--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พม่า.ดาวรุ่งน้องใหม่ ทุนนอกหลั่งไหล..ดันเสือศก.เอเชีย !!?

โดย บลจ. บัวหลวง จำกัด

พม่าว่าที่เสือเศรษฐกิจของเอเชีย?
หลังจากที่โดดเดี่ยวและถูกลืมอยู่นานกว่า 2 ทศวรรษ หลังจากที่โดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตก

ในที่สุด พม่าก็กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด นับตั้งแต่ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ มาเยือนเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ที่สหรัฐส่งตัวแทนไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ เป็นสัญญาณว่า พม่ากำลังเปิดประตูกว้างเพื่อรับประชาธิปไตยและโลกตะวันตกมากขึ้น

ก่อนหน้าการมาเยือนของนางฮิลลารี คลินตัน พม่าได้มีการปฏิรูปประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เช่น การดำเนินโยบายผ่อนปรนแก่ชนกลุ่มน้อยมากขึ้น เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ พม่ามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนต่างๆ รวมทั้งเตรียมปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกับ มาตรฐานสากล



ล่าสุด การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 19 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการตกลงรับรองพม่าเป็นประธานอาเซียน ประจำปี 2557 ก่อนการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ส่งผลให้พม่ากลายเป็นประเทศที่เนื้อหอมสุดสุด นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกต่างจับจ้องความเคลื่อนไหวของพม่าอย่างใกล้ชิด เพื่อหาช่องทางในการเข้าไปลงทุน

ในอดีตภายใต้การปกครองของประเทศ อังกฤษในช่วงปี 1930 ประเทศพม่าเคยรุ่งเรืองเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่มีการศึกษา และมีการลงทุนจากต่างชาติ แต่แล้วหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พม่ากลับกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุด จากการปกครองของรัฐบาลทหาร นโยบายทางเศรษฐกิจที่ล้มเหลว และการโดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ รายได้ต่อคน (GDP per Capita) อยู่ที่เพียง 804 เหรียญสหรัฐต่อปี เป็นอันดับ 156 ในโลก เปรียบเทียบกับคนไทยที่มีรายได้ต่อหัว 5,281 เหรียญสหรัฐ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว นิยามทั่วไปของคนชั้นกลางที่เริ่มจะมีกำลังซื้อคือ คนที่มีรายได้ 3,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป ส่วน GDP ของประเทศพม่าอยู่ที่ 8.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบกับ GDP ประเทศไทยที่ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันพม่ากำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งนักลงทุนไทยอีกครั้งในฐานะแหล่งลงทุนแห่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วย ทรัพยากรธรรมชาติ นักลงทุนต่างชาติได้หลั่งไหลสู่ธุรกิจพลังงาน และทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ ดีบุก สังกะสี ทองแดง และอัญมณีจำพวกเพชร พลอย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตสำคัญของพม่า อีกทั้งประชากรจำนวน 55 ล้านคน ก็ทำให้พม่าเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจและยังมีแรงงานจำนวนมาก

ที่ตั้งของพม่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมีชายแดนเชื่อมต่อกับ 5 ประเทศ และสามารถเข้าถึงประชากร 2.6 พันล้านคน หรือ 40% ของประชากรโลก พม่าจึงเป็นประตูสำคัญของทั้งจีนและอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่ต้องการขยายเส้นทางการค้าและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้กับมณฑลทางตะวันตก เช่น มณฑลยูนนาน ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล ดังนั้น จึงต้องใช้พม่าเป็นประตูสู่ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันจีนนำเข้าน้ำมัน 80% ผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นช่องทางที่แออัดและกว้างเพียงไม่กี่กิโลเมตร หลังจากที่ท่าเรือน้ำลึกและระบบการขนส่งระบบรางและระบบท่อส่งก๊าซได้รับการ สร้างขึ้นในพม่า จะทำให้เรือขนส่งไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา ซึ่งจะทำให้การขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางและแอฟริกาไปจีนและประเทศลุ่มแม่ น้ำโขงเร็วขึ้น และจะช่วยประเทศในอาเซียนเชื่อมต่อกับอินเดียได้ดีขึ้น

ตัว เลขการลงทุนในพม่าของต่างชาติ (Foreign direct investment) ปี 2554 สูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ที่มีเม็ดเงินลงทุนเพียง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่สุดคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 70% ของนักลงทุนต่างชาติ บริษัทข้ามชาติระดับใหญ่หลายราย อย่างเช่น คอมเมิร์ซ แบงก์ เอจี ธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของเยอรมนี สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาแห่งชาติเยอรมนี (DEG) บริษัท เชฟรอน และเอ็กซอนโมบิล ผู้สำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติชั้นนำของโลก และบริษัทโคคาโคลา ต่างแสดงความสนใจในการไปลงทุนในพม่า




บริษัทไทย ก็ไม่น้อยหน้า นำโดยบริษัท อิตัลไทย จำกัด (มหาชน) ที่เดินหน้าก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย หลังศึกษามานานถึง 11 ปี บนพื้นที่ 200,000 ไร่ หรือใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถึง 10 เท่า เฟสแรกใช้งบลงทุนประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน และท่าเรือ จากนั้นจะเปิดรับผู้สนใจร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก อาทิ โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน โรงปิโตรเคมี โรงเหล็ก ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ยืนยันว่า ต้องการมาลงทุนในโครงการนี้ ส่วนบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ อายุสัมปทาน 30 ปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท

นักลงทุน ยังมองเห็นว่าเสน่ห์ของพม่านั้นอยู่ที่ "ความสดใหม่" ของประเทศ เนื่องจากเป็นเวลานานกว่า 21 ปี ที่ชาติตะวันตกได้ออกมาตรการคว่ำบาตรพม่า ซึ่งหมายความว่า ชาติตะวันตกอย่างสหรัฐและยุโรปไม่ได้เข้าไปทำการค้าหรือเข้าไปลงทุนในพม่า เลย ดังนั้น ในสายตานักลงทุน พม่าจึงเปรียบเสมือนตลาดใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยโอกาสและช่องทางลงทุนมากมาย นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ได้เริ่มหลั่งไหลเข้ามาตั้งแต่ปี โดยมีวัดที่งดงาม และสถาปัตยกรรมในยุคอาณานิคม เป็นจุดดึงดูด และคาดว่า จำนวนห้องพักโรงแรมจะขาดแคลนอย่างหนักในปีนี้



อย่างไรก็ตาม แม้บรรยากาศในพม่าขณะนี้ จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความคึกคักและความหวัง แต่เส้นทางของพม่าในการก้าวเข้าสู่บทบาทของการเป็น "เสือเศรษฐกิจ" ของภูมิภาคนั้นยังคงอีกยาวไกล ทั้งนี้ เพราะสภาพแวดล้อมในพม่ายังคงไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากนัก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ไร้ประสิทธิภาพ ระบบสาธารณูปโภคที่ยังไม่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะไฟฟ้า ถนน และท่าเรือ ที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากล และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีปัญหา ล่าสุดพม่าตกลงที่จะให้ประเทศสิงคโปร์ มาอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิรูปภาคกฎหมาย ธนาคาร และการเงิน รวมถึงชี้แนะแนวทางการพัฒนา การค้าขาย การวางผังเมือง และการท่องเที่ยว

พม่า จะต้องพิสูจน์ตัวเองว่า "พร้อม" ที่จะเป็นเสือเศรษฐกิจของเอเชีย โดยจะต้องแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและจริงใจในการเปลี่ยนแปลงประเทศและการ ปฏิรูปการเมือง ขณะเดียวกัน ยังต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นอิสระจากร่มเงาของกองทัพและลด ปัญหาการทุจริต เมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ เชื่อว่าอีกไม่นาน ชาติตะวันตกก็จะเริ่มผ่อนมาตรการคว่ำบาตร ตามสหภาพยุโรป และนักลงทุนต่างชาติจะพากันมาลงทุนในประเทศดาวรุ่งที่น่าจับตาแห่งนี้ ถึงแม้ ณ ตอนนี้ อาจจะยากที่จะไปลงทุนโดยตรงในประเทศพม่า แต่เราควรตื่นตัวกับการเปิดเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเรา ยิ่งพม่าเปิดประเทศมากเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีกับประเทศไทย เพราะต่างชาติย่อมต้องใช้ประเทศไทยเป็นเกตเวย์สู่ประเทศพม่า


ที่มา นสพ.มติชน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น