นักการเมืองรุ่นใหม่ที่มากความสามารถอย่าง “จารุพรรณ กุลดิลก” กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากพรรคเพื่อไทย ทายาทคนเก่งของ “พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก” รมช.คมนาคม ผ่านแง่มุมอันมีนัยยะสำคัญหลากหลาย ที่เธอถ่ายทอดไว้ได้น่าสนใจยิ่ง
- บทบาทก่อนเข้าสู่เวทีการเมือง
“ก่อนเข้ามาเป็นนักการเมือง ก็เป็นอาจารย์สายบริหาร ทำงานเกี่ยวกับด้านโครงสร้างและงานบริหารบุคคล เพื่อรองรับ การออกนอกระบบ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าบ้านเราแม้จะออกนอกระบบ ไปแล้ว แต่การบริหารยังเป็นไปในระบบ TOP DOWN คือคนนั่งหัวโต๊ะจะเป็นคนมีอำนาจสั่งการ มีอิทธิพลเหนือผู้ที่อยู่ในระดับ ที่ต่ำกว่า ตรงนี้มันไม่เอื้อต่อการพัฒนา ในทางการเมืองก็เช่นกัน ถ้าการบริหารประเทศเป็นไปในแบบ TOP DOWN ประชาชนในประเทศก็จะไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต”
- การร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง
“เนื่องจากทำงานด้านสันติวิธี และมีโอกาสไปสังเกตการณ์ ชุมนุมใหญ่ของประเทศอยู่ตลอด และได้เข้าไปเสนอรูปแบบการชุมนุมอย่างสร้างสรรค์ ให้กับทุกๆ การชุมนุมในนามศูนย์สันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ก็มักจะได้รับการปฏิเสธ จนมาวันหนึ่งได้มีการไดอะล็อกสุนทรียสนทนาขึ้นมา และได้มีการให้แต่ละคนออกมาพูดถึงความเห็นส่วนตัว โดยหลายๆ คนก็ได้สะท้อนความ เห็นเหมือนๆ กับคนเสื้อแดง คือผู้ที่รักประชาธิปไตย และเอื้อให้เกิดการพัฒนา ก็เลยเห็นว่า เสื้อแดงจะออกมาประท้วงอย่างสร้างสรรค์ก็สามารถทำได้ เลยลุกขึ้นมาใส่เสื้อแดง และก็ลองไปนั่งดื่ม กาแฟที่โรงแรมในหัวหินช่วงที่มีการประชุมอาเซียน ซัมมิท จนก็กลายเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนต่างประเทศและรัฐบาลในยุคนั้นด้วย ก็เลยกลายเป็นที่รู้จักว่ามาประท้วงแบบสร้างสรรค์ คือมานั่งดื่มกาแฟเฉยๆ และก็ใส่เสื้อแดง”
- การเคลื่อนไหวในระดับสากล
“ที่ผ่านมาเราเห็นว่าการชุมนุมมักจะเกิดความรุนแรง ก็เลย ได้มีการป้องกันไว้ในเบื้องต้นว่า หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือมีการทำร้ายประชาชน ซึ่งเกี่ยวกับที่เราไปทำกฎบัตรสิทธิสัญญาสิทธิทางพลเมืองในระดับสากล ก็จะต้องมีการฟ้องร้องกัน เพื่อหาความเป็นธรรมให้ได้ในระดับโลกระดับสากล จึงเป็นตัวแทน ที่รวบรวมข้อมูลที่มีการกระทำอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ คือการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่มีการชุมนุมทุกครั้งตลอด 4 ปี ก็เป็นการชุมนุมที่สร้างสรรค์ แล้วก็หุ้นขึ้นทุกครั้งตลอดระยะเวลา 4 ปี จนกระทั่งมีการปิดสถานีโทรทัศน์และก็ปิดวิทยุชุมชนถึงพันแห่ง”
“มีการขอกระชับพื้นที่ สื่อหลักถูกบังคับไม่ให้มีการเสนอข่าว ของคนเรือนล้านที่มาชุมนุมบนท้องถนน ซึ่งตรงนี้เป็นบ่อเกิดของ ความรุนแรง และมีการนำทหารจำนวนกว่า 8 หมื่นนาย ซึ่งมาก กว่าการไปรบกับกัมพูชาเสียอีก โดยมีอาวุธครบมือมาต่อสู้กับประชาชนมือเปล่า ตรงนี้คือการผิดหลักมนุษยธรรม ตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ ไม่ให้มีการส่งข้าวส่งน้ำ ไม่ให้กาชาดสากล เข้ามาสังเกตการณ์ ตรงนี้คือการทรมาน และมีการล้อมด้วยอาวุธ สงคราม และมีการเขียนว่านี่คือพื้นที่ใช้กระสุนจริง การกระทำทั้งหมดเขาเรียกว่าการกระทำที่ขัดต่อหลักมนุษยธรรม”
- บทบาทนักมนุษยชนบนหมวกนักการเมือง
“เราจะต้องเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป เพราะคิดว่า การ ขัดต่อหลักมนุษยธรรมโดยรัฐธรรมนูญปี 2550 มีเหตุการณ์หลาย เหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมาจากการรัฐประหารและก็การร่างรัฐธรรมนูญมาจากปลายกระบอกปืน เพราะฉะนั้น เราจะต้องแก้ไขโครงสร้างหลักตรงนี้เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก ในช่วงที่มีรัฐธรรมนูญ 2550 เรามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก เรามีการละเมิดองค์กรอิสระเรามีการปิดกั้นสื่อ และเราก็มีเหตุให้เกิดความรุนแรงต่างๆ มากมาย เพราะ ฉะนั้น บทเรียนเหล่านี้เราต้องมาแก้ไขอย่างไรเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประเทศให้ได้ และก็ประชาชนจะเป็นผู้ช่วยร่างกติกา”
- ฝ่ายค้านมองว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
“ประชาชนจะเป็นคนเลือกผู้ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือประชาชนไปเลือกโดยตรงเลย แล้วก็มีผู้เชี่ยวชาญมาคัดเลือกผ่าน รัฐสภา ส.ส.ในรัฐสภาก็เป็นตัวแทนประชาชน และเราก็ให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยด้านทางเทคนิคเท่านั้น ส่วนผู้ที่เป็นตัวแทนจากจังหวัด ก็จะเข้ามาร่างกติกาเป็นรัฐธรรมนูญต่อไป”
- กระบวนการร่างที่ถูกมองว่าเร่งรีบรวบรัด
“ต้องอธิบายว่า ถ้าเร่งรีบรวบรัด ครม.ก็สามารถออกมติ ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญออกมายกร่างรัฐธรรมนูญ และส่ง ให้สภาพิจารณาได้เลย ถ้าเร่งรีบรวบรัดจริงๆ นี่ก็สามารถทำได้ แต่สิ่งที่เรากำลังทำตอนนี้ทั้งหมดทั้งกระบวนการและอะไรต่างๆ ก็ใช้เวลาเป็นปี”
- แต่รัฐธรรมนูญ 2550 มีการทำประชามติ
“การทำประชามติครั้งนั้นอยู่ภายใต้บรรยากาศการรัฐประหาร มีทหารถือปืนอยู่ตามหมู่บ้าน และมีการทำประชามติแบบรับๆ ไป ก่อน ซึ่งพวกเราก็จะรับทราบประโยคเหล่านี้ดี คือ รับๆ ไปก่อน มีการทำประชามติแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง แต่คราวนี้ประชาชนจะไม่ตกอยู่ในสภาพที่ต้องถูกบังคับ มีการถกเถียง ซึ่งเราจะมีการพิจารณากันอย่างละเอียดถี่ถ้วน”
- ข้อสงสัยที่ว่าจะมีการเข้าไปแตะองค์กรอิสระและศาล
“เรื่องนี้เป็นความกลัว เพราะว่าที่ผ่านมาเราได้ยินว่าองค์กร อิสระถูกแทรกแซง แต่คิดว่าอย่าให้ประชาชนประเมินจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ว่าองค์กรอิสระทำงานได้ถูกใจประชาชนหรือไม่ อย่างไร แล้วก็มาคุยกัน และจะทำให้อำนาจเหล่านี้มายึดโยงกับประชาชนได้อย่างไร และสร้างความเป็นธรรมโดยรวมให้ได้อย่างไร บ้าง ในแง่มุมของศาลหรือกระบวนการยุติธรรม ก็จะต้องให้ยึดโยง กับประชาชนเช่นกัน และทำให้อำนาจเกิดความสมดุล เราทราบดีว่า ถ้าอำนาจไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จะไม่เกิดความเป็นธรรม”
- หลายฝ่ายมองว่ามีการล็อกสเปกรัฐธรรมนูญ
“จริงๆ ต้องเรียนอย่างนี้ว่ารัฐธรรมนูญที่ดีไม่ใช่เรื่องใหม่ของ โลกนี้ เราได้เห็นรัฐธรรมนูญของทั้งโลกตอนนี้มีพัฒนาการอย่างไร รัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกพูดถึงมากในบ้านเรา ก็จะต้องเอามาเป็น แบบอย่าง ให้ประชาชนได้เอามาพิจารณาอย่างละเอียดว่า เนื้อหา ที่ต้องการให้ตรงกันอย่างไร ซึ่งก็เป็นกติกาคร่าวๆ ที่เรียกว่าสาระ บัญญัติ และถ้าเราเรียนรู้ร่วมกันได้ ทั้งถูกและทั้งผิดเราก็จะสามารถปรับปรุงแก้ไขต่อไปให้มันไปด้วยกันได้”
- เป็นสุภาพสตรีที่มีส่วนเข้ามาผลักดันกฎหมายสูงสุดของประเทศ
“ในส่วนนี้คิดว่า ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ใครก็ได้ที่เคารพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วก็ผลักดันความเป็นมนุษย์ที่สามารถ คิด พูด อ่าน เขียน ได้อย่างเป็นอิสระ มีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้ทั้งถูกทั้งผิด เรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้น และออกจากปัญหาด้วยตนเอง นี่คือหลักง่ายๆ ในการเคารพความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ถ้าหากยึดโยงอยู่กับหลักนี้ และพร้อม ที่จะพัฒนาให้คนในประเทศได้รับการพัฒนา ให้มีสิทธิ์ได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ชีวิตเขามีความสุขก็ถือว่ามีความเท่าเทียมกันในฐานะการเป็นกรรมาธิการ”
- การออกกฎหมายนิรโทษกรรม
“ต้องเรียนว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีกฎหมายนิรโทษกรรม ที่เข้มข้นมาก คือไม่ให้ผู้กระทำรัฐประหารเอาอำนาจออกจากประชาชนไม่มีความผิดใดๆ ทั้งสิ้นเลย เพราะฉะนั้น เราไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เป็นแบบอย่างที่ดีงาม เพราะว่าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในโลกให้มีนิรโทษกรรมผู้กระทำรัฐประหาร อย่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงเชื่อว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรมใดๆ เช่นนั้น อีกแล้ว”
- แง่มุมปรองดอง
“ส่วนตัวเชื่อว่า นี่คือกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ซึ่งก็จะ เป็นขั้นตอน คือเพิกเฉยก่อน จะไม่สนใจ จนกระทั่งถึงระดับหนึ่ง จะกลับมาถกเถียงกันและเกิดความขัดแย้งสูง ตอนนี้อยู่ในขั้นขัดแย้งถกเถียงกัน และหันหน้าเข้าหากันและถกเถียงกันอย่างเข้มข้น พอถึงการถกเถียงกันในระดับหนึ่ง จะเกิดการรับฟังผ่าน ถ้อยคำเสียดสีต่างๆ พอรับฟังแล้วจะเรียนรู้ พอเรียนรู้ร่วมกันเมือไหร่ ก็จะเกิดการยอมรับและปรองดองในที่สุด”
- แต่ที่ผ่านมาเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
“ตรงนี้เราต้องหาความเป็นธรรมให้ได้ เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศ ไทยจะอยู่ในสภาพที่หาความจริงไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะอยู่ในสภาพที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แล้วก็เราจะต้องหาความจริง และความเป็นธรรมให้ได้ ถ้าหาไม่ได้ในประเทศไทย เราต้องหาในระดับสากล”
- งานด้านผู้หญิง
“ได้ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงแถวหน้าที่เป็นผู้หญิงได้เรียนรู้ร่วมกันว่า ผู้หญิงเมื่อลุกขึ้นมาสู้แล้วจะไม่มีทางถอยง่ายๆ ตรงนี้ก็ได้มีโอกาสได้ไปเป็นล่ามแปลเผยแพร่แง่มุมในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เป็นผู้หญิงให้กับสื่อต่างประเทศได้นำไปถ่ายทอด ให้ชาวต่างชาติ จนกระทั่ง ทีมงานของฮิลลารี่ คลินตัน ได้รู้จัก แล้วก็เชิญไปร่วมเวิร์กช็อปสัมมนาในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานของผู้หญิงในภาคสังคม ซึ่งฮิลลารี่ก็มีโครงการที่อยากให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2050 ซึ่งเชื่อว่าปัญหาของประชากรอีกครึ่งหนึ่งของโลกในส่วนที่เป็นผู้หญิง เกี่ยวกับความรุนแรง และปัญหาที่เกี่ยวกับผู้หญิงต่างๆ นานา จะสามารถขึ้นสู่เวทีใหญ่ และก็พูดและนำไปสู่การแก้ไขได้ เพราะฉะนั้น มันก็จะสามารถสร้างความสมดุลได้มากขึ้นเมื่อมีผู้หญิง เข้ามาทำงานการเมือง”
- ในท่ามกลางความขัดแย้ง ภาพของ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ช่วยลดความตึงเครียด ลงได้หรือไม่
“ท่านเป็นสุภาพสตรีที่มีความประนีประนอมและก็เป็นคน รุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในระดับสากล เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีงานใดๆ ที่ท่านนั่งเป็นประธาน เรารู้สึกมั่นใจว่างานนั้นจะประสบความสำเร็จ และท่านก็มาเป็นผู้นำในช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดี ส่งผลให้ความขัดแย้งทุเลาเบาบางลงไปได้มาก”
- คุณพ่อชี้แนะอะไรบ้าง
“ก่อนหน้านั้นก็เดินคนละเส้นทาง แต่ท่านก็ช่วยชี้ว่าอะไรควรไม่ควร แต่ท่านก็จะให้อิสระในการทำงานมาโดยตลอด จนกระทั่งมาเดินร่วมทางเดียวกัน ซึ่งเราก็เป็นกำลังใจให้กันและกัน”
- “อดีตนายกฯ ทักษิณ” จะได้กลับบ้านเมื่อไหร่
“เมื่อประชาชนเรียกร้องให้ท่านกลับบ้าน ท่านก็จะได้กลับบ้าน ก็คิดว่าจะต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่จริงๆ ซึ่งเสียงสะท้อนเหล่านี้ถ้าสะท้อนออกมาว่าต้องการให้ท่านกลับบ้าน ท่านก็จะได้กลับบ้าน”
- สุดท้ายอะไรคือประตูสู่ความปรองดอง
“ขณะนี้ขอให้ประชาชนตื่นตัว เราเชื่อว่าเรื่องการเมือง คนรักกันไม่ควรคุยกัน แต่เชื่อส่วนตัวว่าเราต้องคุย เพราะการเมือง เป็นเรื่องของทุกคน และมีโอกาสได้เห็นประเทศต่างๆ เจริญก้าวหน้าได้ เพราะประชาชนตื่นตัวในเรื่องการเมืองมาก เสียงสะท้อนจากประชาชนจะทำให้เกิดความสมดุล และเราจะได้รู้ว่าผิดถูก ไม่ถูก อะไรควร ไม่ควร อะไรเป็นเรื่องจริงไม่จริง และเรา ก็ช่วยกันพัฒนาประเทศกันไป ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศใหญ่ มีประชากร 60 กว่าล้าน ประเทศอื่นเขาใหญ่กว่าเรามาก เขายังอยู่ ร่วมกันได้อย่างสามัคคีได้ เราก็น่าจะทำให้บ้านเล็กๆ หลังนี้ เป็นที่เรียนรู้ร่วมกันและก็เป็นที่ที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
แหลมคมและครบถ้วนกระบวนความสำหรับมิติมุมมองทาง การเมืองของ “จารุพรรณ กุลดิลก” ผู้หญิงเสื้อแดงแถวหน้า ที่ผันตัวเข้ามาสู่สนามการเมืองในนามพรรคเพื่อไทย
ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น