--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สุภาษิต : เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล กับการเมืองปัจจุบัน !!?

"เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" แปลว่า การละทิ้ง ปล่อยปล่ะ ละเลย ไม่เลี้ยงดู ไม่รู้จักให้รางวัล ไม่มีความระลึกนึกถึง แก่บุคคลที่เคยทำงานให้ ที่ได้ช่วยเหลือตนเอง เมื่อหมดประโยชน์หรือภารกิจงานนั้นๆ แล้ว ถ้าพูดแบบขวาผ่าซากก็คือ "ไล่/เฉดหัวทิ้งเมื่อหมดประโยชน์นั่นแล" ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นทั่วไปครับ

ทั้งนี้สุภาษิต คำพังเพยของไทยบทนี้ ตรงกับสุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวว่า "Butcher the donkey after it finished his job on the mill." แปลว่า "ฆ่าลาเมื่อเสร็จงาน"

ซึ่งสุภาษิต คำพังเพย บทนี้ เขาเอ่ยเพื่อเป็นคำ/ข้อเตือนใจในการทำงานว่า ให้รู้จักเลี้ยงดูคน ให้รางวัลแก่คนที่เขาได้ทำงานช่วยเหลือตน แม้จะหมดภารกิจนั้นๆ แล้ว ก็ต้องมีความระลึกถึงความดีต่อกัน ไม่ไปทำร้ายเขา แต่ตรงกันข้ามต้องแสดงน้ำใจตอบ ความเป็นคนเอื้ออารีตอบต่อผู้คนที่เขาได้ช่วยงานตนนั้น ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง หรือลูกจ้าง เป็นคุณธรรมที่สำคัญคนที่ทำดีนั้นควรจะได้ดี และการส่งเสริมคนที่ทำดีมีประโยชน์นั้น แม้คนๆ นั้นจะไม่มีประโยชน์โดยตรงกับเราต่อไป แต่ความระลึกถึงคุณความดีของเขาและให้การตอบแทนอันควรนั้น จะสร้างคุณค่าส่งเสริมให้คนเห็นความสำคัญของการทำดี

สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเราจะพบว่า มีเจ้านาย หรือเจ้าของกิจการที่อยากให้คนมาช่วยงาน ก็จะพูดจาดี ยอมจ่ายค่าตอบแทนอย่างแพง จ้างเขามาเพื่อให้ได้งาน แต่เมื่อหมดความต้องการแล้ว ก็ผละทิ้งโดยไม่ต้องรับผิดชอบอีกต่อไป มากยิ่งกว่านั้น ถ้าเห็นเขามีความสามารถที่สักวันพร้อมจะกลับมาเป็นคู่แข่งได้ ก็จะต้องหาทางทำลาย หรือหยุดโอกาสของเขา ทำให้เขาไม่มีโอกาสเจริก้าวหน้าต่อไป

วัฒนธรรมการค้าและการแข่งขันในโลกยุคใหม่นั้น เป็นการทำให้คนละทิ้งค่านิยมบางอย่างที่ดีแต่เดิมไป และเมื่อคนมีความไม่มั่นใจในอนาคตของตนเอง ก็ไม่อยากทำอะไรอย่างทุ่มเทอย่างสุดใจให้กับองค์กร สำหรับนักบริหาร หรือผู้ประกอบการแล้ว การประพฤติตนอย่างยึดมั่นในคุณธรรม ควบคู่กับการสร้างวัฒนธรรมให้คนอุทิศตนให้มีความเชื่อมั่นต่อองค์กรนั้น เป็นส่วนประสมที่จะนำความสำเร็จมาสู่งานและองค์กรนั้นๆ

ในวันที่เริ่มก่อร่างสร้างตัวหรือวันที่คิดทำการใหญ่ ผู้ก่อตั้งมีความยินดีที่จะมีผู้ร่วมงาน เพื่อให้งานลุล่วงไปด้วยดี หลังจากนั้นสถานการณ์อาจเปลี่ยนไป เช่น ในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้ก่อการปฏิวัติได้ล้มล้างระบอบเดิม และได้สถาปนาระบอบใหม่ มีการประหารกษัตริย์และผู้ใกล้ชิด ต่อมาก็ลามไปถึงผู้ร่วมก่อการ แม้ตัวของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำก่อการ ก็โดนสำเร็จโทษในภายหลังด้วยกิโยติน นี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง

จากประโยคที่ถามมานั้น ชัดเจนว่าเมื่อเสร็จงานแล้ว ทีมงานที่ร่วมงานด้วย ก็หมดความหมายและอาจกลายเป็นหอกข้างแคร่ ถ้าผู้นำเริ่มเห็นความกระด้างกระเดื่อง หรือรู้สึกขัดหูขัดตาผู้ที่เคยร่วมงานมาด้วยกัน

ในขณะเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย ซึ่งอาจไม่รุนแรงเช่นตัวอย่างที่กล่าวไป เช่น การจ้างทีมงานมาทำธุระอย่างหนึ่งแล้วก็จบกันไม่ถือเป็นบุญคุณกันในระยะยาว ซึ่งเป็นแบบนี้กันมากในสังคมปัจจุบัน อาจเป็นงานก่อสร้าง การจัดงานเลี้ยง จ้างผู้จัดทำกิจกรรม

ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน การเลี้ยงดูลูกน้องให้ตลอดรอดฝั่งอย่างในอดีตไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทางเลือกของลูกจ้างมีมากขึ้น และค่านิยมตะวันตกที่นิยมการเปลี่ยนงานเป็นที่ยอมรับ แต่คำพังเพยนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ตลอดไป จนกว่าจะถึงยุคพระศรีอารย์

อธิบายง่ายๆนะครับ
ก็คือเมื่อผู้ที่เขาทำประโยชน์ให้เราได้ดังสมปารถนาแล้ว เขานั้นหมดประโยชน์สิ้นประโยชน์ไม่มีความหมายกับตัวเองอีกต่อไป
เราก็ทิ้งหรือฆ่าให้ตาย เพื่อไม่ให้เป็นเสี้นหนามหรือเป็นตัวขัดขวางกับตนเองในอนาคต
กลัวคนๆนั้นจะมาทำร้ายเราในภายหลัง จึงเรียกว่า "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล"

เปรียบกับการเมืองไทย ในปัจจุบัน เป็นเช่นไร ???
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น