่ม
   
อีกด้านหนึ่งต้องอภิวัฒน์ให้ชนชั้นกลาง คนชั้นสูง ซึ่งอะไรดีอยู่แล้วให้สนใจปัญหา นอกเหนือจากอาชีพ นอกเหนือจากหุ้นตก เป็นห่วงจีดีพี โตไม่พอ ให้มาสนใจในเรื่องอื่นๆของชาติบ้านเมืองมากขึ้น ให้เขาได้มามองปัญหาและทางออกของประเทศด้วยมุมมองใหม่ๆ ทำอย่างไรให้เห็นชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางเป็นพันธมิตรของเขา  เพราะไม่อย่างนั้นประเทศไทยก็จะอยู่แบบ 2 นคราอยู่อย่างนี้
   
ม็อบใหญ่ที่จะไล่รัฐบาลในวันที่ 22 ธันวาคม ที่ผ่านมา  เหมือนปี 2538-39 คนชั้นกลางออกมาประท้วง ออกมาขับไล่รัฐบาล  ไปสรุปง่ายๆว่าม็อบเป็นแสนเป็นล้านเป็นเสียงข้างน้อย คงไม่ใช่ เพราะมันคนหลายแสนถึงล้านมันใหญ่มาก  วันที่ 9 ธันวาคม  มันเป็นประวัติศาสตร์ เพื่อไทย ควรเอาเรื่องม็อบเป็นบทเรียนอย่ามองเป็นศัตรู ผมคิดว่าเป็นคู่ปรับเป็นคู่แข่งพอได้ ต้องเรียนรู้จากเขาด้วย เหมือนที่ฝ่ายม็อบราชดำเนินไม่ควรคิดว่าสีแดงเป็นปรปักษ์ ควรเอาการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งให้เกิดประโยชน์
   
เรื่องใหญ่ๆของบ้านเมือง เป็นเรื่องของโชคชะตาของบ้านเมืองด้วย  มันเป็นอะไรที่เราคาดได้ยาก ทายได้ยาก หวังได้ยาก   ตอนที่เหตุการณ์มันเริ่มเกิด หรือกำลังขึ้นสู่ยอดสูงสุดมันทายยาก  ตอนนี้ยังไม่ถึงที่สุด ก็คงจะใกล้เต็มทีแล้ว"
   
การปฏิรูปปัจจัยอยู่ที่ประชาชน สังคม และตนเอง  เรื่องนี้มันถึงไม่ง่าย มันจะปฏิรูปครั้งเดียว มันจะจบ ผมว่ามันไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้พูดเพื่อให้สั่นคลอนความคิดความเชื่อของเขา  ไม่รู้ว่าใครคิดถูก เป็นเรื่องที่จะต้องให้เวลามันบอกเรา การจะจบลงแบบไหน เรื่องใหญ่ๆของ "มหาเหตุการณ์"แบบนี้เราจะเข้าใจมันได้ดีตอนที่เหตุการณ์มันใกล้จะจบ

- ทางออกของปัญหาทหารจะช่วยได้แค่ไหน
   
ทหารต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ฝ่ายที่คิดเรื่องปฏิรูปอะไรต่างๆ ต้องคิดว่า อีกฝ่ายมีราก จะไปโยกต้นไม้จะต้องรู้ว่าต้นไม้มันใหญ่ขนาดไหน ต้องคิดอะไรที่ไร้รูปแบบให้มากขึ้น อย่าไปคิดที่มันเป็นรูปแบบจนเกินไป และต้องใช้เวลา  เวลานี้ก็เป็นเวลาที่ให้การศึกษา ทำอะไรไม่ต้องคิดว่ารอบเดียวครั้งสุดท้าย มันจะทำให้ตัวเองลำบาก ที่จะวางตนเองไปในอนาคตข้างหน้า  จะเป็นการผูกมัด
   
ผมเชื่อว่าทั้ง 2  ฝ่ายคงฉลาดกันทั้งคู่ ทำอย่างไรจะช่วยกันดูแลเหตุการณ์จากนี้ไป มันอาจจะมีหรือไม่มีการเลือกตั้ง อาจจะมีการเลือกตั้งสงบ หรือไม่สงบ  หลังเลือกตั้งจะมีม็อบอีกหรือเปล่า เป็นอะไรที่เราคาดได้ยาก ต้องตามไปดู
   
น่าสังเกตว่า การชุมนุมเที่ยวนี้ไม่มีการอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นพวกของตัวเอง    เป็นการเรียนรู้จากความบกพร่องในครั้งก่อนๆ บางอย่างก็ต้องให้เป็นของทุกๆฝ่าย ไม่งั้นก็จะแก้ปัญหาแบบสันติวิธีได้อย่างไร  การที่จะแก้ปัญหาแบบสันติวิธีได้ก็ต่อเมื่อเรามีอะไรร่วมกันอยู่ ถ้าเราไม่ร่วมอะไรกัน มันก็เหมือนศัตรู เหมือนศัตรูสู้กับชาติเรา    บางที 2 ฝ่ายคุยกันไม่ได้ เพราะขาดตัวกลางและต้องใช้เวลา        
   
การที่ฝ่ายเพื่อไทยเอาคุณยิ่งลักษณ์มาเป็นหมายเลขหนึ่ง ผมว่าไม่ต้องว่าอะไร ถ้าได้รับเลือกตั้งอีก  หลังเลือกตั้งตั้งแต่วันแรก ก็ต้องไล่กันอีก  ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะสงบ" เสียงสะท้อนที่น่าคิดจากเจ้าของทฤษฎี  "2 นคราประชาธิปไตย"

ประมนต์  สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)
   
ประมนต์  กล่าวถึงสาเหตุที่ออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากเห็นแล้วว่า เป็นการนิรโทษให้กับคนทุจริต ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อนในสังคมโลก อีกทั้ง พ.ร.บ.นี้ยังนิรโทษกรรมให้กับคนต่างชาติที่มาร่วมก่อทุจริตในประเทศไทยได้รับอานิสงส์ล้างผิดไปด้วย ตัวอย่างคดีทุจริตรถดับเพลิงของ กทม.ที่ศาลตัดสินไปแล้ว หาก พ.ร.บ.นี้ผ่านก็หมายความว่าไม่มีโทษ แน่นอนว่าประเทศที่เป็นคู่สัญญาเขารับไม่ได้แน่เพราะนิรโทษให้กับคนที่ทำผิดที่เป็นคนของประเทศเขา
   
ถ้า พ.ร.บ.นี้ผ่านประเทศไทยเจ๊งแน่ๆ และผมเชื่อว่าเราจะหมดความชอบธรรม ไม่มีประเทศไหนมาคบค้าสมาคมด้วยจึงต้องออกมาต่อต้าน ซึ่งไม่กี่วันหลังจากนั้นก็มีคนลุกฮือกันออกมา เรียกว่าไป "เรียกแขก"ออกมาเยอะแยะเลย ทำให้งานของเราก้าวหน้าไปเร็วกว่าที่คิด เพราะส่วนหนึ่งได้สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนลุกขึ้นต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น เพราะฉะนั้นผมถือว่าตรงนี้เป็นอานิสงส์จากการที่มี พ.ร.บ.นี้ออกมา ทำให้เราได้พลังมาช่วยกันขับเคลื่อนมากขึ้น"

-คอร์รัปชันนับวันยิ่งรุนแรง
   
สำหรับวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยังไร้ทางออกในเวลานี้มองว่า มีต้นตอจากการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในประเทศและหมักหมมมานาน และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากดัชนีทุจริตคอร์รัปชันที่วัดภาพลักษณ์ของประเทศโดยองค์กรนานาชาติ สถานการณ์คอร์รัปชันของไทยเลวร้ายลงทุกปีและไทยสอบตกมาโดยตลอด ซึ่งหากให้คะแนนเต็ม 100 ไทยจะได้ประมาณ ที่ 30 ต้นๆ อันดับคอร์รัปชันจากเคยอยู่อันดับที่ 88 หล่นลงต่ำกว่า 100  แสดงให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ทั้งในระดับต่ำ  ระดับทั่วๆ ไป และระดับสูง ซึ่งลามไปในทุกวงการ ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองที่เรียกร้องให้มีการจ่ายเงิน
   
เศรษฐกิจไทยนับแต่ปี 2549 ที่มีการรัฐประหารถือว่าไม่ได้เลวร้าย แต่เศรษฐกิจไทยดูแลตัวเองได้ดีพอสมควร นักธุรกิจไทยก็สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจได้ โดยนโยบายรัฐไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่การทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นปัญหาที่หนักที่สุดที่ถ่วงความเจริญของประเทศ และเป็นตัวซ้ำเติมทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศและของภาคธุรกิจลดลง เพราะต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีเสียงข้างมากทำให้การตรวจสอบหรือคัดค้านในเรื่องต่างๆ ไม่ค่อยได้ผล ตรวจสอบยาก และมีการทุจริตคอร์รัปชันสูง เมื่อมาผนวกกับการผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคนโกง และการไม่ยอมรับอำนาจศาลจึงถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนออกมาต่อต้านมาก "
-ต้องปฏิรูป 5 ด้าน
   
สำหรับการปฏิรูปประเทศไทยเสียใหม่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูป ซึ่งจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ( 2 ก.พ. 57)ค่อยว่าอีกที ซึ่งการปฏิรูปใหญ่ๆ มองว่า มี 4-5 เรื่อง เรื่องแรก ต้องปฏิรูปเรื่องคอร์รัปชันที่ถือเป็นรากเหง้าของปัญหาทั้งหมด เรื่องที่ 2 การปฏิรูปเรื่องการเมือง ในเรื่องกระบวนการเลือกตั้งที่จะทำอย่างไรให้มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมอย่างแพร่หลายมากขึ้น เรื่องที่ 3 การปฏิรูปเรื่องการบริหารการปกครองโดยกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เรื่องที่ 4 การปฏิรูปเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะต้องมาดูว่าความเหลื่อมล้ำของสังคมที่เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจจะแก้ไขอย่างไร เราเคยมีความคิดว่า อาจจะต้องมีภาษีที่ดิน อาจจะต้องมีภาษีมรดกเพื่อที่จะทำให้คนรวยต้องมีภาระมากขึ้น และนำเงินจำนวนนั้นไปช่วยคนจนมากขึ้น การปฏิรูปพวกนี้คงต้องไปคิดว่าจะต้องมี และเรื่องที่ 5 การปฏิรูปทางด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือการที่จะทำให้คนที่ด้อยโอกาสมีโอกาสมากขึ้น  "4-5 เรื่องนี้ เป็นการปฏิรูปที่คนพูดกัน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าต้องทำ ส่วนจะต้องทำอย่างไรมาดูรายละเอียดกันอีกทีหนึ่ง"
   
ส่วนที่มีคำถามว่าแล้วจะปฏิรูปเมื่อไหร่ ก่อนเลือกตั้งได้หรือไม่ ก็มีคนจำนวนมากที่อยากจะเห็นมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่ถ้าดูตามกรอบเวลาที่ต้องเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 หรือเหลือแค่ 1 เดือนคงทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งจริงๆ จะต้องมีความเห็นร่วมกันของทุกฝ่ายว่าให้ยืดเวลาเลือกตั้งออกไป ซึ่งในกระบวนการหรือทางเทคนิคทำได้หรือไม่ ได้รับทราบจากผู้รู้หลายคนว่า ถ้ามีความเห็นชอบด้วยกันทั้งหมดน่าจะทำได้ ซึ่งต้องไปดูในช่องกฎหมาย หรือที่พูดกันว่าสามารถขยับไปได้ และก็ให้มีผู้บริหารประเทศที่เป็นคนกลางๆ ที่คัดเลือกร่วมกันมา แล้วมาช่วยกันทำเรื่องปฏิรูปเรื่องเดียว พอปฏิรูปคุณก็ไปเลือกตั้ง อันนี้ก็เป็นความเห็นที่น่าจะลองไปคิดดูในเรื่องนี้
   
อย่างไรก็ดีหากท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ ก็มีการพูดกันอีกเหมือนกันว่า อยากจะขอให้มีการเซ็นข้อตกลงในสัตยาบันโดยพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องให้ยอมรับหลังเลือกตั้งเสร็จแล้วจะเข้าสู่กระบวนการปฏิรูป 4-5 เรื่องที่กล่าวถึง และทำให้เสร็จภายในเมื่อไหร่แล้วก็ไปเลือกตั้ง วิธีนี้ก็ยังมีความหวังว่ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ซึ่งภายใต้กฎกติใหม่นี้แม้ผู้เล่น(นักการเมือง)ยังเป็นหน้าเดิมๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องปฏิบัติตามกฎ กติกาใหม่ โดยมีระบบการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น"

-ผลงาน3ปีสำเร็จระดับหนึ่ง
   
ประมนต์ กล่าวอีกว่า  ตลอดระยะเวลาประมาณ 3 ปีที่ได้เข้ามาเป็นแม่งานในองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยไม่ได้ลดลง แต่ยังคงมีการทุจริตในทุกภาคส่วนของสังคมมากขึ้น ซึ่งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นซึ่งปัจจุบันมีภาคีสมาชิกทั้งประเทศ 47 องค์กรได้ติดตามและจับตาผ่านเครือข่ายทั่วประเทศที่เรียกว่า "หมาเฝ้าบ้าน"อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการปลุกจิตสำนึกของประชาชนต่อต้านในเรื่องนี้ ตัวอย่างเรื่องที่ได้ดำเนินการแล้วเช่น การเสนอรัฐบาลว่าในอนาคตการประมูลงานใหญ่ๆของภาครัฐจะต้องมีการตรวจสอบโดยกลุ่มของบุคคลที่เป็นคนภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งในเรื่องทีโออาร์มีล็อกสเปกให้ใครหรือไม่ เวลาประมูลได้เชิญคนเข้าร่วมประมูลมากพอหรือไม่ การตั้งราคากลางมีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ได้นำต้นแบบมาจากต่างประเทศที่ภาษาไทยแปลว่า "สัญญาคุณธรรม"มาประยุกต์ใช้ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบันได้รับที่จะไปร่างเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป
   
ส่วนด้านการปลุกจิตสำนึกของเยาวชนได้ทำหลายโครงการ เช่น ร่วมกับ กทม.ในโครงการ "โตไปไม่โกง"โดยนำหลักสูตรเข้าไปอยู่ในโรงเรียนในสังกัด กทม. และอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อจัดทำหลักสูตรกระจายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ ส่วนเรื่องจำนำข้าวได้สรุปเรื่องการทุจริตส่งให้กับทั้งรัฐบาล และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เพื่อติดตามตรวจสอบไปแล้ว
   
ในเรื่องทุจริตรับจำนำข้าวนี้ผมรู้สึกผิดหวังที่ ป.ป.ช.ดำเนินการล่าช้า และไม่ติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิดเท่าที่ควร เรื่องควรจะจบได้เร็วกว่านี้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป นอกจากนี้มีเรื่องที่ ขสมก.จะจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3 พันคัน เราได้รับเชิญไปร่วมให้ความเห็น ส่วนเรื่องที่จับตาดูอยู่คือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เมื่อเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง"

 ประมนต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ความเสียหายจากการทุจริตคอร์รัปชันทุกโครงการรวมกันตกหลายแสนล้านบาทต่อปี มีการพูดถึงการขอผลประโยชน์ 30% หรือ 10% ของมูลค่าโครงการบ้าง ซึ่งในส่วนของการติดตามตรวจสอบของภาคเอกชนก็ทำได้ในข้อจำกัด หากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านคอร์รัปชัน ทำให้ประเทศมีภาพลักษณ์ที่โปร่งใสน่าลงทุนแล้วเป็นผลจากคนที่ขับเคลื่อนหลักในเรื่องนี้คือมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นงานต่อต้านคอร์รัปชันของไทยในอนาคตที่จะทำได้สำเร็จ รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าภาพเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
--------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น