ภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย
ถ้าพิจารณาบริบทแล้ว ก็ยังถือว่าน่าสนใจ เพราะอุณหภูมิทางการเมืองที่เงียบสงบไปนาน กลับเริ่มร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้งหลังผ่านช่วงปีใหม่ หลังจากกลุ่ม “นิติราษฎร์” ออกมาจุดประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ-แก้กฎหมายอาญามาตรา 112 จนเกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทั้ง พล.อ.เปรม และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะโดนโจมตีจาก “กองเชียร์” ทั้งสองสี ไม่ว่าจะเป็นประเด็น “เกี๊ยะเซี๊ยะ” “หักหลัง” “ทรยศ” ต่อฝ่ายเดียวกันที่เคยสนับสนุนกันมา แต่ “ภาพความปรองดอง” ที่ออกมากลับได้รับเสียงชื่นชมจาก “คนกลางๆ” ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยไม่น้อย เพราะเป็นสัญลักษณ์แสดงจุดเริ่มต้นของความปรองดองที่สังคมไทยโหยหามานาน
ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง กลับยังไม่รุนแรงจนถึงจุดเดือดเหมือนภาพที่พยายามจะสื่อออกมา
หลักฐานนี้ถูกย้ำชัดผ่านผลการสำรวจของ “ดุสิตโพล” ระหว่างวันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ 2555 ที่สำรวจคนไทยจำนวนกว่า 5 พันคนต่อการทำงานในรอบ 6 เดือนแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบว่า “ความขัดแย้งทางการเมือง” ถือเป็น “ผลงานยอดแย่” อันดับ 3 ด้วยคะแนน 11.5% เท่านั้น โดนอันดับแรก “ปัญหาน้ำท่วม” ทิ้งห่างด้วยคะแนน 52% และอันดับสอง “ปัญสินค้าแพง” 36.48% ตามลำดับ
ที่มา – สวนดุสิตโพล
น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ถือเป็น “ประวัติศาสตร์” อีกหน้าหนึ่งของภัยพิบัติในประเทศไทย สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ-สังคมไทยอย่างมหาศาล และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เพิ่งเข้าทำงานหมาดๆ ก็ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการต่อกรกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศไทย
ถึงแม้เสียงส่วนใหญ่ของสังคมจะไม่โทษรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็น “สาเหตุ” ที่ทำให้น้ำท่วม เพราะภัยธรรมชาติเป็นเรื่องที่ห้ามกันยาก และความล่าช้า-ไร้ประสิทธิภาพในการทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ยังเป็นแค่เสียงก่นด่าที่ทำให้รัฐบาลเสียคะแนนนิยม แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นจะทำให้ “รัฐนาวา” ล่มลงไปได้
แต่ถ้าปี 2555 น้ำยังท่วมอีก เสียงส่วนใหญ่ของสังคมไทยย่อมจะไม่ให้อภัยความผิดซ้ำซากเป็นครั้งที่สองแล้ว
เป้าหมายสำคัญที่สุดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปัจจุบัน จึงต้องทำทุกทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาพแบบเดียวกันในปี 2555 อีกครั้ง
ถ้าดูจากความคืบหน้าของรัฐบาล จะเห็นว่าแผนการฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งที่แล้ว-วางแผนป้องกันน้ำท่วมครั้งต่อไป ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
- การจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายจากน้ำท่วม ยังล่าช้าและไม่ทั่วถึง ทั้งที่ผ่านเวลาน้ำท่วมมาแล้วหลายเดือน
- การฟื้นฟูพื้นที่ที่เสียหายจากน้ำท่วม ก็ยังล่าช้า จนนายกรัฐมนตรีต้องลงพื้นที่ “ทัวร์นกขมิ้น” เพื่อติดตามการใช้งบประมาณฟื้นฟูด้วยตัวเอง
- ในฝั่งกฎหมายกู้เงินเพื่อวางระบบป้องกันน้ำท่วม-แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ร่าง พ.ร.ก. 4 ฉบับก็เกิดปัญหาโดนฝ่ายค้านสกัดกั้นไปบางส่วน และต้องรอผ่านการพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาอีกนับเดือน
- ฝั่งคณะกรรมการอย่าง กยอ. และ กยน. ยังมีความขัดแย้งในหมู่กรรมการเป็นระยะ และมีข่าวว่ากรรมการบางคนจะลาออกอยู่เนืองๆ
- การตั้ง “หน่วยงานบริหารจัดการน้ำ” ที่มีอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จ ก็ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ดี ทั้งที่เหลือเวลาอีกไม่มากเมื่อนับถึงฤดูน้ำหลากในปีนี้ และต้องคำนึงถึงเวลาทำงาน-เตรียมการอีกส่วนหนึ่งด้วย (อ่าน ครม.เห็นชอบ ตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)” ดูแลปัญหาน้ำเบ็ดเสร็จ)
ในอีกด้าน ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นแบบเงียบๆ คือ “ปัญหาปากท้อง” ที่โค่นรัฐบาลทั่วโลกมาแล้วทุกยุคทุกสมัย การออกมาจุดประเด็น “ของแพง” ของฝ่ายค้านสร้างแรงสะเทือนต่อรัฐบาลไม่น้อย ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ประเด็นร้อนที่โค่นรัฐบาลลงในชั่วข้ามคืน แต่การปล่อยให้เกิดภาวะของแพงเรื้อรังต่อไป ย่อมเป็นภาวะกัดกร่อนรัฐบาลไปจนถึงแก่น และสามารถเป็น “ปัจจัยซ้ำเติม” ที่ช่วยฉุดรัฐบาลยามเกิดปัญหาอื่นเข้าแทรกได้
สุดท้ายแล้ว เราประเมินว่าในปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์น่าจะสามารถประคองตัวผ่านความขัดแย้งทางการเมืองไปได้สำเร็จ แต่ปัญหาเรื่องน้ำท่วม-สินค้าแพง อาจกลายเป็นประเด็นชี้ตายสองอันดับแรก ที่อาจทำให้รัฐบาลต้องเสียหลักอย่างไม่คาดคิด ถ้ายังไม่จริงจังมากพอ
ที่มา:Siam Intelligence Unit
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น