--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นิรโทษกรรม แบบแมนเดล่า !!?

เมื่อพูดถึงการปรองดองและการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชาติบ้านเมือง ผู้คนมักจะชอบพูดถึง เนลสัน แมนเดล่า ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่แห่งสหภาพอัฟริกาใต้ว่า...
เป็นรัฐบุรุษที่มีจิตใจกว้างขวาง ยินยอมให้อภัยแก่ผู้ที่ทำความรุนแรงแก่ตัวเขา โดยจับเขาไปขังไว้ในคุกนานถึง 27 ปี

แล้วก็พูดต่อไปว่า...คนไทยทั่วไปที่ตกเป็นเหยื่อแห่งการปราบปรามเข่นฆ่า ทั้งที่ราชดำเนินและราชประสงค์เมื่อปี 2553 อันเป็นการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่โหดร้ายทารุณที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทยเรา
ก็สมควรที่จะให้อภัยแก่ผู้ที่รับผิดชอบในการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน 98 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 และจับไปขังคุกหลายร้อยคนดังกล่าวนั้น

ด้วยเหตุผลที่ว่า...เรื่องที่แล้วก็ควรจะแล้วกันไป
การพูดถึง เนลสัน แมนเดล่า ดังกล่าวข้างต้น แม้จะฟังดูดี แต่ทั้งหมดมันเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะพูดถึงความจริงแค่บางส่วนเท่านั้น

เป็นการเลือกที่จะพูดเพียงบางด้าน เพื่อใช้ประกอบความพยายามที่จะปิดบังความจริง และเพื่อประโยชน์แก่การโกหกหลอกลวง

จริงอยู่ถึงแม้ว่า เนลสัน แมนเดล่า จะประกาศให้อภัยแก่ศัตรู แต่สิ่งที่แมนเดล่าทำควบคู่ไปกับการประกาศให้อภัยก็คือ การจัดให้มีกระบวนการค้นหาความจริง หาตัวผู้กระทำความผิด

ไม่ใช่เพียงค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้น และไม่ค้นหาตัวผู้รับผิดชอบอย่างที่คณะกรรมการค้นหาความจริงและการปรองดองหรือ คอป. กำลังกระทำอยู่

ในกระบวนการค้นหาความจริง เนลสัน แมนเดล่า ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีหน้าที่ไต่สวนผู้ที่สมัครขอรับการนิรโทษกรรมเป็นรายบุคคล โดยมีหลักเกณฑ์ว่า...

จะให้นิรโทษหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า คนผู้นั้นเปิดเผยความจริงเพียงใด ถ้าไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ปิดบังความรุนแรงที่ตัวกระทำและเกี่ยวข้อง คณะกรรมการก็จะไม่นิรโทษให้

ดังนั้น การพูดเพียงว่า เนลสัน แมนเดล่า ให้อภัยแก่ศัตรู จึงเป็นการเลือกที่จะพูดถึงความจริงเพียงบางด้าน
โดยละเว้นไม่พูดถึงสิ่งสำคัญอีกด้านหนึ่งที่ เนลสัน แมนเดล่า กระทำ นั่นคือ กระบวนการค้นหาความจริงและการไต่สวนก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม

มันอาจเป็นขนบประเพณีที่ผู้คนในประเทศไทยเรา ไม่พูดความจริง เพราะจงใจโกหก หรือไม่กล้าพูดเพราะเกรงกลัวโอษฐ์ภัย

ดังนั้น เมื่อพยายามจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เราจึงกระโดดข้ามไปสู่การเรียกร้องให้มีการปรองดองเลยและเรียกร้องให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแห่งการปราบปรามเข่นฆ่าให้อภัยแก่คนที่ฆ่าตัวเอง
เท่ากับยินยอมถูกฆ่าเป็นครั้งที่สอง

การใช้ความรุนแรงปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนเกิดขึ้นอย่างง่ายดายครั้งแล้วครั้งเล่าในประเทศไทยเรา เป็นเพราะผู้ลงมือกระทำเชื่อมั่นได้เต็มที่ว่าเขาจะไม่ถูกลงโทษ เนื่องจากกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมยืนอยู่ข้างฝ่ายเขา
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราคิดจะป้องกันไม่ให้มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนเกิดขึ้นอีกในอนาคต เราก็จะต้องทำให้ความจริงเกี่ยวกับการปราบปรามเข่นฆ่าคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ปรากฎขึ้นมาให้ได้

การปรองดองจะต้องเดินควบคู่ไปกับความยุติธรรม และการนิรโทษกรรมก็จะต้องเดินควบคู่ไปกับการทำความจริงให้ปรากฎ

โดย. ศรี อินทปันตี,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น