พลันที่กระแสข่าวกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เตรียมดำเนินการตามนโยบาย ป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล ด้วยการเสนอจัดที่อยู่อาศัยใหม่ให้กลุ่มชุมชนที่อยู่อาศัยริมคลองในโครงการบ้านเอื้ออาทรทั้งแนวราบและแนวดิ่ง บน พื้นที่ใกล้เคียงบริเวณที่อยู่เดิม โดยเริ่มต้นในพื้นที่ 5 คลองหลักอย่าง คลองเปรมประชากร คลองบางบัว คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ และคลองมหาสวัสดิ์ ประหนึ่งโยนความผิดตอกย้ำว่าคนริมคลองคือ แพะรับบาปเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงครั้งใหญ่
เรื่องของการยกชุมชนริมคลองขึ้นไปอยู่บนแฟลตไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันมาอย่างยาวนาน แต่เอาเข้าจริงหลายหน่วยงานก็แบ่งรับแบ่งสู้ไม่กล้ายื่นมือออกมารับลูกสักเท่าไหร่ เพราะอย่าลืมว่าปัญหาที่ตามมาหลังจากการไล่รื้อชุมชนริมคลองแล้วก็คือปัญหาเรื่องที่ทำกิน เมื่อไม่มีที่ทำกินพวกเขาเหล่าชาวคลองก็คงจะย้อนลงมาอยู่ยังหลักแหล่งที่เดิมอีกครั้ง
“สยามธุรกิจ” ในฉบับนี้ได้ลงพื้นที่ จับเข่าคุยกับผู้นำชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่ 3 คลองได้แก่ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองบางบัว ซึ่งเป็น 3 ใน 5 คลองหลักของเส้นทางระบายน้ำตามนโยบายการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล แน่นอนว่าความคิดเห็นจากชาวริมคลองเหล่านี้ น่าจะเป็นตัวแปรให้ผู้ใหญ่ ผู้บริหารหลายคนได้ตระหนักในสิ่งที่กำลังจะทำอยู่ โดยมีคุณภาพชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นเป็นเดิมพัน
“การออกมาให้ข่าวบางข่าวของผู้ใหญ่ในหน่วยงานรัฐทำให้ชาวบ้านแตกตื่น แต่หากรัฐจะทำโครงการนี้อย่างจริงจังเป็นรูปธรรมก็สามารถทำได้ แต่จะต้องคำนึงถึงการมีที่ทำมาหากินของชาวบ้าน ต้องลงมาสำรวจพื้นที่ ดูความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การจัดสรรที่อยู่อาศัยใหม่ให้จะต้องเพียงพอต่อความต้องการของแต่ละครอบครัว เพราะที่นี่มีประชากรว่า 3 พันคน กว่า 300 ครัวเรือน ต้องทำประชาพิจารณ์หากชาวบ้านพอใจ ถ้าเขาจะให้รื้อก็จำเป็นต้องรื้อ ถ้ารัฐจะให้ย้ายก็ต้องมีสถานที่ที่เหมาะสม การคมนาคมสะดวก มีแหล่งทำมาหากินที่ดีเราก็พร้อมจะไป แต่คำถามก็คือรัฐจริงจังแค่ไหนกับนโยบายนี้ “นี่คือเสียงสะท้อนจากจำรัส กลิ่นอุบล กรรมการชุมชนลาดพร้าว 45 ริมคลองลาดพร้าว
ขณะที่ชาวคลองลาดพร้าวพร้อมที่จะไป หากมีที่อยู่ใหม่ดีกว่าแต่ชาวชุมชนตลาดหลักสี่ ริมคลองเปรมประชากรก็พร้อมที่จะอยู่และต่อต้านกับการกระทำของรัฐ โดย ชูศักดิ์ เรือนราน หรือ “ผู้ใหญ่ตั๋ง” ประธานชุมชนตลาดหลักสี่ คลองเปรมประชากรที่ยืนยันด้วยเสียงหนักแน่น ว่าการจะย้ายชุมชนริมคลองขึ้นไปอยู่บนแฟลตมันเป็นไปไม่ได้ หรือหากจะให้ย้ายก็จะขอต่อสู้ ลองดูกันสักยก
“ลุงเป็นคนดั้งเดิม อยู่ริมคลองแห่งนี้มาชั่วชีวิตกว่า 60 ปี ชุมชนแหล่งนี้มันมีประวัติศาสตร์กว่า 3 ชั่วอายุคนแล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามโลก บ้านลุงก็อยู่ตรงนี้ คนเก่าก็รู้ดีและเคารพในกฎกติกาอยู่ แต่พอเมืองมันขยายขึ้น ชาวบ้านจากที่อื่นก็เข้ามาจับจองพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัย คนมาใหม่นี่แหละที่รุกล้ำที่ริมคลองลงไป จึงกลายเป็นคนดั้งเดิมปะปนอาศัยอยู่กับคนมาใหม่ จนตอนนี้มีกว่า 100 ครัวเรือน แบ่งเป็นสัดส่วนคือคนดั้งเดิม 40% และคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่กว่า 60% จนมีคน อาศัยอยู่กัน 400-500 คน คนดั้งเดิมก็ยังอยากจะยึดที่นี่เป็นเรือนตาย คงไม่ย้ายไปไหน แต่บางทีอาจจะดีเหมือนกันถ้ารัฐเอาจริงเอาจัง ชาวบ้านก็ยอม มันจะได้ล้างบางกลุ่มนายทุนออกไปเสียที”
เมื่อมีการเอ่ยถึง “กลุ่มนายทุน” ใน บริบทสุดท้าย จึงได้รับรู้ข้อมูลที่น่าสนใจอีกแง่มุมหนึ่งว่าพื้นที่ริมคลองเปรมประชากร คือแหล่งผลประโยชน์มหาศาลของกลุ่มนายทุน ซึ่ง “ผู้ใหญ่ตั๋ง” ขยายความให้ฟังว่า จำนวนตัวเลข 60% ของผู้ที่เข้ามา อยู่ใหม่คือกลุ่มที่อาศัยอยู่ในบ้านเช่าที่มีราคาตั้งแต่ 1-3 พันบาทต่อหลัง หรือแม้ แต่ร้านค้าร้านอาหารริมคลอง ในซ.แจ้ง วัฒนะ 5 ที่มีราคาค่าเซ้งพื้นที่ 1-2 แสนบาท ล้วนมีผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนทั้งสิ้น ทำให้พื้นที่นี้มันเป็นสุญญากาศระหว่างชุมชนชาวบ้านดั้งเดิมและพื้นที่ที่มีนายทุนยึดครอง
จึงเป็นที่มาของคำถามว่าหน่วยงานของรัฐรับรู้หรือมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ว่า เคยลงมาสำรวจและแก้ไขหรือไม่ อย่างไรก็ตามชาวชุมชนตลาดหลักสี่ยอมรับได้ หากจะมีการจัดระเบียบบ้านเรือนอยู่ในที่เหมาะที่ควร เพื่อไม่ให้รุกล้ำริมคลอง สุดท้าย “ผู้ใหญ่ตั๋ง” กล่าวฝากไว้ว่า “คนริมคลองเป็นคนสุจริต จะมาหาว่าเราเป็นผู้บุกรุกได้อย่างไร ในเมื่อเราทำกินบนผืนดิน นี้มาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย เปรียบเทียบกับตอนที่รัฐเวนคืนที่ดินเราไปเป็นร้อยๆ ไร่ ทำไมไม่ถามความเห็นเราบ้าง ว่าเราจะอยู่อย่างไร รัฐไม่ได้มองถึงความจริงตรงนั้น”
แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพื้นที่ชุมชน คลองบางบัว เชิงสะพานไม้ 1 ที่นี่ชาวชุมชน ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าวมากว่า 7 ปีแล้ว ด้วยทราบดีว่าแรกเริ่มการก่อตั้งสมัยพ่อแม่ คือการบุกรุกพื้นที่ราชพัสดุ เมื่อรู้ว่าผิด พวกเขาจึงทำให้ถูกต้อง โดยการทำสัญญาเช่าพื้นที่ที่มีลายลักษณ์อักษรกับกรมธนารักษ์ เพื่อประกันว่าพวกเขาจะมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งอย่างแน่นอนต่อไปในอนาคตอย่างน้อยก็อีก 30 ปี
นอกจากการเช่าที่ดินโดยมีการออกโฉนดที่ดินอย่างถูกต้องแล้ว ชุมชนแห่งนี้ยังได้เข้าร่วม “โครงการบ้านมั่นคง” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อการปล่อยกู้เงินเพื่อการ สร้างบ้านในชุมชนแออัด
“โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการพูดคุยกันภายในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นคนจนและผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เมื่อมาอยู่อาศัยแล้วก็มีการปลูกบ้านตามอำเภอใจ ไม่เป็นระเบียบ ก่อให้เกิดสภาพของชุมชนแออัด ประกอบกับการเกิดเพลิงไหม้ขึ้นในชุมชน เมื่อทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเสนอ ตัวเข้ามาทำโครงการบ้านมั่นคง เราก็เลยเปิดเวทีชาวบ้าน สำรวจความคิดเห็นและตอบรับที่จะเข้าร่วมโครงการโดยในระยะแรก มีชาวบ้านร่วมโครงการประมาณ 19 ราย ต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 73 ราย และน่าจะมีจำนวน 108 ครัวเรือน บนพื้นที่กว่า 4 ไร่ โดยการออกแบบผังชุมชนของนักศึกษา ม.ศรี ปทุม เป็นลักษณะบ้าน 2 ชั้นมีพื้นที่กว้าง 5 และยาว 9 เมตร ซึ่งคาดว่าโครงการ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2556” พ.ท. สมชาย จินต์ประยูร ประธานชุมชนบางบัว เชิงสะพานไม้ 1 ผู้ซึ่งมีบทบาทในฐานะพ่องานบอกกล่าว
ชุมชนแห่งนี้ถือเป็นแบบอย่างของชุมชนริมคลองที่ต้องการมีบ้านที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งอย่างแท้จริง พร้อมๆ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนควบคู่กันไปด้วย ซึ่งนอกจากการสร้างบ้านแล้ว พ.ท.สมชาย และ ชาวชุมชนยังได้วางโครงการระบบสาธารณูปโภคของชุมชนเองอีกด้วย อาทิ การก่อสร้างถนนริมคลองความกว้าง 3 ม.เพื่อการคมนาคม การก่อสร้างลานกีฬา และพื้นที่รองรับการสร้างเขื่อนทำนบกั้นริมคลอง การทำบ่อบำบัดน้ำเสียและท่อระบายน้ำ ตั้งกลุ่มชมรมเพื่อการฝึกอาชีพ รวมทั้งการจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน เพื่อสร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชนเดียวกัน
“ไม่ใช่เราทำบ้านแล้วจะได้บ้านเพียงอย่างเดียว มันจะต้องได้ความรู้สึกที่ดี จะต้องได้คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ต่อไปในอนาคตเราอาจจะสร้างชุมชนแห่งนี้ในกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำเป็นตลาดน้ำขึ้นมา เพราะที่นี่ถือว่าเป็นชุมชนริมคลองที่เป็นรอยต่อของ 3 เขตใน กทม. คือเขตลาดพร้าว เขตบางเขน และเขตหลักสี่”
ดังนั้น ความคิดเห็นของ พ.ท. สมชาย จึงแตกต่างจากแนวคิดของผู้ใหญ่ในหน่วยงานรัฐบาล ถึงการจะจับยกเอาคนริมคลองไปอยู่บนแฟลต บนอาคารชุด ที่รัฐกำลังจะทำโดยไม่ถาม ถึงความรู้สึกของพวกเขาคนริมคลอง ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตผูกพันกับสายน้ำ แต่กำลังจะถูกตราบาปว่าเป็นต้นเหตุหนึ่งของมหาอุทกภัยน้ำท่วมกรุง
ที่มา.สยามธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น