นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง
ทั้งมาตรการจำหน่ายสินค้าราคาถูกและมาตรการเชิงนโยบาย โดยสั่งให้กระทรวงพาณิชย์หาทางคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นั่นหมายถึงราคาถูกกว่าปัจจุบัน แต่นายกรัฐมนตรีต้องไม่ลืมว่าปัญหาสินค้าราคาแพงนั้นไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น 1-2 วัน แต่เริ่มทยอยปรับขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนกระทั่งประชาชนรู้สึกว่าปัจจุบันราคาสินค้าได้ปรับขึ้นแทบทุกประเภท
รัฐบาลจะปฏิเสธว่าราคาสินค้าไม่ได้ปรับสูงขึ้น แต่มีแนวโน้มลดลง อาจสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนที่บริโภคสินค้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งขณะนี้สินค้าหลายประเภททยอยปรับขึ้นในหลากหลายรูปแบบไปแล้ว อีกทั้งก่อนหน้านั้น ก็มีสัญญาณเตือนมาก่อนหน้านี้ว่าราคาสินค้าปรับสูงขึ้น แต่รัฐบาลเห็นว่าเป็นเพียงชั่วคราวจากผลกระทบจากน้ำท่วมเท่านั้น โดยหวังว่าในที่สุดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะปรับลง แต่แล้วสินค้าในท้องตลาดมีแต่จะปรับเพิ่มขึ้น
หากย้อนกลับไปดูนโยบายของรัฐบาลหลายอย่าง ก็จะเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้สินค้าปรับลดราคา เช่น รัฐบาลปรับเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ปรับขึ้นค่าแรง 7 จังหวัดวันละ 300 บาท รวมทั้งล่าสุดได้อนุมัติให้ค่าโดยสารรถสาธารณะปรับราคาขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าต้นทุนดำเนินชีวิตของประชาชนปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากหากกระทรวงพาณิชย์จะแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงโดยการขายของถูกหรือออกราคาแนะนำให้ประชาชนเลือกซื้อ
หากจำกันได้ กระทรวงพาณิชย์เคยดำเนินการข้าวแกงธงฟ้าและสินค้าธงฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกในการจำหน่ายให้กับประชาชน แต่ก็ปรากฏว่าโครงการดังกล่าวได้ผลในวงแคบมาก เนื่องจากมีข้อจำกัด ไม่อาจเข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง อีกทั้งร้านอาหารธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ ซึ่งการแก้ปัญหาของกระทรวงพาณิชย์ก็แสดงให้เห็นว่ายอมรับว่าราคาสินค้าแพงขึ้นจริง ดังนั้นจึงไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมพยายามชี้แจงว่าสินค้าราคาถูกลง
เราต้องไม่ลืมว่าราคาในการดำรงชีวิตของประชาชนนั้น ไม่เพียงแค่ราคาอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรายจ่ายอื่นมากมาย ทั้งค่าเดินทาง ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ปรับขึ้นไปอย่างมากในด้านราคา และอาจกล่าวได้ว่าราคาสินค้าในตลาดทั้งหมดพร้อมใจกันปรับราคาขึ้น ยกเว้นสินค้าตามฤดูกาลอาจปรับลดลงมาบ้าง แต่โดยรวมแล้วปรับขึ้นกันถ้วนหน้า ซึ่งก็เท่ากับว่าต้นทุนการดำเนินชีวิตทั้งหมดสูงขึ้น ดังนั้นความพยายามฝืนตลาดจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก
หากติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและติดตามการแก้ปัญหาของรัฐมาตั้งแต่ต้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังมีสัญญาณราคาสินค้าปรับขึ้น เราเห็นว่าราคาสินค้าและบริการที่ปรับขึ้นอย่างรุนแรงนั้นอาจมาจากความผิดพลาดของรัฐบาล กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือในขณะที่ประเทศขาดแคลนสินค้าอันเนื่องมาจากน้ำท่วม แต่รัฐบาลดำเนินนโยบายเพิ่มรายได้และต้นทุนให้สูงขึ้น กรณีของสินค้าที่ปรับขึ้นอย่างมากในตลาดอาจสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมองปัญหาไม่ดีพอทั้งๆ ที่มีผู้รู้อยู่จำนวนมาก เช่นเดียวกับการแก้น้ำท่วมที่ผ่านมา ซึ่งการประเมินผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจสร้างความเสียหายและยากจะแก้ไขได้โดยง่าย นอกจากยืนยันเสียงแข็งว่า "สินค้าราคาไม่แพง"
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น