“จตุพร” อ้างมีกลุ่มคนจ้องบิดเบือนข้อเสนอแก้มาตรา 112 ของนิติราษฎร์ เพื่อกล่าวร้ายและขยายผลไปสู่การล้มล้างรัฐบาลให้ได้ภายในเดือน เม.ย. นี้ ยอมรับเพื่อไทย เสื้อแดง นิติราษฎร์พวกเดียวกัน แต่ต่างมีจุดยืนของตัวเอง “เฉลิม” ไล่นักวิชาการ 16 ประเทศ หากอยากแก้มาตรา 112 ให้แก้ในประเทศตัวเอง ย้ำเพื่อไทยมีเสียงข้างมากในสภา หากไม่สนับสนุนไม่มีทางสำเร็จ “มาร์ค” ห่วงความขัดแย้งในธรรมศาสตร์บานปลาย ไม่เห็นด้วยจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ
+++++++++++++++++
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ กลุ่ม “วารศาสตร์ต้านนิติราษฎร์” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รวมตัวแสดงพลังคัดค้านคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ที่เคลื่อนไหวเสนอแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ โดยนายยุทธนา มุกดาสนิท เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ถึงอธิการบดี ขอให้ตั้งกรรมการสอบความเหมาะสมของนิติราษฎร์ เพราะเห็นว่าแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยไปสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวล่วงละเมิดสถาบัน ขอให้สอบเอาผิดทั้งวินัยและอาญา ขอให้รัฐบาลแสดงจุดยืนปกป้องสถาบัน ขอให้สื่อมวลชนใช้วิจารณญาณเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมาตรา 112 และขอให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันต่อต้านแนวคิดแก้มาตรา 112
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง ระบุว่า กำลังมีความพยายามบิดเบือนข้อเสนอของนิติราษฎร์เรื่องมาตรา 112 เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการล้มล้างรัฐบาลให้ได้ก่อนเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้
“ข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นข้อเสนอที่ต้องการปกป้องสถาบัน แต่ถูกบิดเบือนให้ร้าย เราไม่เคยปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกัน แต่พรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง และนิติราษฎร์ ต่างก็มีเสรีภาพทางความคิดของตัวเอง ผมไม่ใช่พวกตกใจชิ่งหนี แต่ผม เพื่อไทย และนิติราษฎร์ ต่างคนต่างก็ยืนอยู่ที่จุดของตัวเอง”
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีนักวิชาการ 244 คน จาก 16 ประเทศ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีแสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 และสนับสนุนให้แก้ไขว่า หากนักวิชาการต่างประเทศอยากแก้ก็ให้ไปแก้ที่ประเทศของเขา พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรานี้ และจากการลงพื้นที่ก็ไม่พบว่ามีประชาชนสนับสนุน
“แก้กฎหมายต้องทำกันในสภา พรรคเพื่อไทยมีเสียงข้างมากในสภา มีจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนใครจะไปเคลื่อนไหวกันอย่างไรไปห้ามไม่ได้”
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า ผู้บริหาร มธ. ควรเชิญผู้เกี่ยวข้องมาทำความเข้าใจก่อนเรื่องจะบานปลาย การแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการต้องมีอยู่ ถ้าเห็นรูปแบบกิจกรรมมีปัญหาค่อยเรียกมาตกลงกันว่าจะทำแบบไหน น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าไปสั่งห้ามทั้งหมด ไม่อยากให้ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และอาจารย์ทะเลาะกัน ส่วนตัวเชื่อว่าที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง และกำลังขยายความขัดแย้งออกไปโดยไม่จำเป็น
ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น