--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

3 เงื่อนไข ทหารเคลื่อน !!?

ถึงนาทีนี้หลายคนหลายฝ่ายดูจะเชื่อไปแล้วว่าการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งของการเมืองไทยจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่สัปดาห์นี้ก็สัปดาห์หน้า...

แต่ปัญหาคือ ความเชื่อนั้นมีโอกาสเป็นความจริงได้แค่ไหน อย่างไร

หากเริ่มจากการถอดรหัสเรื่อง "อีกากับวัว" ที่ ผบ.ทบ.นำมาพูดระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ทำนองว่า "ถ้าวัวมีแผล อีกาก็จะมาจิกหลังทุกวัน ถ้าไม่มีแผลก็ไม่มีอีกา ถ้าไม่มีเงื่อนไขก็ไม่มีเรื่อง" แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ระบุว่า ตัวชี้ขาดสถานการณ์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ใหญ่เพียง 3 คน 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.ฝ่ายที่ยืนยันว่าปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงรัฐบาล 2.ฝ่ายที่เป็นเครื่องมือของฝ่ายแรก หมายถึงกองทัพ และ 3.ฝ่ายที่ไม่ยอมอะไรเลย หมายถึง กปปส.

"เมื่อฝ่ายที่ 2 ซึ่งเป็นเครื่องมือของฝ่ายแรก อยู่ๆ มาพูดว่าถ้ามีจลาจลเกิดขึ้นแล้วมีคนตาย รัฐบาลต้องรับผิดชอบ การพูดแบบนี้แปลว่าอะไร"

แหล่งข่าวอธิบายว่า จากข้อมูลการข่าว ปฏิบัติการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค. จะมีการปิดพื้นที่สำคัญๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสี่แยกศูนย์กลางของ กทม.รวม 7 จุด ใช้คนที่ระดมมาจาก 7 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดละ 5 พันคน รวมเป็น 3.5 หมื่นคน กลุ่มนี้เป็นตัวยืนคุมพื้นที่แต่ละจุดตลอดการชัตดาวน์

ผลที่จะเกิดขึ้นมีอยู่ 3 ระดับ คือ

หนึ่ง ช่วง 1-2 วันแรก เป็นช่วง "ชะงักงัน" ประชาชนออกจากบ้านได้ แต่อาจกลับบ้านไม่ได้ ไปทำงานไม่ได้ ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก

สอง ช่วงวันที่ 3-4 เป็นช่วง "ความวุ่นวาย" เกิดความสับสนว่าจะไปทำงานดีหรือไม่ การเดินทางจะทำอย่างไร รถราจะวิ่งอย่างไร คนที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมเริ่มมีความหวาดกลัว จะไปซื้อของ หาอาหารรับประทานได้หรือไม่ ส่วนผู้ชุมนุมที่ไปยึดพื้นที่ก็ต้องทำธุระส่วนตัว ต้องอาบน้ำ ต้องเข้าห้องน้ำ ต้องหาของกิน จะใช้ที่ไหน สถานที่ของเอกชนจะยอมให้ใช้หรือไม่ ความวุ่นวายจะเริ่มเกิดขึ้น

สาม นานกว่า 4 วัน เป็นช่วง "จลาจล" คนไปทำงานไม่ได้ แท็กซี่หากินไม่ได้ จะเริ่มปะทะกันเป็นจุดๆ สถานการณ์บานปลายสู่ความรุนแรง

"เมื่อถึงตรงนั้นก็ต้องดูว่าเจ้าหน้าที่จะรับมืออย่างไร นปช.จะเอาอย่างไร แต่จู่ๆ มีคนบอกว่าปะทะเมื่อไรรัฐบาลรับผิดชอบ ซึ่งจริงๆ กองทัพก็อ่านซีนาริโอ (ฉากทัศน์) ได้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น การพูดอย่างนี้จึงตีความเป็นอื่นไม่ได้"

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานด้านการข่าว ระบุว่า โอกาสของการรัฐประหารมีความเป็นไปได้ แต่ไม่สูง เพราะกองทัพวางบทบาทตัวเองเป็น stabilizer คือผู้รักษาเสถียรภาพของประเทศ

"ถอดรหัสสิ่งที่ ผบ.ทบ.พูด มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ปรามชายชุดดำ เพื่อให้ผู้ที่รู้เห็นหยุดการนำชายชุดดำเข้ามาใช้ในพื้นที่เขตเมือง โดยเฉพาะกระทำต่อผู้ชุมนุม เพราะกองทัพมีข้อมูลชัดเจนว่ามีชายชุดดำก่อกวนการชุมนุมของ กปปส. มีการขนอาวุธเข้ามา และทำงานกันอย่างเป็นระบบ อาจมีบุคคลที่มีอำนาจรู้เห็นด้วย"

"2.ปรามตำรวจไม่ให้กระทำรุนแรงกับผู้ชุมนุมมากเกินไป เนื่องจากเห็นภาพเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2556 ที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินแดง (ที่มีการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม) และมีการปลุกกระแสความรู้สึกกันในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน่าวิตก"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ท่าทีของ ผบ.ทบ.เมื่อวันที่ 7 ม.ค. คือการปรามไม่ให้สถานการณ์บานปลาย เพราะในส่วนของคนเสื้อแดงนั้น เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่นำมาเผชิญหน้า แต่จะจัดชุมนุมในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพฯเพื่อแสดงพลัง อย่างไรก็ดี หากทุกอย่างพลิกผัน เกิดการเผชิญหน้าและมีความรุนแรง ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำรัฐประหาร แต่ไม่ใช่แผนการที่เตรียมจะทำอยู่แล้ว

ส่วนการประเมินสถานการณ์ชัตดาวน์กรุงเทพฯนั้น แหล่งข่าวคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อเกิน 7 วัน โดยสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการคือปิดถนน ไม่ใช่ยึดสถานที่ จุดเน้นอยู่ที่ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ จะมีการปิดถนนด้านนอกไม่ให้ข้าราชการเข้าไปทำงาน กับ 2.สถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

"พื้นที่ที่จะใช้ประชุม ครม.จนถึงขณะนี้เหลือไม่กี่แห่งแล้ว และหลังๆ ต้องใช้สถานที่ของตำรวจ ทหาร สถานที่ที่เตรียมใช้ประชุม ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มีโอกาสถูกปิดล้อมง่าย และใกล้สถานที่ชุมนุมวันที่ 13 ม.ค. (แยกปทุมวันและราชประสงค์) อีกที่หนึ่งคือกองบัญชาการกองทัพอากาศ แม้จะใช้ได้แต่ก็เสี่ยง โอกาสที่จะถูกปฏิวัติเงียบมีสูง คำถามคือรัฐบาลกล้าหรือไม่ ฉะนั้นรัฐบาลอาจไม่ใช้พื้นที่ทหารแท้ๆ เช่น สโมสรทหารบก กองบัญชาการกองทัพไทย แต่ก็เสี่ยงถูกม็อบปิดล้อมอยู่ดี"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
==========================

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น