--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

ก้าวเล็กๆเพื่อ ปชต. ก้าวที่ยิ่งใหญ่เพื่อประเทศ !!

เมื่อครั้งที่สหรัฐอเมริกา ส่งยานอพอลโล 11 ไปลงดวงจันทร์ พร้อมนักบินอวกาศ ได้มีวลีเด็ดประโยคหนึ่งเกิดขึ้นในการเหยีบพื้นดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ นั่นคือ
แม้เป็นก้าวเล็กๆของมนุษย์ แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ

สำหรับประเทศไทยยามนี้ แม้อาจจะไม่ได้มีเหตุการณ์ถึงขั้นก้าวไปยืนบนดวงจันทร์ แต่เหตุการณ์ “ก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อที่จะใช้สิทธิในการเลือกตั้ง”ของผู้หญิงตัวเล็กๆ 2 คน เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา
ต้องถือว่า มิได้เป็นเพียงแค่ก้าวเล็กๆของสตรีใจกล้า แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับอนาคตประชาธิปไตยของประเทศนี้

เป็นก้าวที่กล้าในภาวะที่ประเทศชาติต้องถูกต้อนเข้าสู่มุมอับ เจอทางตันจากการปิดล้อมทางการเมือง ด้วยการปลุกสร้างกระแสเกลียดชังของพลังบริสุทธิ์กลุ่มหนึ่งให้ออกมาขับไล่ระบอบทักษิณ แล้วบานปลายเป็นการแช่แข็งปิดประเทศไทย

แม้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะประกาศอ้างตลอดว่า ใช้แนวทางอารยะขัดขืนเพื่อคัดค้านการเลือกตั้ง ด้วยการชุมนุมอย่างสงบ สันติ ปราศจากความรุนแรง

สอดรับกับแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุเช่นเดียวกันว่าบอยคอตการเลือกตั้ง แต่ไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง

แต่ภาพจริงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือการไปปิดล้อมการรับสมัครเลือกตั้ง เกิดความรุนแรงจากความพยายามที่จะปิดล้อมพยายามที่จะบุกรุกเข้าไปในสถานที่ กระทั่งนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตของทั้งผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ

แม้ว่าบทเรียนจากความรุนแรงที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จะทำให้นายสุเทพ ประกาศว่า แม้ไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง แต่ก็จะไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง

สุดท้ายก็ยังคงมีกรณีที่แตกต่างจากคำประกาศของนายสุเทพ และเกิดความสูญเสียชีวิต และบาดเจ็บกันขึ้นอีกครั้ง

ความจริงถูกฟ้องโดยคลิปเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่มีการแชร์กันสนั่นโลกออนไลน์ คลิปแรกคือกรณีที่หญิงสาวคนหนึ่งพยายามรักษาสิทธิของเธอด้วยการฝ่าดงม็อบต่อต้านประชาธิปไตยของกปปส.ราว 500 คน เข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ

ในคลิป สตรีผู้นี้ได้พูดกับม็อบกปปส.ที่หน้าประตูเขตสวนหลวงที่ถูกม็อบปิดล็อกไว้ และใช้ม็อบขวางไว้จำนวนมากว่า “เราต้องรักษาสิทธิของเรา ทำไมต้องขออนุญาตใคร คุณสุเทพพูดไว้แล้วว่าคัดค้านแต่ไม่ขัดขวาง แล้วนี่ไง(เธอชี้ไปที่ประตู จุดที่ม็อบนำผ้าคล้องประตูไว้)ว่า นี่ไงเป็นการขัดขวาง แต่ฉันไม่ยอม ยังไงก็จะเข้าไปใช้สิทธิของฉัน ฉันจะเลือกใครก็สิทธิของฉัน”

จากนั้นเธอก็ตัดสินใจที่จะปีนข้ามประตูรั้วที่ขวางไว้เข้าไปในพื้นที่เลือกตั้ง
วินาทีนั้นได้ปรากฏเสียงโห่ร้องดีใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายอื่นๆที่โดนม็อบขัดขวาง พร้อมกับส่งเสียงให้เธอว่า “สุดยอดๆเลย”

เป็นเสียงแสดงความยินดีร่วมให้กำลังใจ ที่ดังลั่นจนกลบเสียงนกหวีด

ต่อมาได้มีการสัมภาษณ์ หญิงสาวผู้นี้ ทำให้สังคมได้รับทราบชื่อของเธอว่า นางสาวสุวินันท์ ชัยปราโมทย์ โดยคำให้สัมภาษณ์ ของหญิงกล้าผู้นี้กับทาง Police News โดยสรุปก็คือ
“วันนี้เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้าที่ใฝ่ฝันมานาน ด้วยใจรักประชาธิปไตยและความยุติธรรม เวลา 08.05 น.โดยประมาณ เสียงม็อบ กปปส.ประกาศเราจะแสดงออกเพื่อคัดค้านการเลือกตั้งโดยสันติอหิงสา เดินเข้ามาอีก100เมตรจะถึงเขตและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยประมาณนึง ก็คิดว่าคงไม่มีอะไรมาก พอเดินมาใกล้ๆ อ้าว ม็อบนกหวีดทั้งนั้นที่มายืนขวางประตูแต่เช้าเลย ทั้งชายฉกรรจ์หน้าตาเหมือนคนใต้หลายคนถือธงชาติด้ามโตหลายอัน ปิดหน้าปิดตาดูน่ากลัวมาก และผู้หญิงเป่านกหวีดอีกหลายคน

ประตูรั้วของเขตปิด เป็นประตูรั้วแสตนเลสสีเงินแบบโปร่ง แต่มองเห็นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่นั่งทำตาปริบๆว่าผู้ใช้สิทธิ์จะเข้ามายังไง

พอจะเลื่อนเปิดประตู อ้าวเจอผ้าขาวม้าผืนใหญ่มัดประตูไว้แน่นหลายชั้น ยื่นมือเข้าไปแกะท่ามกลางเสียงผู้ชายหน้าโหดหลายคนตะโกนบอก “เข้าไม่ได้ เข้าไม่ได้” เมื่อถามว่าทำไม คำตอบคือ “มีคำสั่งห้ามเข้า” พอถามว่าใครสั่ง คำตอบที่ได้รับคือ “คุณสุเทพ”!!!

เมื่อแย้งว่านายสุเทพบอกคัดค้าน แต่ไม่ขัดขวาง ทางการ์ดก็ยังยืนกรานว่าเข้าไม่ได้ แถมยังดึงมือปัดมือไม่ให้แกะผ้าผูกปิดประตูออก ทำให้วินาทีนั้นรู้สึกถูกริดรอนสิทธิ์อย่างมาก รับไม่ได้เลย แต่ใจไม่มีความกลัวอันธพาลเลยแม้แต่น้อย ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่ายังไงก็ต้องไปใช้สิทธิ์ของเราให้ได้ ก็เราคนไทย ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย แล้วทำไมเราต้องยอมคนแบบนี่

วินาทีนั้นเลยโยนรองเท้าเข้าไปก่อน แล้วปีนรั้วขึ้นข้ามไปโดยไม่สนใจเสียงโห่ของม็อบคนเลวพวกนี้เลย เจ้าหน้าที่หญิงสองสามคนวิ่งเข้ามาหาด้วยความดีใจปรบมือดีใจต้อนรับ รีบพาเข้าไปคูหาเลือกตั้ง เขาบอก “พี่คือผู้ใช้สิทธิ์ในเขตคนแรกเลยน่ะค่ะที่เข้ามาได้ พี่กล้ามากเลยนะคะ”
เลยบอกไปว่า ดิฉันรับไม่ได้กับบ้านป่าเมืองเถื่อนแบบนี้ นี่หรือประเทศไทย

เป็นอันว่าเธอผู้กล้าก้าวข้ามการขัดขวาง สามารถที่จะเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อให้ประชาธิปไตยของไทยเดินหน้าต่อไปตามระบบที่ถูกต้องที่ควรจะเป็น

เมื่อใช้สิทธิเลือกตั้งเสร็จ ตอนจะกลับออกจากหน่วยเลือกตั้ง เธอก็ต้องปีนรั้วอีก แต่เจ้าหน้าที่แนะนำให้ปีนออกด้านหลังเพื่อความปลอดภัย แต่กลายเป็นว่าลำบากกว่าปีนเข้าซะอีก เพราะด้านหลังรั้วกับหลังคาห่างกันแค่หนึ่งฟุต รั้วก็สูงเกือบสองเมตรได้ แถมทางด้านหลังรั้วยังเป็นทางเดินปูนบนทางระบายน้ำอีก เลยต้องปีนพร้อมกับนอนคร่อมรั้วเพื่อออกมาทางด้านหลัง และเดินออกถนนใหญ่เพื่อกลับมาที่รถ
เสร็จสิ้นการใช้สิทธิทางประชาธิปไตย อันแสนทรหดในความรูสึกของเธอ พร้อมกับระบุว่า

 หากมีบุคคลกล้าอย่างดิฉันอีก ก็เชื่อว่า จะสามารถเดินหน้าพาประเทศเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยได้อย่างแน่นอน!!”

และแน่นอนเช่นกันในโลกโซเชี่ยล ในสื่อต่างๆพูดกันแชร์กันสนั่นไปหมด

เช่นเดียวกับอีกคลิปหนึ่งที่สุภาพสครีพยายามเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง บริเวณเขตจตุจักร ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมกปปส. ที่พยายามขัดขวางไม่ให้เข้าไปเลือกตั้ง ด้วยวิธีการสารพัดทั้งจากผู้หญิงด้วยกัน และจากผู้ชายร่างใหญ่กว่าแข็งแรงกว่า ที่ทั้งฉุดกระชาก ทั้งเอาธงชาติคลุมหัวเพื่อลากตัวเธอให้เข้าไปเลือกตั้ง ทั้งๆที่เธอเป็นเพียงผู้หญิงวัย 50 ปี ที่มีเพียงไฟฉายในมือเท่านั้น

แต่เธอก็กล้าที่จะเดินฝ่าม็อบเข้าไป และกล้าที่จะบอกเหตุผลของการถือไฟฉายเข้าไปว่า ประเทศไทยมันมืดนัก ไฟฉายจะส่องทางไปแสวงหาประชาธิปไตยได้ ด้วยการใช้สิทธิเลือกตั้ง ประเทศชาติจะได้พ้นความมืดมิดเสียที ซึ่งทราบชื่อในภายหลังว่า นางสาวพิจาริณี รัตนชำนอง

สตรีทั้ง 2 คนใช้ความสงบ สันติ และปราศจากความรุนแรงอย่างแท้จริง เป็นธงนำหน้าในการเดินฝ่าคนในกลุ่ม กปปส. ที่ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งเข้าไปเพื่อที่จะใช้สิ?ตามกฎหมายของเธอ

สำหรับผู้ชายก็ไม่น้อยหน้ากัน ที่จุดเลือกตั้งวัดธาตุทอง ก็เป็นอีกแห่งที่ถูกม็อบ กปปส.ปิดล้อม เพื่อขัดขวางไม่ให้คนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อเข้าไม่ได้ชายผู้หนึ่งซึ่งมาตั้งแต่เช้าเพราะต้องการใช้สิทธิ จึงเลือกที่จะนั่งประท้วงกลางแดด ต่อหน้ากลุ่ม กปปส จนถึงเวลา 10.30 น.

เป็นอีกกรณีของก้าวที่กล้า เพื่อประชาธิปไตยที่น่ายกย่อง เพราะนี่คือสงบ สันติ อย่างแท้จริง
แต่ที่จุดเลือกตั้งจตุจักรอีกเช่นกัน ที่นอกจากจะมีการใช้ควารุนแรงกับนางสาวพิจาริณีแล้ว ยังมีเหตุการณ์ทำร้ายชายคนหนึ่งที่จะเข้าไปเลือกตั้งเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน แถมยังฉวยโอกาสขโมยโทรศัพท์ที่ชายคนนี้ถ่ายภาพเหตุการณ์เอาไว้ไปด้วย

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ในกรณีของการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่ทำให้เกิดภาพลบกับประเทศไทย นั่นหมายความรวมถึงกรณีการยิงจนมีผู้เสียชีวิตที่แถวๆวัดศรีเอี่ยม หรือกรณีของเขตลาดกระบัง ที่ผู้ต้องการใช้สิทธิ ได้ใช้ไม้ตีกลุ่มม็อบ กปปส. ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสลดใจ

เราไม่สนับสนุนความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใดทั้งสิ้น รวมทั้งต้องการเห็นการยุติปัญหาทางการเมืองในครั้งนี้โดยสันติ เพราประเทศชาติบอบช้ำมามากแล้ว และที่สำคัญหากยังดันทุรังทำตัวเป็นมะเร็งร้ายของแผ่นดิน ของประเทศกันต่อไป หากเกิดความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ ใครจะรับผิดชอบ

อยากให้แกนนำใหญ่อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้พิจารณาถึงความพยายามรักษาสิทธิ์ของสุภาพสตรีทั้ง 2 ท่าน ว่านี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาธิปไตยและประเทศชาติอย่างแท้จริงมิใช่หรือ
การปาวๆแต่วาจาว่าไม่ได้รุนแรง ไม่ได้ขัดขวางการเลือกตั้งนั้น จนถึงขั้นนี้แล้ว ไม่คิดที่จะแสดงความ
เป็นลูกผู้ชายรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดแล้วทำไม่เคยได้บ้างหรือ???

ไม่อายสุภาพสตรีที่มีใจแกร่ง และรักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเลยหรืออย่างไร!!!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
---------------------------------------------

คืน สู่ วันวาน !!?

โดย.พญาไม้

ประเทศมันจะเป็นประเทศต่อไปได้อย่างไร..หากว่ากลไกของประเทศมันผิดเพี้ยนไปจากความเป็นปรกติอย่างเชื่อมกันไม่ติด

หากจะนำประวัติศาตร์ของประเทศไทยที่ยาวนานเกือบหนึ่งพันปีมาตรวจสอบแล้ว..ยกเว้นเหตุการณ์ตอนทำศึกสงครามแพ้พม่าจนเสียกรุง 2 ครั้งแล้ว

ต้องนับว่า..เหตุการในช่วงขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด
และจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า..หายนะแห่งแผ่นดินนี้จะจบลงในรูปแบบไหน จะจบลงอย่างไร และจะจบลงเมื่อไหร่

แบบไหน..

ประเทศยังจะเป็นประชาธิปไตยต่อไปหรือไม่ หรือจะเป็นประเทศที่ปกครองโดยคนกลุ่มหนึ่งกับสภาประชาชนของเขา และประกาศไล่ล่ายึดทรัพย์คนฝ่ายตรงกันข้ามและสถาปนาตำแหน่งต่างๆ ทั้งในรูปแบบข้าราชการประจำและการเมืองตามประกาศิตของท่านผู้นำการปฏิวัติ

อย่างไร..

ประชาชนทั้งชาติจะยอมมอบประเทศให้กับคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้เครื่องขยายเสียงและรถกระจายเสียงบุกเข้าไปปิดกั้นสถานที่ราชการต่างๆ ไม่ให้บริการประชาชน ไม่ให้ใช้กฏหมายในทุกๆ รูปแบบ ปิดกั้นการทำหนังสือเดินทาง ปิดหนทางรถพยาบาลไม่ให้นำคนไข้เข้าไปรับการรักษา อย่างนั้นหรือ
และหากว่าหลังจากนั้น ประชนชนอีกฝ่ายลุกขึ้นมาทำแบบเดียวกัน รัฐบาลของคนกลุ่มนั้นจะทำอย่างรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่หรือจะใช้ความเป็นรัฐบาลสั่งการให้ตำรวจทหารจับกุมคุมขังเอาไปเข้าคุก
ประเทศมันก็จะโคจรอยู่ในวงกลมอุบาทว์ไม่มีวันสิ้นสุดไม่มีวันจบสิ้น

จะจบลงเมื่อไหร่..

เมื่อมันไม่มีวันสิ้นสุด มันก็ไม่มีวันจบสิ้น และอย่าหวังพึ่งอำนาจของกองทัพในตอนนั้น เพราะถึงวันนั้นกองทัพก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะกองทัพก็คือประชาชนสองฝ่ายในเครื่องแบบทหารของชาติ การสั่งการเอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด อาจจะเป็นภัยกับกองทัพเสียเอง

ถึงวันนี้ ไทยทั้งชาติต้องกลับไปหาความเป็นจริงที่ว่า..กฏหมายของประเทศจะต้องถูกบังคับใช้ให้เป็นไปตามเจตนารมย์แห่งกฏหมาย

เรื่องจะปฏิรูปจะแก้ไขประเทศ มันไม่ใช่หน้าที่ของคนไทยตนเดียว

ที่มา.บางกอกทูเดย์
----------------------------------------

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

สมัชชารัฐสภา อาเซียน !!?

โดย. ณกฤช เศวตนันทน์

ที่ผ่านมาเรามักกล่าวถึงความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจของเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าอาเซียนมีความร่วมมือในด้านนิติบัญญัติหรือ รัฐสภาด้วย

บทความฉบับนี้จะได้มาทำความรู้จัก "สมัชชารัฐสภาอาเซียน" ซึ่งเป็นความร่วมมือในอีกรูปแบบหนึ่งของอาเซียน

"สมัชชา รัฐสภาอาเซียน" หรือ AIPA (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly) เริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสภาแห่งชาติในอา เซียนและบูรณาการการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงเพิ่มช่องทางการทำงานร่วมกันของเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียน โดย สมัชชารัฐสภาอาเซียนทำหน้าที่เป็นเสมือนเวทีประชุมแลกเปลี่ยนและปรึกษาหารือ กันระหว่างรัฐสภาของประเทศสมาชิก ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับแก้กฎหมายของแต่ละประเทศให้เป็นไปตามข้อตกลงต่าง ๆ ของอาเซียน ตลอดจนร่วมกันผลักดันให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

ในปี พ.ศ. 2558 ร่วมกันภายใต้หลักของการเคารพสิทธิมนุษยชนตามระบอบประชาธิปไตยและความมั่นคงในอาเซียน
ปัจจุบัน สมาชิกของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ประกอบด้วย รัฐสภาแห่งชาติของประเทศจากสมาชิกอาเซียนจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และพม่า

โดยปกติสมัชชารัฐสภาอาเซียนจะจัดประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 34 ได้จัดขึ้นที่ประเทศบรูไน ระหว่างวันที่ 17-23 กันยายน พ.ศ.2556 ภายใต้หัวข้อ "บทบาทของ AIPA ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน ประกอบไปด้วย รัฐสภาประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากประเทศผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมการประชุมอีกจํานวน 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเบลารุส แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหพันธรัฐรัสเซีย และสภายุโรป

ทั้งนี้ในการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนนั้น ประธานรัฐสภาของประเทศที่เป็นเจ้าภาพการประชุมในปีนั้น ๆ จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน ดังนั้น ประธานของสมัชชารัฐสภาอาเซียนคนปัจจุบัน จึงได้แก่ เปฮิน ดาโต๊ะฮัจยี อีซา อิบราฮิม ประธานรัฐสภาแห่งบรูไน นั่นเอง

การประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภา อาเซียนครั้งที่ 34 ที่ผ่านมานั้น มีการพิจารณากันในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน การสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อย่างยั่งยืน โดยมีข้อเสนอของอินโดนีเซียและเวียดนามในเรื่องการ สนับสนุนบทบาทของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ในการตอบสนองต่อความท้าทายของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาในภูมิภาค การสนับสนุนบทบาทคนรุ่นใหม่เพื่อความพร้อมต่ออนาคตของอาเซียน รวมทั้งข้อเสนอของไทยในเรื่อง

ความ ร่วมมือในการทําให้อาเซียนเป็นเขตปลอดการล่วงละเมิดต่อเด็ก โดยในการประชุมครั้งต่อไปครั้งที่ 35 นั้น สปป.ลาวได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานระหว่างวันที่ 14-20 กันยายน 2557 ณ กรุงเวียงจันทน์ โดย เปฮิน ดาโต๊ะ

ฮัจยี อีซา อิบราฮิม ประธานรัฐสภาแห่งบรูไน ได้ทำการมอบตําแหน่งให้กับ นางปรานี ยาท่อตู้ ประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาว เพื่อการรับหน้าที่เจ้าภาพต่อไปอย่างเป็นทางการแล้ว

สมัชชา รัฐสภาอาเซียนที่เราพูดถึงกันอยู่นี้ มีความแตกต่างไปจากรัฐสภาของสหภาพยุโรป (European Parliament) อยู่มาก เนื่องจากรัฐสภาของสหภาพยุโรปเป็นองค์กรที่มีสถานะทางอำนาจเหนือรัฐ (Supranational Power) ที่สามารถบัญญัติกฎหมาย พิจารณา รับรองกฎระเบียบและอนุมัติงบประมาณของสหภาพยุโรปได้ โดยการมีอำนาจ เหนือรัฐของรัฐสภายุโรปเกิดจากความยินยอมที่จะสละอำนาจอธิปไตยเป็นบางส่วน ของประเทศสมาชิก ในขณะที่สมัชชารัฐสภาอาเซียนจะไม่มีอำนาจเหนือประเทศสมาชิก และไม่ได้ทำหน้าที่เป็นรัฐสภาที่จะบัญญัติกฎหมายที่ครอบคลุมอาเซียนทุกประเทศได้ เหตุผล ก็น่าจะมาจากความแตกต่างและความหลากหลายของระบบการเมืองการปกครองของประเทศ สมาชิกที่มีทั้งประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภา เช่น ประเทศไทย กัมพูชา สิงคโปร์ และมาเลเซีย กับประชาธิปไตยแบบ

ระบบประธานาธิบดีอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และพม่า หรือบรูไนที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้หลายประเทศสมาชิกยังไม่อาจใช้รัฐสภาในระบบเดียวกันได้

อย่างไรก็ดีแม้ว่าอาเซียนจะยังไม่พร้อมที่จะมีระบบรัฐสภาที่มีอำนาจเหนือรัฐสมาชิก ได้อย่างเช่นสภายุโรป แต่สมัชชารัฐสภาอาเซียนที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ถือได้ว่ามีประโยชน์ และเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐสภาของประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นได้เป็นอย่างดี

เชื่อว่าในการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนที่กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น จะยิ่งสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นให้กับอาเซียน อันจะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์แบบ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------

เช็คขุมกำลังหน่วยปฏิบัติการพิเศษ พร้อมจู่โจม !!?

สำหรับกำลังตำรวจที่มีศักยภาพเพียงพอจะเป็นชุด "จู่โจม" ตามที่ ศรส. ประกาศว่าจะส่งไปจับกุมบรรดาแกนนำนั้น คงหนีไม่พ้นพวก "หน่วยปฏิบัติการพิเศษ" ของตำรวจหน่วยต่างๆ ที่ได้รับการฝึกฝนให้ปฏิบัติการด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งปัจจุบันนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน่วย "พิเศษ" แบบนี้อยู่ 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1. นเรศวร 261 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 2. อรินทราช 26 กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล 3. สยบไพรี กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 4. สยบบริปูสะท้าน กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ 5.ปราบไพรีอริศัตรูพ่าย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1

หากมีการใช้หน่วยปฏิบัติการพิเศษเหล่านี้ก็จะอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. และมี พล.ต.ท.ปริญญา จันทร์สุริยา ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ผู้เชี่ยวชาญด้านสืบสวน เป็นรองหัวหน้า และมี พล.ต.ต.ศรกฤษ แก้วผลึก ผบก.ฝรก. เป็นประจำชุด

แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คาดว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษที่จะถูกเลือกมาเป็นลำดับแรกๆ คือ หน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรม และการก่อการร้าย ด้วยการแย่งชิงตัวประกัน การจับกุม ตามแนว "การบริหารวิกฤตการณ์" ซึ่งการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ในครั้งนี้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยอรินทราช 26 โดยตรง เพราะอยู่ในพื้นที่เมืองหลวง และปริมณฑล

หน่วยอรินทราช 26 เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษระดับกองร้อย สังกัดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) ขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล หน่วยงานนี้ได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นเป็นระยะ มีอุปกรณ์ครบมือ เช่น ปืนยิงแห, ปืนไฟฟ้า, ปืนพก, ปืนลูกซอง, ปืนกลเบา, ปืนไรเฟิล, ระเบิดมือ, รวมถึงอุปกรณ์ต่อต้านการจลาจล

นอกจากสถานการณ์อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบแล้ว การเลือกหน่วยอรินทราช 26 เป็นชุดปฏิบัติการลำดับแรกๆ เนื่องจาก ทั้งพล.ต.อ.วรพงษ์ และ พล.ต.ท.ปริญญา เคยเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของหน่วยอรินทราช 26 มาก่อน ทั้งในตำแหน่งผบช.น. ซึ่งพล.ต.อ.วรพงษ์ เคยทำหน้าที่ และในตำแหน่งรองผบช.น. ที่ พล.ต.ท.ปริญญา เคยทำหน้าที่ ทำให้มีความคุ้นเคยกับทีมปฏิบัติการเป็นอย่างดี

ถัดมาคือหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 เป็นหน่วยที่มีขีดความสามารถในการยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ การยุทธส่งทางอากาศ การรบพิเศษ และการปฏิบัติการพิเศษ เพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่เป็นทหาร และไม่ใช่ทหาร ในการสงครามพิเศษ และการแก้ไขปัญหา การก่อความไม่สงบ, การก่อการร้าย ทุกรูปแบบ ด้วยการปฏิบัติการปกปิด มีพื้นที่รับผิดชอบปฏิบัติการทั่วประเทศ มีความเชี่ยวชาญในการจู่โจมทางอากาศ ซึ่งเหมาะกับภารกิจจู่โจมชิงตัวแกนนำโดยวิธีการโรยตัวจากที่สูง ซึ่งหน่วยงานนี้มีการฝึกฝนภารกิจดังกล่าวเป็นระยะ

นเรศวร 261 ประกอบกำลังในลักษณะกองร้อยปฏิบัติการพิเศษ (ร้อย ปพ.) จำนวน 3 กองร้อย, กองร้อยกู้ชีพ และงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ขึ้นตรง บก.สนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ขณะที่ทางยุทธการ ขึ้นตรงกับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย กองบัญชาการกองทัพไทย

ขณะที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ สยบไพรี ของ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) น่าจะเป็นชุดปฏิบัติการถัดมาที่ ศรส. เลือกใช้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานในสังกัดซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศรส.ในขณะนี้ เดิมที่ชุดปฏิบัติการพิเศษสยบไพรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กวาดล้างคดีอาชญากรรมและยาเสพติด มีขีดความสามารถในการต่อสู้และปราบปรามผู้ก่อการร้าย ผ่านการฝึกอบรมจากหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์สงครามพิเศษกองทัพบก กรมนาวิกโยธิน กองทัพเรือ กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธินกองทัพอากาศ และหน่วยรบพิเศษจากต่างประเทศ DEA ของหน่วยงานยาเสพติดประเทศสหรัฐอเมริกา

ถัดมา หน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบไพรีอริศัตรูพ่าย สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 อาจจะถูกเรียกใช้เช่นกัน แม้หน่วยนี้จะยังไม่ค่อยคุ้นชื่อ แต่กองกำลังมีศักยภาพในปฏิบัติภารกิจจู่โจมไม่แพ้กัน ทั้งการจู่โจมทางอากาศ มีความเชี่ยวชาญในการโรยตัวเข้าอาคาร และปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วในการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ผ่านมามีการฝึกฝนจำลองเหตุการณ์สถานการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมทางการเมืองมาเป็นระยะ หน่วยนี้มีกำลังประมาณ 2 กองร้อย ปัจจุบันขึ้นตรงต่อ พล.ต.ท.นเรศ นันทโชติ ผบช.ภ.1 ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับฝ่ายการเมืองขั้วอำนาจในปัจจุบัน

อีกชุดคือ "สยบริปูสะท้าน" ประกอบกำลังจากหน่วยคอมมานโดกองบังคับการปราบปราม เป็นหน่วยงานที่มีขีดความสามารถในการต่อสู้สูง มีขอบเขตการปฏิบัติงานทั่วประเทศ เหมาะกับภารกิจจู่โจมเพื่อระงับเหตุฉุกเฉิน หรือปราบจลาจล การก่อวินาศกรรม การจับกุมคนร้ายที่มีอาวุธร้ายแรง แต่มีการคาดการณ์ว่าหน่วยนี้น่าจะถูกเรียกใช้ในลำดับท้ายสุดของชุดปฏิบัติการพิเศษทั้ง 5 หน่วย เนื่องจากระยะหลังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีนโยบายเน้นงานมวลชน มีการนำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนมาใช้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชน การปฏิบัติภารกิจจู่โจมที่มีเป้าหมายที่สุ่มเสี่ยงกับการกระทบกระทั่งกับมวลชน หน่วยนี้อาจลดบทบาทลง

อย่างไรก็ตามมีกระแสข่าวหนาหู สะพัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ภารกิจ "จู่โจม" จับกุมผู้ชุมนุม ที่ ร.ต.อ.เฉลิม ประกาศด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวอาจเป็นหมัน เนื่องจากตำรวจระดับผู้ปฏิบัติไม่มั่นใจในสถานะของรัฐบาลรักษาการ อีกทั้งภารกิจการ "จู่โจม" จับกุมผู้ชุมนุม ท่ามกลางมวลชนจำนวนมากนั้น เสี่ยงจะเกิดเหตุการณ์บานปลายจนนำไปสู่ความสูญเสีย

อีกทั้งมีการประเมินว่า ในกลุ่มผู้ชุมนุมเองมีหน่วยงานบางหน่วยที่มีขีดความสามารถในการต่อสู้ พร้อมต่อต้านปฏิบัติการต่างๆ ของตำรวจ หากเกิดปฏิบัติการขึ้นจริง อาจเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่ความสูญเสียทั้งสองฝ่าย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

ย่ำสนธยา ที่ ประชาธิปัตย์ !!?

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย เคยประกาศว่า "ผมเชื่อในระบอบรัฐสภา" ก็เลยเชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคที่เชื่อมั่น เคารพ และศรัทธาในประชาธิปไตย และเป็นสถาบันการเมืองที่จะพาประเทศชาติสู่ความเป็นชาติผู้นำประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ชาติเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นระบบการเมืองพรรคใหญ่2 พรรค เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเคยฝันหวานว่า เราจะมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษนิยม ตัวแทนของคนชั้นกลางและคนชั้นสูง ขณะเดียวกันก็มีพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เป็นตัวแทนของฝ่ายก้าวหน้า และจะเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางระดับล่างและคนในระดับรากหญ้าที่ต่างช่วยกันนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศชาติทั้ง 2 พรรคจะต่อสู้ แข่งขันกัน ในกรอบของประชาธิปไตย ในสนามเลือกตั้ง ผลัดกันแพ้เป็นฝ่ายค้าน ผลัดกันชนะเป็นรัฐบาล ตามแต่กระแสโลกาภิวัตน์ของสังคมโลก

การเป็นพรรคอนุรักษนิยมไม่ได้เสียหายอะไร เพราะคนจำนวนมากที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองทุกแห่งในโลกก็มีความเป็นอนุรักษนิยมเป็นจำนวนมาก ไม่แต่คนในเมือง คนต่างจังหวัดก็มีจำนวนไม่น้อยไปกว่าพวกหัวก้าวหน้าที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่จิตวิญญาณของนักการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น แต่บัดนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ล้มเลิกความคิด วิสัยทัศน์ ทัศนคติ วาทกรรม และการกระทำ กลายเป็นพรรคที่สนับสนุนทหาร สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและต่อต้านประชาธิปไตยไปเสียหมด

เริ่มจากเป็นพรรคนำ พรรคแรกของการเป็นพรรคภูมิภาคหรือพรรคภูมิภาคนิยม หาเสียงในภาคใต้โจมตีคู่ต่อสู้ โดยการปลุกเร้าภูมิภาคนิยม ดูถูกดูหมิ่นคู่แข่งทางภาคอีสานและเหนือว่าเป็น "ลาว" ดูถูกหัวหน้าพรรคชาติไทยว่าเป็นจีนเกิดในเมืองจีน ดูถูกว่าหัวหน้าพรรคความหวังใหม่เป็น "ลาว" ใช้การดูหมิ่น "เชื้อชาติ" เป็นยุทธวิธีในการหาเสียง

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ทำสำเร็จเป็นพรรคของคนภาคใต้ พรรคเพื่อไทยก็ทำตามและทำได้สำเร็จเป็นพรรคภาคอีสานและภาคเหนือ พรรคชาติไทยเป็นพรรคภาคกลาง ซึ่งเป็นอันตรายต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

ความที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งมาโดยตลอด 30 ปี และแพ้หนักมากในยุคนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งที่มีกองทัพและอำนาจเก่ารวมทั้งสื่อมวลชนหลักในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นตัวช่วยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเอาชนะในการเลือกตั้งไม่ได้สักที เพราะความเป็นอนุรักษนิยมของกลุ่มผู้นำพรรคที่ล้าสมัย ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานจริงมาก่อนประชาธิปัตย์จึงกลัวการเลือกตั้ง

การเป็นพรรคการเมืองที่กลัวการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่ฝรั่งเขาเรียกว่าเป็น Paradoxy เมื่อกลัวการเลือกตั้งก็ตั้งป้อมหาเรื่อง
ติเตียนประณามการเลือกตั้ง เห็นการเลือกตั้งเป็นศัตรูของพรรค

พฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นพฤติกรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งอย่างที่สุด เมื่อต่อต้านหลีกเลี่ยงประณามการเลือกตั้ง ตนก็ไม่มีทางเลือก ต้องทำตัวไปสู่การเป็นผู้สนับสนุนระบอบการปกครองที่ใช้การแต่งตั้ง หรือไม่ก็ใช้วิธีสรรหา ซึ่งเป็นลูกเล่นอย่างหนึ่งของระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หันไปสู่การสนับสนุนทหาร พูดจาสนับสนุนองค์กรอิสระที่ใคร ๆ ก็รู้กันทั่วว่า องค์กรอิสระเหล่านี้มีที่มาจากการรัฐประหารของทหาร หรือกระแสกลุ่มอำนาจเดิมซึ่งไม่ต้องการประชาธิปไตยแทนที่จะปฏิรูปตัวเองที่เป็นพรรคอนุรักษนิยม แต่ขณะเดียวกันก็ก้าวหน้าได้ ด้วยการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลก ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของคนในต่างจังหวัด เลิกใช้วาทกรรมบิดเบือน กล่าวเท็จในเรื่องข้อกฎหมายและหลักการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีตัวอย่างให้ยกมาเทียบเคียงได้มากมาย หากต้องการ

ทำไปทำมา "ศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือประชาธิปไตย" นั่นเอง หนังสือพิมพ์ Washington Post ของอเมริกาพาดหัวตัวใหญ่ว่า "The Enemy of the Democrat party of Thailand is Democracy" ซึ่งเป็นความจริง แม้ว่าแฟนคลับของประชาธิปัตย์อย่างหนังสือพิมพ์กลุ่มเดอะเนชั่นจะออกมาแก้ตัวให้ก็ตาม

การที่พรรคประชาธิปัตย์จัดชุมนุมใหญ่ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยโดยวิธีฉ้อฉลของพรรคเพื่อไทย ใคร ๆ ก็เห็นด้วยจนรัฐบาลต้องถอย แต่กลับฉกฉวยโอกาสชุมนุมขับไล่รัฐบาลต่อ โดยอ้างประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพฯว่าเป็น "มวลมหาประชาชน" ขับไล่รัฐบาลโดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งไม่จริง ผู้ชุมนุมบุกเข้ายึดสถานที่ราชการ ขโมยสิ่งของของราชการ บังคับขู่เข็ญไม่ให้ข้าราชการทำงาน ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ทำการ ข่มขู่ คุกคาม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เสนอตั้งองค์กรทางการเมืองที่ไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายและกรอบของประชาธิปไตย สร้างสถานการณ์รุนแรง ยั่วยุให้มีความรุนแรงเพื่อกรุยทางให้ทหารทำการปฏิวัติรัฐประหาร

การดำเนินการชุมนุมครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้เลย เพราะดำเนินการโดยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นสุเทพ ชวน อภิสิทธิ์ ชินวร ถาวร และผู้นำพรรคคนอื่นที่ยึด "ข้างถนน" เป็นเวทีอภิปราย โจมตีด้วยคำหยาบคายกักขฬะ ใช้วาทกรรมที่โกหกมดเท็จซ้ำ ๆ ซาก ๆปั้นน้ำเป็นตัวครั้งแล้วครั้งเล่าโดยมิได้เกรงใจสมาชิกประชาธิปัตย์ที่เขาเป็น "ผู้ดี" มีจิตใจเป็นธรรมและเป็นนักประชาธิปไตยแม้แต่น้อย

การที่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เกรงกลัวการ "เลือกตั้ง" และยอมรับว่า "ศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์คือประชาธิปไตย" อย่างที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์พาดหัวข่าว ประชาธิปัตย์ไม่อาจแก้ตัวได้เลย พฤติกรรมที่แสดงว่ากลัวการเลือกตั้งซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็คือการประกาศ "คว่ำบาตร" การเลือกตั้งปฏิรูปอย่างไร ถ้าประชาชนเขาไม่เลือก ประชาธิปัตย์ก็แพ้อยู่ดี ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้จัดการเลือกตั้ง หรือกฎหมายเลือกตั้ง

ปัญหาอยู่ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเขาไม่เลือกมากกว่า จะให้แก้กฎหมายเลือกตั้งอย่างไรก็ยังแพ้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังถูกเกาะกุมโดยกลุ่มผู้นำเก่าที่ล้าสมัย ยังคิดแบบเดิม ๆ ยังใช้วิธีเดิม ๆ ในการแข่งขัน ที่สำคัญ เมื่อครั้งเป็นรัฐบาลโดยการช่วยเหลือของกองทัพ ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าทำงานไม่เป็น คิดไม่เป็น เป็นแค่ทำความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างต่างประเทศ ทั้งกับเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ภาพพจน์ของประเทศเสียหายเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

พรรคการเมืองนั้นต้องเอาดีในกรอบของระบอบประชาธิปไตย เงื่อนไขสำคัญของระบอบประชาธิปไตยก็คือการเลือกตั้ง การมีการเลือกตั้งอาจจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่การไม่มีการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นของแท้ถ้าประชาธิปัตย์เห็นการเลือกตั้งเป็นศัตรูและพยายามต่อสู้ขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง โดยการออกตัวไปเป็น "เครื่องมือรับใช้สนับสนุนฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" แต่มีอำนาจแฝง เช่น กองทัพ องค์กรอิสระ รวมทั้งการได้ขายจิตวิญญาณประชาธิปไตย เพื่อแลกกับการได้เป็นนายกรัฐมนตรีในระยะเวลาสั้น ๆ ที่ไม่สง่างาม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำลายพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้วในระยะยาว

การ "คว่ำบาตร" การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ เป็นการบังคับตัวเองให้ต่อต้านการเลือกตั้ง ซึ่งถูกประณามไปทั่วโลก จะมีชมเชยบ้างก็สื่อมวลชนที่ล้าหลังภายในประเทศการที่พรรคคว่ำบาตร ทำให้ผู้นำพรรคก็ดี สมาชิกที่ภักดีต่อพรรคก็ดี ถูก "บังคับ" ให้ทำตัวเป็นนักต่อต้านประชาธิปไตยไปโดยปริยาย ดังจะเห็นได้จากวาทกรรมต่อต้านการเลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตยไปโดยปริยาย วาทกรรมดังกล่าวอย่างไรเสียก็ต้องเป็นวาทกรรมที่เป็นเท็จทั้งในด้านหลักวิชาและข้อเท็จจริง ที่สำคัญก็คือบังคับตัวเองให้ขัดขวางต่อต้านองค์กรที่จัดเลือกตั้งคือ กกต.และกลุ่มชุมนุมต่าง ๆ ให้ต่อต้านขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการต่อต้านประชาธิปไตยโดยตรง แม้จะพยายามหาเหตุผลมาบิดเบือน อย่างไรก็ตามถ้า กกต.เกิดถูกบังคับ จะโดยกฎหมาย หรือความกดดันจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ส่วนใหญ่อย่างหนักจนต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ ก็จะไม่มีประชาธิปัตย์อยู่ในสภา จะมีพรรคอื่นมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านแทน และถ้าฝ่ายค้านนั้นมีวิสัยทัศน์ มีทัศนคติ มีวาทกรรมที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย อยู่ในกรอบของประชาธิปไตย เลือกตั้งคราวต่อไป อย่างน้อยคนกรุงเทพฯอาจจะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกเลยก็ได้ ถึงเมื่อนั้นประชาธิปัตย์อาจจะกลายเป็นพรรคต่ำสิบไปก็ได้

ถ้ายังยืนกรานไม่เปลี่ยนตัวผู้นำในพรรคที่เกาะกุมอำนาจในพรรคมากว่า 40 ปี ยังมีความคิดเดิม ๆ ทำงานไม่เป็นเหมือนเดิมคิดอะไรไม่เป็นเหมือนเดิม เอาแต่คิดว่าจะพูดจาถากถางเหน็บแนมปั้นน้ำเป็นตัวทำลายผู้อื่นเพื่อให้ถูกใจแฟนคลับ ซึ่งแก่ตัวอายุมากขึ้นทุกวัน ก็เชื่อได้ว่าเลือกตั้งอีกไม่กี่ครั้ง นอกจากจะไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วผู้นำฝ่ายค้านก็อาจจะไม่ได้เป็น

ถ้ายังเป็นพรรคที่เชื่อในตัวบุคคล หรือลัทธิบุคลาธิษฐานอยู่ ไม่ได้เชื่อในระบบ เหมือน ๆ กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งสังคมไทยในขณะนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ แต่ในอนาคตข้างหน้า สังคมไทยน่าจะกำลังเปลี่ยนไป อีกไม่นานความเชื่อในลัทธิบุคลาธิษฐานจะคลายความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ เพราะบุคคลไม่อาจดำรงคงอยู่ตลอดกาล และเมื่อถึงจุดนั้น การชูบุคคลเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ก็น่าจะลดความสำคัญลง พรรคการเมืองทั้ง 2 ขั้ว ควรจะคิดถึงเรื่องนี้ไว้เสียแต่เนิ่น ๆ

การใช้กลเม็ดในการหาเสียงหรือดำเนินการทางการเมืองด้วยการไม่ลงแข่งขันเลือกตั้ง เป็นยุทธวิธีนอกกรอบประชาธิปไตย นอกระบบพรรคการเมือง เท่ากับเป็นการต่อต้านพลวัตทางการเมือง เพราะการเลือกตั้งเป็นบทเรียนและประสบการณ์ของพรรคการเมือง เป็นวิธีการรับ "ความรู้สึก" ของประชาชนฐานเสียงของตัวเองอย่างแท้จริงว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

แล้วอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

มือล่องหน !!?

โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

อนาคตของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ง่อนแง่นเต็มที

"การเลือกตั้ง" ที่เป็นจุดแข็งสุด

ก็อยู่ในภาวะไม่แน่นอน ว่าจะต้อง "เลื่อน" ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปอีกนานเท่าใด

3 เดือน หรือ 6 เดือน ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น

เพราะ "มือล่องหน" กำลังเร่งทำงานพัลวัน เพื่อเช็กบิลรัฐบาลและเพื่อไทย

เหตุระเบิด เหตุลอบยิงม็อบ ที่ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมากโดยยังจับมือใครดมไม่ได้นั้น

กดดันให้รัฐบาลตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.บริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ซึ่งกำลังถูกจับตาว่า รัฐบาลได้มากกว่าเสียหรือไม่

เพราะแค่เริ่มต้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ทำให้สังคมเห็นว่า "กองทัพ" ไม่ได้ยืนข้างรัฐบาล

ไม่ว่ากองทัพบก ที่นอกจากขอยืนอยู่แถวหลังแล้ว

การคงรถหุ้มเกราะไว้ที่ราบ 11 ไม่ยอมเอากลับหน่วยหลังเสร็จสิ้นภารกิจสวนสนามวันกองทัพไทยก็ทำให้คนขี้ระแวงสงสัยว่ามีอะไรมากกว่านั้นหรือไม่

ด้านกองทัพอากาศ การปฏิเสธไม่ให้ตั้งศูนย์ "ศรส." ในพื้นที่ก็ชัดเจนถึงการขอมี "ระยะห่าง" กับรัฐบาล

ส่วนกองทัพเรือ การจับ 3 ทหารหน่วยซีลที่ป้วนเปี้ยนอยู่กับม็อบ ตามด้วย "จุดยืน" ทะลุปรอทของ พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ที่เคียงข้างม็อบ กปปส. แบบไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม พร้อมข้อมูลเขย่ารัฐบาล เรื่องการขนต่างชาติ 10 คันรถตู้เข้ามาใน กทม.นั้น

แม้ผู้บัญชาการทหารเรือ จะบอกว่ากองทัพเรือ "เป็นกลาง"

แต่ก็ดูจะเป็นกลางใจในหัวใจม็อบมากกว่า

จึงไม่แปลก ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจ "ผมไม่เชื่อว่าจะสามารถส่งทหารบก เรือ อากาศ เอาอาวุธร้ายแรงมาทำร้ายผู้ชุมนุม"

เป็นการส่งสัญญาณให้มวลมหาประชาชน รับรู้ว่ากองทัพอยู่ข้าง

เพียงแต่ยังไม่เต็มตัว ถึงขั้นออกโทรทัศน์ไล่รัฐบาล อย่างที่นายสุเทพ ร้องขอเท่านั้น

แต่ถามว่า มีโอกาสไหม

ก็คงอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกนั่นแหละ "แล้วแต่สถานการณ์กำหนด"

ซึ่งหาก "มือล่องหน" เร่งลั่นเสียงปืน เสียงระเบิดให้ "รุนแรง" ขึ้นไม่หยุด

ทั้งต่อฝ่ายม็อบ กปปส.เอง

และทั้งต่อฝ่ายคนเสื้อแดง อย่างกรณีมือมืดถล่มอาก้า นายขวัญชัย ไพรพนา

เชื้อความรุนแรง ถูกฉีดเข้าไปในใจของทุกฝ่าย ที่เข้ามาเล่นหรือถูกบีบให้เข้ามาเล่นในเกมอำมหิตมากขึ้นตามลำดับ

อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทุกวินาทีต่อจากนี้

และที่เจ็บปวดไปกว่านั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำลังจะกลายเป็นอาวุธกลับมาเชือดคอรัฐบาลเสียเอง

เมื่อ ส.ว.สรรหาและประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการที่รัฐบาลเพื่อไทยซึ่งส่งคนลงสมัคร ส.ส. แล้วใช้อำนาจประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และยังถือเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น

จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและให้ยุบพรรคเพื่อไทย

ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังออกมารับลูก แถลงว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ส่อเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งระเบียบ กกต.ด้วย

รับลูกเป็นทอดๆ

ซึ่งเมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ผลที่ออกมาหวาดเสียวต่อรัฐบาลอย่างยิ่ง

นี่เป็นการจัดการของ "มือล่องหน" อีกหรือไม่ เชื่อว่าหลายคนคงเดาได้ไม่ยาก

จึงไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทยจะประเมินว่า การเลื่อนเลือกตั้งออกไป 3-6 เดือน ที่แท้ก็คือการเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระทั้งหลายเร่งสะสางคดีความของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

และมีจุดหมายที่การยุบเพื่อไทยนั่นเอง

ที่มา. มติชนรายวัน
///////////////////////////////////////

แนวรบต่างประเทศ ม็อบสุเทพ VS รัฐบาล !!

การขึ้นเวทีปราศรัยต่อมวลมหาประชาชนบนเวทีแยกปทุมวัน เมื่อค่ำวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ตอนหนึ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศจะทำหนังสือถึงผู้นำโลก

ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐอเมริกา นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และจีน

เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงการออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวขจัดอำนาจระบอบทักษิณ

แสดงถึงความพยายามครั้งล่าสุดของกลุ่ม กปปส.ในการชี้แจงให้ประชาคมโลกเข้าใจในจุดยืนของกลุ่มที่ต้องขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี

โดยผู้ชุมนุมเห็นว่า แม้รัฐบาลชุดนี้จะมาจากกระบวนการเลือกตั้งอันชอบธรรมตามวิถีประชาธิปไตยก็ตาม แต่รัฐบาลเป็นรัฐบาลเงาของระบอบทักษิณ ที่สมควรจะต้องถูกขับให้พ้นไปจากอำนาจ

การเดินเกมทำความเข้าใจกับนานาชาติของกลุ่ม กปปส. มีมาโดยตลอด เห็นได้จากการสรุปสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ให้สื่อต่างประเทศได้รับทราบความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในฝั่งของตนเองนั้นมีขึ้น คู่ขนานไปกับที่ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเดินกลยุทธ์ "โลกล้อมไทย" ด้วยการชี้แจงทำความเข้าใจกับรัฐบาลนานาชาติ ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตลอดจนแนวทางการรับมือและความพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยสันติวิธีของฟากรัฐบาลเอง

โดยย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลถอยจนสุดทางจนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว ซึ่งก็ได้รับปฏิกิริยาตอบรับในทางที่ดีจากนานาประเทศ

แม้แต่ละชาติจะมีความห่วงกังวลในวิกฤตความแตกแยกที่เกิดขึ้นในไทยอยู่อย่างมากถึงขั้นมีการประกาศเตือนพลเมืองของตนเองให้หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้พื้นที่ที่มีการชุมนุมประท้วงในจุดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยก็ตาม

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยโดย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญคณะทูตานุทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยมารับฟังสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีของรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง

ทั้งยังทำหนังสือชี้แจงถึงรัฐบาลนานาประเทศโดยการยื่นผ่านสถานทูตต่างประเทศในไทยรวม 32 แห่ง และส่งหนังสือชี้แจงถึงองค์การระหว่างประเทศอีกหลายองค์กร อาทิ ยูเอ็น และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี)

ปฏิกิริยาของนานาประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ แสดงความห่วงวิตกกังวลต่อวิกฤตความขัดแย้งในประเทศไทยที่อาจนำพาไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อขึ้นได้

ตลอดจนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต่างยึดมั่นในขันติและหลักสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างที่มีอยู่ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ยึดมั่นในกระบวนการทางประชาธิปไตยในการนำพาประเทศพ้นจากภาวะวิกฤตทางการเมือง

"รัฐบาลสหรัฐมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยที่กำลังทวีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น และได้ติดตามการชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯอย่างใกล้ชิด เราขอให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง มีความอดทนอดกลั้นและเคารพหลักนิติธรรม การใช้การความรุนแรงและการเข้ายึดสถานที่สาธารณะหรือสถานที่เอกชนนั้นไม่ใช่หนทางที่ยอมรับได้ในการแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางการเมือง เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในบรรทัดฐานสากลที่รับประกันเสรีภาพของสื่อและความปลอดภัยของนักข่าว สหรัฐเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกันแก้ปัญหาความแตกต่างผ่านการเจรจาโดยสันติ บนวิถีทางที่ส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม"

นี่คือถ้อยแถลงของ นางเจน ซากี โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ที่มีขึ้น เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556

ด้าน นางแคเธอรีน แอชตัน ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ระบุว่า อียูสนับสนุนความปรองดองในประเทศไทย พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย หลีกเลี่ยงการยกระดับความรุนแรงและหาทางออกให้กับความต่างด้วยสันติวิธี

ส่วน นายบัน คี มุน เลขาธิการยูเอ็น แถลงกับผู้สื่อข่าวที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็น ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ 11 มกราคม แสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในไทยที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดกลั้น หลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการยั่วยุ และคลี่คลายความเห็นต่างโดยสันติวิธีผ่านการเจรจา พร้อมกับเปิดเผยด้วยว่าตัวเขาได้โทรศัพท์พูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แล้วเพื่อจะช่วยประสานความคิดที่แตกต่าง

น่าสังเกตด้วยว่า สื่อต่างประเทศทั่วโลกที่เกาะติดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยนั้น ในบทความหรือรายงานข่าว จะมีความเหมือนกันอยู่ตรงจุดหนึ่งคือที่ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ "มาจากการเลือกตั้ง" (Elected) และเมื่อยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งแล้ว ฝ่ายที่เห็นว่าควรเลื่อนการเลือกตั้งหรือพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็จะเป็นฝ่าย "ต่อต้านประชาธิปไตย" (anti-democracy หรือ undemocratic movement) ซึ่งเป็นคำที่สื่อต่างประเทศหลายสำนักใช้ในการนิยามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง

ตัวอย่างเช่น บทบรรณาธิการของวอชิงตันโพสต์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม รวมถึงกรณี นายไมเคิล อาร์. เทอร์เนอร์ ส.ส.รัฐโอไฮโอ พรรครีพับลิกัน ร่อนจดหมายลงวันที่ 16 มกราคม 2557 ถึงประธานาธิบดีโอบามา เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐแสดงจุดยืนคัดค้านกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์

โดยให้เหตุผลว่าการลุกฮือประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นในไทยนั้นเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนกับกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยจะเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองในไทยได้

สาเหตุดังกล่าวทำให้พรรคประชาธิปัตย์ที่มีความใกล้ชิดกับ กปปส. ต้องร่อนหนังสือชี้แจงถึงองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ สถานทูตทุกแห่งในประเทศไทย

โดยอ้างเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะคือการทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจในสภาในทางที่ผิด

เพื่อแก้ต่างต่อสังคมโลกว่า เหตุใดผู้ชุมนุมถึงปฏิเสธการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

เป็นแนวรบด้านการต่างประเทศ ที่มีความดุเดือดแหลมคม ไม่แพ้แนวรบทางการเมืองในประเทศ

ที่มา. มติชนรายวัน
----------------------------------------

องค์กรสิทธิฝรั่งเศสชี้การขวางการเลือกตั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง !!

องค์กรสิทธิมนุษยชนฝรั่งเศส FIDH หรือสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ปารีส ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของกปปส. ซึ่งขัดขวางการออกเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งล่วงหน้า




“การขัดขวางพลเมืองไม่ให้ออกเสียงการเลือกตั้งเป็นการละเมิดกฎหมายไทยและมาตรฐานหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างรุนแรง สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบต้องไม่ไปละเมิดสิทธิพื้นฐานของพลเมืองในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การกระทำของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเป็นเช่นนั้นและต้องถูกประณาม” คาริม ลาฮิดจี ประธานองค์กร FIDH กล่าว

ด้านประธานองค์กรสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน จาตุรงค์ บุญรัตนสุนธร ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของ FIDH ในประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลไทยต้องทำให้มั่นใจว่าประชาชนจะสามารถออกไปใช้สิทธิเสียงเลือกตั้งของตนเองได้ หากต้องการให้การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 ก.พ. เกิดขึ้น

“กลุ่มกปปส. อ้างว่า เขาเป็นขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตย แต่มันยากที่จะพูดว่า การทำลายสิทธิการเลือกตั้งของผู้อื่นและขัดขวางกระบวนการการเลือกตั้งจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร”

ที่มา.ประชาไท
-------------------------------

วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557

ไร้มาตรฐาน คดีอัปยศ ปรส. ขายทรัพย์สินชาติสูญ 6 แสนล.แต่คนชั่วรอด !!?


ปสร

โคตรชัด ป.ป.ช.(ไร้)มาตรฐาน คดีอัปยศ ปรส.รัฐบาล ปชป.ขายทรัพย์สินชาติสูญ 6 แสนล้าน..แต่ “คนชั่ว”รอด!ข่าวพาดหัวย่ำ...สามเสน — 25 ม.ค.57 โคตรชัด ป.ป.ช.(ไร้)มาตรฐาน คดีอัปยศ ปรส.รัฐบาล ปชป.ขายทรัพย์สินชาติสูญ 6 แสนล้าน..แต่ คนชั่วรอด

เห็นได้ชัดว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เร่งรัดตรวจสอบ กรณีโครงการรับจำนำข้าว อย่างผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับ คดีทุจริตโครงการระบายข้าวสารในสต็อกรัฐบาล ของ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เพราะเมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาดำเนินการ โดย “คดีทุจริตโครงการระบายข้าวสารในสต็อกรัฐบาล” ยุค “รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ “ป.ป.ช.” มีมติตั้ง “อนุกรรมการฯ” ขึ้นมาตรวจสอบ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 อีกทั้ง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” ได้ทำหนังสือ รายงานผลการสอบสวนของดีเอสไอ พร้อมข้อมูลหลักฐาน ไปให้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 … มาจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครได้เห็นความคืบหน้าของ “ป.ป.ช.”

แต่กับ กรณีโครงการรับจำนำข้าว ที่เพิ่งมีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ได้ไม่นานและเพิ่งมีการดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นทางการ โดยมี “วิชา มหาคุณ” กรรมการ ป.ป.ช. เป็น “อนุกรรมการฯ สอบสวน” แต่กลับ “แถลงข่าวความคืบหน้า” ไม่เว้นแต่ละวัน !!!

อย่างนี้ “เลือกปฏิบัติ” และ “สองมาตรฐาน” อย่างเห็นได้ชัดหรือไม่
แต่ไม่ใช่จะมีเพียงเท่านี้ ที่แสดงให้เห็น “มาตรฐานการทำงาน” ของ “องค์กร ป.ป.ช.” แห่งประเทศไทย

เพราะยังมี “คดีประวัติศาสตร์ ปรส.” ที่นับเป็น “ความชั่วร้ายแรง” ของ “พรรคประชาธิปัตย์ (ป.ช.ป.)” อีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจ

โดย “คดีอัปยศ ปรส.” นั้นเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ “วิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก” เมื่อปี 2540  จากนั้น “ชวน หลีกภัย” หัวหน้าพรรค ปชป. ก็ได้ฉวยโอกาสที่ “รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” กำลัง เซ-ถลำ สวมรอยเข้ามาครองอำนาจรัฐ เป็น “รัฐบาล”

เมื่อ “ชวน หลีกภัย” และ “พลพรรค ปชป.” ได้แอ็คอาร์ทแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ก็เร่งขายทรัพย์สินของ “องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” หรือ “ปรส.” เกี่ยวกับ 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการไปก่อนหน้า ให้กับต่างชาติในราคาถูกแสนถูก!!!

จากมูลค่าประมาณ 851,000 ล้านบาท

ด้วยความฉลาดหลักแหลม ของ ชวน หลีกภัย และ ทีมเศรษฐกิจพรรค ปชป.

จึงพยายามนำไป เร่ขาย ให้กับ ต่างชาติ ด้วยมูลค่าเพียง 190,000 ล้านบาท

ขาดทุน สุทธิ 661,000 ล้านบาท (หกแสนหกหมื่นหนึ่งพันล้านบาท)
โดยก่อนหน้านี้ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” ได้สรุปสำนวนความผิด “คดี ปรส.”  เอาไว้ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังพบว่ามีหลายกรณีไม่เป็นไปตามกฎหมายระเบียบหลักเกณฑ์รวม 10 ประเด็น เรียบร้อยแล้ว คือ

1. ปรส.ยินยอมให้นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ปรส.เข้าประมูลซื้อทรัพย์สินจาก ปรส.โดยมิชอบ

2. คณะกรรมการ ปรส.บางคนมีส่วนเกี่ยวข้องปกปิดข้อเท็จจริง กระทำการโดยไม่โปร่งใส

3. ข้อกำหนดของ ปรส.ที่ให้ผู้ชนะการประมูลโอนสิทธิได้ขัดต่อกฎหมาย

4. การโอนสิทธิของผู้ชนะการประมูลไม่ชอบขัดต่อ พ.ร.ก.ปรส.

5. ข้อกำหนดการขายทรัพย์สินของคณะกรรมการ ปรส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

6. คณะกรรมการ ปรส.และกลุ่มนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ปรส.ฝ่าฝืนข้อสนเทศการขายทรัพย์สิน

7. กองทุนรวมที่รับโอนสิทธิจากผู้ชนะการประมูลซื้อทรัพย์สินจาก ปรส. ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

8. มีการทำสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

9. สิทธิของนิติบุคคลที่ชนะการประมูลไม่สมบูรณ์ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามข้อกำหนดการขายทรัพย์สินของ ปรส.

และ 10. ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ปรส.บางคนขาดคุณสมบัติเนื่องจากดำรงตำแหน่งทับซ้อนกับสถาบันการเงินอีกแห่ง

แต่ปรากฏว่าในส่วนของ ป.ป.ช. ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเอิกเกริก เมื่อ 3 มิถุนายน 2556 โดย “คณะอนุกรรมการไต่สวน คดีการดำเนินการบริหารองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” หรือ “ปรส.” ที่มี “นายใจเด็ด พรไชยา” กรรมการ ป.ป.ช เป็นประธาน มีมติยก “คำร้อง 3 สำนวน” ประกอบด้วยคดี ที่นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และผู้เกี่ยวข้องในฐานะผู้กำหนดนโยบาย โดยระบุว่าไม่มีส่วนในการขายทรัพย์สินโดยมิชอบ

แต่กลับชี้มูลความผิด 1 สำนวน คือของนายมนตรี เจนวิทยาการ เลขาธิการ ปรส. ในฐานะที่ไม่ปฏิบัติตามข้อสนเทศ เรื่องการประกาศขายทรัพย์สิน ของ ปรส.

ขณะเดียวกันยังเหลืออีก 1 สำนวนที่กล่าวหา คณะกรรมการ ปรส.ในการขายทรัพย์สิน ให้กองทุนรวมเอเชียคอบเวอรี่ คดีนี้จะ ขาดอายุความ ในวันที่ 31 พฤศจิกายน 2557

ชัดเจน …คดี ปรส. มูลค่าความเสียหาย 661,000 ล้าน (หกแสนหกหมื่นหนึ่งพันล้านบาท) ป.ป.ช.
ยกคำร้อง ปชป.รอด

ชัดเจน … คดี ปรส. มี แพะ แล้ว 1 คดี

และชัดเจน … คดี ปรส. อีก 1 คดีกำลังจะหมดอายุความ

ที่มา.พระนครสาส์น
------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

แผนกู้จ่ายหนี้ข้าววุ่น รอ กฤษฎีกา !!?

รัฐบาลอ้างเพิ่งได้หนังสือความเห็นกู้เงินจ่ายหนี้จำนำข้าวจาก กกต. เร่งส่งกฤษฎีกา "วราเทพ" เชื่อได้ข้อสรุปแหล่งเงินจ่ายชาวนาเร็วๆนี้

การจัดหาแหล่งเงินเพื่อจ่ายหนี้ค่าข้าวให้กับชาวนาวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ยังเป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลในช่วงเวลานี้ หลังจากส่งเรื่องขอความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีการกู้เงิน 1.3 แสนล้าน จากการโยกหนี้สาธารณะในหมวดลงทุนพื้นฐานมาใช้เป็นเงินหมุนเวียนเพื่อผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีความมั่นใจว่าการกู้เงินดังกล่าวเป็นผลผูกพันครม.ชุดต่อไปซึ่งเป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3)หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการหนี้สาธารณะ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง นัดชี้แจงกับสื่อมวลชนช่วงเย็นวานนี้ (23 ม.ค.) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งใช้เป็นที่ทำงานชั่วคราวของรัฐบาล โดยผู้สื่อข่าวหลายสำนักต่างรอความเห็นจากนายกิตติรัตนย์ แต่นายกิติรัตน์ได้มอบหมายให้ทีมเลขาและเจ้าหน้าที่แจ้งสื่อมวลชนว่าไม่ต้องรอ โดยรองนายกฯเดินทางออกจากสำนักปลัดกลาโหมไปแล้ว ก่อนเลขาจะขึ้นรถที่นายกิตติรัตน์ใช้ประจำออกไป หลังสื่อมวลชนบางส่วนเดินทางกลับไป นายกิตติรัตน์ได้เดินลงมาจากตึกอย่างเร่งรับก่อนขึ้นรถผู้ติดตามออกไปไล่หลังในทันที

นายกิตติรัตน์เลี่ยงผู้สื่อข่าวในประเด็นแหล่งเงินที่จะจ่ายให้ชาวนา หลังจากข้าราชการในกระทรวงการคลัง เกรงว่าการรับคำสั่งรัฐบาลในการกู้เงินเสี่ยงฝ่าฝืนกฎหมายและอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีภายหลังได้ ขณะที่มีชาวนาผู้ได้รับความเดือดร้อนเคลื่อนไหวปิดถนนในหลายจังหวัดเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินที่ยังติดค้างอยู่

วราเทพชี้ต้องรอกก.กฤษฎีกา

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีการส่งหนังสือไปไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อสอบถามความเห็นเรื่องการขอกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อมาจ่ายให้กับชาวนา รัฐบาลเพิ่งจะได้รับหนังสือตอบรับจาก กกต. อย่างเป็นทางการเมื่อเช้าวันนี้ (23 ม.ค.) จึงได้ส่งหนังสือกกต. ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาการกู้เงินในโครงการนี้แล้ว

"แม้กกต.บอกว่าเป็นดุลพินิจของรัฐบาล แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องใช้เอกสารอย่างเป็นทางการของ กกต.ในการพิจารณาประกอบด้วย คาดว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด หลังจากนั้นจะเป็นการพิจารณาวิธีการและแหล่งกู้เงินซึ่งรมว.คลังจะเดินหน้าเรื่องนี้ให้ได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็ว" นายวราเทพ กล่าว

สบน.เล็งกู้สัปดาห์ละหมื่นล้าน

รายงานข่าวจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มติให้กู้เงินเพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าววงเงิน 1.3 แสนล้านบาทแล้ว ทาง สบน.ได้มีหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง เพื่อดูให้รอบคอบก่อนจะทำการกู้เงิน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 30 วันนี้ หลังจากนั้น สบน.จึงจะดำเนินการกู้เงินให้โดยทยอยกู้สัปดาห์ละหมื่นล้านบาท ทั้งในรูปแบบของการกู้จากสถาบันการเงินและการออกพันธบัตร

"ต้องถามกฤษฎีกาก็เพื่อความรอบคอบเพราะเป็นเงินจำนวนมากและคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งรวมทั้งการทยอยกู้ด้วย"แหล่งข่าวสบน.กล่าว

ธ.ก.ส.ให้กู้ 80%ของใบประทวน

ด้านนายส่งเสริม ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า คณะกรรมการธนาคาร มีมติเห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ถือใบประทวน แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวกว่า 1.4 ล้านราย ในระหว่างที่รอเงินกู้จำนวน 1.3 แสนล้านบาท โดยให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ การให้สินเชื่อรอการขายผลผลิตใหม่ ให้เกษตรกรสามารถมาขอใช้วงเงินกู้ได้มากขึ้น โดยเบื้องต้นตั้งวงเงินไว้ 4-5 หมื่นล้านบาทและขยายวงเงินต่อราย จากให้วงเงินไม่เกิน 20% ของมูลค่าผลผลิตตามใบประทวนเป็นให้กู้ได้ถึง 80% แต่จะพิจารณาตามราคาตลาดไม่ใช่ราคารับจำนำ รวมทั้งยังลดหย่อนการใช้หลักประกันให้ด้วย ที่สำคัญ ยังพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ด้วย จากเดิมที่อยู่ในระดับ 7% จะลดลงมาเหลือ 3-5% เท่านั้น

นอกจากนั้น ส่วนของลูกค้าที่มีกำหนดครบชำระหนี้ในเดือนมี.ค.นี้ จำนวนหลายแสนราย ธ.ก.ส.ก็จะขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 6-12 เดือนโดยไม่คิดเบี้ยปรับในอัตรา 3% อีกด้วย

เขาเชื่อว่า ภายในเดือนมี.ค.นี้ รัฐบาลน่าจะจ่ายเงินได้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้มั่นใจว่า ลูกค้าจะชำระหนี้คืนได้ตามปกติ จากปีก่อนจ่ายเข้ามา 90% ปีนี้อาจลดลงบ้าง แต่เกินครึ่งอย่างแน่นอน โดยมองว่าหนี้เสียจะเพิ่มจากปีก่อน 4% มาอยู่ที่ 4.3% เท่านั้น

คาด 3 วันเริ่มมาตรการช่วยลูกค้า

ด้านนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า การช่วยเหลือชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยส่วนแรก การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 1 ปี โดยยกเว้นเบี้ยในอัตรา 3% ส่วนที่สอง คือ การเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้มากกว่า 20% ของผลผลิตที่รอการขาย โดยเตรียมใช้ได้ภายใน 2-3 วันนี้

กรุงไทยปัดปล่อยกู้จำนำข้าว

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ธนาคารได้อนุมัติเงินกู้ 1.6 แสนล้านบาท ให้รัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ธนาคารไม่ได้ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลในโครงการดังกล่าว และการประชุมคณะกรรมการธนาคารวานนี้ (23 ม.ค.) ไม่มีวาระการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. นำเงินไปจ่ายในโครงการรับจำนำข้าว

ทั้งนี้ ขาเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะไม่ใช้ธนาคารกรุงไทย เป็นเครื่องมือในโครงการดังกล่าว เพราะกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีผู้ถือหุ้นรายย่อยและสถาบันมากกว่า 45% รวมทั้งต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น และในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน ธนาคารใช้มาตรฐานเดียวกัน โดยคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ

สหภาพแถลงการณ์ด่วนปัดปล่อยกู้

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารกรุงไทย ออกแถลงการณ์ด่วนถึงกรณีที่มีกระแสข่าวในโซเชียล มีเดีย ต่างๆ เกี่ยวกับการที่ธนาคารกรุงไทยให้สินเชื่อโครงการรับจำนำข้าว 1.6 แสนล้านบาทว่า สหภาพฯ ได้ติดตามและเจาะลึกหาข้อมูลเชิงลึกพบว่า ธนาคารกรุงไทยมิได้ปล่อยสินเชื่อให้กับธนาคารของรัฐดังกล่าวในโครงการดังกล่าว

ส่วนการปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าทั่วไปทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต่างๆ นั้นเป็นเรื่องปกติของธุรกิจธนาคาร ทั้งนี้ธนาคารใช้หลักเกณฑ์การปล่อยกู้ โดยคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ โดยพิจารณาผ่านฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมกับสภาพธุรกิจ ฐานะทางการเงินและคำนึงถึงการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด

"ป.ป.ช."กังขาพาณิชย์พานักข่าวบินไปจีน

นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการไต่สวนการทุจริตโครงการจำนำข้าว กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดการนำผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังจีน เพื่อตรวจสอบกรณีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภายหลัง ป.ป.ช.ได้แถลงผลการไต่สวนการขายข้าวแบบจีทูจีว่าส่อไปในทางทุจริต ไม่มีอยู่จริง ว่า การดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ในกรณีนี้เป็นเรื่องที่แปลก เพราะเป็นการสู้คดี โดยเอานักข่าวไปดูงาน ที่จริงแล้วหากกระทรวงพาณิชย์มีหลักฐานใดๆเพิ่มเติม ก็นำมาแสดงกับ ปปช.ได้ ไม่มีความจำเป็นต้องพานักข่าวไปดูบริษัท GSSG ถึงประเทศจีน ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

นายวิชา กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ ป.ป.ช.ไต่สวนไม่ใช่ประเด็นที่บริษัท GSSG ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจของจีน เพียงแต่ ป.ป.ช.ไม่เชื่อว่าบริษัทนี้กับบริษัทในจังหวัด HAiNAN จะมาซื้อข้าวแบบจีทูจีจากไทยเพราะไม่ผ่านองค์กรคอฟโก้ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลกลางที่มีหน้าที่จัดซื้อข้าวของจีน

"สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำถือว่าแปลกพิกล เป็นแบบที่คนสู้คดีเขาไม่ทำกัน จริงๆถ้ามีหลักฐานว่ารัฐบาลจีนอนุมัติให้ซื้อข้าวแล้ว ก็เอามาแสดงสิครับ การซื้อแบบรัฐต่อรัฐไม่ได้หมายความว่าบริษัทรัฐวิสาหกิจมาซื้อก็เป็นจีทูจียกตัวอย่างการบินไทยไปซื้อของจากต่างประเทศ ไม่ถือว่าเป็นการซื้อรัฐต่อรัฐ จนกว่าจะเป็นการซื้อโดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการโดยตรงถึงจะเป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

เบื้องหลัง พรก.ฉุกเฉินฯ

พล.ต.อ.อดุลย์ แม้ใจจริงลึกๆไม่ค่อยอยากรับเป็น"หนังหน้าไฟ" แต่เนื่องจาก"สีกากี" เป็นสีที่ฝ่ายการเมืองไว้วางใจ

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) นั้น ชัดเจนว่าเป็นการ "ชง" โดย "สามทหารเสือ" ได้แก่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

ในส่วนของ พล.ต.อ.อดุลย์ นั้น แม้ใจจริงลึกๆ ไม่ค่อยอยากรับเป็น "หนังหน้าไฟ" ในวิกฤติขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้สักเท่าไร แต่เนื่องจาก "สีกากี" เป็นสีที่ฝ่ายการเมืองไว้วางใจ แม้แต่ "คนทางไกล" ก็ยังแสดงความเชื่อมั่น จึงจำต้องรับ ประกอบกับก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.อดุลย์ เองได้ยืนยันความพร้อมเอาไว้อย่างหนักแน่น ทั้งการใช้กำลังตำรวจในภารกิจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯด้วย ทำให้ไม่สามารถปฏิเสธได้

บรรยากาศการประชุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ชุดใหญ่เมื่อวันที่ 21 ม.ค. พ่วงด้วยการประชุมครม.วงเล็ก จึงมีการเสนอประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แบบ "มัดมือชก" เพราะไม่มีการเชิญหน่วยงานที่ "เห็นต่าง" มาร่วมด้วยเลย โดยเฉพาะสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) ซึ่งมีฐานข้อมูลการข่าวแตกต่างจากตำรวจค่อนข้างมาก

ขณะที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ (ผบ.เหล่าทัพ) ที่ พล.ท.ภราดร ให้ข่าวว่าทุกคนเห็นด้วยนั้น ปรากฏว่า ผบ.ทุกคนส่งมาเฉพาะตัวแทน และยังแสดงเจตนาไม่ร่วมอยู่ในโครงสร้างศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. ที่ตั้งขึ้นเป็นหน่วยบัญชาการเหตุการณ์ด้วย

เหตุนี้เองในคำสั่งจัดตั้ง ศรส. ซึ่งเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ 3/2557 จึงชัดเจนว่าโครงสร้าง ศรส.ในภาคส่วนอื่นๆ ล้วนเป็น "ตัวจริง" ทั้งหมด เช่น ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นผู้บัญชาการเหล่าทัพเท่านั้นที่ในคำสั่งเขียนเปิดให้ส่ง "ผู้แทน" มาร่วมเป็นกรรมการได้

เมื่อทหารแสดงท่าที "ไม่เอาด้วย" อย่างชัดเจนแบบนี้ รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจให้ "ตำรวจ" ออกหน้า จึงมี ผบ.ตร.เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ร่วมแถลงข่าวหลังมีมติประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การแต่งตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้อำนวยการ ศรส. ทั้งๆ ที่เจ้าตัวเป็นรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งหน้างานไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองได้ ประเด็นนี้แหล่งข่าวในรัฐบาลเผยว่า เป็นเพราะฝ่ายทหารไม่รับเป็นเจ้าภาพในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเป็นต้องใช้ตำรวจเป็น "กำลังหลัก" จึงต้องหาคนที่เข้าใจงานตำรวจพอสมควรในการควบคุมสั่งการ ประกอบกับฝ่ายการเมืองต้องการกัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ให้เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจและการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯด้วย ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม กลายเป็นตัวเลือกที่ลงตัวที่สุด

"ทั้งระหว่างประชุมและหลังประชุม ศอ.รส.ชุดใหญ่ พล.ท.ภราดร ได้แยกตัวไปคุยกับ ร.ต.อ.เฉลิม เพื่อหารือเรื่องนี้ และมีการยกหูโทรศัพท์คุยกับคนทางไกลด้วย ก่อนจะมีการประกาศให้ ร.ต.อ.เฉลิม เป็น ผอ.ศรส."

ส่วนการเลือกใช้ชื่อ ศรส. แทนศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ที่เคยใช้เมื่อปี 53 นั้น ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการย่ำรอยเดิมของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งถูกมองว่ามีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อสลายการชุมนุมและมีคนเสียชีวิต โดย ศอฉ.เป็นหน่วยบัญชาการเหตุการณ์ที่สำคัญในครั้งนั้น อีกทั้งแกนนำรัฐบาลชุดนี้หลายคนเคยยืนยันว่าจะไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหมือนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วย จึงต้องปรับเปลี่ยนชื่อไม่ให้มีคำว่า "ฉุกเฉิน" เพื่อสร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้รับข่าวสาร

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

ศาลรัฐธรรมนูญ กับการเลื่อนเลือกตั้ง !?

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 มกราคม เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ใน 2 ประเด็น คือ 1) หน่วยงานใดมีอำนาจในการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง และ 2) กรณีมีเหตุจำเป็นสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่



เนื่องมาจาก กกต. และ คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกา มีความเห็นขัดแย้งกัน ซึ่ง กกต.ให้เหตุผลตามกฎหมายว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่และมีหน้าที่ในการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา214ระบุว่าในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง2องค์กรขึ้นไป
 ได้พูดคุย 2 มุมมองวิชาการต่อประเด็นดังกล่าว



นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม และ โฆษกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ให้ความเห็นว่า อันที่จริงแล้ว การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยของ กกต. ครั้งนี้ ไม่เข้าข่าย มาตรา 214 เลย เนื่องจาก มาตรา 214 กล่าวถึง "ความขัดแย้ง" หรือถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านคือ "ทะเลาะ" กัน กรณีนี้ ระหว่าง 2 องค์กร คือ รัฐบาล และ กกต. ไม่ได้ขัดแย้งหรือแย่งกันมีอำนาจในการเลื่อนเลือกตั้ง อีกกรณีคือ ไม่ได้ขัดแย้งกันว่า อีกฝ่ายมีอำนาจในการเลื่อนเลือกตั้งแต่ตนไม่มี

เพราะข้อเท็จจริงคือ ทั้งรัฐบาลและ กกต. ไม่มีอำนาจใดๆ ในการเลื่อนเลือกตั้งเลย และในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็ไม่ได้ให้อำนาจใครให้การเลื่อนเลือกตั้ง ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจรับคำร้องหรือวินิจฉัยในกรรี และคู่กรณีก็ไม่ได้ "ขัดแย้ง" หรือ "ทะเลาะ" กันแต่แรกด้วย

"ข้อเรียกร้องของ กกต.ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ยึดหลักการ เพราะไม่ว่า นักกฎหมาย นักการเมือง หรือนักวิชาการคนใดๆ ก็หาไม่เจอว่า รัฐธรรมนูญมาตราใดที่เสนอให้มีการเลื่อนเลือกตั้งได้"นายเอกชัยระบุ

นายเอกชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้วินิจฉัย อย่างไรก็ตาม หากศาลวินิจฉัยให้เลื่อนเลือกตั้งได้ ก็จะเป็นวิกฤตการเลือกตั้งของไทย

"ผมว่าถ้าศาลมาดูสถานการณ์ ก็จะเห็นว่า มีหน่วยเลือกตั้งพร้อมจำนวน 92.5% นั่นแปลว่า ประชาชนต้องการจะเลือกตั้ง มีเพียง 7.5% ที่ไม่พร้อม แต่ก็ต้องมาดูเหตุผลด้วยว่า เพราะอะไร เพราะผู้สมัครไปสมัครไม่ได้ เพราะโดนปิดกั้นหรือไม่"

"ในสถานการณ์การเมืองที่วุ่นวายเช่นนี้ มีทางออกให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม 3 ข้อ คือ 1. ให้สิทธิคนเท่ากัน นั่นคือ ต้องมีการเลือกตั้ง 2. เคารพและยึดกติการ่วมกันทุกๆ ฝ่าย และ 3. กรรมการผู้ดูแลกติกาต้องไม่ละเมิดกติกาเสียเอง แต่ถึงยังไง ถ้าปล่อยให้ไม่มีเลือกตั้ง ทางออกข้อที่ 1 ที่ผมเสนอ สังคมไทยก็ทำไม่ได้แล้ว"นาย เอกชัยกล่าว

อ.เอกชัย กล่าวปิดท้ายว่า การเลือกตั้งต้องมีเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย แต่ส่วนตัวเชื่อว่า อาจไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคต



ด้าน นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะทำงานกลุ่มกปปส. ให้สัมภาษณ์ว่า กกต. สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 214 ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้ หรือส่งกลับหรือไม่นั้น ต้องรอดู

นายสมบัติ กล่าวว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้อยู่ดี เพราะ กกต. จะไม่สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ครบ 95% ได้ภายใน 30 วัน และหากรัฐบาลดันทุรังให้เกิดการเลือกตั้งขึ้น ก็คาดว่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชาชน จะเข้ามาเป็นรัฐบาล เท่ากับว่าจะไม่มีพรรคฝ่ายค้านเลย พรรคเหล่านี้เกาะกลุ่มกันอยู่กับพรรคเพื่อไทย ทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้เป็น "เผด็จการจากการเลือกตั้ง"

"อย่าเข้าใจว่า เลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย เพราะมีหลักฐานให้เห็นแล้วว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อทักษิณ ที่จริงสภาต้องเป็นตัวแทนใช้อำนาจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่นี่เป็นสภาหุ่นเชิด"

"จะเห็นเลยว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ หมายเลข 1 คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งต้องขึ้นมาเป็นผู้นำอีกถ้าได้รับเลือกตั้ง วิญญูชนที่คิดเป็น ต้องมองเห็นแล้วว่าเลือกตั้งแล้วจะมีอะไรรออยู่ จะวุ่นวายหรือไม่ ยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ทำให้กระทบท่องเที่ยวมากกว่าเดิม ชัดเจนว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเบ็ดเสร็จที่ไม่ได้สนใจเรื่องอื่น นอกจากชัยชนะของตน"

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและวินิจฉัยกรณีเลื่อนเลือกตั้ง อาจเข้าข่ายสถานการณ์ที่อาจจะเป็นรัฐประหารเงียบ หรือไม่

นายสมบัติ กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็นถึงนักวิชาการเหล่านี้ นักวิชาการเหล่านี้รู้ถูกผิด รู้ทุกอย่าง แต่เขาพูดอย่างนี้ไม่ใช่เพราะไม่เข้าใจ หรือไม่ใช้เหตุผล แต่เป็นเพราะมีวาระซ่อนเร้น นักวิชาการที่บอกให้เดินหน้าเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธุ์มีวาระซ่อนเร้น

ทั้งนี้ นายสมบัติ เสนอทางออกต่อสถานการณ์ในขณะนี้ว่า ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ขอเสนอให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงจากตำแหน่ง เพราะไม่มีผู้นำประเทศที่ดีคนใด จะปกครองประเทศในภาวะที่สังคมแตกแยก ต้องให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน ในประวัติศาสตร์นั้น ภาวะเช่นนี้อาจรุนแรงถึงขนาดแบ่งประเทศได้เลย

เมื่อถามต่อว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการเลื่อนเลือกตั้ง นายสมบัติ เห็นว่า ถ้าเป็นคนที่คิดถึงประโยชน์ของชาติ ก็ต้องเห็นว่าเลือกตั้งแล้วจะเป็นเช่นไร การเลือกตั้งในสถานการณ์นี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติเลย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------

วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

ที่สุดของความวุ่นวาย !!?

โดย. พญาไม้

หากจะถามว่า...

ปัญหาของประเทศไทยการเมืองที่วุ่นวายยุ่งเหยิงในวันนี้..เกิดมาจากสาเหตุอันใด..ก็ต้องย้อนกลับกันไปดู..ตั้งแต่..ปลายสมัยของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร..จนมาถึงปีแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง..

ทันทีที่..วุฒิสภาเปลี่ยนประธานวุฒิสภาจาก พลตรี มนูญกฤต รูปขจร..มาเป็น..นายสุชน ชาลีเครือ..ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคนใกล้ชิดกับคนในครอบครัวของ ทักษิณ ชินวัตร..

ปฏิบัติการล้มล้างรัฐบาลเลือกตั้งของ..นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เริ่มต้น..และนำไปสู่การผนึกกำลังกับผู้สูญเสียผลประโยชน์จากอีกหลายฝ่าย..

จนในที่สุดก็เกิดการปฏิวัติ..2549 ขึ้นมา..ปิดฉากอำนาจของ..ทักษิณ ชินวัตร..แต่เปิดฉากแห่งความวุ่นวายชนิดที่ไม่าเคยเกิดมาก่อนในประเทศไทยและวุ่นวายสืบต่อมาจนถึงบัดนี้..

แต่..เพราะฐานที่มั่นถิ่นที่หยัดยืนของ ทักษิณ ชินวัตร..คือ..ประชาธิปไตย..อำนาจที่เขาได้รับมานั้น..มาจากกล่องทิ้งคะแนนในวันเลือกตั้ง..

ผู้คนจำนวนมากจึงยืนอยู่ข้างเขา..

ดูเหมือนว่า..ทักษิณ ชินวัตร..ก็เรียนรู้ว่า..รากฐานแห่งอำนาจการเมืองของเขานั้น..คือประชาชน..เขาจึงทุ่มเทเพื่อจะรักษาฐานคะแนนนี้ไว้และหาทางเพิ่มพูนขยายให้..แน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น
ซึ่งเขาก็ทำได้สำเร็จ

แต่ประเทศไทย..ไม่ง่ายเช่นนั้น..ประชาธิปไตยไม่ใช่ต้นสุดและปลายสุดของอำนาจ..ประชาชนกับประชาชนยังมีความเป็นอยู่แตกต่างกันเหมือนฟ้ากับเหว..

ทักษิณสนุกอยู่กับการกวาดต้อนเอาคะแนนจากคนชั้นล่าง..แต่คนชั้นกลางและสูงขึ้นไปนั้น..กลับรู้สึกว่าตนเองเล็กลงทุกวัน..ข้าราชการทุกระดับชั้น..โดนฝ่ายการเมืองขูดสับ..อำนาจในมือถูกฉกฉวย..

ถึง ทักษิณ ชินวัตร จะผูกขาดชัยชนะในการเลือกตั้งทุกครั้ง..แต่..เวทย์มนต์ของฝ่ายตรงกันข้ามที่ฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญปฏิวัติ..ก็บดขยี้เข้าใส่..

ไม่มีเหตุผลไม่มีความถูกต้องมีแต่เป้าประสงค์และต้องทำให้สำเร็จ..

การเมืองไทย..จึงกลายเป็นสงคราม..และเมื่อมันเป็นสงคราม..มันจึงมีแต่แพ้กับชนะ..ถึงวันนี้มันก็ยังเบ็ดเสร็จไม่ได้..ใครคือผู้ชนะ..

ทักษิณ ชินวัตร จะชนะหรือไม่..ก็อยู่ที่เขายังรักษามวลชนของเขาไว้ได้หรือไม่..แต่ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้..ฝ่ายตรงกันข้าม..ผลักดันมวลชนให้มาอยู่ฝ่ายทักษิณมากขึ้นทุกวัน..

ที่มา.บางกอกทูเดย์
----------------------------------------

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูปการเมืองท้องถิ่น !!?

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

แม้ อีกนานกว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ปฏิรูปการเมืองระดับชาติจะเกิดขึ้นจริง เพราะเวลาผ่านไปนานนับเดือนยังเถียงกันไม่จบ ปฏิรูปตั้งไข่ไม่ได้สักที แต่ต้องมองในแง่ดีและอย่าเพิ่งสิ้นหวัง เพราะประเด็นเรื่องการปฏิรูปถูกที่จุดพลุขึ้นจนกลายเป็นกระแส ที่คนทุกภาคส่วนให้การตอบรับ ขณะนี้เหลือเพียงแค่ปรับจูนแนวคิดซึ่งอาจจะแตกต่างกันบ้างให้สามารถเดินหน้า ได้ แม้จำเป็นต้องใช้เวลาก็ยังดีกว่าปล่อยให้ไฟขัดแย้งลุกลามบานปลายจนไม่มี ทางออก

ขณะเดียวกัน นอกจากต้องเร่งปฏิรูปการเมืองระดับชาตินำพาประเทศฝ่ามรสุมก่อนถึงทางตันแล้ว ภารกิจที่รออยู่เบื้องหน้าและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า คือ การปฏิรูปการ เมืองระดับท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาหลายปัญหาถูกหมักหมมไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่กลิ่นอายการทุจริตคอร์รัปชั่น การเรียกผลประโยชน์ เล่นพรรคเล่นพวก ฯลฯ มีไม่แพ้การเมืองระดับชาติ

ปลาย ปีที่ผ่านมา รายงานผลการตรวจสอบกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2556 รอบ 6 เดือนหลัง ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2556-30 กันยายน 2556 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว สตง.ตรวจสอบพบว่ามีกรณีเงินขาดบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตรวมทั้งสิ้น 167 เรื่อง จำนวนเงินที่เสียหายรวม 158 ล้านบาท ในจำนวนนี้หน่วยงานของรัฐที่มีจำนวนเรื่องได้รับแจ้งสูงสุด คือ หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นจำนวน 82 เรื่อง จำนวนเงินรวม 107 ล้านบาท

ขณะ เดียวกัน มีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้จนถึง 30 กันยายน 2556 รวมทั้งสิ้น 2,249 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 6,758 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากที่สุด1,167 เรื่อง  พิจารณาประเภทของการทุจริตที่ทำให้รัฐเกิด ความเสียหาย พบว่าการทุจริตยักยอกเงินหรือทรัพย์สินของทางราชการมีปัญหามากที่สุด รองลงไปคือการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง การปฏิบัติผิดระเบียบ ฯลฯ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งหยั่งรากฝังลึกในสังคมไทย กำลังแพร่ระบาดลงสู่การเมืองในระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล ไม่เว้นแม้แต่การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ อย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา

งบ ประมาณแผ่นดินนับหมื่นนับแสนล้านบาท แทนที่จะนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณูปการ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นและชุมชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ถูกเบียดบังเข้ากระเป๋านักการเมืองท้องถิ่น นายทุน ผู้มีอิทธิพล ผู้รับเหมาซึ่งเป็นพวกพ้อง

นอกจากการเมืองระดับชาติจะถูกจำลองโมเดลหรือรูป แบบวิธีการไปใช้กับการเมืองท้องถิ่นแล้ว นักการเมืองท้องถิ่นยังลอกเลียนแบบการทุจริตโกงกินของนักการเมืองในระดับ ชาติอีกด้วย รวมทั้งการซื้อสิทธิซื้อเสียงจากชาวบ้านเพื่อช่วงชิงที่นั่งในสภาเทศบาล อบจ. อบต. ฯลฯ

ไม่เว้นแม้แต่การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ที่เวลานี้บางพื้นที่ทุ่มซื้อเสียงหนักกว่าเวทีการเมืองระดับชาติ แย่งกันนั่งเก้าอี้ยิ่งกว่าการเมืองท้องถิ่นอย่าง อบจ. อบต. เพราะได้ตำแหน่งแล้วอยู่ยาวจนเกษียณ ไม่แปลกที่เพื่อนพี่น้องซึ่งเป็นคนต่าง จังหวัดย้ำชัด ๆ ดัง ๆ ว่า 1 สิทธิ 1 เสียง แลกกับแบงก์พันบาทได้อย่างต่ำ 2-4 พันบาท สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯก็พร้อมจ่ายค่ารถราให้กลับ บ้านในต่างจังหวัดเสร็จสรรพ ไม่รวมการเลี้ยงดูปูเสื่อทั้งเหล้ายา ล้มโค ล้มหมู

แม้ต้องลงทุนเป็นแสน ๆ แต่ผู้สมัครตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่ก็มองว่าสุดคุ้ม และกล้าทุ่ม เพราะนอกจากจะมีเงินเดือนกินจนอายุ 60 ปีแล้ว ยังลงทุนน้อยเพราะจำนวนคนใช้สิทธิน้อย จึงคาดหวังผลได้สูง ไม่รวมอภิสิทธิ์ ค่ากินหัวคิวที่จะมีตามมาอีกจิปาถะ ไม่เร่งปฏิรูปการเมืองท้องถิ่น ล้างบางโกงกินทั้งระบบสิ้นซากพร้อมปฏิรูปการเมืองระดับชาติ ก็ยิ่งน่าห่วงว่ามะเร็งร้ายจะขยายวงถึงระดับรากหญ้าจนยากจะแก้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
------------------------------------------

สงครามกลางเมือง.

โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลายคนพูดว่า สถานการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ มีทางที่จะพัฒนาไปเป็นสงครามกลางเมือง หนึ่งในคนที่เตือนเรื่องนี้คือ ผบ.ทบ. ผมสนใจว่า มันจะเป็นไปได้หรือไม่ และหากเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศไทยขึ้นจริง จะมีลักษณะอย่างไร

สงครามกลางเมืองนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคู่ปรปักษ์มีการจัดองค์กรเพื่อการทำสงคราม จนถึงนาทีนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จัดองค์กรเพื่อทำสงคราม ยกเว้นแต่นับเอากองทัพเข้าไปเป็นคู่ปรปักษ์ด้วยเท่านั้น แต่กองทัพเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ (แม้พยายามจะอยู่เหนือรัฐตลอดมา) ฉะนั้นจึงขอเก็บเรื่องนี้ไปพูดถึงความเป็นไปได้ เมื่อรัฐได้เคลื่อนเข้ามาเป็นคู่ปรปักษ์แล้ว ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาไปทางแนวนั้น หากเกิดการรัฐประหารขึ้น

หากรัฐสามารถยืนอยู่นอกความขัดแย้งได้ต่อไปในระยะยาว คู่ปรปักษ์จะสามารถพัฒนาการจัดองค์กรของตนเองเพื่อทำสงครามได้หรือไม่ เรื่องนี้ไปสัมพันธ์กับเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งของสงครามกลางเมือง จึงต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน

ความขัดแย้งกันภายในรัฐ จะกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้ นอกจากต้องมีการจัดองค์กรเพื่อทำสงครามแล้ว คู่ปรปักษ์ยังต้องมี "กองกำลัง" ของตนเองที่สามารถปฏิบัติการได้เหมือนประจำการ ดังเช่น พคท.มีหน่วยทหารป่าของตนเอง ผู้ก่อการในสามจังหวัดภาคใต้ มี RKK เป็นต้น

ในกรณี พคท.ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ทำให้สามารถติดอาวุธที่จำเป็นแก่ "กองกำลัง" ได้ ผมไม่คิดว่าคู่ปรปักษ์ในครั้งนี้จะได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ฉะนั้นถึงจะมี "กองกำลัง" ของตนเอง ก็คงไม่มีสมรรถภาพเท่ากับกองทัพของรัฐโดยทั่วไป และหากรัฐกลายเป็นคู่ปรปักษ์เสียเอง ก็คงไม่สามารถทำสงครามในแบบกับรัฐได้แน่

แต่ สงครามกลางเมืองในโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้แปรเปลี่ยนจากสงครามกลางเมืองในสมัยก่อนหน้านั้นไปมาก แม้ไม่ทำสงครามในแบบ กองกำลังของคู่ปรปักษ์ (ไม่ว่าจะมีรัฐร่วมอยู่ด้วยหรือไม่) ก็อาจต่อสู้รบพุ่งกันได้ โดยวิธีอื่นๆ ที่ผมอยากจะยกตัวอย่างมีสองกรณีคือพม่าและไอร์แลนด์

กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเคยได้รับความช่วยเหลือจากจีน กลายเป็นกองกำลังขนาดใหญ่ที่คุกคามรัฐบาลพม่ามากที่สุด แต่ก็สลายตัวลงเพราะการปราบปรามของกองทัพพม่า อาวุธส่วนหนึ่งกระจัดกระจายไปยังกองกำลังของชนส่วนน้อย แม้กระนั้นก็ไม่สามารถรวบรวมและใช้ประโยชน์ได้เท่ากองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลทหารพม่าสามารถจัดการได้ แม้ไม่เด็ดขาด

แต่ภูมิภาคแถบนี้ รวมทั้งประเทศไทย คือตลาดใหญ่ของการค้าอาวุธเถื่อน ฉะนั้นหากกองกำลังใดที่ไม่ใช่ของรัฐ มีเงินพอ ก็ย่อมเข้าถึงอาวุธสงครามได้หลายชนิด พอที่จะทำสงครามนอกแบบสืบเนื่องไปได้ในระยะยาว ชนส่วนน้อยในพม่ามีเงินที่ได้มาจากยาเสพติด บางกลุ่มผลิตและค้าเอง บางกลุ่มเรียกเก็บเฉพาะค่าผ่านแดน, การเก็บค่าต๋งจากผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐ, หรือเก็บค่าผ่านแดนของสินค้าเข้าและออก และแน่นอนในบางครั้ง ก็ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ (เช่นในขณะที่กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่ายังเข้มแข็ง ไทยย่อมสนับสนุนกองกำลังของชนส่วนน้อยบางกลุ่ม เพื่อเป็นกำลังกันกระทบ)

ความยั่งยืนของสงครามกลางเมืองในพม่านั้น ส่วนหนึ่งมาจากภูมิประเทศและระบบสื่อสารคมนาคมที่ยังไม่พัฒนา ทำให้อำนาจรัฐไม่เข้มแข็ง -- ทั้งเพราะรัฐคุมการกดขี่ข่มเหงประชาชนของข้าราชการตนเองไม่ได้ และทั้งเพราะกองกำลังของชนส่วนน้อยอาจโจมตีรัฐได้ง่าย -- ปัจจัยแง่นี้ไม่มีในประเทศไทย หากจะมีสงครามกลางเมืองในประเทศไทย คงไม่ออกมาในลักษณะการยึดพื้นที่บางส่วนเป็นฐานที่มั่นอย่างถาวร ดังเช่นที่เกิดในพม่า

กองกำลังของไออาร์เอฝังตัวอยู่ในชุมชน ได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากผู้นับถือศาสนาเดียวกัน ในขณะที่ได้ทุนจากการระดมจากชาวไอริชที่ไปตั้งรกรากในต่างประเทศ ปฏิบัติการคือการลอบสังหารด้วยวิธีต่างๆ และการก่อวินาศกรรมอย่างไม่มีขอบเขตต่อสังคมอังกฤษ เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนกดดันรัฐบาลประชาธิปไตยของตนให้เปลี่ยนนโยบายจากการทหารมาสู่การเจรจา (คืออาจไปจุดระเบิดในลอนดอนซึ่งอยู่นอกพื้นที่ความขัดแย้งโดยตรง)

มีอะไรบางอย่างที่คล้ายกันระหว่างการปฏิบัติการของไออาร์เอ และกลุ่มผู้ก่อการในภาคใต้ เพียงแต่กลุ่มผู้ก่อการนับวันก็ต้องพึ่งพาทุนจากการค้าที่ผิดกฎหมายมากขึ้น และปฏิบัติการมุ่งกระทำต่อรัฐไทยโดยตรง (สังหารเจ้าหน้าที่รัฐ และ ศัตรู ของขบวนการในพื้นที่) ไม่มุ่งจะเปลี่ยนทัศนคติของสาธารณชนไทยโดยรวม

หากเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศไทย โดยที่รัฐไม่เข้ามาร่วมเป็นคู่ปรปักษ์ ผมอยากเดาว่า ความรุนแรงในการลอบสังหารและก่อวินาศกรรมไม่น่าจะรุนแรงเท่า เพราะการต่อสู้ของคู่ปรปักษ์ต้องกระทำโดยเรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง ส่วนใหญ่ของการลอบสังหารไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ของคนส่วนใหญ่ การก่อวินาศกรรมมักกระทบถึงคนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย สถานการณ์อย่างนี้พึงระวังการก่อวินาศกรรมปลอมหรือการลอบสังหารปลอม เพื่อกล่าวโทษฝ่ายตรงข้ามมากกว่า

แต่หากรัฐเข้ามาเป็นคู่ปรปักษ์ สถานการณ์จะเปลี่ยนไปทันที เช่นหากกองทัพทำรัฐประหาร กองทัพย่อมรู้ดีว่า ฝ่ายที่คัดค้านหรือจนถึงต่อต้านการรัฐประหารย่อมมีมาก เป็นธรรมดาที่กองทัพต้องขยายการคุมออกไปให้เห็นอย่างชัดเจน ยิ่งขยายมากกำลังก็ยิ่งบางลง ตกเป็นเหยื่อของการต่อต้านได้มากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยซึ่งอาจยับยั้งการใช้ความรุนแรง (คือการแข่งขันทางการเมืองระหว่างสองกลุ่ม) หายไปเสียแล้ว เพราะการรัฐประหาร โอกาสที่จะต่อต้านการรัฐประหารด้วยความรุนแรงจึงเกิดขึ้นได้ง่าย

ผมควรกล่าวด้วยว่า สันติวิธีในการต่อต้านการรัฐประหารหรือรัฐที่ไม่ชอบธรรมนั้นมีมากและหลากหลายชนิด แต่สังคมไทยมีประสบการณ์อยู่เพียงอย่างเดียวคือการชุมนุมโดยสงบ เมื่อทำไม่ได้ ก็ไม่ช่ำชองพอจะใช้ยุทธวิธีของสันติวิธีอย่างอื่น ความเสี่ยงในการต่อต้านรัฐประหารที่นำไปสู่การเสียเลือดเสียเนื้อ (ไม่ว่าของฝ่ายใด) จึงมีมากขึ้น

แม้ไม่เกิดการรัฐประหาร รัฐก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปัจจุบันรัฐบาลพยายามถอยออกไปโดยยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่สถานการณ์ก็บานปลายออกไปไม่หยุด จนทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลกลายเป็นคู่ปรปักษ์กับฝ่ายต่อต้านแทนรัฐบาลไปเสียเอง หากการเลือกตั้งนำมาซึ่งรัฐบาลใหม่ (จะช้าหรือเร็วหลังการเลือกตั้งก็ตาม) รัฐบาลใหม่จะปล่อยให้สถานการณ์กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนตน และฝ่ายประท้วง โดยรัฐไม่เกี่ยวเลยเช่นนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะโอกาสที่สองฝ่ายจะปะทะกันด้วยความรุนแรงย่อมเกิดได้เสมอ และที่จริงตอนนี้ก็มีการปะทะกันด้วยความรุนแรงอยู่บ้างแล้ว

รัฐต้องเป็นรัฐ ที่รักษาเวทีซึ่งมีกติกาแห่งความสงบสุขไว้ให้ได้ ไม่ว่าทั้งสองฝ่ายจะขัดแย้งกันอย่างไร ใครก็ตามที่ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล จะปล่อยให้รัฐง่อยเปลี้ยเสียขาไปเรื่อยๆ เช่นนี้ไม่ได้

ดังนั้น หากพรรค พท.สามารถจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้ จึงควรพิจารณาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ดี หากคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถรับผิดชอบฟื้นฟูรัฐให้เป็นกรรมการกลางที่เที่ยงธรรมได้ (ด้วยเหตุใดก็ตามที และผมออกจะเชื่อว่าคุณยิ่งลักษณ์ทำไม่ได้) พรรคเพื่อไทยควรพิจารณาหานายกรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีนามสกุลเดิมหรือสัมพันธ์กับนามสกุลเดิม บุคคลผู้นั้นควรเป็นที่ยอมรับในสังคมวงกว้างกว่าพรรคเพื่อไทย

ในส่วน ครม. ครึ่งหนึ่งหรือกว่านั้นควรเป็น คนนอก พรรคเพื่อไทย แต่เป็นคนที่สังคมวงกว้างยอมรับในความรู้ความสามารถ ไม่จำเป็นว่าเขาต้องมีภาพพจน์ที่ เป็นกลาง เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งคนในสังคมวงกว้างเห็นว่ามีความรู้ความสามารถ (ไม่ว่าจะเห็นถูกหรือเห็นผิด) ก็ไม่ได้มีภาพพจน์ที่ เป็นกลาง แต่อย่างใด หรือคุณวีรชัย พลาศรัย ซึ่งมีความสามารถเป็นที่ยอมรับ และยังไม่มีภาพพจน์ที่เอียงข้างฝ่ายใด คนเหล่านี้ควรได้รับเชิญให้ไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย เพื่อบริหารประเทศไปได้อย่างราบรื่น

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรเลือก ครม.จากการเสนอของพรรค ปชป.หรือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เพราะรัฐบาลใหม่ไม่ใช่รัฐบาลประนีประนอม แต่ต้องเป็นรัฐบาลที่จะฟื้นฟูความเป็นรัฐที่สามารถรักษาเวทีกลางของความขัดแย้งให้สงบสันติได้ การเลือกคนมาเป็นรัฐมนตรี เป็นภาระหน้าที่ของพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องเลือกให้เข้ามาบริหารความเจริญก้าวหน้าได้จริง โดยไม่ถูกขัดขวางอย่างไร้เหตุผลโดยศาลรัฐธรรมนูญ, องค์กรอิสระ, ม็อบ, demagogue และนักวิชาการบางกลุ่ม

หรือแม้แต่ใครที่อยู่เบื้องหลังม็อบสุเทพ ก็ไม่ต้องไปถามให้เขาเสนอชื่อใครเป็นอันขาด พอกันทีสำหรับเส้นสายเครือข่ายของพวกเขา ที่บ้านเมืองเละเป็นวุ้นอยู่ในทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะเส้นสายเครือข่ายเหล่านี้หรอกหรือ

รัฐอย่าได้ทำสงครามกลางเมืองเป็นอันขาด ใช้กฎหมายและเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่เพื่อรักษาอำนาจของรัฐเท่านั้น อย่าได้ตามไปแก้แค้นใครเกินกฎหมาย อย่าปราบปรามแบบปูพรม เมินเสียได้ก็พึงเมิน การกบฏกลางเมืองที่เผยตัวแกนนำชัดเจนอย่างนี้ รัฐไหนๆ ก็จัดการได้ง่ายทั้งสิ้น

แม้กระนั้น การต่อต้านรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงจะมีอยู่ต่อไป ทั้งข้างถนนไปจนถึงองค์กรอิสระ แต่รัฐบาลเพื่อไทยต้องยึดความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ไว้ให้ได้ ไม่ใช่โดยผ่านชื่อทักษิณ ชินวัตร แต่ผ่านนโยบาย, โครงการ, การกระทำให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ


ที่มา นสพ.มติชน
--------------------------------------------

วิกฤติศรัทธา ประชาธิปไตย !!?

โดย.ปิยรัฐ จงเทพ

บ้านเมืองเราในเวลานี้ เป็นที่ทราบกันทั่วว่ากำลังประสบปัญหารุมเร้ามากมาย ทั้งเรื่องสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม หรือจะเป็นปัญหาใหญ่อย่างวิกฤติการเมือง ที่นับวันจะรั้งแต่ทำให้ระบบการบริหาร การปกครอง และการพัฒนาทุกภาคส่วนทรุดหนักลงไปเรื่อยๆยากที่จะแก้ไข หลายคนจึงพยายามแสวงหาจุดร่วมที่เราจะนำพาประเทศไทยออกไปจากวงจรวิบัติกาลนี้แต่ก็เกิดคำถามคำโตๆขึ้นว่า “ทางออกอยู่ไหน? ใครเห็นบ้าง? ” เมื่อเกิดคำถามทุกคนก็ต่างหาคำตอบที่เป็นความหวัง แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศเรามักนิยมหาทางออกจากความขัดแย้งโดย “ คนกลาง ” แต่ในสภาพการณ์ปัจจุบัน คนกลางหรือกรรมการจะหาจากไหนเล่า ? เพราะเมื่อเราแลซ้ายแลขวาแล้วจะเห็นแต่ผู้เล่น ไม่เห็นมีกรรมการเลย



ไม่ใช่เราไม่เชื่อมั่นในระบบการถ่วงดุลของประเทศนี้ หรือหมิ่นองค์กรภายในประเทศที่อ้างว่าเป็นอิสระ แต่เมื่อเราติดตามพฤติกรรมของพวกเขาเหล่านั้นอย่างถี่ถ้วน มันชี้ชัดให้เราวิเคราะห์ได้ว่า หมดสิ้นแล้วกรรมการที่จะดำรงไว้ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ในการเป็นผู้นำช่วยหาทางออกสำหรับความแตกแยกในครั้งนี้

เมื่อประชาชนส่วนหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าไม่น้อยเลยทีเดียว มั่นใจว่าเสียงของพวกเขาต่างหากที่มีความสำคัญในการขจัดความอึมครึมที่ปกคลุมประเทศของเราในเวลานี้ พวกเขาจึงโหยหาหนทางออกและทางซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนตัดสินอนาคตของประเทศโดยวิธีการแสดงออกทางตรงนั้นคือ “การเลือกตั้ง” แต่แล้วความขัดแย้งกลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเกิดกระแสต่อต้านการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปประเทศไทยเผชิญหน้ากับความเห็นของอีกส่วนที่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นประชามติของประชาชน



ดังนั้นจึงคิดว่าต้องเข้าคูหาเพื่อเลือกตั้งก่อน สถานการณ์ตอนนี้จึงสุ่มเสี่ยงมากต่อระบอบประชาธิปไตยของบ้านเราเพราะคนกลุ่มหนึ่งหมดศรัทธาต่อการนับเสียงของประชาชนทั้งประเทศและแน่นอนย่อมสร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อคนส่วนใหญ่ก็ว่าได้ จึงเกิดคำถามกลับไปยังกลุ่มที่เรียกร้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง มากมายว่า “ ทำไมจึงไม่เคารพในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของฉัน? ” และแน่นอนคำตอบที่ได้มักจะมาในทำนองเดียวกับผู้ปราศรับบนเวที อาทิ กลัวจะมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง , คนไทยยังไม่พร้อมและไม่เข้าใจปัญหามากพอ , คนต่างจังหวัดถูกหลอกง่าย เป็นต้น หรือแม้แต่ระดับผู้ดีมีการศึกษาทั้งหลายยังหลุดเหยียดหยามน้ำใจเพื่อนร่วมชาติก็มีให้เห็นไม่น้อย โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่มีผู้ปราศรัยบอกตนเป็นชนชั้นสูงชนชั้นปัญญาชนจึงขอมาปฏิรูปประเทศไทย และคนไม่ยอมให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งละ ? ที่ยืนของพวกเขาอยู่ที่ไหน ? หรือมองพวกเขาว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดินไร้ราคา ไม่ควรมีศักดิ์และสิทธิ์เท่าตนอย่างนั้นหรือ เห็นทีเราต้องถามกลับว่า คนเหล่านี้หรือที่จะอาสามาเป็นผู้นำในการปฏิรูปประเทศ เพราะแต่ละคำพูดที่สบถออกมาทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตามมันแสดงให้เห็นชัดว่าพวกเขาไม่ได้เข้าใจ ปัญหาระดับโครงสร้างของประเทศนี้ เขายังเชื่อว่า ประเทศที่เจริญนั้นล้ำยุครุกสมัย เพราะชนชั้นสูงหรือกลางเป็นกลุ่มที่ชี้ชะตากรรม จนวันนี้พวกเขามองไม่เห็นกระดูกสันหลังของชาติ หรือแม้แต่กรรมกรผู้ก่ออิฐถือปูนให้พวกเขาได้อยู่ดีกินดี ใต้ชายคาตึกสูงใหญ่ระฟ้าเพื่อหลบแดด หลบฝน จัดงานเลี้ยงหรูหราได้ในทุกวันนี้

เห็นทีต้องยกคำของปราชญ์ มาเตือนสติกันเสียแล้วว่า

ที่เราเห็นภูเขาสูงงามตระหง่านเสียดฟ้าได้ ก็เพราะเรามีหญ้ารองมิใช่หรือ

ที่มา.Siam Intelligence Unit
----------------------------------------------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

เลื่อน-ไม่เลื่อนเลือกตั้ง อำนาจใคร !!?

ยังไม่ได้ข้อสรุปสำหรับประเด็นการเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน ได้มีมติส่งหนังสือไปยังรัฐบาลเพื่อให้มีการเลื่อนการเลือกออกไปก่อน พร้อมเหตุผลประกอบ 6 ข้อ ระบุว่า 1.หากเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์อาจได้ ส.ส.ไม่ครบ 2.มี 22 เขตที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว 3.สถานการณ์แนวโน้มรุนแรงมากขึ้น 4.กรรมการประจำหน่วยที่ กกต.ต้องหาจำนวนแสนคน ไม่สามารถหาได้ทัน 5.มีหนังสือจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเข้ามาถึง กกต.ระบุว่า หากจัดเลือกตั้งไป จะไม่คุ้มต่องบประมาณแผ่นดิน และ 6.เขตเลือกตั้งทั้ง 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังยืนยันหนักแน่นเหมือนเดิมว่าไม่มีอำนาจและข้อกฎหมายให้สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ เพราะรัฐบาลต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ภายหลังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์

สำหรับข้อกฎหมายในการจัดการเลือกตั้งนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจและหน้าที่จัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดที่ให้อำนาจรัฐบาลและ กกต.เลื่อนการเลือกตั้งตามข้อเสนอแนะของ กกต.ที่อ้างมาได้

โดยอ้างอิงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่ระบุว่า กรณียุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และการยุบสภาผู้แทนราษฎร จะกระทำเพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

ส่วนมาตรา 78 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ระบุไว้ว่า กรณีที่มีเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย เกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งหรือวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วก็กำหนดวันเลือกตั้งใหม่เมื่อเหตุเหล่านั้นยุติลงแล้ว ไม่ใช่เป็นการเลื่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน มาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุให้ กกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ไม่มีการระบุให้สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้

ส่วนประเด็นที่ กกต.เสนอว่ารัฐบาลสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ แต่ยังไม่ระบุว่าต้องใช้ช่องทางของกฎหมายใดที่ชัดเจน โดยก่อนหน้านี้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไปเป็นวันที่ 4 พฤษภาคม 2557 โดยอ้างอิงและเทียบเคียงรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรคท้าย ระบุว่า กรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวน ส.ส.ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายใน 180 วัน

โดยเหตุผลที่ กกต.ยกรัฐธรรมนูญมาตรานี้มาเทียบเคียง เนื่องจากมองว่าขณะนี้มีจำนวน 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หากมีการเลือกตั้งไปก็อาจได้ ส.ส.ไม่ถึงร้อยละ 95

ทั้งนี้ กกต.มีข้อเสนอแนะว่าหากท้ายที่สุด กกต.และรัฐบาลยังคงมีความเห็นขัดแย้งและเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับประเด็นการจัดการเลือกตั้ง กกต.จะเสนอเรื่องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป

ขณะที่การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องหรือความเห็นที่เสนอมายังศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจที่จะรับไว้พิจารณา ส่วนเมื่อรับเรื่องหรือความเห็นไว้พิจารณาแล้วกระบวนการพิจารณาก็จะต้องมีการกำหนดประเด็นการวินิจฉัยก่อนที่จะมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยออกมา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 กกต. มีอำนาจโดยตรงที่จะยื่นเรื่องและความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

ท้ายที่สุดแล้วหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ทั้ง 9 คน ว่าจะวินิจฉัยประเด็นตามข้อกฎหมายว่าสามารถเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปออกไปได้หรือไม่

ที่มา : นสพ.มติชน
////////////////////////////////////////

การปฏิรูปการเมืองของญี่ปุ่น !!

โดย.ชุมพร พลรักษ์

 สัปดาห์ที่แล้วได้เล่าถึงการปฏิรูปทั้งการเมืองและการปกครองของญี่ปุ่น ภายหลังที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเมื่อการบังคับใช้รัฐธรรมนูญวันที่ 3 พฤษภาคม 2490 โดยสาระสำคัญประการแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีอยู่รวม 103 มาตรา ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการที่จะแก้ไขปัญหาการควบคุมอำนาจของศูนย์กลาง เป็น การกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นผลให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกเทศมนตรีทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 หลังจากนั้นแล้วญี่ปุ่นก็มีการปฏิรูปซึ่งถือว่าเป็นการ ปฏิรูป ทางการเมืองครั้งที่ 2 ก็ว่าได้ ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากปัญหา คอร์รัปชัน ในทางการเมืองของญี่ปุ่นนั่นเอง
     
ภายหลังที่มีการเปิดเผยจากสภาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1978 ว่า ทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นต้องจ่ายเงินอดหนุนพรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลนับปีละหมื่นล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของ ส.ส. (ซึ่งถ้าเป็นของไทยคงเรียกว่าค่าใช้จ่าย ส.ส. ในการลงพื้นที่) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องต่างตอบแทนก็ว่าได้ จนเมื่อมีการแฉเรื่องการที่นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในขณะนั้นคือ นายทานากะ รับสินบนกรณีการซื้อเครื่องบินจาก บริษัทล็อคฮีท และต่อมาก็ถูกฝ่ายค้านแฉเรื่องการไปซื้อหุ้นของ บริษัทรี ครู้ท แจก ส.ส. ที่เป็นลูกพรรค และเมื่อมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงมากขึ้น และจำนนด้วยหลักฐานก็ขอลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนเมษายน 2532 และถูกจำคุกด้วยคดีรับสินบน บริษัทล็อคฮีท เป็นเวลา 4 ปี ในเวลาต่อมาหนังสือ Time International  ฉบับวันที่ 4 เมษายน 1982  ถึงกับพาดหัวข่าวเป็นรูปนายกรัฐมนตรีทานากะ พร้อมด้วยข้อความ money+politics =scandal หรือถ้าแปลเป็นไทยคือ การเงิน + การเมือง = ความอัปยศ
     
นักการเมืองของญี่ปุ่นในขณะนั้นก็คงจะคิดว่า เหตุคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในการเมืองของญี่ปุ่นในขณะนั้น เกิดขึ้นจากนักการเมืองที่เข้ามาสู่สภา โดยการใช้จ่ายเงินในการซื้อเสียง เมื่อพรรคการเมืองลงทุน ส.ส. ซื้อเสียงเข้ามา เมื่อเข้ามาก็ต้องมาหาช่องทางเอาคืน การจะเอาเงินคืนก็ต้องคอร์รัปชัน (ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันทั่วโลก) การที่จะขจัดคอร์รัปชันให้หมดไปหรือน้องลง ก็ต้องเป็นการป้องกันการซื้อเสียงของนักการเมืองคือ “จะต้องเลือกคนดีและป้องกันคนไม่ดี”ให้ได้มากที่สุด ได้มีนักการเมืองญี่ปุ่น 2 คน ชื่อนายโฮโซกาวา และนายฮาตะ ได้เสนอแผนปฏิรูปการเมือง โดยการแก้ไข “ระบบการเลือกตั้ง” เสียใหม่ โดยเสนอกฎหมายและแก้ไขระบบการเลือกตั้งใหม่ คือ
     
1. โปสเตอร์มีขนาดเดียวเท่านั้น คือ 42x42 ซม. ต้องไปปิดไว้ที่ป้ายประกาศที่กำหนดไว้ให้เท่านั้น ปิดที่อื่นไม่ได้ เจตนารมณ์ก็คือต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกันในการหาเสียง ใครมีเงินมากกว่าจะขึ้นป้ายขนาดใหญ่กว่า ในจุดที่เด่นกว่าไม่ได้
     
2. ห้ามแจกเงิน สิ่งของ บริจาคเงิน บริจาคของ ทั้งก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง มีความผิดตามกฎหมายทั้งนั้น
     
3. ผู้มีสิทธิลงคะแนนต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป เพราะเขามองว่าคนที่จะไปเลือกบุคคลเข้ามาบริหาร           ออกกฎหมายเพื่อปกครองประเทศนั้น ควรจะเป็นผู้ใหญ่และมีวิจารณาญานที่สูงกว่า
     
4. ระยะเวลาหาเสียง ส.ว. และผู้ว่าราชการจังหวัด 17 วัน นายกเทศมนตรี 14 วัน ส.ส. 12 วัน สมาชิกสภา
5 วัน เหตุที่ให้ใช้เวลาเพียงเท่านี้เพราะเขาถือว่า คนที่เป็นคนดีและทำดีนั้นต้องทำดีมาโดยตลอดแล้ว ประชาชนในพื้นที่ที่ทราบแล้ว รู้จักแล้ว ไม่ใช่เรื่องจะมาโฆษณาเมื่อมีการเลือกตั้ง
     
5. ให้ประชุมชี้แจงนโยบายได้ แต่จะประกาศโฆษณากระจายเสียงเสียงดังไม่ได้
     
6. ประการสำคัญที่สุด การทำผิดกฎหมายเลือกตั้งถือเป็นความผิดทาง “อาญา” มีทาถึงจำคุกรวมถึงผู้สนับสนุนด้วย
     
วันนี้จึงจะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นมีนักการเมืองที่ดี มีความละอายต่อบาป และมีจิตนึกและความรับผิดชอบที่สูง ในวันนี้การจะลงโทษนักการเมืองเพียงแค่ตัดสิทธิทางการเมืองเพียงพอหรือไม่ ความรับผิดชอบของพรรคการเมืองทุกพรรค ที่มีความพยายามแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องการ “ยุบพรรค” เมื่อผู้บริหารพรรคทำหรือสนับสนุนการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งสมควรหรือไม่ เมื่อหลายพรรคหรือทุกพรรคบอกว่า “พรรคเลือกคน คนเลือกพรรค” เมื่อพรรคส่งคนไม่ดีมาแล้ว พรรคจะปฏิเสธว่าพรรคไม่รับผิดชอบเพราะเป็นเรื่องของคนไม่ใช่เรื่องของพรรค แถมยังจะมีหลายคนร่วมเป็นคณะปฏิรูปการเมืองอีก แล้วจะเกิดประโยชน์อะไร เพราะบทสรุปของการแก้ไขก็เพื่อตนเองและพวกพ้อง
     
ซึ่งก็เป็นไปตามหลักของธรรมชาติและสุภาษิตกฎหมายว่า “ชนชั้นใดเป็นผู้ออกกฎหมาย ก็ย่อมตรากฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ประชาชนจะได้อะไรจากการปฏิรูปครั้งนี้ นั่นจึงเป็นคำตอบของ “การปฏิรูปการเมือง”

ที่มา.สยามรัฐ
---------------------------------

ทหารเตือน : หยุดสร้างสถานการณ์ !!?

ทบ.เตือนสถานการณ์ความรุนแรง กระทบความมั่นคงประเทศ จี้ฝ่ายความมั่นคงเร่งคลี่คลายสถานการณ์ ปาบึ้ม"ขบวนสุเทพ"เจ็บ36 ค้นตึกร้างอาวุธสงครามอื้อ

สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งกำลังปฏิบัติการปิดกรุงเทพฯ ตึงเครียดมากขึ้น เมื่อถูกคนร้ายปาระเบิดใส่ขบวนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ขณะออกเดินรณรงค์ชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในย่านเศรษฐกิจของกทม.

การปิดกรุงเทพฯของกปปส.เป็นไปตามที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากมีการใช้อาวุธและระเบิดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. ซึ่งเป็นวัน "ปิดกรุงเทพฯ"

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตือนกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะเกรงว่าจะมีมือที่สามสร้างความปั่นป่วน ขณะที่ทหารออกแถลงหลังเหตุการณ์ ว่าขณะนี้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น กำลังเป็นอันตรายต่อความมั่นคง โดยกล่าวเตือนให้ผู้ก่อสถานการณ์ยุติความรุนแรง

สำหรับ การเดินขบวนของกลุ่มกปปส. วานนี้ (17 ม.ค.) ก่อนเกิดเหตุปาระเบิด นายสุเทพ ตั้งขบวนตั้งแต่ช่วงเช้าที่เวทีสวนลุมพินี จากนั้นเดินบนถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุรวงศ์ เลี้ยวขวาเข้าถนนนเรศ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสี่พระยา ก่อนเลี้ยวขวาเข้าถนนมหานคร และเลี้ยวขวาอีกครั้งเพื่อกลับมายังถนนพระรามที่ 4 จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนบรรทัดทอง มุ่งหน้าแยกเจริญผล

ทั้งนี้ เมื่อหัวขบวนซึ่งมีรถติดตั้งเครื่องขยายเสียงนำหน้า เคลื่อนไปใกล้แยกเจริญผล ห่างอีกไม่กี่สิบเมตร ได้มีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นข้างกำแพงสังกะสีของอาคารร้างริมถนน มีสะเก็ดระเบิดกระจายทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน บรรยากาศเป็นไปอย่างโกลาหล โดยขณะนั้นนายสุเทพเดินตามมาห่างๆ ประมาณ 100 เมตร

จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเสียงดังที่เกิดจากระเบิดซึ่งคาดว่าปาลงมาจากอาคารร้าง แรงระเบิดทำให้รถกระบะยี่ห้ออีซูซุ รุ่นดีแม็กซ์ สีบรอนซ์เงิน หมายเลขทะเบียน ตฉ 3679 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถติดตั้งเครื่องขยายเสียงนำขบวน ได้รับความเสียหาย ถัดจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยกู้ภัยได้รุดเข้าไปลำเลียงผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

จังหวะที่เพิ่งเกิดเหตุระเบิดนั้น นายสุเทพได้เดินผ่านอาคารร้างไปอย่างรวดเร็ว และการ์ดได้นำตัวนายสุเทพออกจากพื้นที่ชุมนุมทันที

ทุบรั้วสังกะสีค้นตึกร้างล่ามือบึ้ม

ต่อมามีการระดมการ์ดนับร้อยคนเข้าทุบทำลายรั้วสังกะสี เพื่อเข้าไปค้นในอาคารร้างและหาตัวผู้ก่อเหตุ แต่ไม่พบ ระหว่างนั้นมีเสียงคล้ายเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ ช่วงนั้นมี พ.อ.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ รองผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ นำกำลังสารวัตรทหารเข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.วัลลภ ประทุมเมือง ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผบก.น.6) ก็ได้รุดไปยังจุดเกิดเหตุด้วย

ต่อมา การ์ดที่เข้าไปตรวจสอบบนอาคารร้าง พบเหล็กลักษณะคล้ายกระเดื่องระเบิด มีตัวเลขสลักว่า "48 -88 Y3Pr m-2" จึงได้มอบให้ฝ่ายทหารนำไปตรวจสอบ โดยอ้างว่าไม่ไว้วางใจตำรวจ ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่หน่วยสรรพาวุธทหารบก ชุดทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) เข้าเก็บหลักฐานด้วย

พบอาวุธอื้อในตึกร้างไม่ไกลจุดบึ้ม

ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง วินหน้าปากซอยจุฬาลงกรณ์ 4 ที่อยู่ใกล้ตึกร้าง กล่าวว่า ขณะนั่งอยู่ที่วิน ได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิด 1 ครั้ง พร้อมกับเสียงฝีเท้าคนวิ่งอยู่ในตึกร้าง โดยวิ่งไปทางซอยจุฬาลงกรณ์ 6 พอหันไปดูอีกทางก็เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมพากันแตกฮือ

เวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบอาคารร้างใกล้เคียงซอยจุฬาลงกรณ์ 6 พบอาวุธสงครามและกระสุนปืนจำนวนหนึ่งซุกอยู่ในถุงคล้ายย่าม มีทั้งปืนเอ็ม 16 เครื่องกระสุน วิทยุสื่อสาร 4 เครื่อง หมวกแก๊ปสีแดง ปักตัวอักษรว่า "ชุดปฏิบัติการจู่โจม" ทั้งนี้ห้องในอาคารร้างดังกล่าวลักษณะมีผู้อยู่อาศัย มีการแขวนเสื้อผ้า มีอุปกรณ์ไฟฟ้า ตู้เย็น หม้อหุงข้าว และสภาพห้องน้ำยังสามารถใช้การได้

ยอดเจ็บพุ่ง 36 ราย-สาหัส 1

ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ รายงานยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดบนถนนบรรทัดทอง ณ เวลา 16.30 น.วานนี้ รวม 36 คน เป็นชาย 26 คน หญิง 10 คน ส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 12 คน โรงพยาบาลหัวเฉียว 12 คน โรงพยาบาลกลาง 3 คน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 9 คน ในจำนวนนี้อาการสาหัส 1 คน คือ นายประคอง ชูจันทร์ รักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาฯ

นางจำเนียร ทองช่วย อายุ 60 ปี ชาว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. กล่าวว่า มาร่วมกิจกรรมชัตดาวน์กรุงเทพฯกับสามี คือ นายจินตรัตน์ ทองช่วย อายุ 45 ปี แต่เมื่อเช้ารู้สึกไม่สบาย จึงไม่ได้ร่วมเดินไปกับขบวน ปล่อยให้สามีไปกับกลุ่มผู้ชุมนุม และหลังเกิดเหตุกระเบิด ปรากฏว่าสามีถูกสะเก็ดระเบิดได้รับบาดเจ็บด้วย ตอนนี้อยู่ในห้องไอ.ซี.ยู

"สาทิตย์"เชื่อเหตุป่วนรอบม็อบจะถี่ขึ้น

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส. อดีต สส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นปราศรัยที่เวทีสี่แยกปทุมวันว่า ขอตั้งคำถามไปยังตำรวจ สน.ปทุมวัน ว่าทำไมจึงปล่อยให้มีคนร้ายนำระเบิดไปขว้างใส่ผู้ชุมนุมได้ เพราะมีการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ จึงขอเรียกร้องให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอรส.) รวมไปถึงรัฐบาล แสดงความรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บของประชาชนด้วย

"ผมเชื่อว่าจากนี้ไปจะมีเหตุป่วนเพิ่มมากขึ้น โดยอาจจะเน้นไปที่ด่านตรวจรอบพื้นที่การชุมนุมในลักษณะของการก่อกวนมากกว่าการบุกเข้าพื้นที่" นายสาทิตย์ กล่าว

จี้นายกฯ-ผบ.ตร.รับผิดชอบ

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า เหตุรุนแรงเกิดขึ้นทุกวัน ฉะนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องแสดงความรับผิดชอบ

"ผมอาจจะต้องไปพบ ผบ.ตร. เพื่อสอบถามว่าพยานหลักฐานของตำรวจที่เก็บได้จากจุดเกิดเหตุรุนแรงต่างๆ นั้น สามารถขยายผลทำอะไรบ้าง เพราะหากไม่กระตือรือร้น หรือไม่ดำเนินการ ก็เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" นายสาธิต ระบุ

แดงระดมรถตู้-จยย.ป่วน กปปส.แจ้งวัฒนะ

อีกจุดหนึ่งที่สถานการณ์ตึงเครียด คือ การชุมนุมของ กปปส.ที่เวทีถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับศูนย์ราชการฯ โดยเมื่อเวลา 11.00 น.วานนี้ บริเวณคลองประปาถึงซอยแจ้งวัฒนะ14 มีกลุ่มคนเสื้อแดงขี่รถจักรยานยนต์และรถตู้ พร้อมรถขยายเสียง พยายามเข้าไปประท้วงกลุ่ม กปปส.เพื่อให้ยุติการชุมนุมปิดถนน เนื่องจากทำให้ประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการรถตู้เดือดร้อน จังหวะที่กำลังชุลมุนนั้น มีเสียงปืนดังขึ้นห่างจากแนวการ์ด กปปส.ประมาณ 100 เมตร ทำให้ทั้งฝ่ายคนเสื้อแดงและการ์ดกปปส.ฮือขึ้นทั้งสองฝ่าย

ต่อมากำลังทหารที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุได้นำกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ และตั้งบังเกอร์บนเกาะกลางถนนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปะทะจากทั้งสองฝ่าย

เวลาประมาณ 12.00 น.สถานการณ์กำลังคลี่คลาย กลับเกิดเสียงดังคล้ายประทัดมาจากฝั่งถนนที่มุ่งหน้าไปปากเกร็ด ทำให้การ์ดสั่งผู้ชุมนุมและนักข่าวหลบเข้าหลังบังเกอร์ ขณะที่ กปปส.กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้นำรถขยายเสียงพร้อมมวลชนจำนวนหนึ่งเข้าสมทบกับผู้ชุมนุมที่แจ้งวัฒนะซึ่งมีจำนวนบางตากว่าทุกวัน กระทั่งหลวงปู่พุทธะอิสระ ซึ่งรับผิดชอบดูแลผู้ชุมนุมที่เวทีแจ้งวัฒนะ ประกาศนำมวลชนกลับเวที ไม่ไปทำกิจกรรมร่วมกับแกนนำ กปปส.กลุ่มอื่น เพื่อความปลอดภัย พร้อมยืนยันว่า กปปส.ไม่ได้ปิดถนน แต่เปิดเส้นทางให้รถสัญจรผ่านได้ตลอดทั้งวัน

ผบ.ตร.รายงานนายกฯห่วงมือที่3

หลังเหตุการณ์ระเบิดกลุ่มกปปส. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้เดินทางเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนแจ้งวัฒนะ โดยกล่าวว่า มารายงานเหตุระเบิดที่บริเวณถนนบรรทัดทอง

ผบ.ตร. ยืนยันว่าตำรวจไม่เกี่ยวข้องแน่นอน เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทำหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนเพื่อให้ปลอดภัยและต้องบังคับใช้กฎหมาย สิ่งที่ห่วงใยมากที่สุดคือมักมีมือที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อยู่เสมอ ที่มาก่อเหตุจึงต้องมีมาตรการตั้งจุดตรวจค้นอาวุธ และเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงหลังนี้ ที่มีการพบอาวุธ ระเบิดและปืน

รองโฆษกทบ.เตือน"โกตี๋"หยุดป่วน

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ชี้แจงถึงสถานการณ์การชุมนุมว่า ขณะนี้มีการกระทำรุนแรงทั้งกลางวันและกลางคืนบ่อยครั้ง สร้างความสูญเสียให้กับทั้งประชาชน ผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐ ส่อให้เห็นถึงการกระทำที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงอย่างมาก ดังนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วยงานจะต้องให้ความสนใจ ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร จะต้องคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว และสืบหาให้ชัดแจ้งว่าเป็นการกระทำของใคร ฝ่ายใด เพราะเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้มีผลกระทบในวงกว้างต่อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

พ.อ.วินชัย กล่าวว่า กรณีพฤติกรรมของแกนนำฝ่ายตรงข้ามผู้ชุมนุม กปปส.บางราย ที่ข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนให้เกิดความหวาดกลัว ทหารคงรับไม่ได้ ขอเตือนว่าทุกฝ่ายควรเคารพกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีมีกลุ่มคนบางกลุ่มได้รวมตัวกันกดดันผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ด้วยการยื่นหนังสือพร้อมประกาศว่า หากการชุมนุมของ กปปส.ไม่ยุติภายใน 3 วัน จะนำพรรคพวกมาดำเนินการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและกองทัพบกคงต้องตั้งคำถามถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมายในข้อใดบ้าง และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ รวมทั้งคนไทยทุกคนคงไม่เห็นด้วยกับการกระทำลักษณะนี้

กปปส.ปิดหน่วยราชการอีกหลายแห่ง

วันเดียวกัน ผู้ชุมนุม กปปส.ยังเดินทางไปปิดส่วนราชการอีกหลายแห่ง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม อาคารธนาลงกรณ์ ย่านปิ่นเกล้า, องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) หรือองค์การค้าคุรุสภาเดิม ถนนลาดพร้าว เนื่องจากเห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดที่แล้วได้ว่าจ้างให้พิมพ์บัตรเลือกตั้งทั้งๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ และมีปัญหาเรื่องพิมพ์บัตรเกินจำนวน

ส่วนเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย นายอุทัย ยอดมณี และ นายนิติธร ล้ำเหลือ สองแกนนำนั้น ได้นำมวลชนไปปิดล้อมธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด้านในหยุดทำงานและเดินออกมาร่วมชัตดาวน์กรุงเทพฯ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

ความรุนแรง ไม่ใช่ทางออก !!

การชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อออกไปอีกและยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่

แม้ช่วง 1-2 วันแรกของแผนปฏิบัติการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ที่มีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศเข้าร่วมชุมนุมอย่างมากมายล้นหลามในทุก ๆ จุดจะผ่านพ้นไปได้โดยปราศจากความรุนแรง แต่จากสถานการณ์ที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้ รวมทั้งจากความตึงเครียดของทั้ง 2 ฝ่ายที่อาจเกิดการกระทบกระทั่ง และกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นได้

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์และมีบทเรียนที่เจ็บปวดจากความรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง ไล่เรียงมาตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค หรือการจลาจลทางการเมือง 16 ตุลาคม 2519 เรื่อยเลยมาถึงพฤษภาฯทมิฬเมื่อปี 2535 และล่าสุดพฤษภาคม 2553 ที่ราชประสงค์



สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ หลาย ๆ ฝ่ายต่างมีความกังวลว่า ด้วยความเปราะบางของสถานการณ์อาจจะนำพาไปสู่ความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ไม่มีใครอยากเห็นเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหมือนฝันร้ายเหมือนเมื่อในอดีตที่ผ่านมา

เพราะอย่างน้อยที่สุด ช่วงตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีสัญญาณความรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการยิงแนวร่วม กปปส.ที่แจ้งวัฒนะ หรือการยิงถล่มร้านกาแฟหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือก่อนจะถึงวันชัตดาวน์ก็เกิดเหตุปะทะกันจนถึงเลือดตกยางออก และไม่เพียงเฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น ต่างจังหวัดก็มีเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นพื้นที่ของคนเสื้อแดง

ลำพังการตั้งจุดสกัดตรวจค้นอาวุธเพิ่ม ตามคำสั่งของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นห่วงว่ามือที่ 3 จะฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์

อาจจะช่วยลดการข่มขู่หรือยั่วยุฝ่ายตรงกันข้ามได้บ้าง แต่ก็มิอาจจะสัมฤทธิผลได้เต็มร้อยนัก หรือแม้กระทั่งฟากฝั่งของ กปปส.ที่ย้ำอยู่เสมอว่า เป็นการชุมนุมประท้วงด้วยสันติวิธี อหิงสา และปราศจากอาวุธ ก็ยังไม่ใช่คำตอบของการไม่ใช้ความรุนแรงเสียเลยทีเดียว เพราะการดูแลควบคุมคนหมู่มากในที่ชุมนุมหลายๆ จุดนั้นทำได้ยาก

ทั้งรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ และม็อบ กปปส.ที่มีนายสุเทพเป็นแกนนำต่างคงรู้อยู่แก่ใจดีว่าเหตุการณ์ที่กำลังเดินไปข้างหน้า เหตุการณ์ที่กำลังพัฒนาขึ้นมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ

หากทั้งรัฐบาลและ กปปส.ต่างยังคงจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย "ชัยชนะ" ที่ตนได้วางไว้ โดยมองข้ามคำว่า "สันติวิธี" และยังมีทิฐิยึดความคิดของตัวเองเป็นที่ตั้ง ก็คงไม่ต่างจากกำลังเดินหน้าเข้าหาความรุนแรง

แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะเดินมาไกลมากแล้ว แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะหันหลังกลับมาคุยกัน เจรจากันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////

จีทูจี ลวงโลก !!?

ผ่าปมร้อน!เขย่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขายข้าว "จีทูจี" ลวงโลก งบ-สต็อกข้าวเสียหาย

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อหาทุจริตกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวกรวมทั้งสิ้น 17 คน จากกรณีที่อ้างว่ามีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ "จีทูจี" แต่ป.ป.ช.มีหลักฐานตามข้อกล่าวหาว่า "ไม่จริง" แต่กลับเป็นการเวียนข้าวมาขายในประเทศ โดยทำเป็นขบวนการทั้งจากบริษัทเอกชนในประเทศและเอกชนในจีน

กระทรวงพาณิชย์ อ้างว่าได้ระบายข้าว แบบ "จีทูจี" จำนวน 7.32 ล้านตัน กับรัฐบาลจีน แต่ปรากฏว่าเป็นการซื้อขายกับ"บริษัทผี" ของคนไทยและของจีน โดยมีการซื้อชื่อบริษัทเพื่อมาทำสัญญา

บริษัทจีนที่ว่านี้ชื่อ GSSG IMP AND EXP.CORP ตั้งอยู่ที่นครกวางเจา สาธารณรัฐประชาชนจีน

ตามเอกสารมอบอำนาจของบริษัท ปรากฏว่าผู้มีอำนาจได้ลงนามมอบอำนาจให้กับบุคคลคนหนึ่ง โดยมีภูมิลำเนาอยู่ที่จ.พิจิตร ให้มีอำนาจทำการแทนในการซื้อขายข้าวตามสัญญา "จีทูจี" จำนวน 5 ล้านตัน

แต่จากการตรวจสอบพบว่า ผู้มีอำนาจของบริษัทดังกล่าวกลับเป็น"ผู้ช่วยส.ส.พรรคเพื่อไทย"

ส่วนบุคคลที่รับมอบอำนาจให้ทำการแทน และอยู่ที่ จ.พิจิตร คนในพื้นที่เรียกว่า "เสี่ยโจ"

"เสี่ยโจ" เป็นคนของบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเคยถูกป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่ามีส่วนในการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเมื่อปี 2546-2547 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีพฤติกรรมนำข้าวเก่ามาเวียนเทียนเข้าโครงการรับจำนำ

นอกจากนั้น บริษัท เพรซิเดนท์ฯ ยังมีความเกี่ยวข้องกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ที่เข้าประมูลข้าวของรัฐบาล หลังจากเมื่อปี 2547 บุคคลสำคัญใน บริษัทเพรซิเดนท์ฯ ได้ไปจดทะเบียนตั้ง บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด

"สยามอินดิก้า" กับ "เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง" ไม่ต่างกับเป็นนิติบุคคลเดียว

แต่ทำไม ไม่ซื้อข้าวในนามบริษัทจีน แต่กลับทำสัญญาแบบ "จีทูจี"

คำตอบ ก็คือ เพราะต้องการเลี่ยงการประมูลที่มีราคาสูง

ซื้อแบบ"จีทูจี" จะได้ข้าวกระสอบละประมาณ 300 บาท ในขณะที่ราคาข้าวในตลาดในช่วงนั้น อยู่ที่กระสอบละ 1,500-1,555 บาท

หากรัฐบาลขายด้วยวิธีนี้ทั้งหมด 7.32 ล้านตัน จะมีค่าส่วนต่างราคาถึง 2 หมื่นล้านบาท

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีการตรวจสอบบันทึกการเบิกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีการอำพรางชื่อบริษัทที่จะส่งมอบข้าว โดยในใบบันทึกช่วงต้น พบมีการบันทึกชื่อบริษัทรับข้าวว่า "สยามเอริก้า" แต่ช่วงท้ายของบันทึก เจ้าหน้าที่กลับพิมพ์ว่า "สยามอินดิก้า"

เมื่อดูบัญชีออมทรัพย์ของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นบัญชีข้าวของรัฐบาล ก็ยิ่งมีข้อพิรุธ

ข้อมูลในช่วงวันที่ 28 ก.ย.-15 ต.ค. ที่รัฐบาลบอกว่ามีการขายข้าว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ พบว่ามีการถอนเงินจากธนาคารใหญ่ในหลายลักษณะ ทั้ง "แคชเชียร์เช็ค" และ "การโอนเงิน"

ยกตัวอย่างเช่น เงินชำระค่าข้าว บัญชีกรมการค้าต่างประเทศ เลขที่ 385-0-09504-5 บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย พบว่ามาจากแคชเชียร์เช็ค ของธนาคารใหญ่ 4 แห่ง คือ ธนาคารกสิกรไทย กรุงเทพ กรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ และเชื่อมโยงแคชเชียร์เช็ค 2 ใบ คือธนาคารกสิกรไทย ลงวันที่ 11 ต.ค. 2555 มูลค่า 527,117,625 บาท และแคชเชียร์เช็ค กสิกรไทย ลงวันที่ 11 ต.ค. 55 มูลค่า 177,000,000.00 บาท ซื้อโดยคนของบริษัทสยามอินดิก้าและพบว่าเช็คของบุคคลผู้นี้ ได้รับเงินโอนมาจากคนของสยามอินดิก้า

หากเป็นการค้าแบบ "จีทูจี" จะต้องมีการเปิด "แอล/ซี" แต่กลับไม่พบว่ามีการเปิด "แอล/ซี" แสดงว่าไม่มีการค้าข้าวให้ต่างประเทศจริง

จากการตรวจสอบบัญชีเงินหมุนเวียนจากธนาคารใหญ่ เช่น มีการโอนเงินรวม 72 รายการจากธนาคารใหญ่ 4 แห่งในประเทศไทย รวมมูลค่า 4,960 ล้านบาท และมีการถอนเงินออกจากบัญชีกรมการค้าต่างประเทศ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 4,200 ล้านบาท

เมื่อไม่มีการค้าข้าวแบบ"จีทูจี"จริง แล้วข้าวไปไหน

คำตอบก็คือถูกขายให้กับโรงสีและจำหน่ายในประเทศ ดังจะเห็นได้จากราคาข้าวสารในประเทศแทบไม่ขยับ และ ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีข้าวระบายออกสู่ตลาดตลอดเวลา เท่ากับว่าผู้ที่"แอบระบายข้าว"ในนาม"จีทูจี" มีต้นทุนที่ถูกกว่า จึงกดราคาเพื่อเร่งขายข้าวออกมาสู่ตลาด

ผลขาดทุนจึงเกิดกับรัฐบาล ขณะที่ผลกำไรจาก"ส่วนต่าง"ราคาตกกับเอกชนที่ร่วมขบวนการ จึงเป็นที่มาว่าเหตุใดคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดถูกกล่าวจากป.ป.ช.ว่า "ทุจริต"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------