--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

วันตัดสิน 318 ส.ส.-ส.ว.

381ส.ส.-ส.ว."ลุ้นระทึก! ปปช. "เหมาเข่ง"หรือ"รายคน" ปมแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. วิบากกรรม รัฐบาลยิ่งลักษณ์

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นัดสรุปสำนวนและลงมติว่าจะแจ้งข้อกล่าวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีก 381 คน หรือไม่

หลังจากเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้มีมติแจ้งข้อหากล่าวหากับ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ไปแล้ว และนัดให้ทั้งสองเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 10 ม.ค.นี้

สำหรับข้อกล่าวหาที่ทั้ง นายสมศักดิ์ และ นายนิคม ถูกร้องเรียนคือ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ตามมาตรา 66 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2554

โดยร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 270 กรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ .... พ.ศ. ... เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

คำร้องดังกล่าวมีผู้ยื่นร้องต่อ.ป.ป.ช. 5 สำนวน โดยป.ป.ช.มีมติให้รวมเป็นสำนวนเดียวกัน

หนึ่งในนั้น เป็นสำนวนของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าให้ปากคำต่อป.ป.ช. โดยระบุเกี่ยวกับความผิดของสมาชิกรัฐสภาทั้ง 383 คนไว้ว่า

มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยในคำร้องยังได้อ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไว้ด้วย

พร้อมระบุถึงพฤติการณ์เฉพาะตัวของผู้ที่กระทำความผิดไว้เป็น 3 ส่วน คือ การกระทำความผิดของผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาและประธานในที่ประชุมรัฐสภา

ส่วนที่ 2 คือ การกระทำความผิดของผู้ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว. นำโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ร่วมกับสมาชิกรัฐสภารวม 310 คน และส่วนที่ 3 เป็นการกระทำความผิดในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภา

โดยมีพฤติกรรมการกระทำความผิด ดังต่อไปนี้ ในส่วนของสมาชิกรัฐสภา 310 คนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว. เสนอร่างที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านดุลยภาพในการตรวจสอบตามระบบรัฐสภา ทำให้ ส.ว.มีสภาพไม่แตกต่างจาก ส.ส.

ส่วนพฤติกรรมของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ มีคำสั่งนัดประชุมรัฐสภาโดยแจกจ่ายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวคนละฉบับกับร่างที่นายอุดมเดช และคณะเสนอ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจากร่างเดิมในหลายประการ

อาทิ การเพิ่มเติมหลักการที่ให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาสามารถลงสมัครเป็น ส.ว.ได้อีกโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี นอกจากนี้ยังมีการเรียกประชุมวันที่ 18 เม.ย.2556 เพื่อกำหนดวันแปรญัตติโดยให้เริ่มต้นนับวันแปรญัตติย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2556 ทำให้เหลือเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วันเท่านั้น

นอกจากนี้ ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคือ นายสมศักดิ์ และนายนิคม ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ตัดสิทธิผู้ขออภิปรายและผู้เสนอคำแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็นจำนวน 57 คน โดยที่ยังไม่มีการฟังอภิปราย

อีกทั้งยังมีการใช้เสียงข้างมากลงมติผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ที่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญอันจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการทำหน้าที่ของ ส.ว. ทำให้ ส.ว.กลับไปเป็นสภาผัวเมีย และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ต้องเว้นวรรค 5 ปีก่อนลงสมัคร ส.ว.อีกด้วย

ส่วนที่ 3 คือ พฤติกรรมการลงมติของสมาชิกรัฐสภา มีการทุจริตในการลงคะแนน จากกรณีที่นายนริศร ทองธิราช ได้เสียบบัตรแทนสมาชิกรัฐสภาผู้อื่นด้วยการเสียบบัตรแทนหลายบัตรในการลงมติคราวเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อบังคับรัฐสภาและละเมิดรัฐธรรมนูญ

และสมาชิกรัฐสภา 381 คน ไม่รวมนายสมศักดิ์ กับ นายนิคม ยังได้ร่วมลงมติผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวาระที่สามด้วย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2556

สำหรับ ส.ส.และส.ว.อีกจำนวน 381 คน ที่เหลือ ถูกร้องเรียนในข้อหาลักษณะเดียวกันกับ นายสมศักดิ์ และนายนิคม ส่วนจะถูกแจ้งข้อหาแบบ "เหมาเข่ง" หรือเป็น "รายบุคคล" ต้องรอลุ้นในวันที่ 7 ม.ค.นี้

แต่ที่แน่ ๆ งานนี้ต้องมีคนถูกแจ้งข้อหาอย่างแน่นอน

ในจำนวนส.ส.และส.ว. 381 คน ที่ป.ป.ช.กำลังจะลงมติว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่นี้ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็น 1 ที่ร่วมลงคะแนนผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว.ในวาระที่ 3 รวมอยู่ด้วย

เมื่อผ่านกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้เข้าชี้แจงแล้ว

สมมติหากป.ป.ช.ชี้มูลความผิดให้ถอดถอนบุคคลทั้งหมดตามคำร้อง ก็จะทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ทันที ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังส.ว.ให้ลงมติถอดถอนต่อไป

ในกรณีถอดถอนออกจากตำแหน่ง สำหรับ "ส.ส." อาจไม่มีปัญหาอะไร เพราะขณะนี้ได้พ้นจากหน้าที่ส.ส.ไปกันหมดแล้ว แต่สำหรับ "ส.ว." กว่า 50 ชีวิต ยังต้องเจอกับ "วิบากกรรม" หยุดปฎิบัติหน้าที่ และเข้าสู่กระบวนการถอดถอนของวุฒิสภา

นอกจากนั้น หากป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีอาญาด้วย คดีก็ต้องถูกส่งไปยัง "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"

ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวหนักหนาสำหรับ "นักการเมือง" เพราะมีสิทธิถูกสั่ง "เว้นวรรค" ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และอาจมีโทษทางคดีอาญาอีกด้วย

คาดหมายกันว่า ภายในระยะเวลา 1 เดือน ป.ป.ช.น่าจะสรุปได้ว่าจะชี้มูลความผิดใครบ้าง "คอการเมือง" คงรอลุ้นอย่างใจจดใจจ่อแน่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น