เรื่องของความขัดแย้งในสังคมไทย ณ ขณะนี้แม้จะดูเป็นเรื่องที่มีประเด็นรองมาจากปัญหาปากท้องของคนไทยแต่ก็ยังถือเป็นปัญหา ใหญ่ ที่ทุกภาคฝ่ายต้องช่วยกันเร่งสะสาง เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศต่อไป
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงาน รำลึก 112 ปี ปรีดี โดยมีการจัดงานอย่างสมเกียรติแต่ในส่วนที่ น่าสนใจเห็นจะอยู่ที่การเสวนา เรื่อง “ปรีดี พนมยงค์ กับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในชาติ” ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับปัญหาในปัจจุบัน งานนี้มี ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และรศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ให้ความคิดเห็นอย่างน่าสนใจ
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงความขัดแย้งว่า เป็นสภาวะปกติของสรรพสิ่งและสังคม ทุกสังคมมีความขัดแย้งทั้งสิ้น ซึ่งหากเรามองความ ขัดแย้งในทรรศนะที่เป็นบวก ความขัดแย้งจะนำมาซึ่งพัฒนาการ ที่จะดีขึ้นหรือแย่หรือจะไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นในระบบสังคมและเศรษฐกิจแล้วแต่ความขัดแย้งนั้น
ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงแนวคิดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ของนายปรีดี พนมยงค์ ว่า แนวคิดอย่างหนึ่งคือแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ที่ถือว่า เป็นระบบแบบสังคมนิยมอ่อนๆ ที่เคารพเสรีภาพในการประกอบ การด้วย แต่ทั้งนี้แนวคิดที่สำคัญคือ สัทธิโซลิดาริสม์ หรือ ภราดรภาพนิยม ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับหลักพุทธศาสนากับมนุษยธรรม
“หลักภราดรภาพมีรากฐานทางความคิดที่มีอิทธิพลจากความคิดในสังคมนิยมโดยรัฐในรูปแบบหนึ่ง หรือแนวความคิดแบบ รัฐสวัสดิการ ซึ่งความคิดนี้ในทางการเมืองจะช่วยให้การเผชิญหน้าและความขัดแย้งลดลง นั่นเพราะทุกคนจะมองว่า เราทุกคน เป็นพี่น้องกันในฐานะเป็นสมาชิกของสังคมในทุกวันนี้ ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน” ดร.อนุสรณ์ กล่าวและว่าแนวคิดนี้จะสามารถนำมาแก้ไขความขัดแย้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ เนื่องจากสอดคล้องกับกฎแห่งธรรมชาติ แสดงให้เห็นชัดว่า การกระทำของแต่ละคนนั้น จะมีผลกระทบทั้งในแง่ร้ายและแง่ดีให้กับคน ในทุกสังคม
ทั้งนี้ ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันและอนาคตว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้นเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์แบบ ฉะนั้นการเมืองในอนาคตต้องเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะมีเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของโครงสร้างทั้งหมดในสังคม ทั้งนี้หากในอนาคตการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้สังคมไทยเปลี่ยนก็จะส่งผลให้กลุ่มอนุรักษนิยมนั้นออกมาต่อต้านความเปลี่ยนแปลงจนอาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้อีก ซึ่งเหล่านี้นำมาสู่การเรียกร้องการมีผู้นำที่เสียสละ และสามารถที่จะประนีประนอมในสิ่งที่สามารถทำได้
“หวังว่าชนชั้นผู้นำจะตระหนักว่าทุกอย่างนั้นเปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างมีพลวัต ดังนั้นแล้วในอนาคตการจะทำอะไรต้องวิเคราะห์ แบบมีพลวัต ซึ่งต้องมีการปฏิรูป ในหลายประเทศนั้นที่เกิดการปฏิวัติจนนำไปสู่ความรุนแรงก็เนื่องมาจากชนชั้น ไม่นำไปปฏิรูปหรือปฏิรูปช้า ทั้งนี้มองว่า สังคมจะหาทางออกได้ดีกว่าสังคมอื่น เพราะสังคมไทยนั้นเป็นสังคมพุทธ และความเข้าใจในความอนิจจัง ของบ้านเมือง และเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้”
ด้านนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความขัดแย้งถือว่าเป็นเรื่องปกติและสังคมต้องเรียนรู้กับความขัดแย้งดังกล่าวนั้น สำหรับในสมัย ที่นายปรีดีมีชีวิตอยู่ก็ได้เผชิญหน้าและมีส่วนเกี่ยวข้องจนไปถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหลายครั้ง เช่น ก่อนการเปลี่ยนการปกครองพ.ศ.2475 เหตุการณ์กบฏบวรเดช การเสนอเค้าโครง เศรษฐกิจ ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ซึ่งทุกความ ขัดแย้งนายปรีดีสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการยึดหลัก 4 แนวทาง คือ เสียสละ ประนีประนอม ปล่อยวาง ใช้กฎหมาย
“ความขัดแย้งที่ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งในสมัยอาจารย์ปรีดี คือ การเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ ซึ่งเวลานั้นไม่ผ่านการพิจารณา ของคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เกิดความผิดหวังเป็นอย่างมาก แต่นายปรีดีก็ไม่เคยคิดจะแตกหักกับคณะราษฎรโดยเลือกใช้วิธีปล่อยวางเพราะเห็นว่าเมื่อได้ทำอย่างดีที่สุดแล้วแต่ไม่สำเร็จก็ต้องปล่อยวาง เพื่อไปทำงานอย่างอื่นแทน” นายนครินทร์ กล่าว
นายนครินทร์ กล่าวว่า ที่สำคัญนายปรีดีถือเป็นแบบอย่าง สำคัญการเสียสละทั้งชีวิตครอบครัว และชีวิตส่วนบุคคลเพื่อต้องการไม่ให้เกิดความวุ่นวายกับประเทศ โดยเฉพาะกรณีกบฏวังหลวงพ.ศ.2492 นายปรีดีตัดสินใจลี้ภัยในต่างประเทศเพื่อให้ประเทศเกิดความสงบและถึงแม้ในเวลาต่อมานายปรีดีจะสามารถ เลือกเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้ แต่นายปรีดีก็ไม่ทำ เพราะเวลาเกิดความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกแยกอยู่ นายปรีดี จึงคิดว่าถ้ากลับไทยแล้วจะเกิดปัญหาจะไม่ขอกลับมาโดยขอเลือก ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศแทน
“มีคำถามว่าสังคมไทยจะสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีตเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้หรือไม่ ยอมรับว่าส่วนตัวยังคิดไม่ออกว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจากสังคมไทยมักศึกษาและพูดคุยกันเรื่องประวัติศาสตร์เพียงแค่เป็นเรื่องสนุกปากเท่านั้น ไม่เคยคิดนำมาเป็นบทเรียนแต่อย่างใด” นายนครินทร์ กล่าว
จากแนวคิดภราดรภาพนิยม ของ อ.ปรีดี ที่ดร.อนุสรณ์ ยกขึ้นมาว่า เราทุกคนเป็นพี่น้องกันในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม น่าสามารถนำมาแก้ไขความขัดแย้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ ทำให้สอดรับกับข้อเสนอของ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ทำข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกฎหมายการก่อการร้าย โดยระบุว่า เป็นหนึ่งในหนทางที่นำไปสู่ความปรองดองได้ เนื่องจากเห็นว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการก่อการร้ายในประมวลกฎหมายอาญา กรณีความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายเกิดขึ้นในระบบกฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา 2546 ซึ่งถือเป็นการไม่เคารพเสียงข้างน้อยในรัฐสภา ทำให้ส่งผลกระทบต่อการนำมาใช้ในปัจจุบันที่มีการดำเนินคดีในลักษณะเหวี่ยงแห ประชาชนจึงขาดความเชื่อมั่นต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
ดังนั้น คอป. ขอเสนอให้รัฐบาล รัฐสภาฝ่ายค้านและกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มแสดงความกล้าหาญทางการเมืองโดยร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1/1 ความผิดเกี่ยวกับ การก่อการร้าย เพื่อจะได้กลับไปสู่การเริ่มต้นที่ดีใหม่ พร้อม ยืนยันว่า เมื่อภาคการเมืองทุกฝ่ายดำเนินการยกเลิกความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้ายแล้วจะทำให้เงื่อนไขให้อำนาจดำเนินคดีเกี่ยวกับสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปด้วย กรณีดังกล่าวจะทำให้คดีความที่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนเจ้าพนักงานเป็นอันยุติลง สำหรับคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลนั้น ก็จะยุติลงโดยศาลจะสั่งให้จำหน่ายคดีไป การยกเลิกกฎหมายครั้งนี้ถือเป็น การใช้หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการบัญญัติฐานความผิดก่อการร้ายในประมวลกฎหมายอาญาภายหน้าก็สามารถทำได้ โดย ดำเนินการผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้ การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายยังมีนัยยะสำคัญต่อการขอโทษประชาชนในความ ผิดพลาดในอดีตซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของการสร้างความ ปรองดองในประเทศด้วย
ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น