อาเซียนกำลังจะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อุตสาหกรรมธนาคารในภูมิภาคต่างเร่งชิงบทนำ เตรียมรับตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากร 600 ล้านคน
ธนาคารหลายแห่ง กำลังมุ่งสู่การเป็นผู้เล่นระดับท็อป ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้จาก "ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์" ของสิงคโปร์ และ "ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป โฮลดิ้งส์" ของมาเลเซีย และธนาคารท้องถิ่นอื่นๆ ที่เร่งทำข้อตกลงทางธุรกิจ เพื่อโหนกระแสการเติบโตในภูมิภาคนี้
"วอลล์สตรีท เจอร์นัล" รายงานว่า แบงก์ในภูมิภาคนี้ ไม่ได้มีภาระจากวิกฤตการเงิน เหมือนที่บรรดาผู้เล่นระดับโลกเผชิญอยู่ ยักษ์เล็กในภูมิภาค จึงเร่งทำข้อตกลงเสริมแกร่ง เฉพาะในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ ดีลต่างๆ มีมูลค่าร่วม 8 พันล้านดอลลาร์
ไม่ว่าจะเป็น "ดีบีเอส" ที่ประกาศควักเงิน 9.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (7.3 พันล้านดอลลาร์) ซื้อกิจการ "พีที แบงก์ ดานามอน" แบงก์ใหญ่อันดับ 5 ของอินโดนีเซีย ซึ่งนับเป็นข้อตกลงขนาดใหญ่สุดในแดนอิเหนา รวมถึง "ซีไอเอ็มบี" ที่เพิ่งทุ่ม 881 ล้านริงกิต (288.6 ล้านดอลลาร์) ซื้อหุ้น 60% ในแบงก์ออฟคอมเมิร์ซ ของฟิลิปปินส์
ข้อตกลงเหล่านี้ สะท้อนซีรีส์ซื้อกิจการในอุตสาหกรรมการเงินเอเชีย ที่พุ่งเป้าในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมีกลุ่มผู้บริโภค และธุรกิจที่น่าสนใจ ในฐานะตลาดขนาดใหญ่ ที่มีประชากรกว่า 600 ล้านดอลลาร์ และมีจีดีพีรวมกัน 2 ล้านล้านดอลลาร์
นี่ทำให้แบงก์ในอาเซียน พยายามเร่งสยายปีกภายในภูมิภาค เพราะหวังว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ จะช่วยลดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจในอีก 3 ปีข้างหน้า
"ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค" ประธานบริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี กล่าวว่า ยังไม่มีภาคธุรกิจ เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวกันมากนัก เพราะธุรกิจอื่นๆ ยังมองไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร แต่เรามีความเชื่อมั่นมาก
การต่อสู้ที่เริ่มก่อตัวในตลาดนี้สะท้อนว่า ผู้เล่นระดับท้องถิ่นกำลังเป็นทัพหน้า ในบรรดาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เริ่มจะมองเห็นการรวมตัวในอาเซียนเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตมหาศาลจากนี้ไป และอาจกระตุกให้เกิดการผนวกรวมกิจการในตลาดร่วมกับแบงก์ขนาดเล็กจำนวนมาก ทั้งในอินโดนีเซียและไทย
"อนันต์ ปัทมากานธาน" นักวิเคราะห์จากโนมูระ อีควิตี้ รีเสิร์ช สิงคโปร์ มองว่า การค้าในอาเซียน เป็นเรื่องสำคัญในทุกวันนี้ สำหรับตลาดเกิดใหม่ในอาเซียน การปล่อยกู้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและเล็กเป็นเหมือนชิ้นเค้กที่น่ากิน
แต่ความแตกต่างในหมู่สมาชิกอาเซียน ก็ยังเป็นขวากหนามในการรวมตลาดเดียว ทั้งด้านการค้าและการลงทุน เพราะชาติสมาชิกอาเซียน มีความแตกต่างด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก ในขณะที่จีดีพีต่อหัวต่อปีของสิงคโปร์มากกว่า 40,000 ดอลลาร์ ในอินโดนีเซียกลับอยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์
อุตสาหกรรมธนาคาร เป็นหนึ่งในธุรกิจแรกๆ ร่วมกับอุตสาหกรรมขนส่งทางทางอากาศและค้าปลีก ที่มองเห็นศักยภาพของการเป็นตลาดเดียว ธนาคารหลายแห่งเริ่มช้อปข้ามแดนมานานแล้ว ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2547 ทั้ง "ดีบีเอส" "ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์" (ยูโอบี) และ "โอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ป" (โอซีบีซี) ต่างก็เริ่มซื้อหุ้นในแบงก์ และบริษัทการเงินของเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับ "ซีไอเอ็มบี" และ "มาลายัน แบงกิ้ง" ของมาเลเซีย ที่ร่วมกระแสช้อปในปี 2551
ขณะที่ชาติในเอเชีย และอาเซียนจับมือกันแน่นแฟ้นมากขึ้น การค้าและการลงทุนในภูมิภาคก็เพิ่มขึ้น แต่ผู้เล่นจากตะวันตก ต้องดิ้นรนอย่างหนัก ธนาคารระดับโลกอย่าง "ซิตี้กรุ๊ป" และ "เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์" พากันผ่อนคันเร่งจากภูมิภาคนี้ เพราะต้องดิ้นรนในตลาดยุโรปและสหรัฐ
"อีวาน อาซิส" หัวหน้าฝ่ายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ของธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เปลี่ยนมาสู่เอเชียตะวันออกแล้ว และอาเซียน เป็นตลาดสำคัญ การรวมตัวในเอเชีย เกิดขึ้นโดยไม่ได้เน้นเรื่องนโยบายหรือกฎหมาย แต่มาจากการขับเคลื่อนของตลาด
แม้ความต้องการเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในภูมิภาคจะเหมือนกัน แต่ธนาคารแต่ละแห่ง ก็มีแผนเดินเกมที่ต่างกัน อย่างซีไอเอ็มบี เน้นตลาดอาเซียนที่ตัวเองมีศักยภาพ ส่วนดีบีเอสและยูโอบี โฟกัสที่ตลาดระดับท็อปของอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขณะที่แบงก์ใหญ่ของแดนอิเหนา พุ่งเป้าไปที่การเติบโตในบ้าน และสาขาใหญ่ที่มีชาวอิเหนาทำงานอยู่มาก
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น