วันวลิต ธารไทรทอง
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
นับตั้งแต่กองทัพพม่าได้ลากรถถังออกมาปฏิวัติในเดือน มีนาคม 1962 ธุรกิจต่างๆ ค่อยๆ ถูกดึงเข้ามาอยู่ในมือของรัฐและกองทัพตามแนวนโยบายวิถีทางสู่สังคมนิยมพม่า (Burmese Way to Socialism) รัฐพม่าเป็นผู้ดำเนินธุรกิจต่างๆ เองเกือบทั้งหมด
ธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลัก ทั้งที่เกี่ยวพันกับเรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือเกี่ยวพันกับการเมืองและความมั่นคง ล้วนแล้วแต่อยู่ในมือของรัฐและกองทัพเกือบทั้งสิ้น กระทั่งกล่าวได้ว่า ความมั่งคั่งของชาติพม่าทั้งหมดตกอยู่ในมือของกองทัพและรัฐบาลหุ่นเชิดของกองทัพ
ลักษณะโครงสร้างทุนนิยมเช่นนี้ไม่ว่าที่ไหนในโลก การก่อตัวขึ้นของนายทุนจำเป็นต้องอิงแอบกับอำนาจอุปถัมภ์ของรัฐและกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นายทุนพม่าก็เช่นเดียวกัน
นายทุนจำนวนมากของพม่าถูกสงสัยและถูกกล่าวหาจากสหรัฐว่า แลกเปลี่ยนผลประโยชน์อย่างมิชอบ รวมทั้งให้เงินสนับสนุนทางการเมืองอย่างลับๆ แก่รัฐบาลและกองทัพ ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเห็นจะไม่พ้น นาย เตซา (Tay Za) เจ้าของ ฮทู กรุ๊ป คอมพานี (Htoo Group of Companies) และนาย ซอ ซอ (Zaw Zaw) เจ้าของ แม๊ก เมียนมาร์ กรุ๊ป คอมพานี (Max Myanmar Group of Companies) ทั้งสองเป็นมหาเศรษฐีของพม่าที่ทำธุรกิจหลากหลาย และเกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจที่ให้ผลกำไรสูง ซึ่งต้องใช้อำนาจรัฐเป็นใบเบิกทางให้ได้ธุรกิจเหล่านั้นมา เช่น ได้สัมปทานทำเหมืองแร่ ป่าไม้ ซีเมนท์ อัญมณี พลังงาน ก่อสร้าง สื่อสาร การบิน ฯลฯ
มากไปกว่านั้น เมื่อกลางปีที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศรายชื่อผู้บริหารกว่า 40 บริษัทของพม่า ที่เชื่อได้ว่า แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในเชิงทุจริตกับรัฐบาลและกองทัพ ในรายชื่อที่ถูกประกาศ หลายคนเป็นลูกของรัฐมนตรีและลูกของนายพลของกองทัพพม่า
บริษัทของพม่าที่นำมากล่าวเป็นตัวอย่างนี้ถูกมาตรการคว่ำบาตรอย่างใดอย่างหนึ่งจากประเทศในยุโรป สหรัฐ และออสเตรเลีย
ด้วยเงื่อนไขที่ผลักให้การก่อต่อขึ้นของทุนนิยมพม่าต้องอิงกับอำนาจกองทัพและรัฐเผด็จการดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุนนิยมของพม่าจะมีลักษณะเป็นทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism)
กองทัพ รัฐบาล ข้าราชการ และนายทุน สมรู้ร่วมคิดกันเพื่อแลกเปลี่ยนประโยชน์และจรรโลงโครงสร้างอำนาจเผด็จการนี้ รัฐบาลและกองทัพพม่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจหลายอย่าง ทั้งที่เป็นการทำเองในรูปรัฐวิสาหกิจ การเป็นหุ้นส่วนกับเอกชน การให้เช่าสัมปทาน รวมทั้งการส่งคนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริหารในบริษัทเอกชน
ร้ายไปกว่านั้น การที่พม่ามีโครงการเมืองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จและมีระบบทุนนิยมพวกพ้องเช่นนี้ ยิ่งบ่มเพาะให้ปัญหาคอรัปชั่นแพร่กระจายไปทั่ว ตอนนี้พม่าถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นเป็นอันดับที่สองของโลก รองเพียงแค่ประเทศโซมาเลียและเกาหลีเหนือที่ครองอันดับหนึ่งร่วมกัน
มีการกล่าวกันในพม่าว่า นายทุนที่ต้องการทำธุรกิจและอยากให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นมีกำไรงาม จำเป็นต้องไปพบกับผู้นำกองทัพ นักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูง พร้อมกับกระเป๋าเจมส์บอนด์ที่ใส่เงินไว้เต็มเพื่อติดสินบน
ที่เศร้าไปกว่านั้นก็คือ ด้วยการที่โครงสร้างสังคมเศรษฐกิจพม่าเป็นแบบนี้ เมื่อพม่าเริ่มเปิดประเทศและมีปฏิสัมพันธ์กับทุนนิยมโลกเพิ่มมากขึ้น ทุนต่างชาติที่หวังเข้าไปแสวงหาประโยชน์ในพม่า จำเป็นต้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทุนนิยมพวกพ้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าพวกเขาจะเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่ก็ตาม
นายทุนต่างชาติที่เข้าไปหาประโยชน์ในพม่าต่อสายโดยตรงถึงผู้นำทหารและรัฐบาลหุ่นเชิดผ่านทางกระเป๋าเจมส์บอนด์ หรือไม่ก็ร่วมมือกับนายทุนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับรัฐและกองทัพ เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษต่างๆ ในการทำธุรกิจ
โฉมหน้าทุนนิยมพม่าในปัจจุบันจึงเป็นทุนนิยมพวกพ้องที่มีทั้งนายทุนพม่าและนายทุนต่างชาติเข้าผสมโรง
กระแสการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองของพม่าในปัจจุบัน กำลังนำมาซึ่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก รวมถึงการแจกสัมปทานอีกมูลค่ามหาศาลแก่นายทุน ทั้งที่เป็นนายทุนของพม่าเองและที่เป็นนายทุนต่างชาติ เห็นภาพเช่นนี้แล้ว การปฏิรูปพม่าดูจะน่ากังวลไม่ใช่น้อย
เพราะด้วยความเป็นระบบทุนนิยมพวกพ้องของพม่า ปราศจากข้อสงสัยว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ จะทำให้ประโยชน์จากการปฏิรูปตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆ โดยเป็นราคาที่คนพม่าส่วนใหญ่ต้องจ่าย
มากไปกว่านั้น รูปแบบทุนนิยมพวกพ้องที่เป็นอยู่ ยังเป็นรูปแบบทุนนิยมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความยืดหยุ่น ไม่สร้างแรงจูงใจในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และไม่มีแรงกระตุ้นให้เพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยธุรกิจ
ทุนนิยมพวกพ้องเป็นปัญหาในตัวเอง ความล้มเหลวของการพัฒนาในหลายประเทศมีสาเหตุมาจากการมีลักษณะเป็นทุนนิยมพวกพ้อง ทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และที่ร้ายที่สุด หลายประเทศที่มีระบบทุนนิยมเช่นนี้นำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจ
ดังนั้น ความท้าทายในการเปิดประเทศพม่าครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องจะพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจยังไง หรือจะเปิดเสรีให้มากขึ้นด้วยวิธีใด แต่เป็นเรื่องว่า พม่าจะหลุดพ้นจากการเป็นทุนนิยมแบบพวกพ้องได้อย่างไร
มิเช่นนั้นแล้ว พม่าจะประสบความล้มเหลวในการปฏิรูปครั้งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย และสิ่งที่จะเหลือไว้ให้ชาวพม่าดูต่างหน้า ก็คือ กระเป๋าเจมส์บอนด์
ที่มา.Siam Intelligence Unit
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น