--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เกษียร เตชะพีระ ชี้ไทยมีโครงสร้าง ปชต. แต่ ปชช.ยังคิดแบบสมบูรณาฯ ย้ำ มธ.ไม่มีล้มเจ้า.. !!?

ที่ห้องประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาเรื่อง "ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" โดยมีนายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มธ. และนายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเสวนา

นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวว่า ผู้สำเร็จการศึกษามีภารกิจสองด้าน หน้าที่หนึ่งยืนหยัดประชาธิปไตย หน้าที่ที่สองต้องช่วยให้ประชาชนใกล้ชิดประชาธิปไตยมากขึ้น นั้นคือเหตุผลว่า ทำไมต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าคณะราษฎรเกิดขึ้น เมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ. 2475 และมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกรอบว่าคนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอันเดียวกัน รวมทั้งผู้นำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย อาจารย์ปรีดีไม่เคยถกเถียงเรื่องประชาธิปไตย แต่ถกเถียงเรื่องคำ 3 คำคือ สิทธิ เสมอภาค และเสรีภาค และสิ่งที่อาจารย์ปรีดีต้องการบอกคือ อย่างแรก เราต้องทำการผลิตมนุษย์ยุคใหม่เพื่อเข้าสู่ระบอบทางการเมืองใหม่ ภารกิจของ มธ.คือผลิตคนที่จบ มธ.เข้าสู่การเป็นราชการและนักการเมือง อาจารย์ปรีดีจึงสถาปนาชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อบอกนักศึกษาทุกคนว่า คุณต้องเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าคุณจะต้องการหรือไม่ ดังนั้น นักศึกษา มธ.จึงต้องยืนยันหลักการทางการเมืองต่อไป

นายธำรงศักดิ์กล่าวต่อว่า คำถามที่นักศึกษาของตนมักจะถามคือ ทำไมต้องเกิดคณะราษฎรขึ้น และทำไมต้องมีการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2475 คำตอบก็คือ เพราะเราไม่สามารถแยกออกจากกระแสโลก คณะราษฎรสามารถบรรลุความสำเร็จได้ เพราะการรวมตัวของคน 7 คน แต่ตนจะชี้ประเด็นว่า 7 คนนี้อายุสูงสุดคือ 29 ปี คือร้อยโทแปลก พิบูลสงคราม คน 7 นั่งคุยกันแล้วบอกว่าบ้านเมืองเราวันนี้ไม่ศิวิไลซ์ ถามต่ออีกว่าแผ่นดินนี้เป็นของใคร คณะราษฎรบอกว่าแผ่นดินนี้เป็นของราษฎร ดังนั้น เราต้องทำให้แผ่นดินนี้ศิวิไลซ์ลงไปสู่ราษฎรและรัฐธรรมนูญคือความศิวิไลซ์ และนี่คือพลังอันสำคัญ เมื่อคณะราษฎรประสบความสำเร็จ จึงเกิดหลัก 6 ประกัน คือ เอกราช ความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม เศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ที่สำคัญเรามักจะบอกว่าการปฏิวัติในสมัย 2475 เป็นการปฏิวัติที่ไม่นองเลือด แต่มันมีการนองเลือดหลังจากนั้น เห็นได้จากการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นมรดกที่ได้จากการปฏิวัติเมื่อปี 2475

ผมเคยตั้งคำถามว่า หากมีกรณีของนิติราษฎร์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งอื่น จะเกิดเหตุการณ์แบบที่นี่หรือไม่ คำตอบคือ เกิดไม่ได้ ทั้งนิติราษฎร์และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว เพราะการกำเนิดของ มธ. เป็นแบบพิเศษ นิติราษฎร์ไม่สามารถไปเกิดที่ไหนได้ นอกจากที่ มธ. และเมื่อเกิดที่ มธ. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกสมัยต้องเผชิญหน้า เวที มธ.เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ในสังคมไทยตลอดมา แน่นอนเมื่อคุณก่อให้เกิดสิ่งใหม่คุณต้องเจ็บปวด ในด้านผู้บริหารนับแต่ปี 2500 มา ผู้บริหาร มธ.ได้รับแรงกดดันมาตลอด แต่ท่านจะเล่นบทนั้นอย่างไร ขอบอกว่าท่านต้องเล่นบทสองหน้า คือบอกกับสังคมว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ อาจารย์และนักศึกษาต้องถกเถียงกัน เพราะหากท่านเล่นบทหน้าเดียว นั่นหมายความว่าท่านได้สวามิภักดิ์แล้ว” นายธำรงศักดิ์กล่าว

ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า มธ.เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานรัฐ แต่ขณะเดียวกันในสถานที่ราชการก็มีพื้นที่สาธารณะ แต่ มธ.อาจจะแตกต่างจากสถานที่ราชการอื่น ที่ต้องมีพื้นที่สาธารณะที่เราเรียกว่าเสรีภาพทางวิชาการ อาจารย์ปรีดีเรียกในวันเปิดมหาวิทยาลัยว่า เสรีภาพทางการศึกษา แต่เสรีภาพทางวิชาการได้มีการรับรองในรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้เป็นประเด็นที่ต้องคิดว่ามีความหมายแค่ไหน อย่างไร เพราะยุคปัจจุบัน อาจเป็นวิกฤตทางภาษา เพราะมีคนใช้คำๆ เดียว แต่หลายความหมาย สิ่งที่ยังเป็นวาทะกรรมถกเถียงกันในการปฏิวัติเมื่อปี 2475 คือ คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่ เพราะประชาชนยังไม่มีความเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่อีกฝ่ายเถียงว่า มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะอย่างน้อยก็มีผู้มีการศึกษาค่อนข้างสูงเกิดขึ้น และเท่าที่ตนได้ศึกษา คิดว่ายุคนั้นน่าจะมีเสรีภาพทางความคิดและมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ายุคนี้ ขณะที่เสรีภาพทางวิชาการหรือการแสดงออกทางความคิดเห็นในยุคหลัง มธ.ได้ชื่อว่า ณ สถานที่แห่งนี้เรามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ดังที่อธิการบดีคนปัจจุบันก็ยืนยัน โดยประกาศเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายพนัสกล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2500 มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นใน มธ.มาก และจริงๆ เป็นการดิ้นรนต่อสู้ของนักศึกษารุ่นพี่ มธ. โดยมีการต่อสู้ของนักศึกษามาทุกรุ่นเป็นจิตวิญญาณที่อาจารย์ปรีดีประสาทให้ ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นใน มธ.ขณะนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ ถ้าคิดแบบนักกฎหมาย ต้องมากำหนดกันว่า เสรีภาพทางวิชาการต้องมีขอบเขต เสรีภาพระบอบประชาธิปไตยต้องมีขอบเขต เสรีภาพที่ไม่มีขอบเขตคืออนาธิปไตย คำถามคือ เสรีภาพทางวิชาการใน มธ. มีมากน้อยเพียงใด แต่ประกาศของอธิการบดีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น เสดงให้เห็นว่าเสรีภาพใน มธ. มีทุกตารางนิ้ว ยกเว้นเรื่องเลขสามตัว ซึ่งอาจเป็นประเด็นนำไปสู่การตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่อย่างน้อยที่สุดจุดเริ่มต้นก็เกิดที่ มธ. ที่อาจารย์กลุ่มเล็กๆ จุดขึ้นในฐานะอาจารย์นิติศาสตร์คนหนึ่งตนมีความภูมิใจ

นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า อาจารย์ปรีดีบอกว่า ราษฎรไม่โง่ ต่อมาคือความรู้ใดที่ราษฎรขาด หมายถึง ประชาชนไม่สามารถคุมอะไรได้เลย ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีอำนาจอะไรเลย ในระบอบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาชนไม่สามารถมีอำนาจใดๆ เลย แต่ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น อาจารย์ปรีดีจึงตั้ง มธ. เพื่อสอนวิชากฎหมายและการเมืองให้ประชาชน เพื่อให้ความรู้ประชาชน
"เรามีโครงสร้างประชาธิปไตย แต่ประชาชนยังมีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมีคนวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ คุณจะโกรธและรับไม่ได้ จึงทำให้ประมวลกฎหมายมาตรา 112 เกิดปัญหามาก ทันทีที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ที่ขัดแย้งกับความคิดของคุณที่มีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คุณก็คิดทันทีว่าต้องเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง ไม่ว่าคุณจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คุณดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาต่ำ ท่านคิดแบบนี้ได้ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเกิดปัญหา ทำลายความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข รู้หรือปล่าว" นายเกษียรกล่าว

นายเกษียรกล่าวต่อว่า ตนขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน มธ. บางช่วง เช่น วันที่ 20 สิงหาคม 2518 นักศึกษาอาชีวะบุกเผา มธ. วันที่ 21 สิงหาคม 2519 มีอันธพาลการเมืองยิงถล่มกระทิงแดง และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ยกเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้เห็นว่า นี่เป็นพันธสัญญาที่ชาว มธ.พึงมีและหาทางแก้ น่าเสียใจที่ประกาศห้ามใช้พื้นที่ของ มธ. ลืมและละทิ้งความรับผิดชอบและศีลธรรมดังกล่าวไปเสีย เพราะทั้งหมดเกิดมาโดยกระบวนการเดียวกัน วิธีการเดียวกัน สุดท้ายตนคงต้องบอกว่าไม่ต้องกลัว มธ. เท่าที่ตนทราบไม่ใครใน มธ.คิดล้มเจ้า แม้แต่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ. แต่สิ่งที่คนใน มธ.คิดจะล้มคือ ล้มการเมืองที่คิดจะใช้เจ้าเป็นเครื่องมือไล่ล้างทำลายคนดีไปจากแผ่นดินไทย

นายเกษียรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ตนไม่เห็นด้วยกับประกาศผู้บริหาร มธ.อย่างมาก คือ ตนวิเคราะห์ว่า เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ 6 ตุลาคม ประการที่สอง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ แม้จะมีเสียงข้างมาก แต่ความชอบธรรมยังบกพร่อง เป็นรัฐบาลที่สั่นคลอน รัฐบาลที่คลอนจะใช้เวลามากในการตัดสินใจ ไม่แก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังนั้น รัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอแบบนี้ โดยตัวรัฐบาลเอง ไม่น่าจะใช้กำลัง และประการที่สาม เรื่องใหญ่ที่สุดของไทยคือ การแก้ปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นถ้าเป็นความรุนแรงแบบจัดตั้งจากรัฐ ตนคิดว่าไม่มี แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ม็อบที่เกิดแบบเป็นไปเอง แบบปลุกความโกรธ ความเกลียด อะไรก็ว่าเขาล้มเจ้า ทั้งที่เขาก็เป็นคนหนึ่งที่รักในหลวง แต่คุณใช้คำพวกนี้เพราะอะไร เพราะคุณกลัวว่าจะไม่ได้ใช้เจ้าเป็นข้ออ้างทางการเมืองอีกต่อไป การเปิดพื้นที่ใน มธ. ถ้าจะเปิดก็ไม่ควรเลือกข้าง และการตัดสินใจควรมีกระบวนการปรึกษาหารือ และถ้ามติการบริหารมีปัญหา ก็ควรจะมีกระบวนการแก้ไข การรับผิดไม่ใช่เรื่องน่าอาย

ที่มา: มติชนออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น