--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อ.สุขุม. ชูมุมคิดนิติราษฎร์ล้ำยุค เหตุผลที่ทหารไม่กล้าปฏิวัติ สารพัดปัจจัยเสี่ยง ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ..!!?

สัมภาษณ์


นักการเมือง ปัญญาชน ตั้งญัตติสาธารณะกันว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

การเคลื่อนไหวทางความคิดของ "คณะนิติราษฎร์" จะกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมือง นำไปสู่วิกฤตการเมืองซ้ำรอยยุค 6 ตุลาคม 2519

อ.สุขุม นวลสกุล คนธรรมศาสตร์ ที่เคยเป็นทั้งนักศึกษาในยุค "สายลมแสงแดด" เป็นปัญญาชนในยุคเปลี่ยนผ่านลัทธิคอมมิวนิสต์มีอิทธิพลต่อความคิดนักศึกษา รู้-เห็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19 จนก้าวขึ้นสู่อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในช่วงต่อมา

ต่อไปนี้คือข้อวิเคราะห์ ทำนายผล มุมมองการเมือง คำวิจารณ์กองทัพ และ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ในฐานะจุดเสี่ยงของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"

- มองปรากฏการณ์ความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เกิดขึ้นอย่างไร
คณะนิติราษฎร์มีความน่าเชื่อถือ ตั้งแต่อาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์ แกนนำคณะนิติราษฎร์) ต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยา และรัฐธรรมนูญ 2550 จึงเป็นที่เชื่อถือของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับ คมช. และเมื่อคณะ

นิติราษฎร์เคลื่อนไหวมาตรา 112 มันทำให้คณะนิติราษฎร์ถูกระแวงว่ามีความคิดสุดโต่งหรือเปล่า ก่อนหน้านี้บทบาทคณะนิติราษฎร์คนระแวงว่าเป็นมือไม้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) หรือเปล่า แต่มาถึงตรงนี้มันกลายเป็นล้มเจ้าหรือเปล่า ยิ่งระยะหลังพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่กล้าจะยืนด้วย กลายเป็นกลุ่มล้มเจ้าไปเลยหรือเปล่า

- มาตรา 112 ที่มีเพียง 3 บรรทัดในประมวลกฎหมายอาญา มีความอันตรายมากแค่ไหน
การเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์หลาย ๆ ข้อที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ผมเห็นด้วยอยู่ข้อหนึ่ง คือข้อที่คนเอามาใช้เป็นเครื่องมือ เอามากล่าวหาคนอื่น เช่น ไม่ว่าใครก็ได้มีสิทธิเป็นเจ้าทุกข์ฟ้องร้อง จึงทำให้นำมาเล่นเป็นการเมืองได้ แล้วคนที่โดนกล่าวหามันพูดได้ไม่เต็มปากหรอก พูดไปพลาดพลั้งเลยกลายเป็นความจริงเลย

- การแก้ปัญหาจะเริ่มต้นจากไหน
สำหรับผม ผมติดใจวรรคนี้ ผมอยากแก้ให้มีองค์กรที่รับผิดชอบเรื่องการฟ้องร้อง ให้องค์กรนี้เท่านั้นที่จะมีสิทธิ บุคคลสามัญไม่มีสิทธิ

- มีหลายฝ่ายเสนอว่าอาจให้ราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้อง
แต่อาจไม่ใช่ราชเลขาธิการก็ได้ อาจเป็นทำเนียบองคมนตรีก็ได้ แต่ขอให้เป็นโดยเฉพาะ ไม่ใช่ให้ใครก็ได้ไปฟ้อง

- มองเหตุการณ์ความขัดแย้งกรณีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างไร
เรื่องการห้ามคณะนิติราษฎร์ชัดเจนว่าเป็นการปิดกั้นเรื่องเสรีภาพ แต่ผมลองคิดดูว่าถ้าผมเป็นอธิการบดี ซึ่งผมก็เคยเป็น ผมจะห้ามไหม คำตอบผมก็จะห้าม เพราะผมกลัวว่ามันจะเกิดความรุนแรง เพราะมันเคยเกิดความรุนแรงในกรณีอย่างนี้มาแล้ว

แม้เรื่องที่เคยเกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ คนตายไปก็เป็นวีรบุรุษ ผมบอกว่าถ้ารู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น ผมก็ไม่ยอมให้เกิดขึ้นเหมือนกัน ไม่สมควรจะมีใครตายเพื่อเป็นวีรบุรุษ

จริง ๆ แล้วคือไม่ได้ห้าม ผมคิดว่าวันนี้เสรีภาพยังมีในธรรมศาสตร์เต็มที่ เพราะเขาห้ามการเคลื่อนไหว แต่ไม่ได้ห้ามความคิด ท่านอธิการบดี (นายสมคิด เลิศไพฑูรย์) ก็ไม่ได้ take action หรือเข้าไปสอบสวน ผมจึงคิดว่าหยุดเอาอธิการบดีเป็นจำเลยเสียทีได้แล้วมั้ง เพราะเราเห็นเนื้อแท้ของท่านไม่ใช่เป็นคนปิดกั้นเสรีภาพ

- มีการโยงเหตุการณ์ เรื่องแก้ไขมาตรา 112 ว่าเหมือนกับยุค 6 ตุลา ทั้ง 2 เหตุการณ์มีความต่าง-เหมือนกันอย่างไร
มันต่างกันตรงที่เหตุการณ์ในอดีตมันเป็น action มีการแสดงละครล้อเลียน ทำให้เข้าใจผิดว่าแขวนคอ นั่นมัน action มันไม่เหมือนพูดกันเรื่องความคิดนะ แต่ปัจจุบันมันยั่วเย้ากว่าไหม เร่งเร้ากว่าหรือเปล่า

- เหตุการณ์ปัจจุบันไม่มี ไม่มีการแสดงละครล้อเลียนเหมือนในอดีต แต่เนื้อหาอาจกลายเป็นสิ่งเร้า
ก็เนี่ย...คนบางระดับมันอาจทนไม่ได้ แต่คนระดับที่ใช้สติปัญญาเขาว่า เออ... มันน่าถกเถียงกันนะ อย่างผมฟังแล้วเฉย ๆ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องความรุนแรง

- แต่กระแสสังคมกลุ่มความคิดอนุรักษนิยมยังระแวงอยู่
ก็ระแวงอยู่แล้วไง ระแวงอยู่แล้วยังไม่พอ ยังหาจังหวะอยู่แล้วหรือเปล่า ฉะนั้นตรงนี้จึงไม่ควรเสี่ยง เมื่อคนยังระแวงความคิดนี้อยู่ นิดก็ว่ามาก มากก็ว่าทนไม่ไหว คนมันระแวงอยู่แล้ว แล้ว กลับมีบางกลุ่มอยากใช้เรื่องนี้หาเรื่อง ทำให้กลุ่มซึ่งเคลื่อนไหวเหล่านี้ผิด หมดความน่าเชื่อถือ

- ในมุมคณะนิติราษฎร์ควรหยุด เคลื่อนไหวหรือไม่
หยุดเรียกร้อง หยุดเซ็นชื่อ หยุดความเคลื่อนไหว หยุดการกดดันเพื่อจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้

- ผลจากการสั่งห้ามทำให้คณะนิติราษฎร์ใช้พื้นที่เคลื่อนไหวนอกมหาวิทยาลัย
ไม่หรอก เคลื่อนในมหาวิทยาลัยนั่นแหละ เคลื่อนไหวแบบท้าทาย ซึ่งในแบบทฤษฎีความคิดที่ต้องระวังคือความคิดตกยุค กับความคิดล้ำยุค

ความคิดตกยุค เช่น บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นหน้าที่ของอรหันต์ พอออกมาคนก็โห่ ไม่เอาเพราะมันตกยุค

ส่วนความคิดล้ำยุค คือความคิดที่คนตามไม่ทัน นี่ก็อันตราย เหมือนผมอยู่ ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นคนที่มีความคิดล้ำยุคคือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2476 พูดเรื่องสังคมนิยมขึ้นมา คนบอกว่าคอมมิวนิสต์เพราะมันล้ำยุคไป เพิ่งมาพิสูจน์กันตอนหลังว่าท่านคือบุคลากรที่มีค่าของโลก เมื่อก่อนนี้ในธรรมศาสตร์ไม่มีกระแสให้นับถือ ดร.ปรีดี เพราะฉะนั้นความคิดของคณะนิติราษฎร์ก็ออกจะล้ำยุค

- ฉะนั้น ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่ให้พระมหากษัตริย์มาปฏิญาณตนต่อรัฐสภา ถือว่าเป็นความคิดที่ล้ำยุค
มันล้ำยุคเกินไปไง มันล้ำยุคเกิน (พูดซ้ำ 2 ครั้ง) ยิ่งประเทศไทยบุคลาธิษฐาน การนับถือตัวบุคคลสูง พูดง่าย ๆ คือ เหมือนเป็นการตั้งคำถามกับพ่อแม่คุณโดยไม่สมควร

- ปรากฏการณ์ที่ ผบ.ทั้ง 3 เหล่าทัพเรียกร้องให้คณะนิติราษฎร์ยุติการเคลื่อนไหว สะท้อนถึงอะไร
ก็เขามีจุดยืนคนละแบบ เขาถูกอบรมมาว่าห้ามแตะ ห้ามต้อง ต้องสักการะบูชา เหมือนอย่างเรานับถือพระ คนอื่นมาบอกว่าแต่งแบบนี้ไม่ดี ให้เปลี่ยนเสีย คนนับถือก็ไม่ยอม มันคนละแบบ

- ระยะแรกพรรคเพื่อไทยดูเหมือนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์ แต่ระยะหลังกลับตีจาก วิเคราะห์ปัจจัยการตีจากมาจากเหตุผลใด
พรรคเพื่อไทยอยากจะแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ แต่ถ้าคนระแวงว่าการแก้รัฐธรรมนูญมีการล่วงล้ำสถาบันพระมหากษัตริย์จะทำให้เกิดกระแสต่อต้าน ส่งผลพลอยได้ไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้ ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยถึงพยายามตัดว่าเขาไม่เกี่ยวนะ วันนี้หน้าตาของคณะนิติราษฎร์เป็นมาตรา 112 ไปแล้ว เรื่องแก้รัฐธรรมนูญของคณะะนิติราษฎร์คนลืมไปแล้ว ไม่ใช่ภาพแล้ว เมื่อเจอข้อนี้เข้าพรรคเพื่อไทยโดดหนีเลย นี่คือวิธีแก้

- ฝ่ายพรรคการเมืองเปลี่ยนท่าที แต่นักวิชาการไม่ยอมปรับตัว
คือนักวิชาการไม่จำเป็นต้องปรับความคิดถึงขนาดนักการเมือง เพราะนักการเมืองต้องปรับเพื่อให้เข้าไปอยู่ในรัฐสภาให้ได้

แต่คนที่เป็นนักวิชาการสอนหนังสือ ไม่จำเป็นต้องปรับก็ยังสามารถอยู่ในสถานะนักวิชาการเหมือนเดิมได้ มันคนละแบบกับนักการเมือง แต่ถ้านักวิชาการจะเป็นนักการเมืองก็ต้องปรับเหมือนกัน เราจึงเห็นนักวิชาการบางคนที่ถูกประณามว่าขายตัว เพราะเขาต้องปรับตัวเพื่อจะเล่นการเมือง

- อาจารย์เชื่อตามที่นักการเมืองในเพื่อไทยบอก ว่ามีขบวนการที่จ้องรัฐประหารอยู่จริงหรือไม่
ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่กลุ่มที่จะพยายามรัฐประหาร คือการเมืองไทยเราเคยคิดว่าจะไม่มีรัฐประหารอีกแล้ว แต่มันก็ยังมี ฉะนั้นมันไว้ใจไม่ได้เลย เขาอาจไม่ได้คิดวันนี้ แต่ถ้าจังหวะมันมาเหมือนอย่างคราวที่แล้ว ผมคิดว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เขาก็ไม่ได้คิดมาก่อน แต่จังหวะมันมา

- ก่อน พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก มีการวิเคราะห์ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีบุคลิกที่สามารถทำรัฐประหารได้ ถ้าให้อ่านใจ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีโอกาสทำรัฐประหารได้หรือไม่
ไม่...ถ้าให้อ่านใจ ผมว่า ผบ.ทบ. ระยะหลังไม่มีใครอยากปฏิวัติ เพราะเห็นแล้วว่าทำไปแล้วกระบวนการรับไม้ต่อจากการปฏิวัติมันหนัก มันไปไม่ได้ ยิ่งมาเห็นภาพวันนี้ พล.อ.สนธิยังเข้าไปในระบบเลย เพราะฉะนั้นผมไม่คิดว่าคนที่มาเป็น ผบ.ทบ.แล้วต้องปฏิวัติ นี่คือเครื่องมือของข้า...ไม่ใช่ ไอ้เรื่องพวกนี้มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์

- เหมือนกับว่ากองทัพมีบทเรียนมาแล้ว ไม่ควรเดินตามรอย
ถูก ๆ ควรใช้คำว่า บทเรียน

- วิเคราะห์การปรับ ครม. "ยิ่งลักษณ์ 2" อย่างไร
เป็นเพราะแนวคิดการตั้งคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลหรือของพรรคเพื่อไทยมีเรื่องของสมบัติผลัดกันชมปนอยู่ด้วย แต่ไม่ใช่เรื่องความไม่มีประสิทธิภาพ เรื่องสมบัติผลัดกันชมเป็นหลักหนึ่งของการจัด ครม.ของเขา ใน 35 คนอาจจะมีตัวหลักส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนมันเป็นสมบัติผลัดกันชม

- มีเสียงสะท้อนว่ารัฐมนตรีมาจากกลุ่มชินคอร์ป (อินทัช) เข้ามามากขึ้น
เขาก็จะทำตามนโยบายเขาไง

- จะทำให้ถูกมองว่าบริหารเพื่อ พ.ต.ท. ทักษิณมากขึ้น
มันถูกมองอยู่แล้ว

- ที่ถูกวิจารณ์ว่ารัฐบาลน้องสาวขึ้นมา บริหารประเทศเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ วันนี้ยังมีภาพนั้นหรือไม่
ก็ยังมีอยู่ คนยังระแวงอยู่ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องไม่ลืมอีกเหมือนกันว่า ทางพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งก็เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อคนเลือกเขาเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เขาก็ต้องขาย พ.ต.ท. ทักษิณ ช่วยหรือไม่ช่วย พ.ต.ท.ทักษิณคือสิ่งที่ออกมา แต่ที่เห็นแน่ ๆ คือพยายามช่วย แต่บางทีมันมีปัญหาอุปสรรคอยู่ เพราะมันมีกลุ่มต่อต้าน

- พ.ต.ท.ทักษิณจะมีโอกาสกลับไทยได้หรือไม่ ด้วยกลไกพิเศษ เช่น พ.ร.บ. นิรโทษกรรม
เขากำลังพยายาม แต่จะสำเร็จหรือเปล่ายังต้องอาศัยเวลาอีกนาน

- ถ้าปัจจัยทักษิณยังเป็นส่วนที่ทำให้คนเสื่อมศรัทธาในตัวรัฐบาล รัฐบาลควรก้าวข้ามไปก่อนหรือไม่
บางคนบอกว่าให้ก้าวข้ามไปก่อน 1 ปี ไม่ต้องแตะ แต่อยู่ตรงที่ พ.ต.ท. ทักษิณคิดอย่างไร ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณคิดว่า เฮ้ย...ต้องเร็วที่สุดสิ มันมีอิทธิพลต่อคนในพรรคไหม มันไม่ได้อยู่ที่พรรคคิดอย่างไร เพราะไม่ว่าอย่างไรคนก็มอง พ.ต.ท.ทักกษิณเป็นนายใหญ่

- ปัจจัยอะไรที่ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์อายุสั้นลง
ก็มีอยู่เรื่องนี้เรื่องเดียว (เรื่องทักษิณ) ถ้าเดินไม่ดีอีกฝ่ายมีความชอบธรรมที่จะต่อต้านเมื่อไรก็เสร็จ ส่วนปัจจัยการทำงานเป็นปัจจัยย่อย ถ้าทำงานแล้วดีคนอาจยอมรับขึ้น แต่วันนี้ปัจจัยการทำงานคนมักจะเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่าสมัยรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามก็ทำงานไม่ประทับใจเหมือนกัน

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น